ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

ปลูกปาล์ม “พันธุ์โกลด์เด้นเทเนอร่า” 100 ไร่ อายุแค่ 40 เดือน ผลผลิตพุ่ง 3 ตัน/ไร่/ปี

โค่นยางแก่ ปลูกปาล์มน้ำมันสายพันธุ์ที่พัฒนาในประเทศไทย ที่ทนต่อสภาพแวดล้อม และให้ผลผลิตสูง ด้วยระบบการจัดการและการให้ปุ๋ยอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง ปาล์มอายุ 40 เดือน ผลผลิตเฉลี่ยทั้งปี ทะยาน 3 ตัน/ไร่/ปี และมีแนวโน้มสูงอย่างต่อเนื่อง 

 ̄ ̄ ̄ ̄ ̄ ̄ ̄
HIGHTLIGHT 

🔵 เทคนิคการจัดการสวนปาล์มเล็ก ในอ.อ่าวลึก จ.กระบี่  ก่อนและหลังให้ผลผลิต สายพันธุ์ คือ หัวใจที่เจ้าของสวนให้ความสำคัญ ต้องทนแล้ง และปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศในพื้นที่ได้ดี
🔵 ปุ๋ย คือ เครื่องปั้มผลผลิตให้สูง เจ้าของสวนจึงอัดฉีดให้ต้นปาล์มเต็มที่ เฉลี่ยต้นละ 7 กก./ไร่/ปี
 ̄ ̄ ̄ ̄ ̄ ̄ ̄
สืบเนื่องจากโพสต์ใน Facebook กลุ่มปาล์มน้ำมัน ของ กิตติชัย ก่ออ้อ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2560 ที่นำภาพสวนปาล์มแห่งหนึ่งใน อ.อ่าวลึก .กระบี่ มาโพสต์ให้คนในกลุ่มชม โดยภาพนั้นเป็นต้นปาล์มวัยแค่ 40 เดือน แต่กลับให้ทะลายเต็มจนทะลักคอทุกต้น ส่วนใหญ่ทะลาย 3 ชั้น

ทีมงานยางปาล์มออนไลน์เห็นแล้วตาลุกโชนเพราะทึ่งปนตะลึง เช่นเดียวกับสมาชิกที่ติดตามกลุ่มปาล์มน้ำมันกว่า 25,600 คน ก่อนที่เราจะตกลงกันว่าต้องเดินทางลงกระบี่เพื่อไปดูให้เห็นกับลูกตา  

หากแต่จุดประสงค์หลักเราต้องการเจาะลึกเทคนิคบริหารจัดการสวนปาล์มจากเจ้าของสวน โดยได้รับการอำนวยความสะดวกจาก บริษัท โกลด์เด้นออยล์ปาล์ม จำกัด ซึ่งเป็นพันธุ์ปาล์มที่สวนแห่งนี้ใช้ปลูกจำนวน 100 ไร่ และโชคดีที่ ดร.เอนก ลิ่มศรีวิไล เจ้าของและผู้พัฒนาสายพันธุ์ปาล์มโกลด์เด้นเทเนอร่า เดินทางไปชมพร้อมกับทีมงานด้วย

เมื่อเดินทางถึงสวนปาล์มแห่งนี้ ดร.เอนก คว้ากล้องคู่กายเดินถ่ายภาพและหายลับเข้าไปในสวนปาล์ม ได้ยินแต่เสียงร้องอุทานเป็นระยะๆ หลังจากเห็นทะลายปาล์มดกเต็มคอทุกต้น ซึ่งเป็นปาล์มลูกผสมรุ่นใหม่ (โกลด์เด้นเทเนอรา รุ่น KB. 2) ที่เขาพัฒนาขึ้นมากับมือ ปล่อยให้พวกเราอยู่กับ นาย Teoh Soon Hock หรือ “โกฮก” เจ้าของสวนชาวมาเลเซีย 

นาย Teoh Soon Hock หรือ “โกฮก” เจ้าของสวนชาวมาเลเซีย
เมื่อก่อนที่แปลงนี้เป็นสวนยางเก่า โค่นปลูกใหม่มาแล้ว 2 รุ่น แต่ดูสภาพอากาศทางกระบี่แล้วปลูกยางได้ไม่ค่อยดีนัก เพราะฝนค่อนข้างเยอะ วันกรีดน้อย จึงน่าจะเหมาะปลูกปาล์มมากกว่า

โกฮก บอกสาเหตุของการเปลี่ยนสวนยางเป็นสวนปาล์ม ซึ่งกำลังกลายเป็นปัญหาระดับภูมิภาค ของภาคใต้ โดยเฉพาะฝั่งทะเลอันดามัน หลายปีที่ผ่านมามีฝนตกชุกทั้งปี จนกรีดยางได้ปีละ 50-60 วันเท่านั้น ปาล์มน้ำมัน จึงน่าจะเหมาะสมกว่ายางพารา

คิดจะปลูกปาล์มให้สำเร็จ สายพันธุ์คือ “เส้นเลือดใหญ่”

เมื่อคิดจะปลูกปาล์ม สายพันธุ์คือ “เส้นเลือดใหญ่” ของความสำเร็จ สำคัญต้องเป็นพันธุ์ลูกผสม เทเนอร่า (DxP) ที่ผ่านการเพาะต้นกล้าอย่างมาตรฐาน

บังเอิญว่าผมสนิทสนมกับคุณเอนก มีโอกาสเดินทางไปเที่ยวชมแปลงพ่อแม่พันธุ์โกลด์เด้นเทเนอร่าที่พัฒนาขึ้นมาใน จ.กระบี่ และได้แลกเปลี่ยนเรื่องพันธุ์ปาล์มกันพอสมควร พันธุ์นี้มีจุดเด่นทนแล้งให้ผลผลิตสูงถึง 5 ตัน/ไร่/ปี เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง น่าจะเหมาะสมกับพื้นที่จึงซื้อพันธุ์มาปลูก 2,500 ต้น 
แปลงแม่พันธุ์รุ่นใหม่ใน จ.กระบี่ ของ ดร.เอนก คัดเลือกต้นที่ทนต่อฤดูแล้งขาดฝนนานถึง 4 เดือน แต่ยังออกช่อดอกตัวเมีย ใช้เป็นแม่พันธุ์โกลด์เด้นเทเนอร่ารุ่นใหม่
ทั้งนี้ปาล์มพันธุ์โกลด์เด้นเทเนอร่า พัฒนาและปรับปรุงพ่อแม่พันธุ์ขึ้นในเมืองไทย จึงทนต่อสภาพอากาศของไทยได้อย่างดี สามารถทนแล้งได้นานถึง 4 เดือน ดร.เอนก บอกว่าคุณสมบัติ “ทนแล้ง” ถือเป็น “กระดูกสันหลัง” ในการพัฒนาแม่พันธุ์โกลด์เด้นเทเนอร่ารุ่นใหม่ โดยจะคัดเลือกต้นแม่พันธุ์ที่ทนต่อสภาพฤดูแล้งที่ขาดฝนนานถึง 4 เดือน แต่ยังออกดอกช่อดอกตัวเมียและให้ผลผลิตสูง ซึ่งลูกผสมโกลด์เด้นเทเนอร่าจึงอึดและทนแล้งด้วยเช่นเดียวกัน

“แม้กระบี่ฝนจะตกบ่อย แต่ปีที่แล้ว (ปี 2559) ก็แล้งหลายเดือน แล้งจนต้นปาล์มเหลืองเกือบตาย แต่หลังจากนั้นฝนตกลงมาช่วยพอดี โกฮกเล่าอย่างนั้น 
ปลูกปาล์มระยะ 9.2 เมตร พร้อมปลูกพืชคลุมดิน

เจ้าของสวนปาล์มร้อยไร่ เลือกที่จะปลูกระยะ 9.2 x 9.2 x 9.2 เมตร หรือ 21 ต้น/ไร่ แทนระยะปลูกมาตรฐานทั่วไป 9x9 เขามองในระยะยาวหากต้นปาล์มใหญ่ขึ้นใบอาจจะชนกัน จะทำให้ต้นปาล์มได้รับแสงแดดไม่เต็มที่ และจะทำให้ต้นสูงเร็ว

ขณะที่สภาพพื้นที่เป็นสวนยางเก่า สภาพเป็นดินลูกรัง กรวด หิน อาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติเลี้ยงต้นปาล์ม จึงปลูกพืชตระกูลถั่วช่วยคลุมดิน และรักษาความชื้น ซึ่งสามารถช่วยได้มากทีเดียวในช่วงหน้าแล้ง อีกทั้งซากใบและเถาเมื่อแก่จะแห้งผุ ย่อยสลายกลายเป็นอินทรียวัตถุคืนสู่ดิน ส่วนเมล็ดก็จะงอกขึ้นใหม่วนเวียนอยู่อย่างนี้ 
ปลูกพืชตระกูลถั่วเป็นพืชคลุมดิน ประโยชน์หลายอย่าง
อาศัยเพียงแค่ควบคุมหญ้าบริเวณโคนต้นและรัศมีวงรอบต้น เพื่อให้ง่ายเวลาทำงานและใส่ปุ๋ย โดยจะใช้ยาฆ่าหญ้า ประเภท อินดาซิแฟลม (indaziflam) ฉีดพ่นคุมหญ้าพวกใบแคบและใบกว้าง รวมถึงควบคุมไม่ให้เมล็ดหญ้างอกใหม่ โดยจะฉีด ทุกๆ 6 เดือน

อัดปุ๋ย ต้นละ 7 กก./ปี ทะลายทะลักเต็มคอ

โกฮก บอกว่า ปลูกปาล์มสายพันธุ์ดี น้ำดี อย่างเดียวไม่เพียงพอ ผลผลิตต้องดีด้วย และ “หัวใจ” ก็คือ “ปุ๋ย” ซึ่งเขาให้ความสำคัญมากในช่วงปาล์มให้ผลผลิต

“ช่วงปาล์มเล็กจะใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 บำรุงทุกส่วนของต้นปาล์มให้สมบูรณ์ พอปาล์มเริ่มเข้าปีที่ 2 เริ่มออกทะลาย จะเปลี่ยนมาใส่แม่ปุ๋ยแทน มีปุ๋ย 21-0-0, 0-0-60 และ 0-3-0  แล้วก็มีโบรอนเสริมช่วยให้ใบสมบูรณ์ ออกทะลายใหญ่ และเพิ่มขนาดทะลาย 

วิธีใส่แม่ปุ๋ยจะเลือกใส่แยกเดือนละหนึ่งตัว โดยแบ่งเป็น ปุ๋ย 21-0-0 (แอมโมเนียมซัลเฟต)  ใส่ปีละ 2 ครั้งๆ ละ 1.5 กก. รวม 3 กก./ปี  ปุ๋ย 0-0-60 (โพแทสเซียมคลอไรด์)  ใส่ปีละ 2 ครั้งๆ ละ 1.5 กก. รวม 3 กก./ปี และ ปุ๋ย 0-3-0 (ร็อกฟอสเฟต) 1.5 กก./ปี และใส่โบรอน 100 กรัม เมื่อรวมปริมาณปุ๋ยทั้งปี เท่ากับ 7 กก./ต้น/ปี “ช่วงนี้ปาล์มมีทะลายเยอะมาก ก็ต้องการอาหารเยอะหน่อย” 

ผลผลิตปีแรก 1 ตัน/ไร่/ปี ปีที่สอง คาดพุ่ง 2.5-3 ตัน

ผลผลิตปีแรก (2559) เก็บเกี่ยวเมื่อต้นปาล์มอายุ  25-37 เดือน ปรากฏว่าผลผลิตรวมทั้งปี ประมาณ 1,200 กิโลกรัม/ไร่/ปี โดยเลือกตัดเฉพาะปาล์มสุกที่มีลูกร่วงเท่านั้น น้ำหนักทะลาย 5-6 กก.

“ช่วงตัดทะลายปีแรกจะยังไม่แต่งทางปาล์มออก เพราะเป็นช่วงที่ต้นปาล์มต้องการใบเพื่อสังเคราะห์แสงมาก ถ้าแต่งทางช่วงนี้ต้นปาล์มจะสร้างอาหารน้อยลง และทำให้โคนลำต้นเล็กด้วย ผมเพิ่งจะแต่งทางครั้งแรกเมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคม 59  เลือกทางแก่ที่รับแสงไม่ได้ เพื่อให้เข้าไปกวาดลูกร่วงได้ไม่ลำบาก”

ทางใบที่ตัดออกเราก็เอามาปูให้มันย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ย ถ้าต้นโตกว่านี้ผมจะใส่ปุ๋ยในกองทางใบแทนหว่านรอบต้น” 

ส่วนปีนี้คาดว่าผลผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว โดยดูจากสภาพต้นที่ใหญ่และสมบูรณ์เต็มที่ หลังจากได้รับฝนช่วงปลายปี 59 อย่างเต็มที่ ทะลายปาล์มจึงออกมาเต็มคอเต็มทั้งสวน แต่ละต้นมีทะลายรอบต้น 2-3 ชั้น และส่วนมากทะลายดก ชั้น 

โกฮก คาดเดาเบื้องต้นว่าผลผลิตในปี 2560 นี้ ไม่น่าจะต่ำกว่า 2 ตัน/ไร่/ปี ขณะที่คุณกิตติชัย ก่ออ้อ ที่เดินพิจารณาสภาพต้น จำนวนทะลาย และวิธีการบริหารจัดการสวนที่ดีจากเจ้าของสวน จึงคาดว่าจะได้ประมาณ 2.5 - ตัน/ไร่/ปี 
ทางใบปาล์มปูในสวนปาล์มให้ย่อยสลายกลายเป็นอินทรีย์ และเมื่อปาล์มอายุ 5 ปีขั้นไปจะใส่ปุ๋ยบนทางปาล์มเหล่านี้

เจ้าของสวนปาล์มแปลงนี้ย้ำกับทีมงานว่า หากจะปลูกปาล์มน้ำมันให้ประสบความสำเร็จ อย่างแรกเลย ต้อง เลือกพันธุ์ปาล์มที่ดี เป็นลูกผสม เทเนอร่า (DxP) ผ่านการเพาะกล้าที่ได้มาตรฐาน ต้นกล้าสมบูรณ์ 

ตามด้วยระบบการดูแลจัดการสวนที่ดี อย่าปล่อยให้หญ้ารก แต่ถ้าหญ้าเตียนเกินไปก็ไม่ดี ต้องทำให้เหมาะสม

รวมถึง ปุ๋ยที่ดี ยิ่งสำคัญ เพราะต้นปาล์มใช้บำรุงต้นและทะลาย ยิ่งช่วงที่ออกทะลายมากๆ ยิ่งต้องให้ปุ๋ยเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการตอบข้อสงสัยที่ว่า ทำไมสวนปาล์มที่มีทะลายดกเต็มคอ 2-3 ชั้นทุกต้น ของ โกฮก จึงใส่ปุ๋ยถึงต้นละ 7 กก./ปี
ต้นนี้แสดงถึงความดกอย่างชัดเจน 
ลักษณะของปาล์มสุกเต็มที่พร้อมตัด ต้องมีลูกร่วง เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง
เมื่อปีที่แล้วสวนปาล์มเจอแล้งหนักจนต้นเหลืองเกือบตาย แต่ก็รอดมาได้เพราะฝนช่วย และออกทะลายดกเต็มต้นทั้งสวนในปีนี้
ดร.เอนก ลิ่มศรีวิไล (ซ้าย), นาย Teoh Soon Hock (กลาง) และนายกิตติชัย ก่ออ้อ



ดร.เอนก ลิ่มศรีวิไล (ซ้าย) ผู้พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ปาล์มโกลด์เด้นเทเนอร่า 
ขอขอบคุณ
นาย Teoh Soon Hock
อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ โทรศัพท์ 08-1957-2036
ภาพประกอบส่วนหนึ่งจาก : คุณกิตติชัย ก่ออ้อ

ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม