ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

ณัฐดนัย สุขรัตน์ เกษตรกร 4.0 ทำสวนปาล์มขนาดเล็ก แต่ใหญ่คุณภาพ

แม้จะมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้อย แต่ถ้า “บรรจง” ทำให้มี “คุณภาพ” เพื่อให้ได้ผลผลิตสูง  และลดต้นทุนไปพร้อมๆ กัน กำไรก็จะเพิ่มขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนสวนปาล์มเพิ่มเลย

แนวคิดการทำสวนปาล์มน้ำมันของ ณัฐดนัย สุขรัตน์ เกษตรกรรายย่อยใน จ.สุราษฎร์ธานี เขาให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการสวนปาล์มตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว พร้อมๆ กับนำเทคโนโลยียุคใหม่เข้ามาใช้ เพื่อเป้าหมายเดียวคือ ให้ได้ผลผลิตสูง ภายใต้เนื้อที่จำกัด 
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
HIGHTLIGHT :
🔴เกษตรกรมือใหม่ให้ความสำคัญตั้งแต่ สายพันธุ์ ดิน และน้ำ เพราะทุกปัจจัยมีผลต่อการเจริญเติบโต และผลผลิตปาล์ม
🔴ตรวจวิเคราะห์ดิน และใบปาล์ม เพื่อความแม่นยำในการให้ปุ๋ยให้ตรงกับความต้องการ สัมพันธ์กับผลผลิต และช่วยลดต้นทุน
🔴สวนปาล์มน้ำมัน 4.0 ติดตั้งระบบน้ำ พร้อมระบบสั่งงานบนสมาร์ทโฟน ผ่านสัญญาณอินเตอร์เน็ต 3G ช่วยให้การทำงานสะดวกขึ้น ไม่จะเป็นต้องเข้าสวนทุกวัน ขณะที่ต้นทุนระบบสั่งการไม่สูงอย่างที่คิด
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ณัฐดนัย สุขรัตน์ เกษตรกรสวนปาล์มมือใหม่ หัวใจ 4.0
ณัฐดนัย ทิ้งอาชีพโปรแกรมเมอร์ มาเป็น ชาวสวนปาล์ม เมื่อปี  2555 พร้อมกับจัดอันดับให้ตัวเองเป็น “มือใหม่” ในอาชีพนี้ เนื่องจากในช่วง 3 ปีแรก เขาเพียงแค่ลงทุนปลูกแล้วฝากให้พี่ชายดูแล เพิ่งจะมาทำจริงจังเมื่อ 5 ปีมานี่เอง มีสวนปาล์มใน อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี และ อ.สวี จ.ชุมพร รวม 44 ไร่
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ศึกษาสายพันธุ์ปาล์มคอมแพค จนมั่นใจปลูก
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
เรื่องสายพันธุ์ปาล์มน้ำมันเป็นความรู้ใหม่ที่เขาต้องศึกษาหาความรู้ โดยเข้าไปศึกษาจากแปลงเพาะมาตรฐานที่อยู่ใกล้บ้านใน อ.ละแม จ.ชุมพร คือ แปลงเพาะกล้า RD เกษตรพัฒนา ที่นำเข้าเมล็ดปาล์มน้ำมัน จาก บริษัท ASD ประเทศคอสตาริกา ผู้ผลิตพันธุ์ปาล์มมาตรฐานระดับโลก มาเพาะ ซึ่งพันธุ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ กลุ่มพันธุ์คอมแพค ได้แก่ คอมแพคกาน่า เดลี่คอมแพค คอมแพคไนจีเรีย  และไนจีเรียแบล็ค ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นหลายด้าน เช่น ผลผลิตสูง สูงช้า ทางใบสั้น เป็นต้น

ด้วยความสนใจเขายังเข้าไปดูข้อมูลในเว็บไซต์ ASD เพิ่มเติม ก่อนจะตัดสินใจปลูก ไนจีเรียแบล็ค และ เดลี่คอมแพค โดยได้รับคำแนะนำหลังการปลูกอย่างดีจาก บริษัท อาร์ดี เกษตรพัฒนา จำกัด

ข้อมูลการปลูกปาล์มพันธุ์คอมแพค 
เดลี่คอมแพค (ปลูก  ส.ค. 2555 จ.สุราษฎร์ธานี) อายุ 5 ปี ระยะ 8x8x8  น้ำหนักทะลาย(ชั้นแรก) 12-20 กก. จุดแข็ง เดลี่ คอมแพ็ค คือ  ทางสั้น กาบถี่ ทำให้สูงช้า ทะลายขนาดปานกลาง จึงทำงานไม่ยาก
น้ำหนักดี เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง แต่จุดอ่อนคือ อ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อมและธาตุอาหารมาก และระยะที่เหมาะสมคือ 9 เมตร ขึ้นไป 

ไนจีเรียแบล็ค (ปลูก ส.ค. 2552 จ.ชุมพร) อายุ 8 ปี ปลูกระยะ 9x9x9 ความยาวทาง (ปีนี้) 6.8-7 เมตร ความสูง 2.5-2.8 เมตร น้ำหนักทะลาย(ชั้นแรก) 20-50 กก. ปาล์มพันธุ์นี้ สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ทนแล้งได้ดี มีขนาดทะลายปานกลาง ทำงานง่าย ผลผลิตออกสม่ำเสมอทั้งปี แต่จุดอ่อน คือ ในตอนอายุน้อยๆ ทางใบจะบิดมากว่าพันธุ์อื่นๆ ทำให้การเจริญเติบโตไม่สม่ำเสมอกัน โดยพบว่าพันธุ์นี้ทางใบยาวมากควรปลูกที่ระยะ 10 เมตร ขึ้นไป 
 ปาล์มน้ำมันพันธุ์เดลี่คอมแพ็ค อายุ 5 ปี 
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ปรับสภาพดินก่อนและหลังปลูกปาล์ม
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ดินเป็น “ต้นทุนทางธรรมชาติ” ที่สำคัญของการปลูกพืช ถ้าดินดีมีอินทรียวัตถุสูง เมื่อใส่ปุ๋ย พืชก็สามารถนำไปใช้ได้มาก ตรงกันข้ามถ้าโครงสร้างดินไม่ดี การเจริญเติบโตของพืชจะพิกลพิการไปด้วย

ความโชคดีเล็กน้อยถึงปานกลางของ ณัฐดนัย แม้ว่าพื้นที่ปลูกปาล์มดินจะไม่สมบูรณ์ แต่ก็ไม่ได้แย่จนแก้ไม่ได้เลย วิธีแก้ง่ายๆ เพียงแค่ใช้ทางใบที่ตัดทิ้งจากต้นปูกระจายให้ย่อยสลายช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุในดิน จากนั้นปรับสภาพเล็กน้อยด้วยด้วยโดโลไมด์ จากค่าดิน pH 4.5 ก็มีสภาพดีขึ้นเรื่อยๆ

━━━━━━━━━━━━━━━━━━
น้ำเพิ่มผลผลิตปาล์ม 50%ทำระบบน้ำสั่งงานด้วยสมาร์ทโฟน
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ถ้าสวนปาล์มได้น้ำสมบูรณ์จะช่วยเพิ่มผลผลิตได้ถึง 50% เลยไม่ต้องสงสัยเลยว่าสวนปาล์มของณัฐดนัยจึงให้ความสำคัญและลงทุนวางระบบน้ำในสวนปาล์มทุกแปลง โดยเฉพาะ สวนปาล์มใน อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี ใช้เทคโนโลยีการให้น้ำแบบอัตโนมัติ และสั่งการด้วยสมาร์ทโฟน

เขาเล่าให้ฟังว่า มีสวนปาล์มอยู่ 2 แปลง ใน อ.สวี จ.ชุมพร 24 ไร่  และ อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี 20 ไร่ ระยะห่างกันเกือบร้อยกิโล ทั้งสองแปลงได้วางระบบน้ำมินิสปริงเกลอร์ไว้ทั้งหมด ถึงเวลาช่วงหน้าแล้งที่กินระยะเวลา 3-4 เดือน เป็นช่วงทำงานหนักมาก เพราะต้องคอยให้น้ำทั้งสองสวนสลับกัน ช่วงที่ให้น้ำสวนหนึ่งอีกสวนหนึ่งก็ต้องหยุดไป เลยให้น้ำได้ไม่ต่อเนื่อง ขณะที่ต้นปาล์มต้องการน้ำทุกวัน
ระบบน้ำสั่งงานเปิด-ปิดได้จากโทรศัพท์มือถือ ผ่านสัญญาณอินเตอร์เน็ต พร้อมกล้องวงจรปิด 
จึงปรึกษากับวิศวกรไฟฟ้าว่าจะทำอย่างไรที่จะให้น้ำพร้อมกันได้ ก่อนจะนำอุปกรณ์โฮมออโตเมชั่น (Home Automation) มาดัดแปลงใช้กับระบบควบคุมการทำงานของตู้คอนโทรลระบบน้ำ สามารถสั่งงานได้ด้วยสมาร์ทโฟน ไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลก ขอเพียงแค่มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต โดยทดลองใช้กับสวนปาล์ม อ.ท่าชนะ ในต้นปี 2560 พบว่าระบบทำงานได้ดีมากไม่มีปัญหาใดๆ ทั้งสิ้น

“ผมสามารถตั้งค่าการทำงาน และควบคุมการทำงานของระบบน้ำที่แปลง อ.ท่าชนะ โดยไม่ต้องเข้าสวนเลย สั่งเปิด-ปิดผ่านมือถือ ข้อดีของมันไม่ใช่แค่ตั้งการทำงานอัตโนมัติ แต่ยังสั่งเปิด-ปิดได้ด้วย สมมุติเราวางโปรแกรมให้น้ำไว้ ถ้าเกิดฝนตก ระบบมันก็ยังจะทำงานต่อไป แต่ระบบนี้เมื่อทราบว่าฝนตกผมสามารถสั่งปิดได้เลยโดยไม่ต้องไปสวน อีกทั้งช่วยประหยัดไฟและน้ำได้ด้วยและทำให้การทำงานง่ายขึ้นเยอะ ลงทุนอุปกรณ์เพิ่มแค่ 6,000 กว่าบาทเท่านั้น หรือน้อยกว่านั้นแล้วแต่ความต้องการ” 
อ่าน...สวนปาล์มน้ำมันทันยุค 4.0 ควบคุมระบบน้ำด้วยสมาร์ทโฟน 

“ถามว่าที่ภาคใต้ทำไมต้องติดระบบน้ำ เพราะภาคใต้จะมีช่วงแล้งจัดหลายเดือน ช่วงนี้ต้องให้น้ำ ยิ่งอนาคตมีแนวโน้มแล้งรุนแรงมากยิ่งขึ้น และในงานวิจัยถ้ามีการให้น้ำเต็มที่ผลผลิตจะสูงขึ้นกว่าสวนปาล์มที่ไม่ให้น้ำ 50%
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
พูดคุยกับดินและใบปาล์ม วิเคราะห์ธาตุอาหารได้แม่นยำ และลดต้นทุน
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━ 
การจัดการเรื่องปุ๋ย ณัฐดนัย บอกว่า การใส่ปุ๋ยที่ดีที่สุดและแม่นยำมากที่สุดคือ คุยกับดิน ถามกับต้นปาล์ม 

ไม่ใช่เรื่องตลก แต่เป็นเรื่องจริง เพียงแต่ดินกับต้นปาล์มมันพูดไม่ได้ วิธีการก็นำตัวอย่างไปตรวจวิเคราะห์ในห้องแล็บ ผลของการวิเคราะห์จะทำให้เรารู้ว่าดินและต้นปาล์มขาดธาตุอาหารอะไร ทำให้การใส่ปุ๋ยมีความแม่นยำ ตรงตามที่ปาล์มต้องการ และยังจะช่วยลดต้นทุนปุ๋ยได้อีกด้วยเพราะเราให้พอดีความต้องการของต้นปาล์ม

เขาแนะนำว่า ถ้าอยากจะตรวจดิน สามารถนำตัวอย่างไปตรวจฟรี ได้ที่สถานีพัฒนาที่ดินง่ายที่สุด  ส่วนการตรวจวิเคราะห์ใบมีทั้งตรวจฟรีและมีค่าใช้จ่าย เช่น  สวพ.7.สุราษฎร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตรวจฟรี แต่ถ้าเสียเงิน ก็มีตัวอย่างละ 1,700บาท  แต่ณัฐดนัยโชคดีที่ได้ตรวจตัวอย่างฟรีโดยส่งไปตรวจที่ 1.สวพ. 7 2. แล็บของบริษัทปุ๋ยที่เขาเป็นลูกค้าและ 3. ส่ง บริษัท วิจิตรภัณฑ์ปาล์มออยล์ ที่เขาลง คอร์ส อบรมเรื่องการจัดการสวนปาล์ม 
ตัวอย่างผลวิเคราะห์ธาตุอาหารจากใบปาล์มจากแล็บของ บริษัท ยาร่า
“ผลวิเคราะห์ใบจะบอกปริมาณธาตุอาหารในต้นปาล์มว่ามีปริมาณเท่าไหร่ จากนั้นนำไปเทียบกับมาตรฐานวิชาการ เปรียบเทียบกับข้อมูลการใส่ปุ๋ยปีที่ผ่านมา และข้อมูลผลผลิตของปีที่ผ่านมา เมื่อนำมาวิเคราะห์ก็จะรู้ว่าธาตุอาหารที่มีอยู่ในต้นปาล์มเพียงพอหรือขาดถ้าไม่พอต้องเพิ่มส่วนใหญ่จะเพิ่ม 25% ถ้าเกินลด 20% ปริมาณของธาตุแล้วค่อยมาคำนวณเป็นเนื้อปุ๋ยว่าเราจะใส่เท่าไหร่ เช่น ผลวิเคราะห์ว่าปาล์มขาดไนโตรเจน ปีที่แล้วใส่ 1,000 กรัม ปีนี้ก็เพิ่มไป 25% ก็เป็น 1,250 กรัม เป็นต้น”

“พอได้ปริมาณธาตุอาหารจึงจะเลือกปุ๋ย ว่าต้องการแหล่งไนโตรเจนจากไหน และใส่ปุ๋ยตัวไหนบ้าง อย่างของผมจะธาตุหลักใส่แม่ปุ๋ย+ปุ๋ยสูตร เพื่อให้การจัดการของผมง่ายขึ้นเพราะว่าผมดูแลคนเดียว ปุ๋ยสูตรผมจะใช้ 15-15-15 เป็นฐาน ไนโตรเจนใช้ 21-0-0  และโปแตสเซียม ให้ 0-0-60 ส่วนธาตุรองและเสริม จะใส่แยกต่างหาก

อย่างไรก็ตามถึงแม้จะได้ปริมาณที่ธาตุที่จะให้ในแต่ละปีแล้ว แต่นั้นก็เป็นเพียงตัวแทนในสวนเพราะเป็นค่าวิเคราะห์ใบจากต้นตัวอย่างในสวนเท่านั้น มันไม่ใช่คำตอบของทุกต้น ผมจึงเพิ่มรายละเอียดการให้ปุ๋ยลงไปอีกคือ 1 พิจารณาอาการที่แสดงออกจากต้นปาล์ม 2 พิจารณาจากผลิตที่ออกไปของปีที่ผ่านมา และ 3 พิจารณารายต้น เช่นต้นไหนออกลูกมากก็เพิ่มปุ๋ยให้ ต้นไหนที่ออกน้อยก็ลดปุ๋ย

ตัวอย่างธาตุอาหารที่ให้ในปี 2559 แปลงเดลี่คอมแพ็ค (อัตรา/ต้น/ปี)
ไนโตรเจน (N)  1,322 กรัม
ฟอสฟอรัส (P)  (P2O5) 1,034 กรัม
โปแตสเซียม (K) (K2O) 3,756 กรัม
แมกนีเซียม Mg (MgO) 461 กรัม
กำมะถัน S 535 กรัม
โบรอน B 65 กรัม 
วางทางใบกระจายเป็นรูปตัว T เว้นระยะห่างจากโคนต้นเมตรกว่าๆ เพื่อทำงานได้สะดวก
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
สร้างอินทรียวัตถุในสวนจากทางใบ วางกระจายเป็นรูปตัว T
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
สวนของณัฐดนัยเน้นสร้างอินทรียวัตถุจากในสวน ง่ายๆ เพียงแค่วางทางปาล์มกระจายเป็นรูปตัว Tห่างจากโคนต้นปาล์มประมาณเมตรกว่าๆ  ทำแบบนี้มีข้อดี 3 อย่าง คือ เพิ่มและกระจายอินทรียวัตถุในสวนเยอะขึ้น ช่วยให้ดินสมบูรณ์ ทางใบยังช่วยชะลอการไหลของน้ำบริเวณพื้นที่ลาดเอียง และช่วยรักษาความชื้นภายในสวนได้อย่างดี  ประโยชน์ของทางใบจึงไม่ต่างจาก การสร้าง “โรงอาหาร” ในสวนปาล์ม

“เมื่อก่อนเกษตรกรเขาจะกองทางใบไว้กลางแถวปาล์มแบบสูงๆ เวลาใส่ปุ๋ยจะใส่บนดินไม่กล้าใส่บนกองทางกลัวว่าปุ๋ยจะค้างบนใบปาล์มทำให้ปาล์มไม่ได้กินปุ๋ย แต่ในความเป็นจริงการใส่ปุ๋ยบนกองทางจะมีประสิทธิภาพมากกว่าเพราะบริเวณกองทางมีความชื้นสูงโครงสร้างดินดีกว่ารากฝอยก็เยอะกว่าเพราะฉะนั้นการใส่ปุ๋ยบริเวณกองทางจึงให้ประสิทธิภาพกว่า  ดังนั้นจะเลือกวางกองทางกระจายเป็นตัว T รากปาล์มจะกระจาย ปริมาณรากกินอาหารจะมีมาก และกระจายไปทั่ว เราจะใส่ปุ๋ยได้กว้างขึ้น รากจึงกินปุ๋ยได้สะดวกมากขึ้น ช่วยให้การให้ปุ๋ยมีประสิทธิภาพสูงขึ้น”

นอกจากให้ปุ๋ยบริเวณกองทางแล้ว น้ำก็เน้นให้บริเวณกองทางด้วยเช่นกัน โดยติดตั้งสปริงเก้อร์ไว้ใกล้กองทาง น้ำที่ตกลงมาเมื่อลงบนกองทางจะเก็บความชื้นไว้ได้นาน ดังนั้นจึงทำให้บริเวณดังกล่าวมีความชื้น ธาตุอาหาร อินทรียวัตถุ จะรวมกันอยู่บริเวณนี้ กลายเป็น “โรงอาหาร” ขนาดใหญ่ของต้นปาล์ม 

วิธีวางทางใบกระจายแบบตัว T ในสวนอย่างนี้ณัฐดนัยบอกว่าเพิ่งเริ่มทำได้ประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา หรือทำในช่วงปาล์มอายุ 4-5 ปี ขึ้นไป 
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ผลผลิตสูง ต้นทุนต่ำ
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ณัฐดนัยยกตัวอย่าง สวนปาล์ม เดลี่คอมแพค เมื่อปีที่แล้ว อายุ 3.5 ปี –4.6 เดือน ผลผลิตอยู่ที่ 4,310 กก/ไร่/ปี ถือว่าผลผลิตอยู่ในขั้นสูงปานกลาง ด้วยความที่ปีที่แล้วแล้งจัดน้ำแห้งหมดทำให้มีทะลายฝ่อจำนวนมาก ทำให้ผลผลิตช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม ลดลง

“ตัวผมเองอยากจะเห็นที่ 6 ตัน เฉลี่ย 3 ปี อยู่ที่ 5.5 ตัน ประมาณนี้ก็ไม่รู้จะได้หรือเปล่านะ แต่เราก็ต้องดูแลเพราะตอนนี้เรามีน้ำ มีอะไรเต็มที่”

ส่วนต้นทุนการผลิต ที่ผ่านการจดบันทึก อยู่ที่ 1.91 บาท/กก. ประกอบด้วยต้นทุนปุ๋ย ค่าตัดปาล์มและค่าบรรทุก  ณัฐดนัยกล่าวว่าต้นทุนอาจสูงเพราะช่วงนี้จะบำรุงเต็มที่เพราะคาดหวังผลิตอีก 2 ปีข้างหน้าที่เลข 6 ตัน

“ผลผลิตปาล์มในแปลง 20 ไร่ เป็นปาล์มพันธุ์เดลี่คอมแพ็ค จาการเก็บสถิติปีล่าสุด (1 ม.ค. 2559 – 31 ธ.ค. 2559)  ช่วงอายุ 3.6 - 4.5 ปี ได้ผลผลิตสูงถึง 4.31 ตัน/ไร่/ปี หรือผลผลิตรวมทั้งปี 86.2 ตัน ขณะที่ต้นทุนเบื้องต้น (ค่าปุ๋ย ค่าตัด ค่าบรรทุก) 1.91 บาท/กก. ซึ่งระบบน้ำคือส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้ผลผลิตสูงขึ้น”
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ตัดปาล์มสุก 18-19% ขึ้นไป พร้อมทำปาล์มคุณภาพมากกว่านี้ เมื่อกลไกราคาโรงงานรองรับ
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ถ้าแบ่งการตัดปาล์มเป็น 3 แบบ ดิบ กึ่งสุกและสุก ณัฐดนัย จัดให้ปาล์มที่ตัดอยู่ตรงกลาง คือ กึ่งสุก หรือสุกประมาณ 70-80% แต่เขาก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนไปตัดปาล์มสุกคุณภาพมากกว่านี้ทันที เมื่อกลไกซื้อขายปาล์มตามคุณภาพบังคับใช้สมบูรณ์ ขณะที่กลไกปัจจุบันยังซื้อแบบคละเกรดอยู่

ถ้ากลไกรับซื้อปาล์มยังคละเกรด แต่การตัดปาล์มสุกมีต้นทุนสูงขึ้น เพราะต้องเก็บลูกร่วง ซึ่งจะมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 10-20 เมล็ด/ทะลาย ขณะที่ปาล์มระดับกึ่งสุก อย่างที่เขาตัดจะมีลูกร่วง ประมาณ 3-8 ลูก ยังต้องจ้างคนตัดเก็บลูกร่วงอีกกิโลละ 2 บาท  ในขณะที่ราคาลูกร่วงสูงกว่าราคาทะลายแค่ 1.5-2 บาทต่อกิโล

ปาล์มสุก 70-80% ตามที่เขาทำ เอาเข้าจริงก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องสร้างความเข้าใจใหม่กับคนตัดปาล์ม ที่ส่วนใหญ่เน้นตัดให้ได้ปริมาณเยอะๆ เอาไว้ก่อน เนื่องจากรายได้ของพวกเขาอยู่ที่ปริมาณและน้ำหนักทะลาย ไม่ได้อยู่ที่เปอร์เซ็นต์น้ำมัน

“ผมสอนให้คนตัดรู้จักตัดปาล์มสุก ให้เขารู้จักว่าปาล์มสุก ปาล์มดิบเป็นแบบไหน แล้วไม่ให้ตัดปาล์มดิบเด็ดขาด แม้ว่าแรกๆ จะมีพลาดบ้างแต่น้อย เราต้องเข้าไปควบคุมแต่จริงๆ ผมก็อยากได้ปาล์มสุกทั้งหมดนั่นแหล่ะ แต่ว่าทำไม่ได้ ทำยากมาก เพราะถ้าทำแบบนั้น อีก 6-10 วันต้องเข้ามาตัดใหม่ มันมีเรื่องของความไม่สะดวกของแรงงาน และระบบโรงงานเองก็ยังไม่เอื้อต่อการตัดคุณภาพเพราะยังซื้อคละอยู่ แต่ผมพร้อมที่จะทำปาล์มคุณภาพ อยากให้โรงงานและลานเทเข้าสู่ระบบด้วย เพราะว่า ถ้าเราทำดีแล้วเราควรจะได้ผลตอบแทนในสิ่งที่ดีด้วย เราจะได้มีกำลังใจ” 
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ทำสวนปาล์มพื้นที่เล็ก ให้ผลผลิตสูง ใช้ความเล็กให้เป็นประโยชน์
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
แนวคิดในการทำสวนปาล์มณัฐดนัย ได้รับอิทธิพลจาก  โสฬส เดชมณี ที่เคยแนะนำว่า รายย่อยเราต้องใช้“ความเล็ก” ให้เป็น “จุดแข็ง”

ความหมายก็คือ ดูแลสวนปาล์มที่มีให้ละเอียดและทั่วถึง แม้จะมีพื้นที่น้อยแต่ถ้าทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มสูงขึ้นได้ กำไรจะเพิ่มตามไปด้วย โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนสวนปาล์มเพิ่มเพราะการทำสวนปาล์มเพิ่มใช้เงินลงทุนเยอะมาก

“อย่างสวนปาล์มแปลงใหญ่ในมาเลเซียเขาได้ผลผลิต ไม่เกิน 3.5 ตัน/ไร่ แต่เขาทำแปลงใหญ่เป็นแสนเป็นล้านไร่ แต่เกษตรกรไทยเป็นรายย่อยมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ แต่ถ้าเราอยากได้กำไรเยอะเราก็ต้องเพิ่มผลผลิตในไร่ แต่ทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้นให้กำไรต่อไร่เยอะขึ้น” 
ถ้ามีสวนปาล์ม 44 ไร่ หากได้ผลผลิต 3 ตัน/ไร่/ปี จะได้ผลผลิตรวม 132 ตัน/ปี แต่ถ้าพื้นที่เท่าเดิมทำให้ผลผลิตสูงขึ้น 5-6 ตัน ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว โดยไม่จำเป็นต้องปลูกปาล์มเพิ่มเลย แต่อาศัยจุดแข็งสวนปาล์มแปลงเล็ก แต่ดูแลละเอียดและทั่วถึง และมีปัจจัยอีกตัวที่มีผลต่อผลิตอย่างแน่นอนนั้นคือน้ำซึ่งผมมีพร้อม

ณัฐดนัยบอกว่า การทำสวนปาล์มยุคใหม่ เกษตรกรต้องศึกษา เรียนรู้ และนำมาประยุกต์ใช้ภายในสวน ซึ่งปัจจุบันมีอยู่มากมาย ทั้งในอินเตอร์เน็ต จากหน่วยงานราชการ และจากเกษตรกรผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งเขาเองก็เรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้

“ข้อมูลเรื่องการจัดการเราก็ต้องขวนขวายหน่อย ถามตัวเองว่าเราใฝ่รู้หรือยัง พร้อมที่จะเรียนรู้หรือยัง อยากรู้หรือยัง พอใจกับสิ่งที่เป็นหรือยัง ถ้าคำตอบคือยังไม่พอใจ อยากพัฒนาตัวเองเราก็เริ่มหาข้อมูลเลย”
 ━━━━━━━━━━━━
ขอขอบคุณ
ณัฐดนัย สุขรัตน์ โทรศัพท์ 08-9109-3993


- Advertisement -



ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม