━━━━━━━━━━━━
HIGHTLIGHT :
✔ ปรับแนวคิดการทำสวนปาล์ม นำหลักวิชาการมาปรับใช้เพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนไปพร้อมๆ กัน
✔ เทคนิค สามสูง หนึ่งต่ำ เริ่มจากเอาใจใส่สวนปาล์มแบบเข้มข้นสูง ใส่ปุ๋ยปริมาณสูง ต้นละ 16-18 กก. แต่ได้ผลผลิตสูงขึ้น ขณะที่ต้นทุนการผลิตต่ำ
✔ ตัดปาล์มยุคใหม่ต้องเน้นทะลายสุกมีลูกร่วง น้ำมัน 21 % ใช้ต่อรองราคาเพิ่มจากโรงงาน
✔ การทำงานของพี่โสฬสพยายามลดข้อจำกัดให้เหลือน้อยที่สุด ด้วยวิธีลงมือทำในสิ่งที่ปาล์มต้องการ โดยไม่มีข้อแม้
━━━━━━━━━━━━
นายโสฬส เดชมณี เจ้าของสวนปาล์ม 44 ไร่ ทำผลผลิตได้ 7.3 ตัน/ไร่/ปี
นายโสฬส เดชมณี เกษตรกรชาวสวนปาล์มหัวก้าวหน้าแบบ “ติดจรวด” ของ อ.พุนพิน
จ.สุราษฎร์ธานี สวนปาล์มที่ได้รับคำชื่นชมว่ามีระบบการจัดการสวนที่ดี พอๆ
กับเป็นสวนปาล์มที่ให้ผลผลิตสูงที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ และเป็นสวนปาล์มที่
กรมวิชาการเกษตรใช้เป็นแปลงต้นแบบในการนำเกษตรกรต่างถิ่นเข้ามาศึกษาดูงานไม่ขาดสาย
ทั้งๆ ที่เจ้าของสวนปาล์มแปลงนี้ไม่ใช่เซียนปาล์มมากประสบการณ์
แต่เขาเพิ่งเริ่มปลูกปาล์มได้เพียง 8 ปีเท่านั้น หากแต่ผลผลิตเกินประสบการณ์
ยาง&ปาล์มออนไลน์ จะนำผู้อ่านไปทำความรู้จักเกษตรกรคนนี้
พร้อมกับเจาะลึกการจัดการสวนปาล์มผ่านประสบการณ์ของเขา
ซึ่งยืนยันว่าเกษตรกรสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง โดยไม่ต้องเป็นเซียน
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
จากคนเลี้ยงวัว สู่ เจ้าของสวนปาล์มมือใหม่
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
“ผมเลี้ยงวัว และเปิดร้านขายของมาก่อน
เพิ่งจะมาปลูกปาล์มเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2550 นี่เอง” พี่โสฬส จำวันเดือนปี
ที่เริ่มปลูกปาล์มได้อย่างแม่นยำ โดยปลูกบนพื้นที่นาร้าง 44 ไร่
ไม่ได้อุดมสมบูรณ์อะไร เนื่องจากดินมีค่า pH 3.6 แม้จะปรับปรุงด้วยโดโลไมด์ต้นละ 5 กก./ต้น/ปี ก็ไม่ดีขึ้น
ก่อนจะหันมาใช้ปูนขาว จุดแข็งมีอย่างเดียว คือ เป็นที่ลุ่มน้ำท่าสมบูรณ์
เมื่อเริ่มต้นปลูกปาล์มพี่โสฬส ไม่ต่างอะไรกับ “คนตาบอด”
เพียงแต่หลังจากปลูกแล้วพยายามเปิดหูเปิดตาหาความรู้จากทุกทิศทุกทาง เพื่อเพิ่มเติมความรู้ที่มีอยู่น้อยนิด โดยเข้าไปปรึกษาที่สำนักงานเกษตรจังหวัด หรือมีเวทีอบรมเรื่องปาล์มที่ไหนต้องเข้าไปนั่งฟังอย่างตั้งใจเสมอ จนเข้าไปเป็นสมาชิกเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน
จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นเครือข่ายที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับ RSPO
จนในที่สุดได้รู้จักกับ คือ อ.ธีระพงศ์ จันทรนิยม ผู้เขียนตำราปาล์มน้ำมันที่ดีและสมบูรณ์ที่สุดของประเทศ นับจากนั้นพี่โสฬสจึงนำวิธีการจัดการสวนปาล์มของ
“เซียนปาล์มระดับอ๋อง” เกือบทั้งหมดมาปรับใช้จัดการสวนปาล์ม
“ผมเป็นคนสมองกลวงเรื่องปาล์ม พยายามเติมความรู้ให้เต็ม ได้ความรู้ก็นำมาคิดต่อยอดและนำมาใช้
สมองไม่ต่อต้านความรู้ใหม่ เพียงแต่เราต้องศึกษาธรรมชาติของต้นปาล์มให้ชัดก่อนถึงจะทำได้โดยเฉพาะการพัฒนาการหรือการเติบโตของต้นปาล์มแต่ละช่วงมันใช้เวลานานมาก บางเรื่องทำแล้วไม่เห็นผลเราต้องเข้าใจธรรมชาติของมัน”
หลังจากเขาเปลี่ยนสมองกลวงๆ ให้กลายเป็น ฟองน้ำ พร้อมดูดซับความรู้ทุกทิศทุกทาง องค์ความรู้เรื่องปาล์มน้ำมันจึงเพิ่มพูน
หลังจากเขาเปลี่ยนสมองกลวงๆ ให้กลายเป็น ฟองน้ำ พร้อมดูดซับความรู้ทุกทิศทุกทาง องค์ความรู้เรื่องปาล์มน้ำมันจึงเพิ่มพูน
เขายกตัวอย่างว่า ปีนี้ปาล์มภาคใต้ผลผลิตลดลงทุกที่ รวมทั้งสวนของเขาเอง “ปีนี้ลดเหลือ 6.8 ตัน/ไร่/ปี จากปีที่แล้ว 7.3
ตัน/ไร่/ปี ทั้งที่ผมก็ดูแลเต็มที่มาตลอด
แต่ก็มองย้อนกลับไปว่าทำไมมันถึงลด ทบทวนว่าดอกตัวผู้ที่เริ่มออกมาในช่วงนี้น่าจะเป็นผลกระทบจากช่วงเดือนเมษายน ปี 2557 ซึ่งตอนนั้นสุราษฎร์ฯ เจอภาวะแล้งรุนแรง”
“ต้นปาล์มเมื่อแตกทางใบออกมา 1 ทางจะออกมาพร้อมตาดอก ถ้าองค์ประกอบต่างๆ สมบูรณ์ ตาดอกจะเป็นดอกตัวเมีย ถ้าขาดส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่นแล้ง ธาตุอาหารไม่พอ แสงแดด ก็จะเป็นดอกตัวผู้ แล้วใช้เวลาเจริญเติบโตจนเห็นเป็นช่อดอกใช้เวลา 38 เดือน ดอกตัวผู้ที่ออกเยอะในปีนี้จึงเป็นชุดที่เจอภัยแล้งเมื่อ
2 ปีก่อน” พี่โสฬส คาดเดาจากหลักวิชาการ
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ใส่ปุ๋ยตามผลวิเคราะห์ใบ ต้นละ 18.4 กก.
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
“ปีนี้ผมใส่ปุ๋ยไปต้นละ 18.4 กก./ต้น”
พี่โสฬสว่า
“โอ้.... ต้องใส่มากขนาดนั้นเลยเหรอครับ”
ผู้เขียนร้องอย่างตกใจ และไม่ใช่ผู้เขียนคนเดียวที่ร้องอย่างนี้ พี่โสฬสบอกว่า เล่าให้ใครฟังก็ตกใจ
“เขาบอกว่าผมใส่ปุ๋ยเยอะอย่างนี้ถึงได้ผลผลิต 7.3 ตันไงล่ะ...!!!”
แต่ความจริงแล้วเขาบอกว่า
ปริมาณปุ๋ยที่ใส่นั้นไม่ใช่ใส่ตาม “อำเภอใจ” หรือใส่ตาม “ความรู้สึก” แต่ใส่ปุ๋ยตามผลวิเคราะห์ธาตุอาหารจากใบปาล์ม
“ปีที่แล้วผมใส่ 16 กก.เศษ แบ่งใส่ 3 ครั้ง มาปีนี้ผมนำทางใบไปตรวจวิเคราะห์
ผลออกมาว่าธาตุอาหารขาด จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมปีนี้ผมต้องใส่ปุ๋ยเพิ่มเป็น 18.4 กก. อีกอย่างต้องเข้าใจว่าเวลาใส่ปุ๋ย มันสูญเสียไปโดยธรรมชาติ เวลาหว่านลงพื้นมันระเหยไปบ้างละลายไปกับน้ำฝนบ้าง
ต้นปาล์มได้ไปสัก 50% นี่ก็เก่งแล้ว”
เจ้าของสวนปาล์มบอกว่า ผลวิเคราะห์ธาตุอาหารจากใบปาล์มทำให้เจ้าของสวน “คุยกับต้นปาล์ม” รู้เรื่อง รู้ว่าต้นปาล์มต้องการหรือขาดธาตุอาหารตัวไหนบ้าง จากนั้นจะนำมาคำนวณค่ากลางเป็นน้ำหนักแม่ปุ๋ยที่จะต้องใส่ให้ต้นปาล์ม
ประกอบด้วย ไนโตรเจน (21-0-0) ฟอสฟอรัส (0-3-0) และโปแตสเซียม (0-0-60) และเสริมด้วยแม็กนีเซียม และโบรอน ตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร
“เวลาผมใส่ก็ไม่ได้หลับหูหลับตาใส่ตามค่านั้นเหมือนกันทุกต้น แต่จะดูลักษณะอาการของต้นปาล์ม
ใบปาล์มแต่ละต้นประกอบด้วย เพราะค่าวิเคราะห์แค่สุ่มตัวอย่าง อย่างปาล์มที่ลำต้นไม่เป็นทรงกระบอก แต่เป็นทรงปิระมิด พอเห็นก็ต้องรู้ว่ามันขาดฟอสฟอรัส เวลาเราใส่ปุ๋ยก็ต้องเพิ่มฟอสฟอรัสให้มากกว่าค่ากลาง ถ้าใส่ตามค่ากลางมันก็ยังขาดต่อไปอีก”
“เราต้องพยายามแก้ไปเรื่อยๆ และเห็นผลว่าต้นที่ใส่ฟอสฟอรัสเพิ่มคอมันจะใหญ่ขึ้น พอคอใหญ่ทะลายจะใหญ่ขึ้นมาเลย ผมคิดเองว่าเมื่อปาล์มได้ธาตุอาหารเลี้ยงต้นเพียงพอมันจะเหลือไปบำรุงลูกบำรุงทะลายได้ ถ้ามันขาดก็เลี้ยงต้นก่อนไม่เหลือไปเลี้ยงทะลาย ทะลายก็จะเล็ก”
จะเห็นได้ว่าแม้พี่โสฬสจะให้ความสำคัญกับผลตรวจวิเคราะห์จากห้องแล็บ หากแต่เขาใช้มันเป็นเพียง “เข็มทิศ” ไม่ได้ใช้เป็น “นาย”
เทคนิคการใส่ปุ๋ยของสวนนี้ค่อนข้างแปลกจากที่ผู้เขียนเคยเห็น
เพราะเขาจะเลือกใส่แม่ปุ๋ยทีละตัว ไม่ใช่นำแม่ปุ๋ยมาผสมรวมกันแล้วนำไปใส่
“จริงๆ ผมไม่รู้จักสูตรปุ๋ยเลย เพราะเวลาวิเคราะห์หาธาตุอาหารเขาจะนำไปคำนวณเป็นน้ำหนักปุ๋ยเลยว่าใส่เท่าไหร่ เช่น ไนโตรเจน น้ำหนักเท่าไหร่ ฟอสฟอรัสเท่าไหร่ โปแตสเซียมเท่าไหร่ เวลาใส่ก็จะใส่ทีละตัว ไม่ได้นำ 3 ตัวมาผสมและใส่พร้อมกัน วิธีนี้จะช่วยให้เราเพิ่มปุ๋ยได้ง่ายขึ้น และแม่นยำ แก้ปัญหาเฉพาะจุดได้ ถ้าต้นไหนที่ผลผลิตเยอะยิ่งต้องใส่ปุ๋ยเยอะเพราะต้นต้องนำธาตุอาหารไปเลี้ยงผลผลิต”
“แต่ปีนี้ปรับมาใส่สูตรเสมอ 16-16-16 แล้วใช้ไนโตรเจนเป็นฐาน จากนั้นจึงเพิ่มฟอสฟอรัส โปแตสเซียม ตามสัดส่วน เพื่อลดการทำงานลง
เพราะผมใส่คนเดียว”
การตรวจวิเคราะห์ธาตุอาหารใบปาล์ม จึงมีความสำคัญในการจัดการสวนปาล์ม
ทำให้รู้ว่าต้นปาล์มขาดอะไร และต้องการอะไร และจะเป็น “เข็มทิศ” ในการจัดการสวนปาล์ม โดยเฉพาะปุ๋ย
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ต้นทุนต่ำ เพราะผลผลิตสูง
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ใส่ปุ๋ยขนาดนี้แล้วต้นทุนไปบานกระด้งเหรอครับ...??? ผู้เขียนถาม
“ผมทำบันทึกข้อมูลการจัดการไว้อย่างละเอียดทั้งหมด ทั้งปุ๋ย ค่าแรง และค่าขนส่ง สรุปเป็นรายจ่ายรวมทั้งหมดในรอบ 1 ปี
แล้วนำมาหารด้วยจำนวนผลผลิตรวมในรอบ 1 ปี แต่ปีนี้สรุปต้นทุนแล้วไม่เกิน 2 บาท/กก.” ซึ่งส่วนหนึ่งที่ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำ เพราะผลผลิตค่อนข้างสูง
“ผมลองเอาต้นทุนปุ๋ยทั้งหมดมาคิดเฉลี่ยเป็นน้ำหนักปุ๋ย 1
กระสอบ (50 กก.) หารด้วยรายได้ทั้งหมด ต้นทุนปุ๋ยไม่เคยเกิน 700 บาท/กระสอบเลย ต้นทุนปุ๋ยจึงต่ำ เมื่อเทียบกับปุ๋ยสูตร แต่ถ้าเป็นปุ๋ยสูตรไม่ต่ำกว่า 900 บาท คนจึงไม่เชื่อว่าทำไมผมใส่ปุ๋ยเยอะแต่ต้นทุนกลับต่ำ ก็เพราะได้ผลผลิตสูงไงครับ” พี่โสฬสยืนยัน
การใส่ปุ๋ยตามผลวิเคราะห์ใบปาล์ม ช่วยประโยชน์ได้หลายทาง ได้แก่เพิ่มประสิทธิภาพการใส่ปุ๋ย โดยต้นปาล์มได้ประโยชน์เต็มที่ และยังช่วยลดต้นทุนปุ๋ยได้ไม่ต่ำกว่า 200 บาท/กระสอบ
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ผลผลิตพุ่งสูงต่อเนื่อง ตั้งเป้า 8 ตัน/ไร่/ปี
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
พี่โสฬสยังเปิดเผยข้อมูลผลผลิตให้ฟังว่า ข้อมูลผลผลิตปาล์มในช่วง
4 ปีที่ผ่านมาตัวเลขเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 4.6 ตัน/ไร่/ปี ปีต่อมาเพิ่มเป็น 6.7 ตัน และเมื่อปีที่แล้ว
7.3 ตัน ซึ่งสูงที่สุด ส่วนปีนี้ได้ 6.8 ตัน/ไร่/ปี
โดยสาเหตุที่ปริมาณลดลงมาจากภัยแล้งเมื่อ 2 ปีก่อน แต่ก็ยังนับว่าสูงเมื่อเที่ยบกับค่าเฉลี่ยของประเทศ
“ผมเป็นคนขี้สงสัย ถ้าผลผลิตเดินขึ้นเรื่อยๆ ผมจะพยายามช่วยทุกวิถีทาง
เช่น เพิ่มปุ๋ย หน้าแล้งก็ให้น้ำช่วยผมพยายามให้น้ำเพิ่มอย่างจริงจังมา 2 ปีแล้ว ปี 60-61 ผมมั่นใจว่าผลผลิตในสวนไม่น่าจะต่ำกว่า 7.3 ตัน ผมจะดูว่ามันจริงไหม”
“ผมมองว่าเวลาอายุปาล์มมันเยอะขึ้น ขนาดทะลายใหญ่ขึ้น ถ้าเราทำทุกอย่างที่ปาล์มต้องการเพียงพอ ทะลายจะใหญ่ขึ้นมันก็เท่ากับเพิ่มน้ำหนัก ปีที่แล้วน้ำหนักเฉลี่ยทะลายละ 17 กก. ปีนี้ 22 กก. ทะลายใหญ่สุดหนัก 30 กว่า (คำนวณจากนับทะลายขึ้นรถแล้วชั่งน้ำหนักที่โรงงาน แล้วนำมาหาร) ผมจึงมาคิดว่า เราจะทำให้อย่างไรให้ทะลายน้องๆ มันใหญ่ตาม”
ผู้เขียนเกิดความสงสัยว่า ส่วนหนึ่งที่ผลผลิตในสวนของพี่โสฬสสูงในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา น่าจะเป็นธรรมชาติของต้นปาล์มที่จะให้ผลผลิตสูงสุดในช่วงอายุ 8-9 ปี หลังจากนี้ปริมาณจะค่อยๆ ลดลงตามธรรมชาติของปาล์มน้ำมัน
“ผมว่าถ้าเราให้ธาตุอาหารมันเพียงพอ และต่อเนื่อง
ผลผลิตมันไม่น่าลด ถ้าเราคิดว่าอายุมันมากขึ้นผลผลิตจะลดลง มันจะเป็นตัวกำหนดการเอาใจใส่ปาล์มของเราทีนี้ปุ๋ยเราก็ไม่ใส่ น้ำก็ไม่ให้ ยังไงผลผลิตมันก็ลดลงแน่นอน แต่ที่ผมทำยิ่งผลผลิตเยอะผมยิ่งจะใส่ปุ๋ยเยอะ ดูแลมันให้ดี ผลผลิตจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ” เขาเชื่อเหตุผลในการปฏิบัติของเขา
ซึ่งมีน้ำหนักไม่น้อย
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ทางใบปาล์มเป็นปุ๋ยอินทรีย์ธรรมชาติ ต้นทุนต่ำ ธาตุอาหารสูง
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
สิ่งความแปลกตาในสวนของพี่โสฬสคือ
ในสวนจะมีทางใบปาล์มปูเต็มพื้นสวนไปหมด ต่างจากที่เคยเห็นแค่นำไปกองไว้ตรงกลางระหว่างแถวต้นปาล์ม
และตามต้นปาล์มก็ไม่มีต้นเฟินให้เห็น ซึ่งผิดปกติวิสัยของสวนปาล์มภาคใต้
จึงทำให้สวนปาล์มของเขาไม่มีหญ้า แลดูสะอาดตา
“ทางกลุ่มมีกิจกรรมให้ทุกสวนทำปุ๋ยหมักจากทะลายปาล์ม เขาจะมีทะลายปาล์มจากโรงงานสนับสนุนให้ แต่ผมไม่มีเวลาทำ จึงไปหารือกับ อ.ธีระพงศ์นอกรอบว่าถ้าผมจะใช้ทางปาล์มปูให้เต็มสวนจะสร้างอินทรียวัตถุได้เพียงพอไหม อาจารย์บอกว่าถ้าทำได้มันเหลือเฟือมาก แต่ไม่มีใครทำกัน ผมจึงเริ่มทำเลย สังเกตว่าเราปูตามพื้นมันย่อยสลายเร็วกว่ากองไว้เป็นแถว
แล้วหญ้าไม่ค่อยขึ้นด้วย ตรวจวัดแล้วอินทรียวัตถุในดิน 5.7 มันสูงมาก ทั้งที่ไม่เคยใส่มูลสัตว์สักนิดเลย มาจากทางปาล์มในสวนล้วนๆ”
การปูทางใบจึงเป็นเหมือน “ตู้เซฟ” เก็บความชื้นหน้าดินในสวน เป็น “ยาฆ่าหญ้าธรรมชาติ” ช่วยลดการเกิดหญ้าในสวนได้อย่างดี และที่สำคัญ เป็น “โรงงานปุ๋ยอินทรีย์” คุณภาพเยี่ยมให้สวนปาล์ม
โดยสรุปประโยชน์ของการปูทางใบจึงเป็นเหมือน “ตู้เซฟ” เก็บความชื้นหน้าดินในสวน เป็น “ยาฆ่าหญ้าธรรมชาติ” ช่วยลดการเกิดหญ้าในสวนได้อย่างดี และที่สำคัญ เป็น “โรงงานปุ๋ยอินทรีย์” คุณภาพเยี่ยมให้สวนปาล์ม
ส่วนเฟินตามต้นปาล์มนั้นเป็นความชอบส่วนตัว เนื่องจากไม่ต้องการให้มันดูรก อยากให้ลำต้นสะอาดสะอ้านแค่นั้นเอง
ส่วนเฟินตามต้นปาล์มนั้นเป็นความชอบส่วนตัว เนื่องจากไม่ต้องการให้มันดูรก อยากให้ลำต้นสะอาดสะอ้านแค่นั้นเอง
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ตัดปาล์มสุก เปอร์เซ็นต์น้ำมัน 21% ขายได้ราคาสูง
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ประเด็นสำคัญอีกเรื่องที่พี่โสฬสให้ความสำคัญมากๆ
คือ ตัดปาล์มสุก ซึ่งเป็น “ปัญหาใหญ่เท่าภูเขา” ของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันไทย
เนื่องจากยังมีเกษตรกรตัดดิบที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันต่ำจำนวนมาก จนเป็น “จุดอ่อน”
ให้โรงงานกดเปอร์เซ็นต์น้ำมันและราคา
“ราคาปาล์มวันนี้โรงงานคำนวณจากเปอร์เซ็นต์ 14-17% ไม่เกินนี้
เพราะยังตัดปาล์มดิบขายกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ของผมตัดปาล์มสุก เปอร์เซ็นต์ไม่ต่ำกว่า 20-21% จึงต่อรองราคาเพิ่มจากโรงงานได้ เรื่องนี่มันใหญ่มาก
รณรงค์ให้ตัดปาล์มสุกกันมาหลายปี แต่ไม่ดีขึ้น”
“เหตุผลส่วนหนึ่งผมว่าเจ้าของสวนเองไม่ได้เข้าไปดูแลควบคุม ปล่อยให้เขาตัดกัน ของผมวันแทงปาล์มผมจะเข้าไปควบคุม จะไม่มีการปาดดูว่าสุกหรือไม่สุก เพราะการปาดเกิดจากเห็นว่ามันยังไม่สุกแล้วลองปาดดูเผื่อมันจะสุก ทั้งๆ ที่เห็นว่ามันไม่สุก อย่างนี้ไม่เอาถ้าสงสัยผ่านเลย รอบหน้าค่อยตัด
เพราะผมจะตัดปาล์มถี่ 10 วันครั้ง รอบหน้าสุกพอดี จริงๆ ปาล์มสุกดูง่าย
แต่คนตัดเขาไม่สนเขาต้องการแค่ตัดเยอะๆ ปริมาณเยอะ ค่าแรงจะสูง”
ทั้งนี้ วิธีดูปาล์มสุกง่ายๆ คือ จะมีลูกร่วงลงมาโคนต้นปาล์ม และต้องมีสีแดงตั้งแต่ปลายทะลายลงมาถึงโคน อย่างน้อย 80% ของทะลาย ส่วนปาล์มต้นสูงๆ
ที่คนตัดมักอ้างว่าดูยากว่าสุกหรือไม่ จริงๆ แค่ตัดทางลงก่อน
ก็จะเห็นแล้วว่าทะลายปาล์มสุกหรือไม่ ถ้าโคนทะลายสีเหลืองส้มแสดงว่าสุก ถ้ายังเหลืองขาวแสดงไม่สุก
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ให้น้ำหน้าแล้ง เพิ่มความสมบูรณ์
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
แม้จะอยู่ในพื้นที่เหมาะสม เป็นที่ลุ่มของ
อ.พุนพิน แต่ก็มักจะเจอปัญหาแล้งยาวนานเกือบทุกปี จนส่งผลกระทบกับต้นปาล์มได้
“ผมไปดูงานที่มาเลเซียเขามีปริมาณน้ำฝนมากและกระจายตัวทั้งปี ผลผลิตเขาจึงสูง
แต่ของไทย พอถึงช่วงฤดูแล้งมันไม่มีฝน ประมาณ
3-4 เดือน ต้นปาล์มทนไม่ได้ ช่วงนี้ผมจะให้น้ำช่วย ทำต่อเนื่องมา 2 ปีแล้ว แค่ใช้วิธีง่ายๆ สูบน้ำด้วยท่อพญานาคแล้วต่อสายไปจุดที่สูงที่สุดในสวนแล้วปล่อยให้ไปไหลลงไปในสวนจนเปียกชุ่ม หมุนเปลี่ยนจุดไปเรื่อยๆ ทำเป็นล็อกๆ ไป จนทั่วสวน ประมาณ 20 วันครั้ง”
“พอเดือนเมษายนก็จะเริ่มใส่ปุ๋ยแล้ว หลังรดน้ำเสร็จหนึ่งวันก็ใส่ปุ๋ยเลย ปุ๋ยจะละลายดีเพราะดินมันชุ่ม แต่ถ้าใส่ปุ๋ยแล้วรดน้ำปุ๋ยจะละลายตามน้ำไปหมด พอมีการให้น้ำจะช่วยให้ใส่ปุ๋ยต้นฤดูมีประสิทธิภาพขึ้น”
พี่โสฬส มองว่าการทำสวนปาล์ม
ยังไปต่อได้อย่างมั่นคง เพียงแต่ข้อสำคัญเกษตรกรรายย่อยไม่ควรนำวิธีการจัดการของสวนใหญ่ที่มีความพร้อมทั้งทุน
เครื่องมือ และเทคโนโลยี มาเป็นแบบอย่าง แต่ต้องนำ “ความเล็ก” มาเป็น “จุดแข็ง” เนื่องจากสวนเล็กสามารถดูแลสวนได้ละเอียดและทั่วถึง ทำให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงมากกว่าปกติ
“สวนผมเป็นหนึ่งในแปลงต้นแบบ ของโครงการขับเคลื่อนงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ของ กรมวิชาการเกษตร
มีคนที่เข้าร่วมโครงการมาดูจำนวนมาก ส่วนใหญ่มาดูแนวทางการจัดการเป็นหลัก ผมจะบอกว่าแล้วมาดูก็ไม่ใช่ว่านำไปใช้เลย แต่นำไปดัดแปลงให้เหมาะสมกับสวนในพื้นที่ของตัวเอง ตรงนี้สำคัญมากคือการคิดและประยุกต์ให้เหมาะสมกับพื้นที่ตัวเอง”
ตัวอย่างของสวนปาล์ม 44 ไร่ ใน อ.พุนพิน
แห่งนี้เป็นตัวอย่างที่ยืนยันได้อย่างชัดเจน ซึ่งพี่โสฬสทุ่มเทให้อย่างหมดหัวใจ
และความภาคภูมิใจที่ได้รับ นอกจากผลผลิตและรายได้ มันคือ ความภาคภูมิใจในอาชีพชาวสวนปาล์ม
“เราทุ่มเททำแล้วเห็นผลงานมันภาคภูมิใจ เพราะนี่คืออาชีพของผม ผมรักในอาชีพที่ทำ”
ขอขอบคุณ
นายโสฬส
เดชมณี
38
หมู่ 1 ต.ศรีวิชัย อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี 84130
โทร.08-1370-0105
-
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น