ราคายางพาราค่อยๆ ไต่ทะยานจาก 50
บาทเศษ/กก. ในช่วงเดือน ตุลาคม 2559 จนทะลุ 70 บาทเมื่อกลางเดือนธันวาคม คือ “ละอองฝน” ชะโลมชีวิตเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ
หลังจากเผชิญชีวิตอย่าง “ทุรกันดาน” ในช่วงวิกฤติราคายาง 2-3 ปี ที่ผ่านมา
เพราะปัจจัยที่ทำให้ยางพาราคาดีดตัวสูงขึ้นมาจากกลไกการผลิตยางถูก
“คุมกำเนิด” หลายทาง เช่น ภาคใต้อยู่ในฤดูมรสุม กรีดยางไม่ได้ เกษตรกรจำนวนไม่น้อยโค่นยางทิ้งไปปลูกพืชเศรษฐกิจตัวอื่น
เพราะราคายางตกต่ำ รวมถึงนโยบายสนับสนุนการโค่นยางเก่าปลูกยางใหม่ของรัฐปีละ 4 แสนไร่
ทำให้ยางออกสู่ตลาดโลกน้อยลง จนสต็อกยางโลกลดลง อยู่ในจุดเสี่ยงต่อความมั่นคง ประเทศผู้ใช้ยางรายใหญ่จึงต้องซื้อยางเติมสต็อก
ซึ่งมีตัวเลขว่าน่าจะขาดอยู่กว่า 5 แสนตัน ราคายางจึงพุ่งทะยานอย่างที่เห็น
นายเพิก เลิศวังพง
และน่าจะเป็น “ของขวัญกล่องโต”
ต้อนรับปีใหม่ หลังจากมีแนวโน้มว่าราคายางจะพุ่งไปถึง 80 บาท/กก. กูรูยางบางคนจับยามสามตาว่ามีสิทธิ์ติดจรวดพุ่งไปถึง
100 บาท/กก.ก่อนปิดหน้ากรีดปีหน้า
นี่คือช่วงเวลาที่ดีต่อชีวิตและจิตใจชาวสวนยางเป็นที่สุด...!!!
หากแต่พลันที่ชาวสวนยางกำลังชุ่มชื่นกับราคายาง
พอให้ได้กำรี้กำไรมาบ้าง หลังจากก่อนหน้านี้มีชีวิตเหมือนอยู่ใน “ทะเลทราย”
โดยเฉพาะชาวสวนยางภาคใต้เจอฝนตกหนักจนกรีดยางไม่ได้ รายได้แทบไม่มี นานนับเดือน
ก่อนถูกซัดด้วยน้ำท่วมเกือบทุกจังหวัด เพิ่งจะกรีดยางได้ไม่กี่วัน ก็มีข่าวที่เป็น
“ศัตรู” กับจิตใจ เมื่อ การยางแห่งประเทศไทย ( กยท.) ประกาศโล๊ะสต็อกยาง 3.1
แสนตัน จากโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรฯ และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนฯ
ซึ่งคนในวงการยางรู้ดีว่าถ้ายางล็อตนี้ถูกขายออกไปในห้วงเวลานี้จะเกิดอะไรขึ้น…???
- Advertisement -
การที่ กยท.ประกาศเลหลังยางจำนวน
3.1 แสนตัน จึงสั่นคลอนต่อราคายางยิ่งนัก เพราะถ้ายางล็อตใหญ่นี้หลุดไปสู่ตลาดจะทำให้ราคายางที่กำลังพุ่ง พลันหัวตกอย่างแน่นอน
ซึ่งจะส่งผลกระทบกับยางของเกษตรกรอีกนับล้านตัน
เอ็ฟเฟ็ก เร็วทันตาเห็น หลังจาก
ผู้ว่าการ กยท. ออกข่าวประกาศว่าจะเปิดประมูลขายยาง 3.1 แสนตัน
ราคายางในตลาดกลางยางพาราของไทยร่วงลงทันที สองวันร่วงไป 5 บาท
ช่วงเวลาเดียวกันกับที่
กยท.ประกาศขายยางล็อตใหญ่
ก็มีข่าวปล่อยไปยังสหกรณ์ยางพาราให้นำยางที่เก็บสต็อกไว้นำออกมาขายเพื่อทำกำไรในช่วงนี้
หากเก็บไว้มีความเสี่ยง เพราะรัฐกำลังจะปล่อยยางล็อตใหญ่
ขณะที่มีคนในวงการยางพาราตั้งข้อสังเกตว่า
เหตุใด กยท.จึงเทขายยางในช่วงนี้ อีกทั้งยางที่จะขายเป็นแบบ
“เหมาเข่ง” ยกโกดัง ไม่มีการคัดเกรดคุณภาพ มีสิทธิ์สูงที่จะกระชากราคายางให้ตกต่ำ
และจะถูกใช้เป็นราคาอ้างอิงในตลาด ซึ่งผลลัพธ์สุดท้ายก็เข้าทางพ่อค้า
และบริษัทส่งออก
นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย
ก่อนที่ นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการ
กยท. จะออกมาสร้างความชัดเจนในเรื่องนี้ว่า การประมูลยางครั้งนี้ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์
เพื่อหาผู้ซื้อที่ให้ราคาสูงที่สุด โดยไม่มีการดั้มราคา เพราะจะมีการประกาศราคาขั้นต่ำสุดโดยอ้างอิงราคาจากสำนักงานตลาดกลางยางพารา
ก่อนประมูล 1 วัน และจะทยอยระบายขายยาง
โดยคำนึงถึงกลไกตลาดเป็นหลัก เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางของประเทศ ซึ่งจะมี ยางแผ่นรมควันอัดก้อน
ยางแท่ง STR 20 และยางอื่นๆ
ด้านคุณภาพยาง นายธีธัช ชี้แจงว่า
จะใช้หลักเกณฑ์ของสถาบันวิจัยยาง โดยผู้ประมูลจะต้องซื้อเหมายกโกดัง หากพบว่ามียางเสื่อมคุณภาพปะปน
ราคาจะลดหลั่นตามหลักเกณฑ์
“ผมจะคำนึงถึงความเหมาะสมของห้วงเวลา
ปริมาณยางในแต่ละครั้ง เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อกลไกตลาดน้อยที่สุด
แต่จำเป็นต้องดำเนินการในช่วงเวลานี้ เพื่อให้เป็นไปตามภารกิจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายและสอดรับต่อแนวโน้มราคายางที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อไปในปี
60 ซึ่งการตัดสินใจระบายครั้งนี้
จะเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว เพื่อไม่ให้สต็อกยางเหล่านี้เป็นตัวถ่วงในการปรับราคายางในอนาคตอีกต่อไป”
ดร.ธีธัช ยืนยัน
ขณะเดียวกัน นายเพิก เลิศวังพง
อดีตแกนนำชาวสวนยาง “สายฮาร์ดคอร์” ตั้งข้อสังเกตเรื่องนี้ไว้ในเฟซบุ๊คส่วนตัวไว้อย่างน่าคิดหลายประเด็น
ผมพอรู้ข่าวเรื่อง
จนท.กระซิบให้สมาชิกในเครือข่ายระบายยางออกสู่ตลาดเพราะจะมีการระบายล็อตใหญ่ของรัฐ
แต่ในเมื่อจะเล่นข่าวกันแล้ว ผมก็อยากจะบอกให้ฟังอีกมุมหนึ่งว่า
แม้รัฐจะขายสามแสนตันนี้
แต่ก็ยังไม่สามารถส่งมอบหรือขนยางได้ทันที เพราะยางอยู่ในสภาพไหนไม่รู้ มีครบหรือป่าวก็ไม่รู้
กว่าขั้นตอนพวกนี้จะสำเร็จต้องใช้เวลาพอสมควร ที่ผ่านมาเราก็รับรู้กันมาตลอดว่า
ระดับผู้บริหารของหน่วยงานที่รับผิดชอบ เรื่องยาง ไม่เคยอยู่ข้างชาวสวนยางเลย
ดูได้จากนโยบาย
การให้ข่าว แนวทางปฏิบัติ แบทุกเรื่องอยู่ข้างพ่อค้ามาตลอด ครั้งนี้ก็เช่นกัน
ช่วงนี้ยางในโลกเป็นที่ทราบกันดีว่าขาดแคลนอย่างหนักมากกว่า 5 แสนตัน
สาเหตุเพราะช่วงที่ผ่านมายางในโลกหายไปล้านกว่าตัน และในช่วงเวลาอันสั้น และช่วงนี้ภาคใต้น้ำท่วม
ยางก็กำลังจะปิดกรีด รวมถึงยางในสต็อกที่ถึงขายได้ก็ยังส่งมอบไม่ได้
เพราะติดอีกหลายขั้นตอน
จึงเป็นเหตุให้เชื่อได้ว่า
แผนกระซิบให้สหกรณ์ขายยางจึงเป็นกลลวง ให้รายย่อยที่ตุนยางเร่งระบายยางในสต็อก
ให้พ่อค้ารายใหญ่ไปปิดการส่งมอบ เพราะผู้ใช้ไม่พอใช้ พวกพ่อค้าใหญ่บางรายโดนค่าปรับกันอ่วมอรทัย
เพราะฉะนั้นเราอย่าหลงกล อย่าเทยางออกมา ให้ขายตามปกติ อย่าตื่นตกใจ
ตั้งสติแล้วคิดตามที่ผมบอก
เราแย่มาหลายปี
อย่าหลงกล ตอนนี้ถ้ารัฐจะขาย 3 แสนตันก็ขายไปเลย แต่ยังไงตอนนี้ก็ต้องซื้อยางแพงๆ ไปใช้อยู่ดีเพราะยางในสต็อกเน่าๆ
ของรัฐ กับยางของพวกเราตอนนี้ ที่ทั้งใหม่ทั้งสดคุณภาพมันคนละเรื่องกัน
อีกอย่างช่วงใกล้ปีใหม่ทุกปีเป็นเรื่องธรรมดาที่ชาวบ้านจะขายยางมากกว่าปกติ
เพราะต้องใช้เงินช่วงปีใหม่ ถ้าราคาจะขยับลงบ้างก็เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเราหลงกล
เทยางออกมาพร้อมๆ กัน ท่านทั้งหลายก็จะกลับไปสู่วังวนเดิมครับ ไม่มีใครช่วยเราได้ หลายปีมานี้ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้ว
ช่วยเหลือกันเอง คือแนวทางที่ถูกต้องที่สุดครับ
“ได้เวลาชาวสวนยางรวมพลัง
ลงราคาไป เราไม่ขาย จะไปขายหลังปีใหม่”
นายเพิกปลุกพลังชาวสวนยาง
ทั้งนี้นายเพิกเป็นคนหนึ่งที่พร่ำพูดมาตลอดว่า
ยางพาราไม่เคยล้นโลก และมีความต้องการใช้เพิ่มทุกปี เพียงแต่อยู่ที่การปั่นราคาในตลาดโลก
และพิสูจน์แล้วว่าถ้ากลไกการผลิตถูกคุมกำเนิด ราคายางพุ่งสูงแน่นอน
ถ้าชาวสวนยางรู้จักเก็บสต็อกยาง
พร้อมกันนั้นชาวสวนยางสายฮาร์ดคอร์ ยังมีข้อเสนอเกี่ยวกับการขายยางบิ๊กล็อตของ
กยท. เพื่อให้เกิดความเสียหายน้อยกับชาวสวนยางน้อยที่สุด
1. กยท.ควรตรวจสต็อกก่อนว่ามียางจริงของรัฐคงเหลือจำนวนเท่าไหร่
และปริมาณยางของเกษตรกรที่มีอยู่มีปริมาณเท่าไหร่
ความต้องการยางของตลาดโลกมีเท่าไหร่ ในช่วงเวลานี้ เพื่อให้ทราบถึงข้อมูลที่ถูกต้อง
อันจะนำไปสู่การระบายยางโดยไม่ส่งผลกระทบต่อ เกษตรกร และราคายางในปัจจุบัน
2. กยท.ควรคำนึงถึงเงื่อนไข
ระยะเวลาในการประมูล และประกาศให้ชัดเจนว่าจะระบายยาง ชนิดไหน เกรดไหน
ในช่วงเวลาใด เพราะความชัดเจนของเวลาจะสามารถลดอาหารตื่นตระหนก
จะได้ไม่มีการเทขายยางออกมาเพื่อหนีตาย อันจะนำไปสู่การลงราคาแบบรวดเร็ว
3. ควรประกาศให้ชัดเจนถึงวิธีการ
แนวทาง และวางมาตรการให้รัดกุมทั้งก่อนและหลังการประมูล เพื่อป้องกันการกดราคาตลาด
และป้องกันกรณีประมูลแล้วทิ้งไม่ยอมมารับยาง หรือเลือกเอาแต่ยางที่ดีไปเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ยังหาคนรับผิดชอบไม่ได้
4. การทำสัญญาควร
ปิดจุดอ่อนและใช้การทำสัญญาแบบมืออาชีพ
ไม่ใช่ทำเองโดยหน่วยงานที่ไม่มีความรู้เรื่องการค้าดีพอดังเช่นครั้งที่ผ่านๆ มา
5. ควรขึ้นแบล็คลิสต์คนที่เคยสร้างความเสียหายให้ชัดเจน
รวมถึงผู้เกี่ยวข้อง
6. ควรมีผู้รับผิดชอบชัดเจนในกรณีเกิดความเสียหาย
ที่ผ่านมาไม่เคยมี
นายอุทัย สอนหลักทรัพย์
ด้าน นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย
(สยยท.) ได้เตรียมทำการยื่นฟ้องฉุกเฉินต่อ ศาลปกครอง ให้ยุติการขายยาง
3.1 แสนตันของรัฐบาล โดยชะลอไปถึงเดือนมีนาคม 2560
“ในการยื่นฟ้องฉุกเฉินต่อศาลปกครองให้ยุติการขายยาง
โดยชะลอไปถึงเดือนมีนาคม 2560 โดยยึดต้นแบบที่เคยฟ้องฉุกเฉินต่อศาลปกครอง
สมัยนายยุคล ลิ้มแหลมทอง
เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อปี 2554
ขณะนั้นยางชุดนี้ มีอยู่จำนวน 2.1 แสนตัน แต่ตอนนี้ขยับเป็น 3.1 แสนตัน
ในการเชิญชวนประมูลยางครั้งนี้ ทางประเทศจีน กลับรู้ก่อนประเทศไทย ทำให้ราคายางในระเทศจีน ตกไปตั้งแต่ 200- 700
หยวน / ตัน จนส่งผลกระทบต่อชาวสวนยางทั่วประเทศในขณะนี้ ทำให้ราคายางทยอยลง
ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม จนถึงขณะนี้แล้ว 5-6 บาท / กก. ทำให้เงินของชาวสวนยางหายไปวันละประมาณ
70 ล้านบาท”
นายอุทัยกล่าว
ตามความกังวล และข้อสังเกตของชาวสวนยาง มีความเป็นไปได้สูงที่การระบายยาง
3.1 แสนตัน ของ กยท.จะส่งผลกระทบต่อราคายาง
แต่ในส่วนที่ว่ายางบิ๊กล็อตนี้จะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ส่งออกหรือไม่อย่างไรนั้น
ยังไม่สามารถระบุ “ข้อเท็จจริง” ได้
เพียงแต่เมื่อมองเห็นเค้ารางแล้วว่าหากยาง 3.1 แสนตัน หลุดออกสู่ตลาด
จะทำให้ราคายางกลับสู่ภาวะตกต่ำ ก็ไม่ควรอย่างยิ่งที่ กยท. ปล่อยยางล็อตนี้ออกไป โดยอาจจะเปลี่ยนมาใช้วิธีทยอยขายตามปริมาณและช่วงเวลาที่เหมาะสม
ไม่ส่งผลกระทบต่อตลาด หรือไม่ก็ยังมีมาตรการที่จะนำไปใช้ในประเทศ
ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาราคายางรองรับ
อย่างน้อยก็นึกเสียว่าเมตตาพี่น้องชาวสวนยางนะครับ
อย่างน้อยก็นึกเสียว่าเมตตาพี่น้องชาวสวนยางนะครับ
- Advertisement -
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น