ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

มองสองมุม : ประมูลปุ๋ยยาง กยท.

HIGHTLIGHT :
⚫ กยท. เปิดประมูลปุ๋ยเคมี และอินทรีย์ 64,724.20 ตัน สำหรับพื้นที่ภาคใต้และภาคตะวันออก ผลการประมูลสังคมตั้งเครื่องหมายคำถามหลายด้าน โดยเฉพาะราคาประมูลสูงกว่าท้องตลาด และขั้นตอนไม่โปร่งใสเอื้อผู้ประมูล

⚫ บอร์ด กยท.สายภาคตะวันออกชี้แจง ราคาประมูลต่ำกว่าราคากลาง ทุกขั้นตอนอยู่ในกรอบและระเบียบของกฎหมาย และเร่งให้ทันต่อฤดูใส่ปุ๋ยของเกษตรกร

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดประมูลปุ๋ยตามโครงการดำเนินการจัดหาปุ๋ยบำรุงให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อดำเนินการจัดหาปุ๋ยให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง ในไตรมาสที่ 3 (1 เมษายน-30 มิถุนายน) โดยให้ Business Unit (BU) ที่จัดตั้งขึ้นโดย กยท. เป็นผู้ดำเนินการจัดหาปุ๋ย 2 ประเภท คือ 1.ปุ๋ยเคมี จำนวน 34,724.20 ตัน 2.ปุ๋ยอินทรีย์ จำนวน 30,000 ตัน ด้วยวิธีการประมูลทางอีเล็กทรอนิกส์ 
ภายหลังการประมูลเกิดความสงสัยในวงการยางพาราหลายด้าน โดยผู้ออกมาเปิดประเด็นเรื่องนี้ คือ นายศิวะ ศรีชาย แนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยาง เขาเปิดเผยผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว และแชร์ไปยังกลุ่มต่างๆ ทั้งในกลุ่มเฟซบุ๊คและกลุ่มไลน์ โดยระบุว่า ผลการประมูลที่ออกมา ชาว กยท.และชาวสวนยางส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า


1.ได้ปุ๋ยราคาแพง

2.กยท.สูญเสียรายได้จากค่าดำเนินการ

3.สังคมเกิดความสงสัยว่าจะมีการจัดฮั้วการประมูล และมีผลประโยชน์ต่างตอบแทนโดยทุจริตเกิดขึ้นหรือไม่???

นายศิวะ บอกว่าในกระบวนการเปิดประมูลซื้อปุ๋ยของ กยท.ในล็อตนี้ มีสิ่งผิดปกติและคำถามของสังคมเกิดขึ้นในหลายประเด็น ได้แก่

1.ประกาศช้า (ประกาศวันที่ 30 มีนาคม 2560 )

2.ขายซองเร็ว (ขายซองประมูลราคาวันที่ 30 มีนาคม-3 เมษายน 2560) ยื่นซองเร็ว (ยื่นเสนอราคาประมูลในวันที่ 7 เมษายน 2560) ระยะเวลาสั้นๆ และมีการถ่วงหรือประวิงเวลาดำเนินการโดยอ้างแก้ไขคุณสมบัติผู้ร่วมประมูล (วันที่ 31 มีนาคม 2560) จงใจให้คร่อมวันเสาร์ อาทิตย์   
   
3.มีผู้เข้าร่วมประมูลน้อยมาก และได้ชนะประมูลกันถ้วนหน้า

4.ตั้งราคากลางไว้สูงมาก และราคาประมูลต่ำกว่าราคากลางเพียงเล็กน้อย

5.แนวทางนโยบาย และวิธีปฏิบัติที่กำหนดโดยบอร์ด กยท.และ กยท.ไม่มีความชัดเจนแน่นอน กลับไปกลับมา จนดูเหมือนว่าคล้ายจะจงใจไม่รักษาประโยชน์ให้แก่ชาวสวนยางเท่าที่ควร ที่สำคัญกว่านั้นราคาดูจะสูงกว่าปกติของการประมูลทั่วไปอย่างที่ควรจะเป็น 

Advertising

จึงเกิดข้อสงสัย และคำถามค้างคาใจของชาวสวนยางทั่วทั้งประเทศ ว่า การเปิดประมูลทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ของ กยท. จะมีปัญหา มีช่องโหว่??? ในการยื่นซองประมูลเปิดโอกาสให้แต่ละรายสามารถเลือกยื่นซองเฉพาะรายการที่ตัวเองต้องการได้ เพื่อเป็นการช่วยเลี่ยงปัญหาการวางเงินค้ำประกันซอง ทำให้แต่ละรายการมีผู้เข้าร่วมยื่นประมูลกี่ราย (ไม่ใช่ยื่นประมูลทุกรายการครบทั้ง 5 ราย อย่างที่พยายามให้สังคมเข้าใจผิด)

นายศิวะ แสดงความคิดเห็นว่า ข้อมูลรายละเอียดตรงนี้ กยท.ควรจะต้องเปิดเผยให้ได้รับทราบว่า มีรายการใดที่มีผู้ประมูลเพียง 1 ราย 2 ราย หรือ 3 ราย ก่อนที่จะโดนกล่าวหาว่าจัดฮั้วการประมูล??? แต่ละรายการ มีผู้ซื้อซองประมูลกี่ราย และเข้ายื่นราคาประมูลจริงกี่ราย มีความแตกต่างในการเสนอราคาอย่างไร
       
ตรงนี้เป็นส่วนสำคัญที่ กยท.จะต้องตอบคำถามต่อสังคม และชี้แจงต่อชาวสวนยางทั้งประเทศ

ขณะเดียวกันทีมงานยางปาล์มออนไลน์ ได้พูดคุยกับ นายสังข์เวิน ทวดห้อย กรรมการการยางแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับข้อเท็จจริงการประมูลปุ๋ยจากโครงการดังกล่าว โดยนายสังเวินชี้แจ้งเป็นประเด็น ไว้ดังนี้

ประเด็นที่ 1 เรื่องการประกาศขายซองประกวดราคาปุ๋ยที่ถูกตั้งคำถามว่าเวลากระชั้นชิดเกินไปนั้น ภาพความเป็นจริงเราอยากจะให้เร็วกว่านี้ เนื่องจากเกษตรกรต้องการใช้ปุ๋ยแล้ว เพราะภาคใต้ตอนบนช่วงนี้ฝนเริ่มตกแล้วต้องการใช้ปุ๋ย ส่วนภาคตะวันออกเดือนเมษายนปีที่แล้วปุ๋ยถึงกลุ่มเกษตรกรแล้ว พฤษภาคมก็จะเริ่มจ่ายปุ๋ยให้เกษตรกร แต่ปีนี้ล่าช้า ในที่ประชุมจึงหารือกันว่าถ้ากระบวนการใช้เวลานาน บางทีถึงเดือนมิถุนายนเกษตรกรก็ยังไม่ได้ปุ๋ย ดังนั้นถ้าช้าจะไม่ทันกับช่วงฤดูใส่ปุ๋ยของเกษตรกรจะเกิดความเสียหาย

เราจึงปรึกษาทางฝ่ายกฎหมายว่าระเบียบได้หรือไม่ ถ้าจะเปิดซองระหว่าง 30 มี.ค.-5 เม.ย. ทางผู้ออกระเบียบบอกว่าได้ เราจึงประกาศทางเว็บไซต์ ซึ่งทางเอกชนเขาจะรู้และติดตามความเคลื่อนไหวอยู่แล้ว ขั้นตอนที่ทำเราทำจึงอยู่ในกรอบของระเบียบ 

อย่างที่เราทำการประมูลไปเมื่อ 19 เมษายนนั้น วันที่ 28 ถึงทำสัญญา กว่าจะส่งมอบปุ๋ยครบใช้เวลาอีกเป็นสิบวัน แล้วต้องนำปุ๋ยไปวิเคราะห์ใช้เวลาอีก 7 วัน แต่ที่ผ่านมาไม่เคยได้ผลวิเคราะห์ทันสักที แต่จะใช้เวลา 15-20 วัน นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงประกาศเร็ว

ประเด็นที่ 2 ที่มีการให้ข่าวว่า ราคาปุ๋ยที่เอกชนประมูลแพงกว่าราคาในท้องตลาด ต้องบอกว่าผู้ที่กำหนดราคากลางนั้นไม่ใช่คณะกรรมการชุดนี้ แต่เป็นฝ่ายส่งเสริมของ กยท. เป็นผู้กำหนด โดยจะนำข้อมูลราคาปุ๋ยจากทุกจังหวัด ซึ่งเป็นราคาท้องถิ่น นำมาเป็นตัวตั้งและบวกค่าขนส่งไป และคำนวณเป็นราคากลาง ราคาประมูลแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน เพราะจะมีค่าขนส่งตามระยะทางต่างกัน

อย่างภาคตะวันออกเมื่อปีที่แล้วราคาประมูลเฉลี่ยอยู่ที่ 12.30 บาท/กก. แต่มาปีนี้ ราคาประมูลได้ 11.42 บาท (ภาคตะวันออก) เราก็มองในภาพรวมว่าราคาประมูลต่ำกว่าเมื่อปีที่แล้ว 
ประเด็นที่ 3 เรื่องปุ๋ยอินทรีย์ เดิมทีประมูลราคาแค่ตันละ 3,000 กว่าบาท แต่ปีนี้ประมูล 4,750 บาท (ภาคตะวันออก) ถามว่าทำไมจึงเพิ่มสูงขึ้น ก็เพราะราคาเดิมเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชนิดผงเกษตรกรไม่ค่อยชอบนัก เราจึงกำหนดเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชนิดเม็ด ธาตุอาหารตามวิชาการเกษตร ราคาเฉลี่ยกระสอบละ 237 บาท ซึ่งยังต่ำกว่าราคากลางที่เราตั้งไว้กระสอบละ 300 บาท

อีกประเด็นเรื่อง  ที่ว่า Business Unit (BU) หักหัวคิว หรือค่าบริการจากเกษตรกรกระสอบละ 10 บาทนั้น ความจริง BU ไม่สามารถหักหัวคิวจากเกษตรกรได้เลย เพราะ BU เป็นเพียงแค่ตัวกลางให้กับเกษตรกรเท่านั้น รายได้ปีนี้จึงยังไม่มี จึงยืนยันว่าเราไม่มีการหักหัวคิวแต่อย่างใด

แต่เราจำเป็นต้องเริ่มต้น BU ในปีนี้ เพราะไม่อย่างนั้นจะไม่เกิดเป็นรูปธรรม และเป็นการศึกษาวิธีการสั่งปุ๋ยวิธีการจ่ายปุ๋ยว่ารูปแบบไหนจะเหมาะสมที่สุด เพราะเรามีการวางแผนว่า BU จะเป็นผู้จัดหาปุ๋ยให้เกษตรกรเอง ในปีต่อๆ ไป อาจจะสั่งปุ๋ยโดยตรงจากต่างประเทศ โดยไม่ต้องประมูล วิเคราะห์และรับผิดชอบมาตรฐานทั้งหมด  

ความจริงเงินกองทุนพัฒนายางพารา คณะกรรมการไม่สามารถจะนำมาใช้สุรุ่ยสุร่ายได้ มี สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นผู้ตรวจสอบ เราจึงไม่สามารถนำเงินมาใช้ได้โดยพลการ โดยไม่มีที่มาที่ไป เพราะมีระเบียบมีกฎหมายควบคุมอยู่
ส่วนเรื่องการฮั้วประมูล ทาง กยท.ไม่ได้เป็นผู้ประมูลเองแต่หน่วยงานกลางที่รับผิดชอบเรื่องระบบประมูลทางอิเลคทรอนิกส์ให้กับเรา เพราะฉะนั้นโดยระบบผู้ประมูลไม่สามารถฮั้วกันได้อยู่แล้ว แต่ถ้าเขาจะไปฮั้วกันโดยการตกลงอะไรกันเอง เรื่องนี้เราก็ไม่ทราบ ถ้าประมูลระบบนี้แล้วบอกว่ามีการฮั้วกัน อย่างนั้นการประมูลอิเลคทรอนิกส์ก็เชื่อถือไม่ได้ 

ส่วนกระประมูลที่แบ่งออกเป็น 4 เขต 4 ซองนั้น เราไม่สามารถประมูลทั้งหมดในซองเดียวกันได้ เพราะแต่ละเขตต้นทุนขนส่งต่างกัน จึงกำหนดราคาเดียวกันไม่ได้  แล้วบริษัทไหนจะเลือกประมูลซองไหนอยู่ที่เขา

ทั้งนี้การเปิดประมูลซื้อปุ๋ยในปี 2560 ที่ผ่านมาในไตรมาส 1 และ 2 กยท.ใช้วิธีการให้สถาบันเกษตรกร และเกษตรกรเจ้าของสวนยางเป็นผู้ดำเนินการจัดซื้อจัดหาเอง แต่ในไตรมาสที่ 3 มีการเปลี่ยนแปลง โดย กยท.ได้มีการจัดตั้งหน่วยธุรกิจ (Business Unit : BU) ขึ้นมาดำเนินการจัดหาปุ๋ยให้เกษตรกร

ที่ผ่านมาโครงการจัดหาปุ๋ยให้เกษตรกรของ กยท. สมัยที่ยังเป็น สกย. เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากเกษตรกรชาวสวนยางมาหลายยุคหลายสมัย และมีข่าวส่งมอบปุ๋ยไม่เต็มสูตรหรือปุ๋ยปลอมให้เกษตรกร ที่สำคัญเกษตรกรชาวสวนยางที่รับปุ๋ยก็ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าเป็นปุ๋ยจริงหรือปุ๋ยปลอม



Advertising
สนใจลงโฆษณา โทร 08-6335-2703

ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม