ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

พิสูจน์มาแล้ว 6 ปี ยาง 5 ปีครึ่งอัดแก๊ส เอทธิลีน ต้นยางไม่ตาย แต่โต น้ำยางเพิ่ม 3-5 เท่า

ไม่ว่าอาชีพสวนยางจะ “รุ่ง” หรือ “ร่วง”
ไม่ว่าราคายางจะ “ถูก” หรือ “แพง”

ชาวสวนยางก็ยังจำเป็นต้องหาแนวทาง “เพิ่มผลผลิต” หรือ “ลดต้นทุน” เพราะเป็นเพียง 2 แนวทางเท่านั้น ที่จะทำให้ “อยู่รอด” และ “มีกำไร” ในเส้นทางนี้

ส่วนแนวทางอื่นๆ โดยเฉพาะจะวาดหวังให้ราคายางพาราสูงขึ้น ไม่มีความแน่นอน และ ดู “เลื่อนลอย”

ถ้าหาเจอ ก็ “ได้ไปต่อ” แต่ถ้าหาไม่พบ ก็ “จบเกม”

ตัวอย่างของ นายศุภกร เกิดผลทวี หรือ โกมาตี่ ชาวสวนยางรายหนึ่งบนเกาะภูเก็ต ที่ ยาง &ปาล์มออนไลน์ นำมาเสนอ เขาพยายามเสาะหาแนวทางทำสวนยางคุณภาพ ในเชิงเพิ่มผลผลิต เนื่องจากเขามีพื้นที่ปลูกยางน้อยเพียงแค่ 28 ไร่เท่านั้น ขณะที่ราคายางในช่วงนั้นกำลังไต่บันไดทะลุร้อยบาท/กก. หากทำสวนยางให้สมบูรณ์ผลผลิตสูงกว่าสวนอื่นๆ รายได้จะเพิ่ม

เมื่อตั้งเป้าหมาย ก็ต้องหาทางพิชิตให้ได้ 
นายศุภกร เกิดผลทวี ชาวสวนยางรายหนึ่งบนเกาะภูเก็ต

“อย่างแรก เราต้องทำต้นยางทุกต้นให้สมบูรณ์ ไร่หนึ่งมีต้นยาง 70 ต้น ต้องทำให้ต้นยางสมบูรณ์มากกว่า 60 ต้น โดยใส่ปุ๋ยอย่างเต็มที่ สร้างสวนยางให้มีความชื้น ไม่ตัดหญ้า ปล่อยให้ขึ้นสร้างความชุ่มชื้น และช่วยรักษาหน้าดินไม่ให้ชะล้างไปกับน้ำ”

ระยะเวลาเพียง 5 ปีครึ่ง สวนยางของของเขาก็สามารถเปิดกรีดได้ เพราะต้นยางมีขนาด 55-60 ซ.ม. กว่า 90%

“เมื่อต้นยางสมบูรณ์ก็มาคิดว่าทำอย่างไรให้ได้ผลผลิตออกมาสูงๆ มากที่สุด จึงศึกษาเรื่องการใช้แก๊สเอทธิลีนเพิ่มผลผลิตยาง แต่ช่วงนั้นอุปกรณ์ที่จะติดตั้งเป็นฝาครอบขนาดใหญ่ จึงเสาะหาอุปกรณ์ที่มีขนาดเล็กให้เหมาะสมกับยางเล็ก จึงมาเจอกับอุปกรณ์ชนิดหัวตอกเหล็ก ขนาดเล็ก ยี่ห้อ เลทไอ (Let-i) คือตัวที่เหมาะสมที่สุด และเพิ่มผลน้ำยางได้ถึง 4 เท่า”

โกมาตี่บอกว่า ต้นที่จะติดตั้ง “เอทธิลีน” ได้ต้องมีความสมบูรณ์ ทั้งน้ำทั้งปุ๋ย คือ ต้องมีการบำรุงต้นเต็มที่ อย่างสวนของเขาจะให้ปุ๋ยมากถึง 3 กก./ต้น/ปี โดยการแบ่งใส่ ปีละ 3 ครั้ง และเสริมด้วยปุ๋ยอินทรีย์ 1 กก./ต้น/ปี รวมถึงโดโลไมด์เพื่อปรับปรุงดิน 
เขาหมั่นดูแลสวนยางเป็นอย่างดี ตั้งแต่เล็ก เพื่อให้ต้นยางสมบูรณ์ และหาแนวทางให้ได้น้ำยางสูงๆ 

เมื่อจะเปิดกรีดควรตั้งหน้ากรีดสูงจากพื้นประมาณ 1 เมตร เนื่องจากเป็นส่วนที่หนาเหมาะสำหรับติดตั้งอุปกรณ์ และเปิดหน้ากรีดยางเพียงแค่ 3.5 นิ้วเท่านั้น

“เปิดกรีดยางหน้าสั้นแค่นี้ ต้นยางมันเลยไม่กระทบเรื่องการเติบโต แต่ตรงกันข้าม แก๊สเอทธิลีนที่ถูกมองว่าจะเป็นอันตรายกับต้นยางเล็ก กลับมีส่วนทำให้ต้นยางสมบูรณ์ ใหญ่เร็ว และสามารถสร้างเปลือกยางได้เร็ว”

เขาชี้ให้เห็นภาพเปลือกยางที่ผ่านการกรีดมา 5-6 ปี ถูกสร้างเปลือกใหม่กลบแผลกรีดจนมิด ถ้าไม่สังเกตไม่รู้เลยว่าเป็นหน้ายางที่กรีดมาแล้วหนึ่งรอบ

เรื่องสำคัญหากใช้เอทธิลีนกับต้นยางอายุ 5 ปีครึ่ง คือ การเว้นระยะการกรีดค่อนข้างห่าง โดยเว้นระยะกรีด 1 วัน เว้น 3 วัน เพราะต้นยางอายุยังน้อย ต้องให้โอกาสพักฟื้นยาวกว่ายางใหญ่

นี่คือปัจจัยหลักๆ ที่คุณศุภกรศึกษาและทำอย่างเข้าใจ จนสามารถใช้เอทธิลีนได้กับยางอายุ 5 ปีครึ่ง และปัจจุบันเปิดกรีดยางเข้าสู่ปีที่ 6 แล้ว 
ต้นยางอายุ 10 ปี เริ่มใช้เอทธิลีนตั้งแต่อายุ 5 ปีครึ่ง สภาพต้นยังสมบูรณ์และให้ผลผลิตสูง

ขั้นตอนการติดตั้งเอทธิลีนกับยางอายุ 5 ปีครึ่ง

อันดับแรกคือ ตั้งหน้ากรีด โดยการกรีดหน้ายาง 3.5-4 นิ้ว จากนั้นจึงนำชุดอุปกรณ์หัวตอกเหล็กสี่เหลี่ยม ตอกลงไปยังเปลือกยางด้านซ้ายของหน้ากรีด โดยตอกผ่านบล็อก ไม่ตอกหัวเหล็กโดยตรง เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายได้

หลังจากนั้นนำสายยางและถุงเก็บฮอร์โมนมาติดตั้ง พร้อมๆ กับการทดสอบว่าอุปกรณ์รั่วหรือไม่ วิธีการง่ายๆ คือ แค่ใช้ปากเป่าสายยางแล้วดูว่าลมออกหรือไม่

เมื่อทดสอบแล้วว่าไม่มีการรั่วจึงอัดแก๊สเข้าไป ประมาณ 20 ซีซี. โดยจะมีเครื่องตวงปริมาณแก๊สจากกระป๋องมาเข้าในไซลิงค์ ก่อนอัดสู่ชุดอุปกรณ์  หลังจากอัดแก๊ส 24 ชม.จึงจะกรีดได้
วิธีติดตั้งหัวตอกเหล็ก จะตอกผ่านบล็อก ไม่ตอกหัวเหล็กโดยตรง เพราะจะทำให้เกิดความเสียหายได้


เครื่องตวงปริมาณแก๊สจากกระป๋องมาเข้าในไซลิงค์ ก่อนอัดสู่ชุดอุปกรณ์

“เคล็ดลับ หลังตอกหัวจ่ายแล้วต้องอัดแก๊สทันที แต่บางคนเตรียมตัวไว้ล่วงหน้า สมมุติกะว่า 20 เมษายน จะเปิดกรีด ประมาณ 15 เมษา ก็ไปตอกเตรียมไว้แล้ว ถ้าตอกทิ้งไว้นานเซลล์มันจะเสื่อมแผลจะแห้ง ควรตอกไปสัก 100 ต้นแล้วอัดแก๊สตาม หรือไม่ก็ตอกตอนเช้า ครึ่งวันหลังก็อัดแก๊ส เซลล์มันจะเต่ง เอทธิลีนเข้าสู่เปลือกยางและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทิ้งไว้ 1 วัน ก็เปิดกรีดได้”

ช่วงเวลากรีดของสวนยางติดเอทธิลีน ทำในช่วง 4-5 โมงเย็น แล้วเก็บน้ำยางช่วง 8 โมงเช้า ระยะการกรีดอย่างที่บอกคือ กรีด 1 วัน เว้น 3 วัน เขาบอกว่าระหว่างหยุดกรีด 2 วัน กับ 3 วัน ผลผลิตเฉลี่ยต่อปี เท่ากัน จึงไม่จำเป็นต้องกรีดบ่อย

เมื่อก่อนสวนยางแห่งนี้เก็บน้ำยางมาทำยางแผ่น ปริมาณน้ำยาง ได้ครั้งละ 2-3 ลิตร/ต้น  แต่ปัจจุบันหันเปลี่ยนมาทำยางก้อนถ้วย เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ราคายางและความต้องการของคนกรีดยาง

“ผมเคยเก็บตัวเลขยางแปลงแรกที่มีต้นยางประมาณ 1,100 ต้น หรือประมาณ 16 ไร่ เมื่อเก็บน้ำยางมาทำยางแผ่นดิบ จะได้ยางประมาณ 120-125 กก./วันกรีด หรือประมาณ 350-400 กก./ไร่/ปี แต่ขึ้นอยู่กับปริมาณฝนว่ามากน้อยแค่ไหน อย่างปีที่ผ่านมาผมกรีดได้แค่ไม่เกิน 50 วัน เท่านั้นเอง” 

ปัญหาหนึ่งของคนเคยใช้เอทธิลีน แล้วต้องเลิก คือ น้ำยางออกเยอะ แล้วจะค่อยๆ ลดลง จนคิดว่ายางกำลังหน้าแห้ง และมีสิทธิ์ตายได้ ในฐานะผู้มีประสบการณ์เขาพูดถึงเรื่องนี้ว่า

“ปกติจะต้องอัดแก๊สเอทธิลีนหลังจากกรีด 3 มีด หรือ ทุกๆ 10 วัน เวลากรีดมีดแรกหลังจากอัดแก๊ส เป็นช่วงที่เอทธิลีนกำลังทำงานเต็มที่ น้ำยางจะออกมาหลายเท่า บางครั้งสูงถึง 5 เท่า  มีดสองก็ยังสูงแต่อาจจะลดลงเหลือ 3 เท่า แต่มีดสามน้ำยางจะเริ่มลดเพราะเอทธิลีนเริ่มน้อยลง และบางครั้งลดลงอย่างน่าตกใจ ใครไม่รู้นึกว่าต้นยางแย่แล้วกำลังจะตาย น้ำยางหาย ตายแน่ๆ แต่ถ้าอัดแก๊ส น้ำยางก็จะสูงวนอยู่อย่างนี้”

เรื่องสำคัญในการทำสวนยางที่คุณศุภกร แนะนำ และย้ำความสำคัญคือ ไม่ควรทำให้สวนยางโล่งเตียนจนเกินไป ควรมีหญ้าขึ้นบ้าง เพื่อรักษาความชื้นในสวนยาง และป้องกันการชะล้างหน้าดินในช่วงหน้าฝน

“ธรรมชาติของคนทำสวน ต้องทำให้สวนเตียน ตัดหญ้าให้สวย สวนรกๆ เกษตรกรรับไม่ได้ จริงๆ ผมก็รับไม่ได้ แต่ต้องทำเพราะเวลาหน้าฝน สวนเป็นที่สโลป ฝนชะล้างหน้าดินไปเยอะเลย จึงต้องปล่อยให้หญ้าขึ้นรก เพาะยึดเกาะหน้าดิน สังเกต ดูโคนต้นยาง เราจะเห็นว่าทำไมรากยางมันใหญ่ขึ้นมา จริงๆ มันอยู่ในดิน แต่มันถูกชะล้างดินหายจนเห็นราก นี่คือเรื่องใหญ่มาก ถ้าสวนโล่ง หน้าดินจะหายไปกับน้ำ อย่างน้อย 1.5 นิ้ว/ปี แต่คนเข้าใจว่าหญ้าเป็นจอมตะกระ แย่งอาหารต้นยาง แต่มันมีประโยชน์ สวนผมจึงต้องมีหญ้าคลุมหน้าดิน โดยใช้วิธีการตัดหญ้า แต่ดูแล้วอาจจะไม่สวย แต่มันเป็นความตั้งใจ”

เวลาใส่ปุ๋ยก็หว่านไปในดงหญ้า ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียได้ระดับหนึ่ง “ผมจะใส่ปุ๋ย สูตร 14-7-35 ไม่เน้นตัวหน้ามากนัก เพราะภาคใต้มีฝนมากไนโตรเจนสูงอยู่แล้ว แต่เน้นตัวท้ายสูง เป็นตัวช่วยสร้างน้ำยาง” 
สวนยางปล่อยให้หญ้าขึ้นเพื่อประโยชน์หลายทาง รักษาความชื้นในสวน ลดการชะล้างหน้าดิน 
สังเกต ดูโคนต้นยาง เราจะเห็นว่าทำไมรากยางมันใหญ่ขึ้นมา จริงๆ มันอยู่ในดิน แต่มันถูกชะล้างดินหายจนเห็นราก

อย่างไรก็ตามปัญหาของชาวสวนยางภาคใต้ปัจจุบันราคายางไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่สุด แต่เป็นเรื่อง “ฝน”  โดยเฉพาะในพื้นที่ ภูเก็ต พังงา แต่ละปีฝนตกชุก โดยเฉพาะช่วงปีที่ผ่านมา เปิดกรีดได้เพียงแค่ 50 วันเท่านั้น ยิ่งถูกซ้ำเติมด้วยราคายางอีกด้วย กลายเป็น “ผีซ้ำด้ำพลอย”

การใช้เอทธิลีนเพื่อผลผลิตน้ำยางจึงเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งที่พอจะบรรเทาสถานการณ์ได้ แต่สำหรับพื้นที่อื่นๆ ที่มีปริมาณฝนเหมาะสม ต้นยางสมบูรณ์ มีการดูแลจัดการที่ถูกต้อง เหมาะแก่การนำไปใช้อย่างยิ่ง

นายศุภกร ย้ำว่า การทำสวนยางเอทธิลีน ต้นยางต้องสมบูรณ์ มีความชื้นในดินเหมาะสม ต้องเพิ่มอาหารหรือปุ๋ยเพิ่มขึ้นตามปริมาณน้ำยางที่สูงขึ้น ไม่ควรกรีดยางถี่เกินไป เพื่อเว้นระยะให้ต้นยางสร้างน้ำยาง

เมื่อรวมเข้ากับข้อดีของการใช้เอทธิลีน เช่นประหยัดหน้ายาง เพราะกรีดยางหน้าสั้น เจ้าของสวนหรือคนกรีดยางมีเวลาพักผ่อนหรือหากิจกรรมสร้างรายได้อื่นๆ เพราะกรีดยาง 1 วัน เว้น 3 วัน และไม่ต้องทำงานกลางคืน เป็นต้น จะทำให้การทำสวนยางมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

“ปัจจุบันใช้เอทธิลีนมามากกว่า 5 ปี ไม่ส่งผลกระทบกับต้นยาง แต่มันกลับสมบูรณ์ใหญ่กว่าต้นยางปกติ หน้ายางก็สูญเสียน้อยมาก เพราะ กรีดยางหน้าสั้น และกรีดห่าง เดือนละ  10 ครั้งเท่านั้น  ผมยังคิดเล่นๆ ว่า ไม่ต้องโค่นยางเลย 70 ปี ในวงเล็บถ้าฝนไม่ชุกมาก และยางราคาดี โลละร้อยนะ” 
ต้นยางอายุ 10 ปี ติดแก๊สเอทธิลีนตั้งแต่อายุ 5 ปีครึ่ง ผลผลิตอย่างที่เห็น

ขณะที่การลงทุนอุปกรณ์ติดตั้งเองธิลีน ยี่ห้อ เลทไอ (Let-i) ต้นทุนต่ำ เพียงแค่ชุดละ 25 บาทเท่านั้น ส่วนแก๊สเอทธิลีนราคาเพียง 68 บาทเท่านั้น สามารถใช้ได้กับต้นยาง 100 ต้น

ขอขอบคุณ
ศุภกร เกิดผลทวี
83/2 หมู่ 5 ต.ถนนเทพกระษัตรี อ. ถลาง จ.ภูเก็ต โทรศัพท์ 08-1797-7359



 สวนยางที่จะใช้เอทธิลีนได้ต้องมีความสมบูรณ์และความชื้นภายในสวนที่เหมาะสม พื้นที่แล้งไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง 
 "เปลือกยางสร้างตัวไวมาก" คุณศุภกรบอก
อุปสรรคของสวนยางไม่ใช่อยู่ที่ราคา แต่อยู่ที่ปริมาณฝนที่มาก มากจนวันกรีดแต่ละปีน้อย เมื่อฝนตกมากๆ ใบยางก็จะร่วง ความสมบูรณ์ก็ต่ำ เพราะไม่มีใบปรุงอาหาร เป็นปัญหาที่คุณศุภกรสะท้อน


ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม