ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

ปลูกปาล์มภาคอีสาน พิจารณาปัจจัยอะไรบ้าง

การปลูกปาล์มน้ำมันถือเป็นพืชเศรษฐกิจหลักของภาคใต้ เพราะสภาพพื้นที่ สภาพอากาศ โดยเฉพาะปริมาณฝนค่อนข้างเอื้ออำนวย รวมถึงภาคตะวันออก


แต่สำหรับพื้นที่อื่นๆ ของประเทศ อย่างภาคอีสาน ซึ่งเคยได้ชื่อว่าแห้งแล้ง หรือมีปริมาณฝนค่อนข้างน้อย ได้มีการศึกษา ทดลอง และลงมือปลูกปาล์มน้ำมันในเชิงเศรษฐกิจมานาน โดยเฉพาะพื้นที่ตามแนวแม่น้ำโขง เช่น หนองคาย บึงกาฬ และอุบลราชธานี เป็นต้น 


จนเมื่อพืชเศรษฐกิจหลายตัวของภาคอีสาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพืชล้มลุก ราคาตกต่ำ ต่างจากปาล์มน้ำมัน หรือยางพารา ที่เป็นพืชอายุยืน จึงได้รับความสนใจจนพื้นที่ปลูกขยายวงกว้างนอกแนวแม่น้ำโขงมากขึ้น จนเกิดความกังกล ตลอดจนคำถามว่า การปลูกปาล์มน้ำมันในภาคอีสานเหมาะสมหรือไม่ และมีหลักพิจารณาอย่างไร

ข้อมูลจากบทความของ อ.ธีระพงศ์  จันทรนิยม เรื่อง ปลูกปาล์มภาคอีสาน รอฟ้าประทานคงไม่พอ เมื่อปี 2554 ตอบคำถามนี้ได้เป็นอย่างดี โดยมีรายละเอียดดังนี้


พื้นที่อีสานสภาพภูมิอากาศ (ปริมาณน้ำฝน และช่วงแล้ง) มีความสำคัญต่อการให้ผลผลิตของปาล์มและที่สำคัญสภาพภูมิอากาศไม่สามารถปรับปรุงหรือซื้อขายได้ ซึ่งแตกต่างกับปุ๋ย ซึ่งสามารถซื้อหามาใส่ได้


แต่เดิมปาล์มน้ำมันปลูกในแถบภาคใต้ซึ่งมีสภาพภูมิอากาศค่อนข้างเหมาะสม คือมีปริมาณน้ำฝนมากพอสำหรับปาล์ม มีช่วงแล้งไม่นาน ถึงจะปลูกทิ้งๆ ขว้างๆ รอฟ้าประทานน้ำฝน ใส่ปุ๋ยบ้างตามความเหมาะสมปาล์มก็ยังพอที่จะออกทะลายมาให้เห็นบ้าง


แต่สำหรับภาคอีสาน หากเกษตรกรปลูกแบบทิ้งๆ ขว้างๆ รับรองว่าขาดทุนแน่นอน เนื่องจากพื้นที่ภาคอีสานส่วนใหญ่จะไม่เหมาะสมกับการปลูกปาล์ม เนื่องจากมีปริมาณน้ำฝนไม่ เพียงพอและมีช่วงแล้งที่ยาว เนื่องจากต้องผ่านช่วงหนาวมาก่อนแล้วต่อด้วยช่วงแล้งทำให้มีช่วงที่ขาดน้ำฝนต่อเนื่องยาวนาน

👉สิ่งที่เกษตรกรภาคอีสานต้องคำนึงก่อนปลูกปาล์มน้ำมัน

1. สภาพพื้นที่ (โดยเฉพาะคุณภาพของดิน) : ดินที่เหมาะสมสำหรับปลูกปาล์มน้ำมัน ควรเป็นดินร่วนถึงดินเหนียว พื้นที่ซึ่งเป็นดินทรายไม่ควรปลูกปาล์มเพราะจะขาดน้ำอย่างรุนแรงในช่วงฤดูแล้ง การที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์จะจัดการได้ง่ายกว่าดินที่ไม่มีความอุดมสมบูรณ์

2. เลือกพื้นที่ซึ่งมีความชื้นสูง : ถึงแม้ภาพรวมของปริมาณน้ำฝนในภาคอีสานจะต่ำ แต่บางพื้นที่พบว่ามีการกระจายของฝนดี หรือมีระดับน้ำใต้ดินสูง เช่น บางพื้นที่พบว่าขุดบ่อน้ำลึกเพียง 3-4เมตร ก็จะพบน้ำ พื้นที่ดังกล่าวดินจะมีความชื้นสูง ถึงแม้ว่าจะไม่มีน้ำฝน แต่ก็มีน้ำใต้ดินซึ่งปาล์มสามารถนำไปใช้ได้

3. แหล่งน้ำ : หากสามารถปลูกปาล์มใกล้แหล่งน้ำ ซึ่งมีตลอดในช่วงฤดูแล้ง ก็สามารถใช้น้ำทดแทนน้ำฝนได้ และหากมีการให้น้ำในฤดูแล้งก็จะทำให้ปาล์มมีผลผลิตได้ (อาจน้อยกว่าพื้นที่ซึ่งมีปริมาณน้ำฝนเหมาะสม)

4. การจัดการที่ถูกต้อง : สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับเกษตรกรเอง จะต้องศึกษาหาความรู้ยิ่งปลูกปาล์มในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมมากเท่าใดเกษตรกรจะต้องยิ่งศึกษาหาความรู้มากขึ้น ดังนั้นหากเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มในภาคอีสานต้องการให้ได้ผลผลิตเท่ากับเกษตรกรภาคใต้ จำเป็นต้องมีการจัดการที่ดีกว่า 

จากการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นของปาล์มอายุ 6 ปี  จากเกษตรกรที่ปลูกปาล์มในจังหวัดหนองคาย นครพนม กาฬสินธุ์ และจังหวัดเลย โดยการพูดคุยและข้อมูลที่เกษตรกรได้บันทึกไว้ (ข้อมูลดังกล่าวไม่สามารถนำไปอ้างอิงทางวิชาการได้ เนื่องจากยังไม่มีความสมบูรณ์ในการเก็บตัวอย่าง) โดยในการสำรวจในแต่ละจังหวัดจะแบ่งพื้นที่เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่มีการปลูกปาล์มในพื้นที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ และกลุ่มที่ปลูกปาล์มในพื้นที่ไม่สมบูรณ์ เช่น ค่อนข้างเป็นดินทราย ดินที่มีหน้าดินไม่สึก ในแต่ละกลุ่มจะแบ่งการจัดการสวนเป็น 2 ประเภท คือเกษตรกรที่มีการจัดการสวนดี และเกษตรกรที่มีการจัดการสวนไม่ดี ซึ่งการแบ่งกลุ่มดังกล่าวจะประเมินจากชนิดและปริมาณปุ๋ยที่ใช้ การกำจัดวัชพืช การแต่งทางใบ


👉จากการสำรวจ สามารถสรุปผลดังนี้

1. พื้นที่ที่สมบูรณ์ : หากมีการจัดการดี จะให้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 3.01 ตัน/ไร่/ปี แต่ถ้าจัดการไม่ดี จะให้ผลผลิตเพียง 2.39 ตัน/ไร่/ปี (ซึ่งมีความแตกต่าง 0.62 ตัน/ไร่/ปี หรือ 20.59%)

2. พื้นที่ที่ไม่อุดมสมบูรณ์ : หากมีการจัดการดี จะให้ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 2.59 ตัน/ไร่/ปี แต่ถ้าจัดการไม่ดี จะให้ผลผลิตเพียง 1.07 ตัน/ไร่/ปี (ซึ่งมีความแตกต่าง 1.52 ตันไร่/ปี หรือ 58.68%)

3. เมื่อเปรียบเทียบการจัดการที่ดี พบว่า พื้นที่ไม่สมบูรณ์จะให้ผลผลิตเพียง 86.04% ของพื้นที่สมบูรณ์

4. เมื่อเปรียบเทียบการจัดการที่ไม่ดี พบว่าพื้นที่ไม่สมบูรณ์จะให้ผลผลิตเพียง 44.76% ของพื้นที่สมบูรณ์ 


จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นว่าการจัดการสวนที่ดีและถูกต้อง จะเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเพิ่มผลผลิต มากกว่าปัจจัยของความสมบูรณ์ของพื้นที่ ดังนั้น ความรู้ในการจัดการสวนปาล์มที่ถูกต้อง จึงมีความจำเป็นมากสำหรับการปลูกปาล์มในพื้นที่ปลูกในภาคอีสาน และยิ่งจำเป็นมากขึ้นเมื่ออยู่ในสภาพพื้นที่ซึ่งดินขาดความอุดมสมบูรณ์


👉อ้างอิง : บทความ ปลูกปาล์มภาคอีสาน รอฟ้าประทานคงไม่พอ อ.ธีระพงศ์ จันทรนิยม

- Advertisement -

ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม