ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

เพิ่มกำไร ด้วยวิธีลดความสูญเสีย ในสวนปาล์ม

มุมดีของการลงทุนสวนปาล์มน้ำมันคือ ปลูกครั้งเดียว เก็บเกี่ยวยาวนานถึง 20 ปี และมีรายได้ต่อเนื่องอย่างน้อย ก็ทุกๆ 15 วัน

แต่ในมุมกลับกันพืชเศรษฐกิจอายุยืนตัวนี้ ใช้พื้นที่เยอะ และลงทุนสูง หากตัดสินใจหรือจัดการผิดพลาด อาจจะต้องทุกข์ไป 20 ปี เช่นเดียวกัน

โดยเฉพาะความผิดพลาดที่เกิดจากการบริหารจัดการสวนที่เป็นสาเหตุของความสูญเสียรายได้ ถ้าคำนวณตลอดอายุเก็บเกี่ยว 20 ปี เป็นตัวเลขมหาศาล แต่ถ้าลดความสูญเสีย รายได้เหล่านั้นจะกลับคืนมา

แต่ความสูญเสียอะไรบ้าง ที่เกิดขึ้นในสวนปาล์ม ลองมาดูกัน

👉พันธุ์ปาล์ม เลือกไม่ดี 20 ปี สูญเสีย 1.8 ล้านบาท
เชื่อว่าชาวสวนปาล์มน่าจะรู้กันดีกว่า ปลูกปาล์มต้องใช้พันธุ์ลูกผสม “เทเนอรา” DxP ที่เกิดจากต้นแม่พันธุ์ดูรา กับต้นพ่อพิสิเฟอรา ซึ่งเป็นลูกผสมที่ให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันดี และผลผลิตสูง

แต่ถ้าไปเก็บเอาเมล็ดจากใต้โคนต้นปาล์มเทเนอราไปปลูก เพราะคิดว่ามันคือพันธุ์เทเนอรา ความสูญเสียจะเกิดขึ้นทันที เพราะเมล็ดใต้โคนต้นเทเนอราหากนำมาเพาะจะได้พันธุ์ปาล์ม 3 ลักษณะ คือเป็นดูรา 25% พิสิเฟอรา 25% และเทเนอราคุณภาพต่ำอีก 50% ปะปนอยู่ในสวน

ถ้านำไปปลูกปาล์มทั้ง 3 ลักษณะที่อยู่ในสวนจะมีผลผลิตเพียง 70% ของ พันธ์ลูกผสมเทเนอรา  ถ้าพันธุ์เทเนอราได้ผลผลิต 3 ตัน/ไร่/ปี ต้นปาล์มที่เก็บจากใต้โคนต้นจะให้ผลผลิตเพียง 2.1 ตัน/ไร่/ปีเท่านั้น ในขณะที่ต้นทุนการผลิตเท่ากัน ผลผลิตต่างกันถึง 0.9 ตัน/ไร่/ปี

ถ้าปลูกปาล์ม 10 ไร่ จะสูญเสียผลผลิตถึง 9 ตัน/ปี ถ้าปลูก 20 ไร่ จะสูญเสียผลผลิตถึง 18 ตัน/ปี และเมื่อลองคำนวณจากอายุการเก็บเกี่ยวของปาล์มน้ำมัน 20 ปี พื้นที่ 10 ไร่ จะสูญเสียผลผลิตถึง 180 ตัน/ไร่/20ปี และพื้นที่ 20 ไร่  360 ตัน/ไร่/20ปี

ลองนำมาแปลงเป็นเงิน ก็นำราคาทะลายปาล์มมาคูณเข้าไป สมมุติ ราคา กก.ละ 5 บาท หรือตันละ 5,000 บาท  10 ไร่ จะสูญเงิน 900,000 บาท ถ้า 20 ไร่ เงินจะหายไป 1,800,000 บาท

เพียงแค่พันธุ์ปาล์มที่เลือกปลูกก็ทำให้สูญเงินล้านได้ ดังนั้นจึงไม่ควรคิดประหยัดต้นทุนโดยนำเมล็ดจากใต้โคนต้นมาปลูกโดยเด็ดขาด แม้ว่าอาจจะลดต้นทุนพันธุ์ปาล์มที่มีราคาเริ่มต้นแค่ 80 บาท ประหยัดต้นทุนไร่ละ 1,760 บาท แต่ต้องสูญเสียเงินไปมหาศาล ดังนั้นเกษตรกรจึงควรเลือกปลูกปาล์มพันธุ์ลูกผสมเทเนอราเท่านั้น

👉ต้นกล้าไม่มีคุณภาพ สูญเสีย 720 กก./ไร่/ปี
ไม่ใช่แค่พันธุ์ปาล์มเท่านั้น คุณภาพของต้นกล้าปาล์มก็สร้างความเสียหายได้ ถ้ามาจากการเพาะที่ไม่ได้มาตรฐาน 

ปกติต้นกล้าปาล์มที่สมบูรณ์และเหมาะสมสำหรับปลูกต้องมีอายุประมาณ 8-10 เดือน และผ่านขั้นตอนคัดกล้าผิดปกติทิ้งก่อนจำหน่าย 

เนื่องจากเมล็ดปาล์มพันธุ์เทเนอราเป็นลูกผสม มีโอกาสแปรปรวนทางพันธุกรรมได้  รวมถึงการบริหารจัดการแปลงเพาะกล้าอาจจะอ่อนมาตรฐาน มีโอกาสทำให้ต้นกล้ามีอาการผิดปกติ ซึ่งต้นกล้าเหล่านี้อนาคตไม่ให้ผลผลิต

ตามมาตรฐานของกรมวิชาการเกษตรกำหนดให้คัดกล้าปาล์ม 2 ช่วง ช่วงแรกเมื่อต้นกล้าปาล์มอายุ 3-4 เดือน และเมื่อต้นกล้าอายุ 6-7 เดือน ซึ่งโดยรวมแล้วจะมีต้นกล้าผิดปกติที่ต้องคัดทิ้งประมาณ 20%

ถ้าหากเกษตรกรซื้อกล้าปาล์มจากแปลงเพาะที่ไม่ได้คัดต้นกล้าผิดปกติไปปลูกจะเกิดความเสียหาย โดยในพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกปาล์ม 22 ต้น จะมีต้นกล้าผิดปกติอยู่ 4 ต้น เหลือต้นกล้าสมบูรณ์แค่ 18 ต้น หากต้นปาล์มให้ทะลาย 180 กก./ต้น/ปี ถ้าต้นกล้าสมบูรณ์ทุกต้น ก็จะควรที่จะได้ผลผลิต 3,960 กก./ไร่/ปี แต่ถ้าไม่มีการคัดกล้าผิดปกติทิ้งจะให้ผลผลิตเพียง 18 ต้น ผลผลิตจะลดลงเหลือ 3,240 กก./ไร่/ปีเท่านั้น ผลผลิตสูญเสียไปประมาณ 720 กก./ไร่/ปี ตลอดอายุการเก็บเกี่ยว

เมื่อนำต้นกล้าปาล์มผิดปกติมาปลูกนอกจากไม่ให้ผลผลิตแล้ว ยังกินต้นทุนการจัดการ โดยเฉพาะปุ๋ยอีกด้วย ถ้าใส่ปุ๋ยปาล์มต้นละ 6 กก. ใน 1 ไร่ มีต้นกล้าปาล์มผิดปกติ 4 ต้น จะเสียปุ๋ย 24 กก./ไร่ ถ้าปุ๋ย กก.ละ 20 บาท จะสูญเงิน 480 บาท/ไร่/ปี

ดังนั้นเกษตรกรจึงต้องเลือกซื้อกล้าปาล์มอายุ 8-10 เดือนจากแปลงเพาะที่ได้มาตรฐาน มีการคัดต้นกล้าผิดปกติ 20% ทิ้ง ก่อนจำหน่ายเท่านั้น
 
👉ใส่ปุ๋ยน้อย 
สูญเงินล้าน
ปาล์มน้ำมันเป็นพืชกินปุ๋ยมากเพื่อหล่อเลี้ยงต้นและทะลาย หากเกษตรกรใส่ปุ๋ยไม่เหมาะสมหรือไม่เพียงพอกับความต้องการ ผลผลิตจะลดต่ำทันที แต่ถ้าใส่มากผลผลิตก็จะสูงตามไปด้วย ซึ่งจะมีผลต่อรายได้

ดังนั้นในการทำสวนปาล์มไม่ควรลดต้นทุนด้วยวิธีลดปริมาณการให้ปุ๋ย เพราะยิ่งลดปุ๋ยและกำไรก็ยิ่งต่ำ ตรงกันข้าม หากเพิ่มปริมาณปุ๋ย ผลผลิตจะเพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนจะต่ำลง


จากตารางจะเห็นว่า เมื่อเพิ่มปริมาณปุ๋ย ต้นทุนปุ๋ยจะสูงขึ้น แต่ผลผลิตก็เพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ตัวอย่างหากใส่ปุ๋ยปาล์มต้นละ 8-10 กก./ต้น/ปี จะเหลือกำไรมากกว่าการใช้ปุ๋ยต่ำกว่า 8 กก./ต้น/ปี และการใช้ปุ๋ยมากกว่า 10 กก./ต้น/ปี 

เกษตรกรอาจจะคิดว่าเมื่อลดการใส่ปุ๋ยในสวนปาล์มจะเป็นการลดต้นทุน แต่ถ้าคำนึงถึงรายได้คงเหลือจะเห็นว่าการใช้ปุ๋ยในระดับ 8-10 กก./ต้น/ปี จะมีรายได้คงเหลือ 16,480 - 16,600 บาท/ไร่/ปี

ขณะที่การใช้ปุ๋ยปริมาณ  4 กก./ไร่/ปี จะมีรายได้คงเหลือเพียง 10,740 กก./ไร่/ปี และหากเปรียบเทียบความแตกต่างของรายได้จากการใส่ปุ๋ย 4 กก./ต้น และ 8 กก./ต้น พบว่าจะมีความแตกต่างกัน 5,740บาท/ไร่/ปี

ดังนั้นหากปลูกปาล์ม 10 ไร่ แต่ใช้ปุ๋ยอัตรา 4 กก./ต้น แทนที่จะใช้ 8 กก./ต้น ก็จะทำให้รายได้สูญหายถึง 57,400 บาท/ปี หากคิดระยะเวลาเก็บเกี่ยว 20 ปี ในพื้นที่ปลูก 10 ไร่จะมีการสูญเสียรายได้ถึง 1,148,000 บาท

ทั้งนี้วิธีการใส่ปุ๋ยที่ดีที่สุดและคุ้มค่ามากที่สุดคือ ใส่ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ความต้องการธาตุอาหารของต้นปาล์ม โดยการวิเคราะห์ตัวอย่างดินและตัวอย่างใบเพื่อให้ทราบถึงปริมาณปุ๋ยที่ต้องการแล้ว จึงมีการใส่ปุ๋ยตามความต้องการของปาล์มน้ำมัน จะช่วยเพิ่มความแม่นยำ และเป็นการลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยในสวนปาล์มได้อย่างดี

👉ตัดปาล์มสุกได้เงินเพิ่ม 3,600 บาท/ไร่/ปี ลดความสูญเสียระดับชาติ

ปัจจุบันเกิดกระแสการซื้อปาล์มตามเปอร์เซ็นต์น้ำมัน ยิ่งทำให้เห็นโอกาสและความสูญเสียของการเก็บเกี่ยวผลผลิตปาล์มชัดเจนขึ้น โดยปาล์มสุกที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันทีเพิ่มขึ้น 1% ราคาจะเพิ่มขึ้น 30 สตางค์/กก. ถ้าปัจจุบันเกษตรกรตัดปาล์ม 17% เปลี่ยนมาตัดปาล์ม 20% จะได้ราคาสูงขึ้น 1.20 บาท/กก. หรือ 900 บาท/ตันทันที

ถ้าสวนปาล์มให้ผลผลิต 3 ตัน/ไร่/ปี จะได้เงินเพิ่ม 3,600 บาท/ไร่/ปี ถ้ามีสวนยาง 10 ไร่ รวมแล้วจะได้เงินเพิ่ม 36,000 บาท หรือ 720,000 บาท ตลอดอายุเก็บเกี่ยว 20 ปี

และเมื่อมองในภาพรวมของทั้งประเทศที่มีผลผลิตประมาณ 12 ล้านตันทะลาย/ปี  ถ้าเกษตรกรหันมาตัดปาล์มสุก ปริมาณน้ำมันดิบ (CPO) จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย  

เปอร์เซ็นต์น้ำมันที่เพิ่มขึ้นทุก 2ปริมาณน้ำมันดิบจะเพิ่มขึ้นทันที 240,000 ตัน  เมื่อเปรียบเทียบเป็นราคา CPO น้ำมันที่เพิ่มขึ้น 1% หากราคาน้ำมันดิบราคา 29 บาท/กก. หรือ 29,000 บาท/ตัน จะมีมูลค่าเท่ากับ 3,480 ล้านบาท การเลือกตัดปาล์มสุก จึงเท่ากับช่วยเพิ่มปริมาณน้ำมันดิบให้กับประเทศ

จากตัวเลขความเสียหายของการทำสวนปาล์มตลอด 20 ปี จะพบว่ามีความสูญเสียหลบซ่อนอยู่ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเลือกต้นกล้าปาล์ม จนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิต ถ้าเกษตรกรมองเห็นและรู้เท่าทันก็จะช่วยลดความสูญเสียในแต่ละขั้นตอนได้ ก็เท่ากับผลผลิตและรายได้ที่จะเพิ่มขึ้นนั่นเอง

อ้างอิง
- ความสูญเสียที่ชาวสวนปาล์มไม่ควรมองข้าม ธีระพงศ์ จันทรนิยม สถาบันวิจัยและพัฒนาการผลิตปาล์มน้ำมัน
-แก้ปัญหาปาล์มดิบ ถึงเวลาต้องใช้ยาแรงหรือยัง ธีระพงศ์ จันทรนิยม สถาบันวิจัยและพัฒนาการผลิตปาล์มน้ำมัน 


ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม