ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

สหกรณ์ฯ บ้านเชี่ยวหลาน กัดฟันสู้ ธุรกิจแปรรูป ยาง-ปาล์ม

เมื่อธุรกิจรวบรวมผลผลิตทางการเกษตร อย่าง ยางและปาล์ม จากสมาชิกมองไม่เห็นอนาคตและความยั่งยืน เพราะปัจจัยเชิงลบจาก “ราคา” สหกรณ์การเกษตรบ้านเชี่ยวหลาน จึงเดินหน้าสู่ธุรกิจแปรรูปเพิ่มมูลค่า ลงทุนตั้งโรงหีบปาล์มขนาดเล็ก และแปรรูปหมอนยางพารา แม้จะยังอยู่ในช่วงคลำหาความสำเร็จ แต่มีความเชื่อว่าได้เดินมาถูกทางแล้ว

━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━  
HIGHTLIGHT :
🔴 วิกฤติราคายางและปาล์ม พืชเศรษฐกิจที่เป็นหัวใจของเกษตรกรภาคใต้ พร้อมกันตกต่ำอย่างสามัคคี ส่งผลกระทบต่อสมาชิกสหกรณ์ฯ บ้านเชี่ยวหลานเต็มๆ แนวทางแก้ปัญหาที่พวกเขามองว่าคือทางออก และยั่งยืนที่สุดที่ทำได้คือ เดินหน้าสู่ธุรกิจแปรรูปขนาดเล็ก อาศัยตลาดจังหวัดเป็นฐานหลัก

🔴 ตั้งโรงหีบปาล์มระบบแห้งขนาด 5 ตันทะลาย/ ชม. เงินลงทุนกว่า 30 ล้านบาท แต่ระบบเครื่องจักรมีปัญหาหลายด้าน ก่อนจะกัดฟันลงทุนปรับปรุงเครื่องจักรเพิ่ม ทำทุกส่วนของทะลายปาล์มให้เป็นเงิน

🔴 หมอนยางพาราเพื่อสุขภาพ ธุรกิจแปรรูปปลายน้ำที่พวกเขาลงทุนได้ เน้นผลิตภัณฑ์หลากหลาย ราคาจับต้องได้ เน้นขายนักท่องเที่ยวและสมาชิก อีกทั้งยังช่วยลดจำนวนยางออกจากตลาดได้ระดับหนึ่ง
━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━  

นายสถาพร พรัดวิเศษ ผุ้จัดการสหกรณ์ (ซ้าย) นายสุเทพ นาคพรหม รองประธานสหกรณ์
ทีมงานยางปาล์มออนไลน์ คุยกับนายสถาพร พรัดวิเศษ ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรบ้านเชี่ยวหลาน จำกัด อ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี เขาให้ข้อมูลเบื้องต้นว่า สหกรณ์มีสมาชิกกว่า 1,900 คน เดิมมีธุรกิจหลักรับฝากเงินและปล่อยสินเชื่อให้สมาชิก ธุรกิจรวบรวมผลผลิต ได้แก่ ยางก้อนถ้วย ยางแผ่นดิบ และปาล์มน้ำมัน รวมถึงธุรกิจปั้มน้ำมันบางจาก 
━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
🔵 ตั้งโรงหีบปาล์มระบบแห้งขนาด 5 ตันทะลาย/ ชม. เงินลงทุนกว่า 30 ล้านบาท แต่ระบบเครื่องจักรมีปัญหาหลายด้าน ก่อนจะกัดฟันลงทุนปรับปรุงเครื่องจักรเพิ่ม ทำทุกส่วนของทะลายปาล์มให้เป็นเงิน
━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
สหกรณ์ฯ บ้านเชี่ยวหลาน ขยายธุรกิจสู่ธุรกิจแปรรูป น้ำมันปาล์ม ในปี 2556 โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสำนักบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย สำหรับลงทุนเครื่องจักรและตัวโรงงาน 20 ล้านบาท และสหกรณ์ลงทุนสมทบเพิ่มเติม ซึ่งเป็นโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มระบบแห้ง จากงานวิจัยของ สวทช.  

ตอนที่ทีมงานไปเยี่ยมชมโรงหีบของสหกรณ์ ยังอยู่ในช่วงของการปรับปรุงเครื่องจักร ผู้จัดการบอกว่า  เนื่องจากระบบเครื่องจักรมีปัญหามาสามารถผลิตได้ จึงต้องทำการปรับปรุงเครื่องจักรใหม่ 

เครื่องจักรชุดใหม่ใช้ทะลายปาล์ม แทนชุดเก่าที่ต้องใช้ลูกร่วงผลิต 
“เราหวังว่าจะทำธุรกิจแปรรูปสร้างผลกำไรให้สหกรณ์และสมาชิก แต่สุดท้ายเครื่องจักรมีปัญหา เครื่องจักรไม่เสถียร เพราะเพิ่งพัฒนามาจากงานวิจัย ซึ่งสหกรณ์เราเป็นรายแรกที่ซื้อระบบนี้มาใช้เครื่องแรก เดิมทีระบบนี้ต้องใช้ลูกร่วง แต่เกษตรกรเขาผลิตปาล์มทะลาย ปาล์มร่วงมีแค่นิดหน่อย ไม่ถึง 2% ของจำนวนผลผลิต เลยซื้อปาล์มร่วงจากลานเทมาหีบ แต่ก็ยังไม่มีคุณภาพเท่าไหร่ มีความชื้นสูง น้ำมันต่ำ”

“เครื่องจักรชุดนี้ใช้แก๊สแอลพีจีเป็นเชื้อเพลิงอบปาล์ม แต่ราคามันค่อนข้างสูง ต้นทุนจึงสูง เรามาสรุปปัญหาที่เดินเครื่องไม่ได้เพราะอะไร เครื่องจักร คุณภาพผลผลิต ชนิดของเชื้อเพลิง ต้นทุน ข้อจำกัดเรื่องสิ่งแวดล้อม หลังจากนั้นก็หาทีมงานที่ปรึกษาจากทีมงานของโครงการ ไอแทบ (ITAP : โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม) และจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้ทีมงานผู้เชี่ยวชาญมาช่วย ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ซื้อเครื่องจักรใหม่เพิ่ม 2 ตัว เพราะเมื่อเดินหน้าลงทุนแล้ว ก็จำเป็นต้นลงทุนเพิ่มปรับปรุงเครื่องจักรให้สามารถผลิตได้” 

หมักทิ้งไว้ 2 วัน ก่อนเข้าสู่การผลิต
เครื่องจักรใหม่ที่ปรับปรุงมีกำลังเครื่องชั่วโมงละ 5 ตันทะลาย ดัดแปลงให้ใช้ปาล์มทะลายได้ จึงเปิดซื้อทะลายปาล์มจากสมาชิก แล้วนำมาบ่ม 2 วัน แล้วจึงเข้าเครื่องแยกเมล็ดปาล์มจากทะลาย แล้วป้อนเข้าสู่ระบบ น้ำมันปาล์ม

ขณะที่ส่วนต่างๆ ที่เหลือทิ้งจากกระบวนการหีบ ล้วนนำมาแปลงเป็นเงินได้ทั้งสิ้น เริ่มจาก
เมล็ดใน ขายให้กับโรงงานเอกชน ซึ่งเป็นน้ำมันที่มีคุณภาพสูงใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ส่วนกะลาปาล์ม ใช้เป็นชีวมวลให้พลังงานสูง กากจากเปลือกผลปาล์ม นำไปเป็นอาหารสัตว์โภชนาการสูง เทียบเท่าข้าวโพด ทะลายเปล่า นำไปทำปุ๋ยหมัก ธาตุอาหารสูง ขายราคาต่ำแก่สมาชิก

“เราเคยอยู่แต่ในธุรกิจรวบรวมสินค้าเกษตร แต่พอเรามาทำธุรกิจอุตสาหกรรมเราต้องปรับตัวเยอะ เราซื้อมาขายไป ส่วนต่างทางการตลาดไม่มี เพราะกำไรส่วนใหญ่เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ แต่การแปรรูปเป็นการเพิ่มมูลค่าเพิ่ม ที่มองว่ายั่งยืน แต่มันก็ไม่ได้ทำง่ายๆ ระยะเวลาช่วงเริ่มต้นกว่าจะสำเร็จมันอาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร ต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้”

━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
🔵 หมอนยางพาราเพื่อสุขภาพ ธุรกิจแปรรูปปลายน้ำที่พวกเขาลงทุนได้ เน้นผลิตภัณฑ์หลากหลาย ราคาจับต้องได้ เน้นขายนักท่องเที่ยวและสมาชิก อีกทั้งยังช่วยลดจำนวนยางออกจากตลาดได้ระดับหนึ่ง
━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
อีกธุรกิจที่เกิดขึ้นหลังโรงหีบปาล์ม คือ หมอนยางพารา มีที่มาจากวิกฤตการณ์ราคายางที่สมาชิกและสหกรณ์ประสบ ประกอบกับนโยบายรัฐส่งเสริมให้มีการแปรรูปเพิ่มมูลค่า สหกรณ์จึงลงทุนผลิตหมอนยางพารา 

หมอนยางพารา เชี่ยวหลาน
“สหกรณ์เราอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวขึ้นชื่อของสุราษฎร์ (เขื่อนรัชชประภา หรือเขื่อนเชี่ยวหลาน) มีนักท่องเที่ยวเยอะพอสมควร เราก็มองว่าตลาดหมอนจะอยู่ในกลุ่มนักท่องเที่ยว และเครือข่ายสหกรณ์การเกษตรในจังหวัดที่มีการเชื่อมโยงนำสินค้าไปช่วยกันขายในจังหวัด

“เราไม่ได้มองไปถึงตลาดต่างประเทศ เพราะศักยภาพของเราไม่ได้ใหญ่ขนาดนั้น แต่ถ้าเกษตรกรชาวสวนยางช่วยกันใช้หมอนยางพารา เริ่มจากสมาชิกของเราประมาณ 1,900 ครอบครัวร่วมกันซื้อ  และขยายไปยังเกษตรกรในจังหวัด ช่วยกันใช้สินค้าจากยางพาราที่เราผลิตกันขึ้นมา นั่นหมายความว่าเราจะช่วยกันดึงยางออกจากระบบได้ ยางในตลาดก็จะลดลง เป็นการช่วยตนเองก่อนที่จะขอให้รัฐบาลช่วยเหลือ เราจึงมองตลาดในพื้นที่สำคัญที่สุด เพียงแต่ทำออกมาแล้วทำราคาไม่ให้แพงนัก เกษตรกรสามารถซื้อได้”

ก่อนหน้านี้ต้องยอมรับว่า หมอนยางพารา เป็นสินค้าราคาแพง ลูกละเป็นพันบาท แต่ถ้าสหกรณ์ลงทุนเครื่องจักรการผลิตกึ่งแฮนด์เมด ขายราคาที่เหมาะสมกับเกษตรกรในพื้นที่ เหมาะกับนักท่องเที่ยวที่จะซื้อไปเป็นของฝาก ก็เป็นอีกตลาดที่ดี 

“ตลาดหมอนของสหกรณ์ตอนนี้ก็พอไปได้ ขายดีในช่วงฤดูท่องเที่ยว ถ้าช่วยปกติก็ไม่ได้หวือหวา 
เพราะอายุการใช้งานนาน ไม่ได้ซื้อกันบ่อยๆ และก็ต้องยอมรับว่าไม่จำเป็น เพราะหมอนทุกคนมีอยู่แล้ว นอกจากคนซื้อเป็นของฝาก คนรักสุขภาพ”

ส่วนรูปแบบหมอนยางพาราของสหกรณฯ ที่ใช้ชื่อว่า “เชี่ยวหลาน” มี 2 รูปแบบ คือ ทรงหัวใจ กับ สี่เหลี่ยม ซึ่งเป็นที่นิยมของตลาด ขายราคาปลีกใบละ 550 บาท ส่วนหมอนเกรดบีที่มีตำหนิ ขายราคาต่ำลงมาเหลือ 450 บาท

ส่วนที่ตกเกรดจะนำมาย่อยเป็นเศษเล็กๆ ทำเป็นสินค้าใหม่ๆ ได้หลายแบบ เช่นที่นอนพับขนาดต่างๆ หมอนอิง หมอนขลิบ ตุ๊กตา และหมอนข้าง เป็นต้น เป็นการเพิ่มมูลค่าได้อย่างดี

“ถ้าคิดในแง่บวก สนับสนุนให้สหกรณ์ในแต่ละจังหวัดที่มียางผลิตหมอนจังหวัดละ 1-2 สหกรณ์ แล้วขายในจังหวัด เกษตรกรช่วยกัน หน่วยงานราชการช่วยกันส่งเสริมตลาดในจังหวัด ยางก็จะหายไปจากตลาดได้ระดับหนึ่ง วันนี้ถ้าเราไม่ลุกมาทำของเหล่านี้ โอกาสที่เราจะเห็นความยั่งยืนของยางพาราคงไม่มี” 
ทะลายเปล่านำไปทำปุ๋ยอินทรีย์ โดยใช้ พด.1 ปุ๋ยยูเรีย 2 กก./ ทะลาย 1 ตัน หมักประมาณ 6 เดือน ขายให้กับสมาชิกกระสอบละ 120 บาท (40 กก.)

ความได้เปรียบเหนือเอกชนของ สหกรณ์ฯ บ้านเชี่ยวหลาน คือ คือ ได้เงินสนับสนุนจากรัฐแบบให้เปล่า ได้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำกว่า นี่คือต้นทุนที่สำคัญ บทพิสูจน์ที่เหลือคือ เรื่องของการบริหารจัดการให้สามารถแข่งขันกับเอกชน ธุรกิจอยู่รอด และมีกำไรอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับ สหกรณ์ที่เริ่มต้นจากธุรกิจเกษตร สู่ธุรกิจอุตสาหกรรม

“มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ หรอก เพราะถ้าง่ายเขาก็ทำกันไปหมดแล้ว เพียงแต่เราต้องผ่านกระบวนการศึกษา เรียนรู้ ธุรกิจไปสักพักหนึ่ง  มันไม่ใช่จะสำเร็จแบบง่ายๆ แต่พวกเราก็คิดเสมอว่า ถ้าอยากเข้มแข็ง อยากยั่งยืน เราต้องลุกขึ้นสู้” ผู้จัดการสหกรณ์ฯ บ้านเชี่ยวหลานกล่าว

ขอขอบคุณ
นายสถาพร พรัดวิเศษ
นายสุเทพ นาคพรหม
สหกรณ์การเกษตรบ้านเชี่ยวหลาน จำกัด อ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี โทรศัพท์ 09-5153-9519, 08-7791-0658
- Advertisement -


ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม