ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

สวนปาล์มน้ำมัน 160 ไร่ เมืองจันท์ ปลูกพันธุ์ทนแล้ง จัดการน้ำ + ปุ๋ยดี ได้ผลผลิตสูง

แม้ว่าพื้นที่อุดมสมบูรณ์ของ “จันทบุรี” จะถูกยกย่องให้เป็น “มหานครแห่งผลไม้” แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าบ้านนี้เมืองนี้จะถูกผลไม้ยึดไปเสียหมด เพราะยังมีเกษตรกรอีกจำนวนไม่น้อยเลยเลือกปลูกพืชชนิดอื่นที่พวกเขามองว่า มั่นคงกว่า อย่าง “ปาล์มน้ำมัน”

ธนวัฒน์ ธนาพงศ์บูลย์ เกษตรกรใน อ.มะขาม จ.จันทบุรี คือ หนึ่งในนั้น

━━━━━━━━━━━━━━━━━
HIGHTLIGHTS :
 คุณธนวัฒน์ อดีตพ่อค้าพลอย ปลูกปาล์มร้อยกว่าไร่ เลือกปลูกพันธุ์ยูนิวานิช และโกลด์เด้นเทเนอร่า มองเห็นความแตกต่างปาล์มสองพันธุ์ ยืนยันพันธุ์โกลด์เด้นฯ ทนแล้ง ผลผลิตสม่ำเสมอ ไม่ขาดคอ

 การดูแลให้ความสำคัญ 2 ส่วน น้ำ และปุ๋ย ใส่ปุ๋ยทุกเดือน ใส่น้อยๆ แต่สม่ำเสมอ พอใจผลผลิต 4.5-5 ตัน/ไร่/ปี แต่หนักใจราคา ต้อง 5 บาท/กก.ถึงจะอยู่ได้
━━━━━━━━━━━━━━━━━ 
ธนวัฒน์ ธนาพงศ์บูลย์ อดีตพ่อค้าพลอย ที่ผันตัวเองมาเป็นชาวสวนปาล์ม 160 ไร่

“เมื่อก่อนผมค้าพลอยอยู่ ได้เงินมาก็เลยซื้อที่ดินเก็บไว้ แต่ตอนหลังๆ ธุรกิจพลอยมันซาลง เมื่อ 10 ปีก่อนก็เลยหันมาปลูกปาล์มแทน พอนึกว่าจะทำเกษตรก็คิดว่าจะทำปาล์มเลย เพราะปาล์มไม่ต้องใช้ยาอะไรมากมาย ดูแลไม่ยาก ไม่เหมือนผลไม้ต้องคอยฉีดยาตลอด ผมไม่ชอบแบบนั้น มันยุ่งยาก แต่ปาล์มถึงเวลาก็ใส่ปุ๋ย ถึงเวลาก็ตัดทะลายเท่านั้นเอง

คุณธนวัฒน์ เปรียบเทียบเหตุผลที่เลือกปลูกปาล์มน้ำมัน แทนที่จะปลูกผลไม้ พื้นที่สวนเงาะเดิมประมาณ 160 ไร่ที่เขาซื้อเก็บไว้ ค่อยๆ ถูกโค่นทิ้งเพื่อปลูกปาล์มพันธุ์ยูนิวานิช เป็นพันธุ์หลัก และโกลด์เด้นเทเนอร่าเป็นตัวรอง (ชื่อเดิมซีพีเทเนอร่า) โดยทยอยปลูกไปเรื่อยๆ จนเต็มพื้นที่ ใช้ต้นพันธุ์ทั้งหมด 3,500 ต้น ระยะปลูกมาตรฐาน 9X9 หรือไร่ละ 22 ต้น มีระบบน้ำแบบสปริงเกลอร์เต็มพื้นที่ เขามองว่าน้ำสำคัญกับการทำสวน สำคัญต่อการเจริญเติบโตและผลผลิต เลยไม่รีรอที่จะลงทุน

เมื่อปลูกปาล์มได้อายุ 2 ปีกว่าๆ ต้นปาล์มเริ่มออกทะลาย แม้ทะลายไม่ใหญ่นักแต่ก็พอตัดขายได้บ้าง ปัจจุบันสวนปาล์มของเขามีอายุ 10 ปี และ 7 ปี ได้ผลผลิตเฉลี่ย 4.5-5 ตัน/ไร่/ปี ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของแต่ละปี 
สวนปาล์มพันธุ์ยูนิวานิช อายุประมาณ 10 ปี 

การจัดการสวนปาล์มคุณธนวัฒน์จะให้น้ำหนักและความสำคัญกับ “น้ำและปุ๋ย” มาก เพราะเป็น “ตัวแปร” ของผลผลิต แม้ว่าเมืองจันทน์จะมีฝนตกชุกเกือบตลอดทั้งปี แต่ถึงเวลาแล้ง ก็แล้งเอาเรื่อง ระบบน้ำสปริงเกลอร์ที่ติดไว้ต้นละหนึ่งหัวเลยช่วยต้านแล้งได้ดี
  
“ทุกปีเราก็ให้ปุ๋ยน้ำหมักทางน้ำด้วย เช่น ปุ๋ยปาล์มหมัก ขี้หมูหมัก ก็ดูดมาแล้วปล่อยไปพร้อมกับระบบน้ำได้เลย”

แต่ก็จะมีบางปีที่อากาศแล้งจัดๆ แหล่งน้ำไปพอ โดยเฉพาะช่วงแล้งปี 2557 และ 2558 แล้งต่อกันหลายเดือน ต้นปาล์มได้รับผลกระทบ และหยุดออกทะลาย ช่วงที่อากาศแล้งนี่แหละที่ทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างปาล์มสองพันธุ์

โกลด์เด้นฯ จะไม่ค่อยขาดคอ ลักษณะการออกทะลายสม่ำเสมอทั้งปี  สังเกตว่าตัวผู้น้อยมาก  เวลาใส่ปุ๋ยก็กินปุ๋ยดี เรียกว่าตอบสนองต่อปุ๋ยดีมาก แล้วที่สำคัญ ปี 57 58 59 เป็นช่วงที่แล้งมากๆ ของพันธุ์อื่นทางใบพับหมดเลย ผลผลิตขาดคอยาว แต่พันธุ์นี้ไม่พับมันทนแล้ง ทะลายอาจจะลดในช่วงแล้ง แต่ไม่ขาดคอ ถ้าเทียบกับพันธุ์อื่นๆ ที่ปลูกในพื้นที่เดียวกัน ดูแลเหมือนกัน”

แต่เรื่องน่าเสียดายที่ย้อนเวลาไม่ได้ก็คือ คุณธนวัฒน์ปลูกปาล์มพันธุ์โกลด์เด้นเทเนอราแค่ 10 กว่าไร่เท่านั้น

“เสียดายที่มาปลูกทีหลัง เพราะตอนนั้นเราก็ปลูกพันธุ์อื่นไปหมดแล้ว ถ้าตอนนั้นผมมีโกล์ดเด้นฯ คงรวยไปเยอะแล้วล่ะ 

สวนปาล์มพันธุ์โกลด์เด้นเทเนอราอายุประมาณ 7 ปี กำลังให้ทะลายดกต่อเนื่อง สม่ำเสมอทั้งปี  

นอกจากน้ำ ปัจจัยสำคัญพอๆ กันก็คือ ปุ๋ย โดยเฉพาะ  “ปุ๋ยเคมี” ขาดไม่ได้ เพราะต้นปาล์มต้องการธาตุอาหารสูงมาก ต้องนำไปเลี้ยงต้น สร้างตาดอกและทะลาย โดยเฉพาะในช่วงที่ให้ผลผลิตต้นปาล์มจะต้องการอาหารสูงมาก

ปุ๋ยเราใส่เรื่อยๆ เดือนละหนึ่งครั้ง ใส่ไม่เยอะ ต้นละ 4-5 ขีด รวมทั้งปีก็ 5-6 กก. แล้วเสริมด้วย แมกนีเซียม กับ โบรอน”

“ปุ๋ยที่เราใช้จะซื้อแม่ปุ๋ยมาผสม สั่งมาจากโรงงานที่กรุงเทพครั้งละ 15 ตัน จะได้ถูกกว่า มี 46-0-0, 18-46-0 และ0-0-60 เวลาผสมเดี๋ยวนี้ก็ง่าย มีแอพผสมปุ๋ย (โปรแกรมคำนวณสูตรปุ๋ย) สมมุติเราจะผสมสูตร 15-15-15 แค่พิมพ์ลงแอพมันจะบอกเลยว่าต้องใช้ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียมอย่างละเท่าไหร่ ง่ายมาก แต่เวลาใส่ปุ๋ยปาล์มก็จะเลือกใส่ทีละตัว ตามช่วงที่เหมาะสม”

นอกจากธาตุหลัก 3 ตัวหลักแล้ว ยังใส่แมกนีเซียม และโบรอนด้วย เพื่อช่วยความสมบูรณ์ของต้นและทะลาย

ไม่ใช่เพียงแค่นี้ บางครั้งยังต้องทำตัวเป็น “หมอปาล์ม” วินิจฉัยอาการภายนอกของต้นปาล์มให้ออก ว่าผิดปกติอย่างไร ต้องแก้อย่างไร

“ถ้าต้นปาล์มสมบูรณ์โคนทางใบจะมีเส้นเขียว โคนทางใบตรงส่วนยอดมันจะนวล ยิ่งขึ้นนวลมากยิ่งดี แสดงว่าปุ๋ยถึง แสดงว่าสมบูรณ์ แต่ถ้าสังเกตเห็นทางใบเหลืองๆ นี่แสดงว่าธาตุอาหารไม่พอ ก็ใส่ยูเรียให้เขียวก่อนเลย แล้วใส่ 18-46-0 ถ้าทะลายมีหนามเยอะต้องใส่ 0-0-60 หนามก็จะหดลงแล้วไปใหญ่ที่ลูก ถ้าปุ๋ยถึงจะลูกใหญ่มาก บางทีลูกแต่ที่ก้น ปริแตกสี่แฉกเลย  
ทะลายมีหนามเยอะต้องแก้ด้วยวิธีใส่ 0-0-60 หนามก็จะหดลงและลูกจะใหญ่ขึ้น 

สวนปาล์มของคุณธนวัฒน์จะเลือกตัดปาล์มสุก ดูง่ายๆ จากต้นที่มีลูกร่วงโคนต้นเป็นหลัก และใช้ประสบการณ์จากคนตัด โดยจะดูจากสี แต่ก็มีบ้างที่จะปาดเนื้อดูว่าปาล์มสุกหรือไม่ เจ้าของสวนบอกว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกับคนตัดให้เลือกตัดแต่ปาล์มสุกเท่านั้น

วิธีหนึ่งที่จะทำให้การตัดปาล์มสุกได้ผลคือ ตัดปาล์มถี่ขึ้น เป็นทุกๆ 10 วัน ถ้าเว้นระยะตัดมากกว่านี้จะเจอปัญหาปาล์มสุกเกิน มีลูกร่วงเยอะ คนเก็บลูกร่วงก็จะเริ่มบ่น โดยใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน จ้างตัดตันละ 400 บาท ต้นทุนตัดปาล์มจึงค่อนข้างถูก

แต่เมื่อเปรียบเทียบกับราคาทะลายปาล์มปัจจุบันที่อยู่แค่ 4 บาท จึงได้กำไรไม่มากนัก ถ้าจะให้ดีเขาบอกว่าควรอยู่ที่ กก.ละ ไม่ต่ำกว่า 5 บาท เพราะทำสวนปาล์มลงทุนค่อนข้างสูง โดยเฉพาะต้นทุนปุ๋ยที่ต้องใส่มากกว่าพืชอื่นๆ และค่าแรงงาน 

แรงงานตัดปาล์มจากประเทศเพื่อนบ้าน ค่าแแรง ตัดตันละ 400 บาท เจ้าของสวนต้องเข้มงวดเรื่องตัดปาล์มสุกเป็นพิเศษ 

แต่สถานการณ์อย่างนี้ ในฐานะเจ้าของสวนปาล์ม จำเป็นต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาปาล์ม โดยลดต้นทุนในส่วนที่ลดได้ เช่น ลดการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ โดยให้ทางใบปาล์มกองไว้ในสวนสร้างอินทรียวัตถุ และในตัวทางใบปาล์มจะมีปุ๋ยเคมีตกค้างอยู่แล้ว เมื่อย่อยสลายก็จะกลับคืนดินและต้นปาล์ม

อีกอย่างคือ การเลือกตัดปาล์มสุก แม้ว่าระบบซื้อ-ขายปาล์มจะยังไม่ได้ซื้อตามคุณภาพ หรือตามเปอร์เซ็นต์น้ำมัน แต่ปาล์มสุกจะมีน้ำหนักมากกว่าปาล์มดิบอยู่แล้ว ตัดปาล์มสุกจึงได้น้ำหนักมากขึ้น

แต่ที่ลดไม่ได้เด็ดขาดก็คือ ปุ๋ย เนื่องจากเป็นอาหารที่จำเป็นต้องใช้หล่อเลี้ยงต้นและผลผลิต ถ้าใส่ปุ๋ยน้อยลงแล้วคิดว่าต้นทุนจะลด ผลอาจจะตรงกันข้าม คือ ผลผลิตลดลง รายได้ก็จะลดลงไปด้วย

 ทางใบปาล์มกองไว้ในสวนสร้างอินทรียวัตถุ และในตัวทางใบปาล์มจะมีปุ๋ยเคมีตกค้างอยู่แล้ว เมื่อย่อยสลายก็จะกลับคืนดินและต้นปาล์ม
โกลด์เด้นเทเนอร่า ทะลายใหญ่ ดก สม่ำเสมอทั้งปี 
ปาล์มโกลด์เด้นเทเนอรา อายุ 7 ปี 
ตัดปาล์มสุก แม้ว่าระบบซื้อ-ขายปาล์มจะยังไม่ได้ซื้อตามคุณภาพ หรือตามเปอร์เซ็นต์น้ำมัน แต่ปาล์มสุกจะมีน้ำหนักมากกว่าปาล์มดิบอยู่แล้ว ตัดปาล์มสุกจึงได้น้ำหนักมากขึ้น
ขอขอบคุณ
ธนวัฒน์ ธนาพงศ์บูลย์ อ.มะขาม จ.จันทบุรี โทรศัพท์ 09-2549-3979

ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม