ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

เทคนิคการจัดการสวนปาล์ม ของเกษตรกรตัวอย่าง อ.ห้วยยอด จ.ตรัง

พวกเรายางปาล์มออนไลน์ เดินทางมา จ.ตรัง บ่อยจนนับครั้งไม่ถ้วน แต่ทุกครั้งมาทำเรื่อง “ยางพารา” เป็นส่วนใหญ่ แต่ครั้งล่าสุดที่พวกเราเดินทางมาเมืองตรัง ก็ยังมาทำเรื่องยางอยู่ดี แต่คราวนี้ไม่ลืมที่จะทำเรื่อง “ปาล์มน้ำมัน” ด้วย

พวกเราสืบเสาะหาข้อมูลจนพบสวนปาล์มน้ำมันแห่งหนึ่งใน อ.ห้วยยอด ของ ฉัตรชัย รัตวิวัฒนาพงศ์ หรือ “โกชัย” อดีตนักธุรกิจหลายแขนง ที่ผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรชาวสวนปาล์มเต็มตัว สวนปาล์มของเขามีความโดดเด่นหลายด้าน ทั้งในด้านการจัดการสวน และด้านผลผลิต เป็นสวนปาล์มตัวอย่างของอำเภอห้วยยอด ในด้านตัวบุคคล เขาเองก็เป็นแกนนำชาวสวนปาล์มของจังหวัด ที่ผลักดันการทำ “ปาล์มคุณภาพ”
━━━━━━━━━━━━━━━
เรื่องเด่นจากบทความนี้ :
► เรียนรู้การจัดการสวนปาล์มน้ำมันพันธุ์ ยังกัมบิ 2 รุ่น 2 อายุ  รวม 120 ไร่ แปลงหนึ่งเด่นเรื่องการจัดการ แปลงหนึ่งเด่นด้านความสมบูรณ์และผลผลิต

► เรียนรู้การจัดการปุ๋ยสวนปาล์มตามผลผลิต และสภาพต้น  ลดปุ๋ยเคมี จากเดิมเคยใส่ปุ๋ย 10 กก./ต้น/ปี ปรับลงเหลือ เหลือ 6.5 กก./ต้น/ปี

► ทางใบปาล์ม มีประโยชน์หลายด้าน เป็นทั้งตู้เซฟเก็บความชื้น ย่อยเป็นอินทรีย์ ใช้แทนปุ๋ยขี้ไก่แกลบ แต่มีต้นทุนแค่ 0 บาท
━━━━━━━━━━━━━━━
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ปลูกปาล์มพันธุ์ ยังกัมบิ พันธุ์นิยมจากมาเลย์ 120 ไร่
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
เมื่อคิดจะปลูกปาล์มน้ำมัน โกชัยจะนึกถึงมาเลเซีย เพราะมีชื่อเสียงเรื่องการพัฒนาพันธุ์และอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันอันดับหนึ่งของโลก และมีโอกาสเข้าไปดูงานสวนปาล์มด้วยตัวเอง จึงมั่นใจเรื่องพันธุ์ และเลือกปลูกปาล์มพันธุ์ ยังกัมบิ (Yangambi) ML 161 ที่ผลิตโดย “เฟลด้า” บริษัทอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันครบวงจรอันดับต้นๆ ของโลก

ลักษณะเด่นประจำพันธุ์ ของปาล์มน้ำมัน ยังกัมบิ ML 161 เป็นลูกผสมเทเนอรา ระหว่าง Deli Dura X Yangambi G2 ต้นเตี้ย ทะลายดก ผลผลิตสม่ำเสมอ เฉลี่ยมากกว่า 5 ตัน/ไร่/ปี เปอร์เซ็นต์น้ำมันเฉลี่ยมากกว่า 25% ให้ผลผลิตต่อเนื่องแม้กระทบแล้ง ได้รับความนิยมสูงในประเทศมาเลเซีย แต่อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับสภาพพื้นที่และการดูแลรักษาเป็นสำคัญ

“ปาล์มพันธุ์นี้ทะลายไม่ใหญ่ แต่ให้ทะลายดก ประมาณ 24 ทะลาย/ปี เฉลี่ยเดือนละ 2 ทะลาย ผมปลูกปาล์มพันธุ์ยังกัมบิ ตอนนี้มี 2 แปลง อายุ 4 ปี ค่อนข้างสวยทะลายกำลังเต็มคอเลย อีกแปลงอายุ 8 ปี ผลผลิตดีมาตลอด แต่เจอกระทบแล้ง 2 ปีที่ผ่าน ผลผลิตลดลง เพราะแล้งนานถึง 6 เดือน ไม่เคยเจอแล้งขนาดนี้ ตอนนี้ผมก็หาวิธีรักษาความชื้นในดิน และคิดว่าจะต้องทำระบบน้ำ” 
ปาล์มช่วง 2 ปีแรก การดูแลสำคัญมาก ต้องบำรุงให้ต้นปาล์มต้นใหญ่ คอใหญ่ แล้วต้นปาล์มจะสมบูรณ์ ออกทะลายดก
 สวนปาล์มพันธุ์ยังกัมบิ อายุ 4 ปี กำลังออกทะลายดกทุกต้น และให้ผลผลิตสูงขึ้นต่อเนื่อง
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ปาล์ม ยังกัมบิ 4 ปี ได้ผลผลิตทะลุ 3 ตัน/ไร่/ปี
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
สวนปาล์มแปลงแรก อายุ 4 ปี เต็ม ให้ผลผลิตมาแล้ว 2 ปี ได้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งก็น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะต้นปาล์มกำลังออกผลผลิตเต็มคอเกือบทุกต้น

สภาพโดยทั่วไปของสวนปาล์มแปลงนี้ เป็นดินปนทราย ไม่มีแหล่งน้ำ เวลาหน้าฝนน้ำซึมเร็ว เวลาใส่ปุ๋ยก็จะละลายไปกับน้ำเร็ว จึงต้องใช้ทะลายปาล์มสุมกองไว้ใกล้รอบๆ ต้นปาล์ม เพื่อช่วยเก็บกักปุ๋ยไม่ให้ไหลซึมไปกับน้ำ และช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุ

ส่วนหญ้าปล่อยให้รกบ้าง ตัดเฉพาะบริเวณที่ใช้ทำงานเท่านั้น โดยใช้วิธีตัดหญ้าเท่านั้น ไม่ใช่ยาฆ่าหญ้าเด็ดขาด จะส่งผลกระทบกับต้นปาล์ม

“ปาล์มช่วง 2 ปีแรก การดูแลสำคัญมาก ต้องบำรุงให้ต้นปาล์มต้นใหญ่ คอใหญ่ แล้วต้นปาล์มจะสมบูรณ์ ออกทะลายดก ปาล์มแปลงนี้ต้นเลยใหญ่ทุกต้น ทะลายออก 2 ชั้น 16 ทะลาย บางต้นออก 3 ชั้นก็มี ตอนปีที่ 2 เฉลี่ยตัดได้ 2 ตัน/ไร่/ปี แต่ปีนี้คาดว่าน่าจะเกิน 3 ตัน/ไร่/ปี 
สวนปาล์มยังกัมบิ อายุ 4 ปี ปล่อยหญ้าให้รกบ้าง ตัดเฉพาะบริเวณที่ใช้ทำงานเท่านั้น โดยใช้วิธีตัดหญ้าเท่านั้น ไม่ใช่ยาฆ่าหญ้าเด็ดขาด จะส่งผลกระทบกับต้นปาล์ม
สวนปาล์มยังกัมบิ อายุ 8 ปี เจ้าของสวนบอกว่าจะปล่อยหญ้ารกกว่านี้ เพิ่มช่วยรักษาความชื้นหน้าแล้ง 
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
สวนปาล์มยังกัมบิ  8 ปี เน้นใส่ปุ๋ยตามผลผลิต และลดต้นทุน
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
แปลงต่อมาสวนปาล์มพันธุ์ยังกัมบิ อายุ 8 ปี จำนวน 1,270 ต้นระยะปลูกมาตรฐานกรมวิชาการเกษตร 9X9 ทีมงานเห็นแล้วถึงกับเอ่ยปากชม เพราะภาพโดยรวมต้นปาล์มสวยมาก แต่ดูว่าเจ้าของสวนจะไม่ค่อยจะดีใจเท่าไหร่ เนื่องจากต้นภาพไม่มีทะลายอวดรับแขกสักเท่าไหร่

สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นเชิงเขาไม่มีแหล่งน้ำ อาศัย “น้ำฝน” จาก “เทวดา” เป็นหลัก ปีที่ฝนขาดช่วงยาวๆ เจอ “ภัยแล้งรุมสกรัม” ติดต่อกันตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป โดยเฉพาะเมื่อสองปีก่อนแล้งนานถึง 6 เดือน ต้นปาล์มได้รับผลกระทบรุนแรง จนส่งผลต่อผลผลิตปัจจุบัน

เห็นชัดเจนจากร่องรอยดอกตัวผู้ที่อยู่บนต้นจำนวนมาก แต่ก็มีต้นปาล์มจำนวนหนึ่งมีทะลายดกเต็มคอตามลักษณะเด่นของพันธุ์ยังกัมบิให้เห็นอยู่ไม่น้อย

เมื่อไม่มีน้ำทางเดียวที่โกชัยพอจะทำได้คือ หาวิธีช่วยรักษาความชื้นในสวนให้ได้มาก ไว้รับมือเมื่อแล้งมาเยือน เช่น ปล่อยหญ้าขึ้นรกบ้างแต่พอประมาณ บทเรียนจากหลายปีที่ผ่านมาโกชัยจะสั่งคนงานตัดหญ้าให้โล่งเตียนเหมือนสนามกอล์ฟไม่มีหญ้าสักต้น อยากให้สวนสวยงามไม่ขายหน้าเจ้าของ เพราะที่นี่เป็นศูนย์เรียนรู้ระดับจังหวัด ต้องรับแขกตลอดทั้งปี แต่ผลคือ เมื่อถึงหน้าแล้งต้นปาล์มได้รับผลกระทบ  
ปาล์มยังกัมบิ อายุ 8 ปี ทะลายดก 
ปีนี้โกชัยจึงวางแผนปล่อยให้หญ้าขึ้นรกมากกว่าเดิม และใช้ทางใบปาล์มที่เคยตัดกองไว้ระหว่างแถว เปลี่ยนมาปูตามพื้นสวนแทน เว้นระยะห่างจากต้นปาล์มประมาณ 1 เมตร ทางใบจะช่วยคลุมดิน เหมือน “ตู้เซฟเก็บความชื้น” และค่อยๆ ย่อยสลายสร้างอินทรียวัตถุในดิน

สังเกตได้เลยว่าใต้ทางใบปาล์มที่กำลังผุจะมีรากอ่อนสีขาวอยู่เต็มไปหมด รากเหล่านี้ทำหน้าที่หาอาหาร เป็นเหมือน “ปากต้นปาล์ม” มันจะวิ่งไปหาความชื้นและกินอาหาร เวลาใส่ปุ๋ยก็ใส่ไปบริเวณทางใบปาล์มนี่แหละ

เมื่อก่อนไม่รู้ว่ารากปาล์มอยู่ตรงไหนรู้แต่ว่ามันอยู่ในรัศมีรอบทรงพุ่ม เวลาชาวสวนใส่ปุ๋ยก็หว่านรอบต้นบ้าง หว่านกลางแถวบ้าง แต่พอปูทางปาล์มทีนี้ง่ายเลย หว่านปุ๋ยไปตรงทางปาล์ม รับรองเข้าปากต้นปาล์มแน่นอน

ประโยชน์ของทางปาล์มยังไม่หมด เพราะนับตั้งแต่เปลี่ยนมาปูทางใบแทนวิธีกองสูง ในสวนไม่ต้องใส่ปุ๋ยอินทรีย์อีกเลย

“เราปูทางใบมา 2 ปี แล้ว ประโยชน์จากทางใบทั้งรักษาความชื้น และเป็นอินทรีย์  เมื่อก่อนผมต้องใส่ขี้ไก่แกลบ ปรับสภาพดินจากการใช้ปุ๋ยเคมีมาทั้งปี ต้นทุนขี้ไก่รวมขนส่งกระสอบละ 50 บาท ใส่ช่วงมีนาน เมษา ต้นละกระสอบ แต่พอมีทางใบ ผมก็ไม่ต้องใส่ขี้ไก่แล้ว ลดไปเลยต้นละ 50 บาท”

ในแง่ของประโยชน์และต้นทุน ทางใบปาล์มในสวนจึงเป็นปุ๋ยอินทรีย์ถูกและดีที่สุด โกชัยบอกอย่างนั้น

  ทางใบปาล์ม มีประโยชน์หลายด้าน เป็นทั้งตู้เซฟเก็บความชื้น ย่อมเป็นอินทรีย์ แต่มีต้นทุนแค่ 0 บาท
ทางใบปาล์มที่กำลังผุจะมีรากอ่อนสีขาวอยู่เต็มไปหมด รากเหล่านี้ทำหน้าที่หาอาหาร เป็นเหมือน “ปากต้นปาล์ม”
เรื่องที่เราให้น้ำหนักมากหน่อยคือ การใส่ปุ๋ย โกชัยบอกว่า เมื่อก่อนใช้ปุ๋ยสูตรสำเร็จ อาศัยสะดวกรวดเร็วทำงานง่าย ใส่ปีหนึ่งตก 10 กก./ต้น บางปีมากถึง 16 กก./ต้น/ปี ต้นทุนปุ๋ยเลยบานเป็นกระด้ง

ตอนหลังโกชัยมาศึกษาวิธีใช้แม่ปุ๋ยมาผสมตามสูตรที่ต้องการแล้วเลือกใส่ปุ๋ยตามปริมาณผลผลิต ตามสภาพอากาศ และลักษณะอาการต้นปาล์มประกอบ จึงช่วยประหยัดต้นทุนปุ๋ยได้เยอะโดยเปลี่ยนมาใส่ปุ๋ย แค่ 6.5 กก./ต้น/ปี และเปลี่ยนมาใส่ 4-5 ครั้ง/ปี ยืดหยุ่นตามสภาพฝนแต่ละปี แล้วเสริมอาหารพวก แมกนีเซีย โบรอน และโดโลไมท์ ตามความเหมาะสม”

ปัจจัยที่โกชัยวิเคราะห์ว่าปีนี้ต้องลดปุ๋ยลง คือ
1.ตัวเลขผลผลิตจากปีที่ผ่านมา “ปีที่แล้วปาล์มให้ผลผลิตน้อยเพราะผ่านช่วงแล้งหนักเมื่อปี 2557 เรามองแล้วว่าผลผลิตปีนี้น้อยแน่นอน แถมราคาปาล์มยังถูกอีกต่างหาก ถ้าขืนเราใส่ปุ๋ยเหมือนอย่างที่เคยใส่ 10 กก. ขาดทุนแน่นอน” ( ผลผลิตปี 2560 ม.ค.-พ.ค. ผลผลิตรวม 79,310 กก. เฉลี่ยเดือนละ 15,862 กก.)

2.พิจารณาจากแนวโน้มผลผลิตปีนี้ “จากสถานการณ์ครึ่งปีที่ผ่านมาเราเห็นผลผลิตแล้วว่ามีไม่มากเท่าไหร่ ดูจากต้นปาล์มในสวนส่วนใหญ่ช่อดอกตัวเมียเพิ่งเริ่มออกมา ใช้เวลาอีก 8 เดือนถึงจะตัดทะลายได้ แสดงว่าปีนี้ผมยังไม่ได้ทะลายแน่นอน จะได้ต้นปีหน้า ผมคำนวณคร่าวๆ ได้ว่ารอบนี้จะได้ผลผลิตเท่าไหร่ ดูแล้วว่าได้น้อยแน่นอน ถ้าอัดปุ๋ยไปก็ไม่ได้อะไรอยู่ดี มันจะไปอยู่ตามใบ ตามต้น แต่ไม่ได้ไปเสริมผลผลิตในรอบที่กำลังจะตัดนี้ ผมมองว่ามันคือการสูญเสียก็เลยลดปริมาณปุ๋ยลง” 

3. พิจารณาจากสภาพต้นปาล์ม  “ต้นปาล์มมันจะแสดงอาการขาดอาหารมาทางใบ เราจึงยังต้องใส่ปุ๋ยให้ต้นปาล์มสมบูรณ์ ประคองต้นเอาไว้อย่าให้ขาด เพราะในต้นปาล์มแม้ยังไม่มีทะลาย มันก็ยังมีกิจกรรมในการเติบโต สร้างตาดอกตัวเมีย และเลี้ยงทะลายอยู่ ถ้าเราไม่ใส่ปุ๋ยเลย หรือลดปุ๋ยมากเกินไป ต้นจะไม่สมบูรณ์ ดอกตัวเมียไม่เกิด ไม่มีทะลาย จะเสียหายหนักไปกันใหญ่ แต่เทคนิคอยู่ที่เราต้องใส่ปุ๋ยล่วงหน้าให้มันไว้แล้ว ไม่ใช่ว่ารอให้ลูกมาเต็มแล้วค่อยใส่ ก็ไม่ทันเหมือนกัน กว่าสารอาหารจะดูดไปถึง ดีไม่ดีติดแล้งใส่ปุ๋ยไปปาล์มก็ไม่ได้กินทีนี้แหล่ะมันจะขาดช่วง”

โกชัยยอมรับว่า การดูแลสวนปาล์มของตัวเองไม่ใช่ “สูตรสำเร็จ” แม้ “ตำราวิชาการ” เองก็ตาม เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่แตกต่างกัน เช่น สายพันธุ์ีลโกFd ดิน อากาศ น้ำ เกษตรกรต้องใช้หลักวิชาการ นำไปประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสวนของตัวเอง 

━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ตัดปาล์มสุกคุณภาพ เป็นตัวอย่างของเกษตรกร
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ประเด็นใหญ่ที่โกชัยให้ความสำคัญ คือ ทำปาล์มคุณภาพ เพราะเขาเป็นหนึ่งในแกนนำการทำปาล์มคุณภาพ และกำลังผลักดันโครงการเกษตรกรแปลงใหญ่ของ อ.ห้วยยอด จึงต้องรณรงค์ให้ชาวสวนปาล์ม “ตัดปาล์มสุก”

ความจริงการตัดปาล์มสุกไม่ใช่เรื่องยาก แค่ “สร้างวินัย” ให้คนตัดปาล์มเท่านั้นเอง โดยเลือกตัดทะลายที่มีลูกร่วงเท่านั้น ถ้ายังไม่เห็นลูกร่วงลงมาโคนต้นแสดงว่าทะลายยังไม่สุก ไม่ควรตัด แต่จะมีงานเก็บลูกร่วงเพิ่มเข้ามา ชาวสวนต้องบริหารจัดการเรื่องนี้ให้ดี อย่างส่วนของโกชัยไม่มีปัญหาเรื่องนี้ เพราะมีทีมงานตัดปาล์มและดูแลสวนประจำ

แต่ปัญหาใหญ่ที่สุด จะทำอย่างไรให้ชาวสวนปาล์มหันมาตัดปาล์มสุกเป็นนิสัย คืองานยาก โหด หิน เลยทีเดียว เพราะคำถามที่ตอบยากก็คือ ตัดปาล์มสุกแล้วได้ราคาเพิ่มมั้ย...??? 

“ผมเคยโทรศัพท์ติดต่อโรงงานในเขตห้วยยอด ว่าพวกเราจะรณรงค์ให้สมาชิกตัดปาล์มสุก แต่ว่าขอเพิ่มราคาให้นิดหน่อยได้มั้ย ก็ไม่มีโรงงานไหนตอบรับ เลยไม่ได้ผลเท่าไหร่ ชาวสวนก็ไม่อยากทำ คือถ้าโรงงานกับลานเทรับซื้อเฉพาะปาล์มสุก เกษตรกรเขาก็ต้องตัดปาล์มสุกโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องมารณรงค์หรอก ถ้าตัดสุกกันหมดเปอร์เซ็นต์น้ำมันเฉลี่ยก็จะสูง ราคารับซื้อเฉลี่ยก็จะสูงขึ้น เปอร์เซ็นต์ละ 30 สตางค์  แต่ทุกวันนี้รับซื้อหมด ทั้งดิบ ทั้งสุก  น้ำมันเฉลี่ยก็เลยต่ำ แล้วใครจะมีกำลังใจไปเปลี่ยนแปลงตัดปาล์มสุก” แกนนำชาวสวนยาง จ.ตรัง สะท้อน 

บทเรียนที่ได้จากการเยี่ยมชมสวนปาล์มโกชัย คือ การบริหารจัดการสวนปาล์ม เพราะแม้จะปลูกปาล์มสายพันธุ์ดี ให้ผลผลิตสูง แต่ถ้าสภาพอากาศไม่เหมาะสม หรือการจัดการไม่ดี ผลผลิตย่อมลดลงอย่างแน่นอน โดยเฉพาะน้ำ เป็นตัวแปรสำคัญ

แนวทางแก้ปัญหาจึงต้องทำสวนให้เก็บความชื้นได้นานเมื่อถึงฤดูแล้ง วิธีง่ายๆ แค่ทำสวนให้รก และทางใบปาล์มได้ผลระดับหนึ่ง ต้นทุนก็ต่ำที่สุดด้วย ส่วนเรื่องการให้ปุ๋ยตามผลผลิต และจากสภาพต้น เพราะยังไงต้นปาล์มก็ยังต้องการปุ๋ยไปสร้างตาดอก สร้างทะลาย ถ้าให้ปุ๋ยไม่เพียงพอ จะกระทบกับต้นปาล์ม และสุดท้ายผลผลิตอาจจะลดต่ำย่ำแย่กว่าเดิม

เกษตรกรชาวสวนปาล์ม จำเป็นต้องศึกษาหาความรู้ทั้งจากวิชาการ และประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญ แล้วนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพสวนของตนเอง อย่างที่โกชัยบอกว่า การดูแลสวนปาล์มไม่มี “สูตรสำเร็จ” 

 ปุ๋ยหมักจากทะลายปาล์ม เตรียมทำไว้ใช้เองในสวน
 เลี้ยงผึ้งไว้ในสวน ช่วยผสมเกสรตามธรรมชาติ
สวนปาล์มอายุ 4 ปี ปล่อยหญ้าขึ้นปกคลุม ใช้ทางใบปู รักษาความชื้น ตัดหญ้าเฉพาะรอบโคนต้น

ขอขอบคุณ
ฉัตรชัย รัตวิวัฒนาพงศ์
57 หมู่ 6 ต.เขาปูน อ.ห้วยยอด จ.ตรัง โทรศัพท์ 08-1797-4894


ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม