ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

สวนปาล์มคุณภาพ ผลผลิตสูง ของชายวัยเกษียณ อ.พรพันธุ์ศักดิ์ พาหะมาก

ปัญหาของคนรับราชการ คือ เกษียณแล้วจะไปทำอะไร...???
แต่สำหรับ อ.พรพันธุ์ศักดิ์ พาหะมาก ข้าราชการสายการศึกษาใน จ.สุราษฎร์ธานี คิดและวางแผนไว้ตั้งแต่ก่อนเกษียณ 12 ปี ว่าจะทำสวนปาล์มน้ำมัน พร้อมๆ กับเริ่มลงมือทำนับจากนั้น ปัจจุบันหลังจากเกษียณอายุเมื่อปีที่แล้ว จึงไม่ใครถามเขาเลยว่า หลังเกษียณแล้วทำอะไร

วันนี้ อ.พรพันธุ์ศักดิ์ เรียกตัวเองว่า “ชาวสวนปาล์ม” เต็มตัว แม้จะมีคนเรียกว่าอาจารย์ก็ตาม ที่สำคัญไม่ใช่เป็นแค่ชาวสวนปาล์มที่มีสวนปาล์มเท่านั้น หากแต่เป็นสวนปาล์มคุณภาพ ให้ผลผลิตสูง เพราะพื้นที่สวนปาล์ม 3 แปลงพื้นที่แค่ 40 กว่าไร่ แต่ได้ผลผลิตมากกว่าสวนปาล์มทั่วไป มากกว่า 2 เท่า ซึ่งทั้งหมดไม่ได้มาจาก “ฟ้าประทาน” แต่มาจาก “หลักคิด” และ “ลงมือทำ” อย่างมุ่งมั่นจริงจัง

ภาพที่พวกเรายางปาล์มออนไลน์เห็น อ.พรพันธุ์ศักดิ์ ดูไม่เหมือนชายวัยเกษียณเลยแต่เหมือนคนหนุ่มที่ยังสนุก และมีพลังในการทำและพัฒนาสวนปาล์มต่างหาก

เราจะพาไปทำความรู้จักชายวัยเกษียณ ที่มีพลังเหมือนหนุ่มคนนี้ พร้อมเรียนรู้การทำปาล์มคุณภาพได้ผลผลิตสูง แม้เนื้อหาจะยาวสักหน่อยแต่รับรองเลยว่า จะเป็นการอ่านที่คุ้มค่าที่สุดเรื่องหนึ่งทีเดียว 
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
วางแผนทำสวนปาล์ม ปูทางสู่ชาวสวนปาล์มหลังเกษียณ
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ผมรับราชการสายการศึกษา ตำแหน่งสุดท้ายผู้อำนวยการ กลุ่มนิเทศฯ สำนักงานเขตการศึกษาสุราษฎร์ธานีเขต 1 เกษียณเมื่อกันยายน 2559 รับราชการมา 40 กว่าปี วันหนึ่งมาคิดว่าถ้าอยู่อย่างนี้รอวันเกษียณ ถึงวันนั้นจะไปทำอะไร ผมเลยคิดว่าจะสร้างงานเองเพื่อรองรับหลังเกษียณดีกว่า

สภาพพื้นที่สุราษฎร์ แถบท่าฉาง พุนพิน เป็นที่ลุ่ม ส่วนใหญ่ปลูกปาล์มกัน เลยคิดว่าน่าจะปลูกปาล์ม เพราะดูแลไม่ยากนัก ไม่ต้องทำงานทุกวัน ตัดทุกๆ 15 วัน ทั้งปี เหมาะกับเวลาราชการในช่วงที่ยังไม่ออกมาทำเต็มตัว ทิ้ง 15 วัน 30 วัน ไม่มีปัญหา เลยซื้อที่แปลงหนึ่งเริ่มปลูกปาล์ม ปี 2548 ตอนนั้นในหัวไม่มีความรู้เรื่องปาล์มน้ำมันต้องเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด เรียนรู้จากสวนของจริงเลย ทำไมต้นปาล์มมันผอม ใบบาง ก้านใบเล็ก ใครมาขายปุ๋ยเราไม่รู้ก็ซื้อมาใช้ ใส่ก็น้อย เพราะไม่รู้ว่ามันต้องการเท่าไหร่ ปาล์ม 5 ปีแรก ต้นกิ่ว เอวคอด ไม่ต่างจากคนเป็นโปลิโอ เพราะขาดสารอาหาร ใช้เวลาเป็น 10 ปีนะ กว่าจะรู้ว่าปาล์มต้องการอะไร ตอนแรกเรียนรู้จากการถาม มีคนแนะนำบ้าง พอไม่รู้เราก็เชื่อ หลังจากนั้นเราค่อยๆ ค้นหาความรู้ ค้นหาความจริง และสังเกตจากการปฏิบัติ

จนเมื่อเริ่มต้นปลูกปาล์มน้ำมันใหม่อีกแปลง ทีนี้เริ่มตั้งแต่เลือกสายพันธุ์ใหม่ๆ เป็นพันธุ์คอมแพคให้ผลผลิตสูง จากนั้นพยายามศึกษาธรรมชาติของปาล์มพันธุ์นี้ เลยรู้ว่ามันต้องการอาหารสมบูรณ์ ขาดน้ำไม่ได้นาน ขาดปุ๋ยไม่ได้

ตอนหลังปลูกอีกแปลงหาพันธุ์ที่ดีกว่าคอมแพคอีก มีคนแนะนำ คอมแพคเนื้อเยื่อ “พันธุ์ทอร์นาโด” ศึกษาอยู่พักใหญ่ แล้วก็ตัดสินใจจอง ราคาต้นละ 450 บาท เป็นต้นพันธุ์ที่โคลนนิ่งมาจากตาดอกของต้นปาล์มอายุ 9 ปี คัดเลือกต้นสมบูรณ์ที่สุด ผลผลิตดกที่สุด ลูกที่ได้จะมีลักษณะใกล้เคียงเหมือนต้นแม่ ต้นปาล์มจะโตสม่ำเสมอ ปัจจุบันแปลงนี้ อายุ 5 ปี 8 เดือน ให้ผลผลิตสูงมาก 
ปาล์มพันธุ์ คอมแพคเนื้อเยื่อ “พันธุ์ทอร์นาโด” 
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
การดูแลยึดวิชาการเป็นฐาน และปรับตามผลผลิต
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
การดูแลสวนปาล์มอาศัยตามหลักวิชาการเป็นฐาน และจากการเรียนรู้สังเกตภายในสวน อย่างปาล์มออกลูกดก เราจะใส่ปุ๋ยตามหลักวิชาการมันน้อยไป เราต้องชดเชยปุ๋ยให้ไปเลี้ยงทะลายเพิ่ม และชดเชยปุ๋ยที่ออกไปกับทะลายที่ตัดขาย

ต้นไหนมีดอกมากใส่มาก ถ้าใส่ขาดอีกไม่นาน 3-4 เดือนจะไม่ออกดอกตัวเมีย มีแต่ตัวผู้ เพราะอาหารที่สะสมในต้นถูกนำไปเลี้ยงทะลายจนหมด ตาดอกมันกำลังกำหนดเพศอาจจะเป็นตัวเมีย แต่พอถึงเวลาที่ช่อดอกแทงออกมาอาหารไม่พอ มันก็จะเปลี่ยนเป็นตัวผู้ เพราะอาหารไม่พอ ต้นปาล์มมันก็ปรับตัว ถ้าดูแลดี น้ำ ปุ๋ย ความชื้นเพียงพอ มันจะเปลี่ยนเป็นเพศเมีย และแทงช่อดอกตัวเมียออกมา

อย่างเมื่อปลายปี 57 ต่อกับต้นปี 58 ประมาณ 5 เดือน เกิดแล้งจัด ปรากฏว่าปาล์มออกดอกตัวผู้ 2 ชั้น 16 ดอก ทุกต้น แต่หลังจากได้รับน้ำเมื่อเดือน พ.ค.59 ตอนนี้มันเริ่มออกดอกตัวเมียแล้ว

ผมจะชอบสังเกตการแทงดอกของต้นปาล์ม สังเกตที่กาบทางใบ ผมจะจดวันที่ดอกผสมเกสรไว้ ดูจากดอกที่ออกมาเกสรสีขาวมันยังไม่ผสม แต่พอเริ่มเป็นสีชมพูแสดงว่าผสมแล้ว ผมอยากรู้ว่าดอกที่ผสมแล้วกี่วันจึงจะตัดทะลายได้ จากสถิติจากดอกที่ผสมแล้วจนตัดทะลายได้ ถ้าปาล์มเล็กประมาณ 3 เดือนครึ่ง ส่วนปาล์มใหญ่ไม่เกิน 5 เดือนกว่าๆ ไม่เกิน 6 เดือน 
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ใส่ปุ๋ยตามหลักวิชาการ ตามช่วงอายุ และตามผลผลิต เฉลี่ย 15-18 กก./ต้น/ปี
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ปุ๋ย เป็นอาหารที่สำคัญของต้นปาล์ม หลักการใส่ปุ๋ยผมใช้ 2 หลัก คือ ตามที่กรมวิชาการเกษตรกำหนดตามอายุปาล์มเป็นฐาน และเพิ่มตามผลผลิตที่ออกมา ถ้าปาล์มออกออกทะลายมาดกเราก็ใส่เพิ่มเข้าไปไม่ต้องไปเสียดาย

ในช่วงที่ปาล์มให้ผลผลิต ผมจะปุ๋ยแบ่งใส่เป็นชุดๆ ละทุกๆ  4 เดือน โดยใช้แม่ปุ๋ย ไนโตรเจน สูตร 21-0-0, ฟอสฟอรัส สูตร 18-46-0 และ 0-3-0  สองตัวนี้ใส่ต้นละครึ่งกิโล ส่วนโปแตสเซียม 0-0-60 ใส่ต้นละ 1 กิโลแมกนีเซียม ครึ่ง กก. และ โบรอน ต้นละ 100 กรัม

โบรอน ถ้าตามหลักวิชาการเขาให้ใส่ 100 กรัม/ต้น/ปี แต่ไม่พอเลยเพิ่มเป็น  200 ก็ยังไม่พอ มานึกว่าผลผลิตออกเยอะมันใช้สารอาหารเยอะ สารอาหารหายไปจากดินเยอะ ผมจึงต้องใส่เพิ่มขึ้นเป็น 400 กรัม/ต้น/ปี แบ่งใส่ 2-3 ครั้ง ใส่บริเวณโคนต้น

สรุปปีหนึ่งเฉลี่ยปุ๋ยทุกตัวใส่ต้นละ 15-18 กก./ปี

ทางใบ 1 ไร่จะให้น้ำหนักประมาณ 1 ตันครึ่ง และมีปุ๋ยเคมีตกค้างที่เป็น N P K ประมาณ 1 กระสอบ และเป็นอินทรีย์บำรุงดิน 
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ทางใบปาล์ม ปุ๋ยอินทรีย์ฟรีๆ มีธาตุอาหารสูง
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
การตัดแต่งทางใบจะทำปีละ 2-3 ครั้ง และตามโอกาสที่ดูว่าทางใบเหลือมากเกิน แต่หลักๆ จะเหลือทางใบไว้ใต้ทะลาย  2 ทาง คือ ทางรองทะลายและทางรับน้ำ แต่ปาล์มใหญ่อายุ 10 ปีขึ้นไป ไว้ทางเดียวได้ก็ได้ ปาล์มเล็กทำไมต้องไว้ 2 ทาง เพราะทางล่างมันยังสร้างอาหารได้อยู่ เพื่อเลี้ยงลำต้นและทะลาย ถ้าไม่มีทางรับน้ำจะทำให้น้ำหนักทะลายลดลงประมาณ 5 กก. และทะลายด้านบนจะเล็กลงเรื่อยๆ ดอกผู้จะออกมาเร็วเพราะธาตุอาหารลดลง

ทางใบไหนที่ควรเอาออก ก็เลือกทางใบที่ไม่ได้รับแสง เนื่องจากทางที่รับแสงจะช่วยปรุงอาหาร แต่ทางที่ไม่ได้รับแสง มันจะกินอาหารแทนที่จะช่วยกลับกลายเป็นภาระของต้น พวกนี้ต้องเอาออก ทุกครั้งที่มีการตัดทะลายแล้วตัดแต่งทางไปในตัวจะดีและประหยัดมาก แต่ส่วนใหญ่จะแยกตัด เวลาตัดทางใบก็ตัดมาปูในพื้นสวน ตัดส่วนหนามตรงโคนทางกองไว้ข้างๆ

ผมเริ่มใช้ทางใบปูมา 5 ปีแล้ว  เมื่อก่อนกองซ้อนกันกลางแถวปาล์มหรือตามริมคูน้ำ มารู้ทีหลังว่าซ้อนเป็นกองไม่ได้ประโยชน์ แต่พอปูมันจะย่อยเร็ว อินทรียวัตถุจะกระจายทั่วพื้นที่ เวลาหน้าแล้ง ยังมีความชื้นตลอด เวลาใส่ปุ๋ยฝนตกมาก็ไม่ไหลไปตามน้ำ จะอยู่ในบริเวณนั้นๆ

จริงๆ ในตัวทางใบมันก็มีปุ๋ยเคมีตกค้างอยู่ ทางใบ 1 ไร่จะให้น้ำหนักประมาณ 1 ตันครึ่ง ให้ธาตุอาหารที่เป็น N P K ประมาณ 1 กระสอบ ตรงนี้เราได้กลับมาฟรีๆ  ตอนนี้ผมไม่ต้องใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์เลย ปรับปรุงดินไปในตัวด้วย ในสวนปาล์มแปลงหนึ่งเป็นดินเปรี้ยว ไม่มีอินทรียวัตถุ ผมให้คนงานสับทางใบใส่ที่พื้น 2-3 ปี  ย่อยกลายเป็นอินทรียวัตถุทำให้ดินดีขึ้น เป็นอินทรียวัตถุที่หาง่าย ราคาถูก แต่นี่ของฟรีๆ
น้ำเป็นปัจจัยสำคุณอันดับต้นๆ ที่มีผลต่อผลผลิต หน้าแล้ง อ.พรพันธุ์ศักดิ์ ให้น้ำ 200 ลิตร/ต้น/วัน ด้วยระบบสายน้ำพุ่ง
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ลงทุนระบบน้ำ 3 แสน แต่เพิ่มผลผลิตคุ้มค่า คืนทุนไว
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ช่วงปี 2557-2558 เป็นช่วงที่สวนปาล์มเจอภัยแล้งหนักๆ ต้นปาล์มเสียหาย ผลผลิตลดลง สวนปาล์มในสุราษฎร์ฯ ได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด เลยกลับมาคิดว่าต้องมีระบบน้ำแล้ว ปี 2559 เลยลงทุนทำระบบน้ำ ทำแทงค์เก็บน้ำขนาด 12 คิว (12,000 ลิตร) ราคา180,000 ตัวระบบเครื่องสูบน้ำ 12,000 บาท รวมท่อน้ำ อุปกรณ์ต่างๆ ไม่ถึง 300,000 บาท ค่าแรงเราทำเอง

ผมทดลองให้น้ำมาทุกระบบแล้วแต่มาลงตัวที่ระบบสายน้ำพุ่ง ยี่ห้อ HURL ลองใช้แล้วรูมันไม่ตัน น้ำพุ่งแรงวงกว้าง 3 เมตร ม้วนหนึ่งยาว 100 เมตร (เส้นละ 600 บาท) เราวางท่อเมนในสวน จากนั้นต่อสายน้ำพุ่งจากท่อเมนวางตรงกลางแถวต้นปาล์ม น้ำพุ่งขึ้นบนและด้านข้างสูง 3 เมตร ปาล์มเล็กเส้นหนึ่งใช้ได้ 2 แถวพอดี ปาล์มใหญ่ต้องใช้ 2 เส้น  ให้น้ำต้นปาล์มประมาณ 200 ลิตร/ต้น/วัน

เราเรียนรู้ว่าปาล์มขาดน้ำไม่ได้ ขาดเมื่อไหร่ตาดอกที่อยู่ในต้นจะเปลี่ยนเป็นดอกผู้ ถ้ามีน้ำพอมันจะเป็นเมีย ตรงนี้ผมจึงยอมลงทุนระบบน้ำ เพราะมันคุ้มค่า เพราะปกติปาล์ม 1 ทางใบจะออก 1 ทะลายๆ หนึ่ง 20 กิโล ปาล์ม 1 รอบมีดอก 8 ดอก สองรอบ 16 ดอก เท่ากับน้ำหนัก 320 กิโล/ต้น ถ้าปาล์มกก.ละ 5 บาท เท่ากับเงิน 1,600 บาท ไร่หนึ่งมีต้นปาล์ม 22 ต้น น้ำหนักเท่าไหร่ 7,040 กก. คิดเป็นเงิน 35,200 บาท/ไร่  

ผมจะไม่ยอมทนว่าปีนี้อากาศจะเป็นยังไง ปาล์มจะขาดน้ำมั้ย จะได้ทะลายเท่าไหร่ จะไม่รอ ลงทุนระบบน้ำเรากำหนดได้ เลยไม่กลัวปาล์มเสียหายจากแล้ง ลงทุน อุปกรณ์ทั้งหมดไม่ถึง 300,000 บาท ขายปาล์ม 2-3 รอบก็คืนทุนแล้ว แล้วทำไมเราต้องไปรอฝน กังวลว่าจะตกไม่ตก ฝนไม่เป็นปัญหาของผมแล้ว ตรงไหนขาดเราก็หามาเติม

ปาล์มขาดน้ำ เท่ากับขาดปุ๋ยด้วย เพราะน้ำเป็นตัวละลายปุ๋ย และสำเลียงธาตุอาหารไปยังส่วนต่างๆ ของต้น หน้าแล้งนี่ผมใส่ปุ๋ยได้เลย และน้ำมันพุ่งเหมือนฝนเลย มีความชื้นสัมพัทธ์ความชื้นในอากาศมีผลต่อการพัฒนาตาดอก ผสมเกสร มันช่วยเพิ่มความชื้นในสวนปาล์มได้ ถ้าเราไม่มีความรู้ต้องศึกษา และต้องกล้าลงทุน เพราะผลตอบแทนที่จะได้กลับมา คุ้มค่า

แต่ที่ควบคุมไม่ได้ก็คือ แดด ไม่พอ ปาล์มเรามันจะสังเคราะห์แสงไม่ได้ เพราะปาล์มต้องการแสงแดดวันละ 5 ชั่วโมง ปีละ 18,000 ชั่วโมง ปาล์มจะชอบอากาศแบบฝนตกแดดออก 

 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ผลผลิตสูงกว่าสวนปาล์มทั่วไปมากกว่า 1 เท่า
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ผลผลิตที่ได้ ทั้ง 3 แปลง รวมกัน 40 กว่าไร่ แบ่งเป็น ปาล์มอายุ 10 ปี ปี 2558 ได้ผลผลิตเฉลี่ย 6.3 ตัน/ไร่/ปี ปีที่แล้ว (2559) 5.9 ตัน/ไร่/ปี สูงกว่าเกณฑ์ค่าเฉลี่ยของประเทศเท่าตัว

แปลงคอมแพคทอร์นาโด เมื่อปี 2558 ผลผลิตเฉลี่ย 7.36 ตัน/ไร่/ปี เป็นปีแรกที่ให้ผลผลิต คนตัดเกือบร้อง ไร่หนึ่งตัดได้เกือบ 1 ตัน/รอบตัด  มาปี 2559 ลดลงมาหน่อยเหลือ 7.01 ตัน/ไร่/ปี ซึ่งแปลงนี้ผมเริ่มให้อาหารให้น้ำสมบูรณ์เมื่อปีที่แล้ว ปีหน้า (2561) น่าจะผลผลิตสูงกว่านี้

อีกแปลงพันธุ์คอมแพค ปี2559 ได้ผลผลิต 5.04 ตัน/ไร่/ปี แปลงนี้ไม่มีระบบน้ำใช้วิธีสูบน้ำอย่างเดียว พื้นที่ไม่อำนวย แต่ผลผลิตก็ยังสูง  

ผมมีพื้นที่น้อยจึงต้องมาคิดวางแผนว่าทำอย่างไรให้ได้ผลผลิตสูง ถ้าเทียบกับผลผลิตเฉลี่ยทั้งประเทศไม่ถึง 3 ตัน/ไร่/ปี เท่ากับผลผลิตของเราสูงมากกว่า 1 เท่าตัว  แสดงว่าน้ำและความชื้นมีผลกับผลผลิตมาก ฟังธงได้เลยว่าน้ำเป็นปัจจัยที่มีผลต่อผลผลิต เพราะมันเป็นตัวกำหนดเพศ ละลายและลำเลียงปุ๋ย ธาตุอาหาร แต่เกษตรกรปลูกปาล์มแต่ไม่มีน้ำ และขาดเรื่องการจัดการปุ๋ยที่เหมาะสม 
สวนปาล์มคุณภาพ ผลผลิตสูงกว่าทั่วไปมากกว่า 1 เท่า และเน้นตัดปาล์มสุก
  ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ต้นทุนการผลิตรวมเฉลี่ย 3.40 บาท/กก.ปาล์ม
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
เมื่อนำผลผลิตมาคำนวณกับต้นทุนทั้งหมด ได้ตัวเลขเฉลี่ย 3.40 บาท/กก.ปาล์ม  ของผมจะสูงหน่อย เพราะผมคิดต้นทุนรวมทั้งหมด ซึ่งต้นทุนของแต่ละสวนที่ไม่เท่ากัน ของผมมี ปุ๋ย แรงงานใส่ปุ๋ย เก็บเกี่ยว บรรทุก ตัดแต่งทางใบ ตัดหญ้า ระบบน้ำ ค่าไฟ ผู้ดูแลสวน เป็นต้นทุนพื้นฐาน มีต้นทุนแฝง อื่นๆ อีกหลายตัว ซึ่งเป็นต้นทุนทางธุรกิจที่เกษตรกรต้องจดบันทึก และให้ความสำคัญ

━━━━━━━━━━━━━━━━━
อ.พรพันธุ์ศักดิ์ ยังคงสนุกและมุ่งมั่นกับการทำสวนปาล์ม โดยมีเป้าทำปาล์มให้ได้ผลผลิตสูงมากขึ้นกว่าเดิม เป็นการเริ่มต้นงานใหม่ที่ท้าทายชายวัยเกษียณ แต่พลังในตัวกลับพุ่งพล่านราวกับคนหนุ่ม แต่สิ่งที่เราได้จากเขาก็คือ แนวทางการทำสวนปาล์มแปลงเล็กถ้ามีการจัดการที่เหมาะสม จะได้ผลผลิตสูง โดยไม่จำเป็นต้องมีพื้นที่ปลูกมากมาย หัวใจสำคัญของการทำสวนปาล์มที่ถูกย้ำมากที่สุดก็คือ การให้น้ำ ถ้ามีน้ำ ชาวสวนปาล์มก็ไม่จำเป็นต้อง “คุกเข่า” ให้ฟ้าฝนอีกต่อไป 
อ.พรพันธุ์ศักดิ์ พาหะมาก
ขอขอบคุณ
อ.พรพันธุ์ศักดิ์ พาหะมาก
377 หมู่ 1 ถ.หนองน้ำส้ม ต.ท่าฉาง อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี 84150 โทรศัพท์ 086-832-6397 

- Advertisement -
ลงโฆษณา โทร 08-6335-2703

ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม