ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

แนวทาง “ปลูกปาล์มในที่นา” ให้ได้ผลผลิตสูง จาก อรรณพ ยังวนิชเศรษฐ

จอม LIVE (ถ่ายทอดสด) ประจำ เฟซบุ๊คกลุ่มปาล์มน้ำมัน ต้องยกให้ “อรรณพ สุราษฎร์” ชื่อที่เขาเรียกตัวเองในการถ่ายทอดสดทุกครั้ง มียอดคนดูย้อนหลังหลักพันคน สูงสุดเกือบ 6,000 คน ถือว่าได้รับความนิยมมากที่สุดประจำกลุ่ม [ดูตัวอย่าง : https://goo.gl/6Y6v9H ]

ด้วยความที่สวนปาล์มของอรรณพมีหลายแปลง หลายพันธุ์ และมีทุกอายุ ตั้งแต่เริ่มปลูก ไปจนถึงปาล์มแก่ เนื้อหาสาระของการถ่ายทอดสดแต่ละวันจึงน่าสนใจ และชวนติดตาม สามารถนำไปใช้ได้จริง หัวใจของการไลฟ์คือ ผู้ชมสามารถสอบถามข้อสงสัย หรือแสดงความคิดเห็นได้แบบเรียวไทม์

แต่ใครจะไลฟ์สดได้ทุกวัน โดยมีประเด็นหรือเนื้อหาน่าสนใจ และหลากหลาย  ใครจะทำอย่างนี้ได้ย่อมไม่ธรรมดา

นี่คือความสนใจที่เราต้องทำความรู้จักเขาให้มากขึ้น และถ้าจะให้มากขึ้นกว่านั้น เราต้องลงพื้นที่ไปหาเขาที่สุราษฎร์ธานี
 ━━━━━━━━━━━━━━━
HIGHTLGHT :
✔ อรรณพ ยังวนิชเศรษฐ รองประธานสภาอุตสาหกรรม จ.สุราษฎร์ธานี และชาวสวนปาล์มรายใหญ่ นำเสนอแนวทางการปลูกปาล์มน้ำมันในที่นาเดิม ต้องปรับพื้นที่ให้ป้องกันน้ำท่วม และให้รถเครื่องจักรเข้าไปทำงานได้ รวมถึงการปรับสภาพดินนาที่ผ่านการใช้เคมี ยาฆ่าหญ้า มานาน ให้สมบูรณ์เหมาะสำหรับปาล์มน้ำมัน

✔ แม้ว่าสภาพสวนจะส่งเข้าประกวดสวนปาล์มสวยไม่ได้ แต่เรื่องความสมบูรณ์และผลผลิตอยู่ระดับ 4-6 ตัน/ไร่/ปีขึ้นไป แนวคิดทำสวนให้รก และต้องมีระบบน้ำทุกแปลงเป็นวิธีหนึ่งที่ถูกนำมาใช้

✔  ลดต้นทุนปุ๋ยปีหนึ่งซื้อรถกระบะได้หนึ่งคัน คือผลจากการเปลี่ยนปุ๋ยสูตรราคาสูง มาเป็นแม่ปุ๋ย แล้วเปลี่ยนมาให้เป็นตามอายุ และตามผลผลิต จึงมีความแม่นยำมากขึ้น ได้ผลผลิตสูง

✔ ตัดปาล์มสุกได้ประโยชน์ หลายทาง หนึ่งได้ราคาสูงขึ้น เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงขึ้น และน้ำหนักสูง เน้นย้ำเกษตรกรคือ ผู้ผลิตน้ำมัน ไม่ใช้ผลิตน้ำหนัก
 ━━━━━━━━━━━━━━━
อรรณพ ยังวนิชเศรษฐ รองประธานสภาอุตสาหกรรม จ.สุราษฎร์ธานี และชาวสวนปาล์มรายใหญ่ของจังหวัด 
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ต่อยอดธุรกิจกงสี สู่สวนปาล์มน้ำมัน
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━ 
อรรณพ ยังวนิชเศรษฐ อดีตเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ระบบสายงานพืชครบวงจร บริษัท CP กลับบ้านเกิดมาต่อยอดธุรกิจโรงสี ใน อ.พุนพิน เมื่อกว่า20 ปีก่อน หากแต่เป็นธุรกิจที่อยู่ในช่วง “ตะวันกำลังตกดิน” เพราะชาวนาประสบปัญหาสารพัด ทั้งแรงงาน ต้นทุนการผลิตและราคา ธุรกิจโรงสีของครอบครัวจึงต้องปิดตัวและหันมาทำสวนปาล์มน้ำมันแทน

เขาบอกว่าสวนปาล์มที่มีอยู่แปลงแรก 40 ไร่ ปลูกเมื่อปี 2532 ไม่ได้รับการดูแลมากนัก เรียกว่าปลูกตามมีตามเกิดใส่ปุ๋ยบ้างไม่ใส่บ้าง แต่เมื่อตัดสินใจเปลี่ยนธุรกิจมาทำสวนปาล์มเต็มตัว จึงต้องลงมือปลูกแบบจริงจัง แต่ก็ติดปัญหาสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่นา ซึ่งผ่าน “สงครามนาข้าว” อย่างสมบุกสมบั่นมาหลายสิบปี
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ปลูกปาล์มในที่นา ต้องทำอย่างไร
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━  
ปกติที่นาเป็นพื้นที่ต่ำน้ำท่วมขังในช่วงฤดูฝน สภาพดินเป็นดินเหนียว อรรณพ บอกว่า ถ้าอยู่ๆ จะขุดหลุมปลูกปาล์มเลยไม่ได้ จะมีปัญหาท่วมขังช่วงหน้าฝนน้ำ แม้ว่าต้นปาล์มชอบน้ำแต่ถ้าน้ำท่วมขังนานๆ รากก็เป็นง่อยต้นปาล์มจะแคระแกร็น ก่อนปลูกปาล์มจึงต้องเริ่มจากปรับพื้นที่ให้เหมาะสม

วิธีปรับพื้นที่แบบแรก คือขุดทำคันล้อมรอบแปลงและทำร่องน้ำภายในแปลง เว้นพื้นที่ปลูกให้ปลูกปาล์ม 1 ร่องปลูกปาล์ม 1 แถว แต่การทำแปลงแบบนี้ทำงานยากเพราะรถและเครื่องจักรเข้าไปทำงานบนร่องปาล์มไม่ได้

เมื่อได้บทเรียน แปลงใหม่ๆ หลังจากนั้นจึงปรับร่องปลูกให้กว้างขึ้น ให้ 1 ร่องปลูกปาล์มได้ 2 แถว และมีระบบระบายน้ำเข้า-ออก พื้นที่ตรงกลางระหว่างต้นปาล์มรถเครื่องจักรสามารถวิ่งได้ตรงกลางได้ และเข้าได้ทุกร่องทั่วทั้งแปลง ทำงานได้สะดวกมากขึ้น ไม่ว่าจะเก็บปาล์ม ตัดหญ้า และใส่ปุ๋ย เป็นต้น

ความสำคัญของการปลูกปาล์ม คือ ต้องมีน้ำให้ในหน้าแล้ง อรรณพจะให้ความสำคัญ เพราะน้ำคือหัวใจของผลผลิต “สวนปาล์มควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำ แต่ที่แบบนั้นไม่ค่อยมี ถ้ามีก็แพง เราก็ต้องหาวิธีการสร้างแหล่งน้ำในสวน ช่วงหลังจึงใช้วิธีเจาะบาดาล ที่มีไฟฟ้าก็ใช้ปั้มไฟฟ้า ไม่มีไฟฟ้าใช้เครื่องยนต์ ผมเคยทำข้อมูลเปรียบเทียบสวนปาล์มที่มีระบบน้ำกับไม่มี พื้นที่เท่ากันดูแลเหมือนกัน แปลงที่มีระบบน้ำได้ผลผลิตมากกว่า 80 ตัน ได้เงินมากกว่า 400,000 บาท มันคุ้มค่ากับระบบน้ำที่ลงทุนไป”
ทุกแปลงต้องมีระบบน้ำสำหรับหน้าแล้ง เพราะน้ำคือหัวใจของผลผลิต

━━━━━━━━━━━━━━━━━━
เลือกพันธุ์ปาล์ม ให้ผลผลิตสูง เหมาะกับสภาพพื้นที่
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━  
ถ้าใครได้ติดตามไลฟ์สดของ อรรณพ จะรู้ว่าเขาปลูกปาล์มหลายพันธุ์มาก ทั้งหมดเป็นพันธุ์จาก ASD คอสตาริกา และ DAMI ปาปัวนิวกินี

“พี่ชายเป็นผู้นำเข้าและแปลงเพาะกล้าปาล์ม (สุราษฎร์พันธุ์ปาล์ม)  เราจึงได้พันธุ์ดีๆ ใหม่ๆ จากต่างประเทศมาปลูกก่อน แต่เราก็พยายามศึกษาว่าพันธุ์อะไรเหมาะสมปลูกในที่นา ช่วงแรกมี เดลิ X AVROS ของ ดามี ช่วงหลังมี เดลิ X ไนจีเรีย, เดลิ X ลาเม่, ซีหราด และพันธุ์คอมแพค ที่ปลูกระยะชิดเราก็ลองเอามาปลูก พันธุ์โคลนนิ่งเนื้อเยื่อก็ลองปลูก เรามีหลายแปลง ก็ต้องสรรหาให้เหมาะกับพื้นที่ ช่วงหลังปริมาณฝนแต่ละปีค่อนข้างน้อย จึงจำเป็นต้องหาพันธุ์ที่ทนแล้งมาปลูก  จนพอจะได้ข้อมูลว่าพันธุ์ที่เหมาะกับที่นาคือ เดลิ X ไนจีเรียแบล็ค ทนแล้งปานกลาง ทะลายใหญ่ การออกสม่ำเสมอ”
สร้างกองทางทุกแปลงและปล่อยให้หญ้าขึ้นรก ใช้วิธีตัดหญ้าเท่านั้น ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้าเด็ดขาด การใช้ยาฆ่าหญ้าจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทุกส่วนของต้นปาล์ม โดยเฉพาะผลผลิต หากใช้ติดต่อเป็นเวลานาน
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ปรับปรุงดินนา ธาตุอาหารต่ำ ให้เหมาะสมสำหรับปลูกปาล์ม
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ที่นาส่วนใหญ่เป็นดินเหนียว ผ่านการทำนามานานหลายสิบปี ธาตุอาหารในดินหลงเหลืออยู่น้อยมาก แต่ด้วยเป็น “ไฟต์บังคับ” ต้องปลูกปาล์มให้ได้ จึงเริ่มต้นปรับปรุงดิน วิธีแม่นยำที่สุด คือ นำดินไปวิเคราะห์ ปรากฏว่า ดินเป็นกรดจัด และผ่านการใช้ยาฆ่าหญ้ามานานมาก วิธีแรกที่ต้องทำคือ ปรับปรุงดิน และเลิกใช้ยาฆ่าหญ้า เปลี่ยนใช้รถไถตัดหญ้า

ดินเป็นกรดใช้โดโลไมด์ปรับปรุงดิน แล้วเริ่มทำปุ๋ยอินทรีย์ เอาแกลบมาผสมกับขี้ไก้ ขี้วัว กากน้ำตาล สารเร่ง พด. มาหมักผสม ใช้ปรับปรุงดิน จากสวนปาล์มที่ผลผลิตแย่ๆ ต้นปาล์มโทรม เพราะดินมันเสีย เราก็ใช้ปุ๋ยอินทรีย์มาปรับสภาพดีขึ้น ผลผลิตเริ่มดีขึ้น  จากผลผลิตที่เคยได้ 2-3 ตัน เพิ่มเป็น 5-7 ตัน”
ทุกแปลงรถเครื่องจักรสามารถวิ่งได้ตรงกลางได้ และเข้าได้ทุกร่องทั่วทั้งแปลง ทำงานได้สะดวกมากขึ้น ไม่ว่าจะเก็บปาล์ม ตัดหญ้า และใส่ปุ๋ย เป็นต้น
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ใส่แม่ปุ๋ยตามอายุ และผลผลิตปาล์ม ลดต้นทุนปีละหลายแสน
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
อรรณพยอมรับว่า การจัดการเรื่องปุ๋ยกับปาล์มน้ำมัน เมื่อก่อนเขาใส่แต่ปุ๋ยสูตร ปีละ 4 ครั้ง แบ่งเป็นใส่ปุ๋ยสูตร 3 ครั้ง และแม่ปุ๋ย 0-0-60 หนึ่งครั้ง ส่วนธาตุรองธาตุเสริม อย่าง โบรอน แมกนีเซียม กลีเซอไรด์ ไม่เคยใส่เลย

จนเมื่อได้ไปอบรมกับผู้เชี่ยวชาญ (อ.ธีระพงศ์ จันทรนิยม) จึงได้รู้ว่าปาล์มน้ำมันต้องการธาตุอาหารมากกว่านั้น และที่สำคัญความรู้เรื่องปุ๋ยที่ได้จากการอบรมช่วยให้ลดต้นทุนได้ปีละหลายแสนบาท

“เมื่อก่อนปุ๋ยสูตรมันแพง อ.ธีระพงศ์ แนะนำให้ใช้แม่ปุ๋ย ราคาถูกกว่า พอมาคำนวณระหว่างใช้ปุ๋ยสูตร กับแม่ปุ๋ย จะประหยัดเงินได้มาก จากปุ๋ยที่เคยใช้ 3,000-4,000 บาท/ไร่ ลดเหลือ 2,000 กว่าบาท/ไร่ บ้านผมมีปาล์มหลายแปลง ใช้ปุ๋ยค่อนข้างเยอะ เลยลดปุ๋ยปีๆ หนึ่งซื้อรถกระบะได้คันหนึ่งเลย แล้วผ่านมากี่ปีแล้ว เห็นความแตกต่างของต้นทุนที่ลดลง ผมเจอ อ.ธีระพงศ์ ทีไรก็ต้องยกมือไหว้ขอบคุณตลอด”

เนื่องจากมีสวนปาล์มหลายแปลง อรรณพจึงต้องมีตารางกำหนดใส่ปุ๋ยไว้ล่วงหน้า โดยใช้แม่ปุ๋ยหลัก 4 ตัว ได้แก

ตัวหน้า ไนโตรเจน (N) ใช้ 21-0-0 กับ 46-0-0 สลับกัน แล้วแต่สภาพอากาศ ถ้าความชื้นดีก็ใช้ 46-0-0 เขาบอกว่า ยูเรีย เป็นปุ๋ยเม็ดโฟมจะละลายทันทีเมื่อเจอความชื้นพืชจะกินได้เร็ว แต่มีราคาแพง ส่วน 21-0-0 เป็นผลึกผงจะค่อยๆ ละลาย เหมาะกับใช้ช่วงหน้าแล้ง มีราคาต่ำกว่า

ตัวกลาง ฟอสฟอรัส (P) ใช้ 18-46-0 สลับกับบางปีจะใช้ 0-3-0 เขาบอกว่า 0-3-0 เป็นหินฟอสเฟตจะค่อยๆ ปล่อยธาตุอาหาร แต่ต้องดูแหล่งที่มาที่มีคุณภาพ ซึ่งเขาใช้จากแหล่งต่างประเทศ (ออสเตรเลีย) ราคาสูงกว่าแต่มีธาตุสูงกว่าหลายเท่า ส่วน โปแตสเซียม (K) ใช้ 0-0-60 
ต้นปาล์มต้องการธาตุอาหารมากกว่าธาตุอาหารหลัก ได้แก่ โบรอน แมกนีเซียม และกลีเซอไรด์  โดยเฉพาะ โบรอน แม้จะใช้น้อย แต่สำคัญมาก

“โบรอนช่วยในการยืดตัวของเซลล์ ช่วยในการติดดอก ถ้าติดตาดอกดี จำนวนเมล็ดในหนึ่งทะลายจะมากขึ้น ทะใหญ่จะใหญ่ ดูง่ายๆ ถ้าปาล์มขาดโบรอนใบจะหยิกงอ เมื่อก่อนไม่เคยรู้ว่าต้องใส่ ที่แย่ไปกว่านั้นปริมาณการใช้โบรอนไม่รู้ว่าต้องใส่เท่าไหร่ ส่วนใหญ่เขาจะบอกให้ใส่ 1-2 ช้อนแกง ก็คิดว่าพอแล้ว แต่ปรากฏว่ามันน้อยเกินไป ในตำราวิชาการบอกให้ใส่ 200-300 กรัม เท่ากับ 10-15 ช้อน แสดงว่าที่เกษตรกรใส่ๆ กันมันไม่พอ” 

“เวลาใส่โบรอนถ้าใส่ที่โคนจะโดนน้ำชะล้างไปหมด เลยแนะนำให้ใส่ที่โคนต้นเลย ฝนจะค่อยๆ ชะ และซึมไปที่ราก ช่วงเวลาการกินจะยาวขึ้น เป็นไปได้ควรใส่ทุกเดือน แต่แบ่งใส่น้อยๆ แต่ความรู้ใหม่ควรใส่ปุ๋ยละ 2 ครั้ง พอเราเติมโบรอนเข้าไปจนครบตามความต้องการของต้นปาล์ม ผลผลิตจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น”

ใส่ปุ๋ยมากน้อยแค่ไหน...? อรรณพบอกว่า ให้ดูจากปริมาณการให้ปุ๋ยตามหลักวิชาการเป็นหลัก โดยจะมีแบ่งเป็นตามช่วงอายุปาล์ม แต่ไม่ได้ยึดตามหลักวิชาการอย่างเดียว ต้องดูตามผลผลิตที่ได้ด้วย เพราะถ้าผลผลิตสูงขึ้น แสดงว่าต้นปาล์มใช้ธาตุอาหารมากตามไปด้วยเช่นกัน ถ้าไม่เพิ่มปุ๋ยให้ปาล์ม จะส่งผลต่อผลผลิตนปีถัดๆ ไป

“ถ้าปีไหนปาล์มออกทะลายเยอะ พอปีต่อมาทะลายจะออกน้อยลง แสดงว่ามันขาดปุ๋ย แบบนี้เราควรจะเติมปุ๋ยให้ต้นปาล์ม ดังนั้นการใส่ปุ๋ยไม่ใช่ยึดหลักตามตำราวิชาการ แต่เราต้องเพิ่มใส่ตามปริมาณผลผลิตที่เอาออกไปจากสวน เหมือนกดเงินจาก ATM ถ้าเรากดออกไปเยอะมันก็ร่อยหรอ เราต้องเติมเงินเข้าไปให้เยอะหรือมากกว่า เพราะปาล์มทะลายที่เก็บเกี่ยววันนี้ มันเป็นผลมาจากการสร้างตาดอกและสะสมอาหารจากเมื่อ 2 ปี ที่แล้ว ไม่ใช่ว่าบำรุงวันนี้แล้วเดือนหน้าจะได้ผล การที่ปาล์มแสดงอากาศวันนี้ เป็นผลจากเมื่อ 2 ปีที่แล้ว”

 างกองทางใบจะผุเปื่อย มีจุลินทรีย์ มีการทำงานของไส้เดือน รากอ่อนจะมาอยู่ใต้ทางใบที่เราปู เป็นรากที่ใช้กินอาหาร เวลาใส่ปุ๋ยจะใส่ตามกองทางเหล่านี้ ต้นปาล์มจะได้กินปุ๋ยเต็มที่
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ปุ๋ยอินทรีย์ ของฟรี ไม่มีต้นทุน
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━ 
นอกจากปุ๋ยเคมีแล้ว สำหรับปาล์ม ปุ๋ยอินทรีย์  ก็สำคัญ จำเป็นต้องให้ทุกปี แต่สวนปาล์มของอรรณพ บอกว่าเขาให้ปุ๋ยอินทรีย์ตลอดทั้งปี แต่เป็นอินทรีย์ที่ได้มาแบบฟรีๆ นั่นก็คือ “ทางใบปาล์ม”

ปกติสวนปาล์มจะตัดแต่งทะลายปีละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะทางใบที่ไม่ได้รับแสงแดด พวกนี้ไม่มีประโยชน์ เพราะปรุงอาหารไม่ได้ แถบยังกินปุ๋ยเหมือนเดิม ทางใบที่ตัดจะนำมาสร้างเป็นกองทางวางกระจายระหว่างต้นปาล์ม มันจะย่อยสลายเป็นอินทรีย์ตามธรรมชาติ จึงหาง่าย ไม่ต้องเสียเงินซื้อ

“สังเกตตรงที่วางกองทางใบจะผุเปื่อย มีจุลินทรีย์ มีการทำงานของไส้เดือน รากอ่อนจะมาอยู่ใต้ทางใบที่เราปู เป็นรากที่ใช้กินอาหาร เวลาใส่ปุ๋ยจะใส่ตามกองทางเหล่านี้ ต้นปาล์มจะได้กินปุ๋ยเต็มที่ และมีงานวิจัยว่าสวนที่สร้างกองทางใบให้ผลผลิตสูงกว่า สวนปาล์มที่โล่งเตียน”

นอกจากนั้นทางใบที่ปูระหว่างต้น ยังช่วงคลุมหญ้าได้อีกทางหนึ่งด้วย สังเกตได้จากสวนปาล์มที่อรรณพดูแลจะสร้างกองทางทุกแปลงและปล่อยให้หญ้าขึ้นรก ใช้วิธีตัดหญ้าเท่านั้น ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้าเด็ดขาด การใช้ยาฆ่าหญ้าจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทุกส่วนของต้นปาล์ม โดยเฉพาะผลผลิต หากใช้ติดต่อเป็นเวลานาน

“ผมชอบสวนรก มันมีความชื้น ต้นปาล์มใบเขียว ใบมันวาว สมบูรณ์ และผลผลิตจะสูง แต่สวนที่ฉีดยาฆ่าหญ้าประจำสวนเตียนก็จริง แต่ความชื้นในสวนน้อย ต้นปาล์มไม่สมบูรณ์ผลผลิตน้อย ถ้าสวนรกแล้วผลผลิตสูงผมทำสวนให้รกดีกว่า”
สวนปาล์มพันธุ์ เนื้อเยื่อทอร์นาโด อายุ 11 ปี
━━━━━━━━━━━━━━━━━━
สวนปาล์มเนื้อเยื่อทอร์นาโด ปลูกระยะชิด ผลผลิตสูงสม่ำเสมอ
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━  
อรรณพพาทีมงานไปดูสวนปาล์มหลายแปลง แต่แปลงหนึ่งที่น่าสนใจ และมีประเด็นให้พูดถึงมากก็คือ สวนปาล์มพันธุ์ เนื้อเยื่อทอร์นาโด ปลูกระยะ 7.5x7.5 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่ ASD ผู้ผลิตสายพันธุ์แนะนำ จึงปลูกปาล์มได้ 34 ต้น/ไร่ ปัจจุบันปาล์มแปลงนี้อายุ 11 ปี

“ตอนปลูกซื้อต้นกล้ามา 300 บาท แพงมากเพราะพันธุ์ทั่วไปแค่ 60-80 บาท ตอนนั้นกัดฟันซื้อ เพราะเห็นว่าผลผลิตสูง เริ่มปลูกก็จัดเต็มเลย หาทะลายปาล์มมาใส่ 20 คันรถหกล้อ เอามาสุมโคน ช่วยรักษาความชื้น และเป็นปุ๋ยอินทรีย์ เดินระบบน้ำทั้งแปลง ดูแลจัดการอย่างดี”

ปัจจุบันต้นปาล์มอายุ 11 ปี ภาพที่เห็น แม้ต้นจะไม่สูงมาก แต่สภาพต้นค่อนข้างแน่น ทางใบยาวจนทะลุไปถึงต้นข้างเคียง จึงพอจะสรุปได้ว่าระยะชิดไม่เหมาะสำหรับปลูกปาล์ม

“เมื่อก่อนยังไม่มีใครปลูก ก็ต้องปลูกทำตามเสป็คที่ผู้ผลิตแนะนำ แต่พอปลูกแล้ว ชิดเกินไป ต้นปาล์มได้แสงไม่พอมันก็ยืดใบไปหาแสง ทะลุไปอีกต้นเลย ดังนั้นระยะปลูกปาล์มเหมาะสมที่สุด ควรจะเป็น 9x9 เมตร”

แต่จุดเด่นอื่นๆ ที่เห็นได้ชัดจากปาล์มพันธ์เนื้อเยื่อคือ ความสม่ำเสมอของต้นปาล์มเท่ากันทุกต้น และให้ผลผลิตสม่ำเสมอ เนื่องจาก ถูกขยายพันธุ์ด้วยวิธีเลี้ยงเนื้อเยื่อจากต้นแม่พันธุ์ที่ดีที่สุด มีผลผลิตสูง จึงได้ต้นที่มีลักษณะเดียวกันทั้งหมด

“พันธุ์นี้มันตอบสนองต่อการดูแลได้ดี ถ้าเราดูแลดีมันก็ให้ผลผลิตเยอะ แต่เรามีบทเรียนว่าปลูก 7.5x7.5 แน่นเกินไป แต่ผมมีแผนจะตัดต้นปาล์มออกบางส่วน เพื่อให้ต้นที่เหลือได้รับแสงเพิ่ม เพราะมีอายุมากผลผลิตเริ่มลดลง แต่ยังสูงกว่าสวนปาล์มทั่วไป เพราะมีจำนวนต้นต่อไรมากกว่า” 
สถิติผลผลิตปาล์มเนื้อเยื่อทอร์นาโด
ต้นปาล์มอายุ 1.5-2.5 ปี เฉลี่ย 0.092 ตัน/ไร่/ปี ราคาเฉลี่ย 7 บาท
ต้นปาล์มอายุ 2.5-3.5 ปี เฉลี่ย 4.152 ตัน/ไร่/ปี ราคาเฉลี่ย 5.29 บาท
ต้นปาล์มอายุ 3.5-4.5 ปี เฉลี่ย 6.192 ตัน/ไร่/ปี ราคาเฉลี่ย 4.55 บาท
ต้นปาล์มอายุ 4.5-5.5 ปี เฉลี่ย 6.292 ตัน/ไร่/ปี ราคาเฉลี่ย 3.63 บาท
ต้นปาล์มอายุ 5.5-6.5 ปี เฉลี่ย 6.381 ตัน/ไร่/ปี ราคาเฉลี่ย 4.31 บาท
ต้นปาล์มอายุ 6.5-7.5 ปี เฉลี่ย 5.958 ตัน/ไร่/ปี ราคาเฉลี่ย 4.14 บาท
ต้นปาล์มอายุ 7.5-8.5 ปี เฉลี่ย 4.207 ตัน/ไร่/ปี ราคาเฉลี่ย 5.39 บาท (ปี 2559)

━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ตัดปาล์มสุก น้ำหนักเพิ่ม เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━   
อรรณพเป็นคนหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการตัดปาล์มสุก เขาพูดถึงข้อดีของการตัดปาล์มสุกไว้ว่า “อย่างแรก เราได้ราคาเพิ่ม การที่เราทำของดี ตัดปาล์มสุกมีเปอร์เซ็นต์น้ำมันเยอะแล้วเอาไปขายเราได้ราคาเพิ่มแน่นอน  ปัจจุบันทั้งโรงงานหรือลานเท ถ้าเราตัดปาล์มสุกที่มีคุณภาพไปขาย เขาย่อมจะให้ราคาที่ดีกว่า สูงกว่า เมื่อเทียบกับการตัดปาล์มกึ่งสุกกึ่งดิบ และข้อดีอีกอย่าง ถ้าเราตัดปาล์มสุกจะมีแต่คนรัก เพราะใครๆ ก็อยากได้ปาล์มสุก ปาล์มคุณภาพ อยากจะให้เอาไปขาย” 
“ปาล์มสุกได้น้ำหนักเพิ่ม ผมพิสูจน์มาแล้วว่าปาล์มสุกหนักกว่าปาล์มดิบ ผมทดลองเอามาชั่งแล้ว โดยนำทะลายที่มาขนาดใกล้เคียงกัน ได้ผลว่า ปาล์มดิบหนัก 30 กก. ปาล์มกึ่งสุก หนัก 32 กก. และปาล์มสุกที่มีเมล็ดร่วง หนัก 35 กก. จะเห็นเลยว่าจากปาล์มดิบไปจนสุกได้น้ำหนักเพิ่ม 5 กก. ดังนั้นทุกทะลายถ้าเรารอตัดปาล์มสุก สิ่งที่เราได้เพิ่มมาคือ น้ำหนักเพิ่มขึ้น”

“อยากให้เกษตรกรเข้าใจว่าสิ่งที่โรงงานต้องการคือ น้ำมัน ดังนั้นเราอย่าไปคำนึงถึงน้ำหนักอย่างเดียว ต้องคำนึงถึงการดูแล การบำรุงใส่ปุ๋ยอย่างครบถ้วน เพื่อให้น้ำมันในทะลายสูง แต่เรื่องน่าเสียดาย ถ้าเราดูแลอย่างดี ใส่ปุ๋ยอย่างดีให้ผลผลิตสูง แต่ดันมาตัดตอนแค่ตัดดิบ ปาล์มดิบไม่มีน้ำมันแล้วตัดไปขายมันน่าเสียดายมาก มันเป็นผลเสียทั้งระบบ แทนที่น้ำมันเฉลี่ยของโรงงานจะสูงขึ้นและจะส่งผลต่อราคาซื้อปาล์มจากเกษตรกร จึงอยากจะย้ำว่าเราเป็นผู้ผลิตน้ำมัน ไม่ใช่ผู้ผลิตน้ำหนัก”
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ขอขอบคุณ
อรรณพ ยังวนิชเศรษฐ
88 หมู่ 2 ถ.พุนพิน - ท่าชนะ ต.มะลวน อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี 84130
ติดตาม Facebook : อรรณพ ยังวนิชเศรษฐ

ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม