ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

อติชาต วรชาติ ผู้เขียน “คัมภีร์ปาล์มน้ำมัน” ของตัวเอง

“สวนผมไม่ค่อยแต่งทางใบเลย มากสุดก็ปีละครั้ง ปุ๋ยเคมีผมก็ไม่เคยใส่ ใส่แต่ขี้ไก่แกลบ หญ้าเหรอ ก็รกอย่างที่เห็น”

เจ้าของสวนปาล์ม ใน อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร อติชาต วรชาติ เล่าสภาพสวนปาล์มของตัวเองให้เราฟัง ซึ่ง สวนปาล์มของเขาเท่าที่เราเห็นเป็น พยานหลักฐาน ยืนยันว่า เขาไม่ได้โกหก

“ผมดูแลอย่างนี้ตั้งแต่ทำสวนปาล์มมา นี่ผมเคยได้ผลผลิตสูงสุด 6 ตัน”

“ตัดได้รอบละ 6 ตัน เหรอครับ” เราถามเพราะไม่แน่ใจ

6 ตัน/ไร่/ปี”
...
━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
HIGHTLIGHTS :
 อติชาต วรชาติ ชาวสวนปาล์ม จ.ชุมพร ทำสวนปาล์มระบบ “อินทรีย์” มาเกือบ 30 ปี ไม่ใช่เพื่อเพิ่มผลผลิต แต่เพื่อลดต้นทุนของตัวเองให้ต่ำมากที่สุด แนวคิดและวิธีการของเขาต่างจากตำราวิชาการ แต่ได้ผลผลิตสูงกว่าระดับผลผลิตเฉลี่ยของประเทศ

✔ ปลูกปาล์มไร่ละ 15 ต้น ไว้ทางใบให้มากที่สุด เป็นสองปัจจัยหลักที่เขาบอกว่าทำให้ต้นปาล์มของเขาสมบูรณ์ และผลผลิตสูง เนื่องจากแสงเป็นปัจจัยหลักตัวหนึ่งในการสร้างอาหารของต้นปาล์ม

✔ ต้นปาล์มไม่เคยลิ้มรสปุ๋ยเคมีสักเม็ด เพราะเขาใส่แต่ “ปุ๋ยขี้ไก่แกลบ” ต้นละ 4 กระสอบ มากว่า 20 ปี ต้นทุนเลยต่ำ เพราะหนึ่งไร่มีปาล์มแค่ 15 ตัน
━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
อติชาต วรชาติ ชาวสวนปาล์ม จ.ชุมพร ทำสวนปาล์มระบบ “อินทรีย์” มาเกือบ 30 ปี
ไม่ตัดทางใบทิ้งปล่อยให้แห้งคาต้น เขาบอกว่าทางใบที่หมดอายุต้นปาล์มมันจะดูดธาตุอาหารกลับคืนต้นโดยธรรมชาติ
เราสงสัยว่าทางใบเยอะอย่างนี้จะตัดทะลายยากมั้ย เขาบอกว่าไม่ยาก เพราะเคียวยาว แล้วคนตัดก็ชอบ เพราะไม่ต้องเสียเวลาเสียแรงตัดทางใบด้วย กลายเป็นว่า สมประสงค์ทั้งเจ้าของและคนตัด
ด้วยวิธีการดูแลสวนปาล์มที่น่าจะเรียกว่า “ปล่อยทิ้ง” มากกว่า กับผลผลิตที่ได้ มันสวนทาง แบบย้อนแย้งกันเหลือเกิน จนทำให้ ทีมงานยางปาล์มออนไลน์ ต้องลงพื้นที่พิสูจน์ สวนปาล์มของอติชาต ใน อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร เมื่อกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

เครื่องหมายคำถาม เกิดขึ้นจากรูปแบบจัดการสวนปาล์มของเกษตรกรรายนี้มากมาย หรือแม้จะมีใครเชื่อ แต่ก็คง ไม่สนิทใจนัก โดยเฉพาะตัวเลขผลผลิตที่เคยได้สูงถึง 6 ตัน/ไร่/ปี มันเท่าๆ กับสวนที่ทุ่มประเคนอาหารให้สวนปาล์มทั้งน้ำ ทั้งปุ๋ยหลักปุ๋ยเสริม กลายเป็นว่าเทคนิคของเขา ลงทุนต่ำ แต่ได้ ผลผลิตสูงเท่ากับคนที่ลงทุนสูง

ขณะที่หลักการและเหตุผลในการทำสวนปาล์มหลายอย่างของเขา ขัดแย้งกับ ตำราวิชาการ อย่างสิ้นเชิง

“ผมทำอย่างนี้มาเกือบ 30 ปี แล้ว ตั้งแต่ทำสวนทุเรียน พอปลูกปาล์มผมก็ใช้วิธีนี้ ใส่ขี้ไก่แกลบอย่างเดียว” อติชาต ยังย้ำเหมือนเดิม

แต่ก่อนที่จะปลูกปาล์มน้ำมัน แทนสวนทุเรียน เขาใช้เวลาศึกษาอยู่พอสมควร ต้อง “ลองผิด” ก่อน จึงจะ “ลองถูก” ได้

“ผมเริ่มทำแบบนี้มานานแล้วครับ ตั้งแต่ประมาณปี 2531 ปลูกปาล์มพันธุ์คอสตาริก้า เขาบอกว่าเป็นทางใบสั้น ปลูกระยะ 7-8 เมตรได้ เลยปลูกไป 2 แปลง แต่พอปลูกจริงๆ แล้ว ใบมันยาวซ้อนกัน แทบไม่มีช่องว่างเลย ทะลายมันเลยเล็ก เพราะได้แสงน้อย  ทีนี้เราปลูกไปแล้วทำอะไรไม่ได้ เลยต้องขุดทิ้ง”

“แต่มีพี่คนหนึ่งเขาปลูกห่าง เพราะเขากะว่าจะปลูกต้นมังคุดแซมตรงกลางแถวปาล์ม เขาไม่ได้ใส่ปุ๋ยอะไรเลย ดินก็เป็นดินทราย แต่ทะลายเขาใหญ่ 50-60 กก. พันธุ์คอสตาริก้านี่แหละ ทีนี้ก็มารู้เลยว่าของเราระยะปลูกมันผิด แสงมันน้อย” 
ต้นปาล์มน้ำมันอายุ 13 ปี เป็นแปลงแรกที่อติชาตปลูกตามแบบฉบับของเขา ไม่เคยลิ้มรสเคมีเลย
สวนปาล์มพันธุ์สุราษฎร์ฯ 2 เนื้อที่ 25 ไร่ ระยะปลูก 12 x 10 เมตร
อติชาต จึงได้คำตอบว่า ต้องปลูกต้นปาล์มให้ห่างขึ้นเพื่อให้ได้รับแสงเต็มที่ แล้วระยะที่ปลูกที่เขาใช้ก็คือ 12 x 10 เมตร คือระหว่างต้นห่างกัน 10 เมตร ระหว่างแถวกว้าง 12 เมตร แล้วปลูกแบบสี่เหลี่ยม หรือ ไร่ละ 15 ต้น จากเดิมไร่ละ 22 ต้น (ระยะ 9 x 9)

เมื่อปาล์มแต่ละต้นได้รับแสงแดดเต็มที่ ต้นปาล์มยังต้องมีใบมากๆ เอาไว้รับแสง และปรุงอาหารได้เต็มที่ วิธีการของเขาจะปล่อยทางใบไว้ให้มากที่สุด แต่ตามคำบอกเล่าของเขาคือ จะไม่ตัดทางใบออกเลย จนกว่าทางใบแห้งเหี่ยวคาต้นไปเอง ซึ่งยืนยันได้จากในสวนของเขาไม่มีการสร้างกองทางเลย จะมีก็แต่โคนทางใบที่ตัดหลังจากเหี่ยวแห้งเท่านั้น และที่สำคัญเมื่อไว้ทางใบเยอะ ต้นปาล์มจะสูงช้า เพราะต้นปาล์มไม่ออกทางใบใหม่บ่อยๆ

“ใบยิ่งเยอะยิ่งสร้างอาหารได้เยอะ เพื่อให้พอที่จะให้ต้นปาล์มสร้างรากใหม่ สร้างใบใหม่ และเลี้ยงลูกได้ด้วย เพราะถ้าเกิดใบเขาไม่พอสร้างอาหารให้ต้นก็ต้องเลือกจะไปสร้างใบใหม่ก่อนเพื่อหาอาหาร เมื่ออาหารเหลือเฟือเขาถึงจะเอามาเลี้ยงลูก เราอยากได้ลูกเยอะๆ เราก็ต้องไว้ใบเยอะๆ  ฉะนั้นต้นปาล์มที่มันไม่มีทะลายหรือมีน้อย ก็เพราะว่าอาหารไม่พอ

“ผมจะปล่อยทางใบไว้จนเขาปลดของเขาเอง ปลดก็คือใบแห้ง ใบแห้งแล้วเราถึงตัดปีละ 1 ครั้ง  ส่วนใบที่หมดอายุใบเริ่มแห้ง เขาก็จะเริ่มคืนธาตุอาหารกลับสู่ต้น ส่วนหนึ่งดูดกลับเข้าต้น คืนแร่ธาตุกลับไปเลี้ยงใบใหม่ กลับไปเลี้ยงลูก ที่จริงธรรมชาติมันก็รู้ของมันอยู่แล้ว” เขาเล่าตามความเข้าใจที่มาจากประสบการณ์ 
ปาล์มอายุ 6 ปี ด้วยระยะห่างระหว่างต้นกว้างถึง 10 เมตร ทางใบจึงไม่ชนกัน ต้นปาล์มได้รับแสงเต็มที่ ประกอบกับต้นปาล์มมีทางใบเยอะปรุงอาหารเลี้ยงต้นได้มาก ผลผลิตจึงสูง
แต่งทางใบปีละครั้ง เขาจะตัดเฉพาะใบที่แห้งจนเหลือแต่โคนทาง 
ถามว่าแล้วตัดละลายยังไง...? เขาบอกไม่เห็นจะยาก อย่างแปลงปาล์มพันธุ์สุราษฎร์ฯ 2 จำนวน 25 ไร่ อายุ 6 ปี ต้นยังไม่สูงนักก็ใช้เสียบตัดเฉพาะก้านทะลาย แค่ใช้เสียบยาวหน่อยประมาณ 4 เมตร ส่วนคนคนงานก็ชอบเพราะไม่ต้องออกแรงตัดทางใบ

ด้วยสองปัจจัยนี้ คือ ปลูกห่าง 12 x 10 เมตร และไว้ทางใบให้มาก เขายืนยันว่า ทำให้ต้นปาล์มได้รับแสงมาก และปรุงอาหารได้เต็มที่ จึงทำให้ต้นปาล์มสมบูรณ์ และให้ผลผลิตสูง

แน่นอนว่า ระยะปลูกปาล์มห่างๆ อย่างนี้ กองทัพหญ้ามโหฬารแน่นอน และภาพที่พวกเราเห็นก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ หญ้าสูงเกินระดับกว่าหัวเข่า และถึงระดับเอว วิธีจัดการของเขาจะใช้รถตัดปีละ 1 ครั้ง ซึ่งง่ายกว่าใช้คนเดินเข้าไปตัด และพยายามคุมหญ้าที่มีขนาดใหญ่จนเป็นศัตรูกับต้นปาล์ม โดยมีหญ้า “ข่มคา” ช่วยไม่ให้เกิดหญ้าต้นใหญ่ โดยเฉพาะหญ้าคาได้

หญ้าข่มคา ภาษาใต้เรียกหญ้า มันเป็นหญ้าดีเพราะโครงสร้างโปร่ง รากลึก พอรากลึกก็เหมือนไปช่วยคลุมดิน พรวนดิน ช่วยให้ในดินมีอากาศ แล้วเขาจะคลุมหญ้าอื่นอยู่เพราะต้นสูงเลยเรียกหญ้าข่มคา แล้วเก็บความชื้นได้สูงมาก 

หญ้าข่มคาจึงเป็น “องครักษ์” พิทักษ์ความชื้นในสวนปาล์มได้ดี ชนิดยกนิ้วโป้งมือสองนิ้ว 
หญ้าข่มคา หญ้าชั้นดี ช่วยคลุมดิน พรวนดิน ช่วยให้ในดินมีอากาศ  แล้วเก็บความชื้นได้สูงมาก” 
มาถึงอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่สัมพันธ์กับผลผลิต เกษตรกรมักจะบำรุงบำเรอด้วยปุ๋ยเคมี ถ้าอยากให้ผลผลิตสูงๆ 10 กก./ต้น/ปี เป็นอย่างน้อย ยิ่งผลผลิตมากยิ่งต้องอัดปุ๋ยเพิ่ม

“ผมใส่ปุ๋ยขี้ไก่แกลบ ครั้งละ 2 กระสอบ ปีหนึ่งใส่สองครั้ง แค่นี้” อติชาตบอกหน้าตาเฉย

พร้อมกับอธิบายว่า “ต้องบอกก่อนว่าที่ผมทำอย่างนี้ก็เพราะเมื่อก่อนผมเคยผ่านช่วงราคาปาล์มตกต่ำมาหลายช่วง ต่ำสุด 1.20 บาท/กก. ก็เลยมาคิดว่าถ้าจะปลูกปาล์มแล้วราคาเป็นอย่างนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับปลูกไม้ผลแล้วราคาตกต่ำ ตัดก็ขาดทุนแล้ว”

วิธีแก้ของเขาก็คิดแบบง่ายๆ คือ ทำยังไงให้ทำแล้ว ต้นทุนต่ำ ที่สุด ไม่ใส่ปุ๋ยเคมี ใส่แค่ปุ๋ยขี้ไก่ คือ ต้นทุนที่ลดได้มากที่สุด ซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการทำสวนปาล์ม เมื่อลดได้ ต้นทุนโดยรวมก็จะลดลง

“ใส่แค่ขี้ไก่อย่างเดียว เราเน้นดินดีอย่างเดียว ใส่มา 20 ปีแล้ว  ใส่ ปีละ 4 กระสอบ ถือว่าเกินแล้ว เพราะว่าถ้าพอดีมัน 3 กระสอบ เท่าที่สังเกตมามันจะมีบางปีที่ฝนชุกแล้วผมใส่ปุ๋ยใส่ขี้ไก่ได้ 2 กระสอบ เราก็ดูว่าถ้าใส่ 2 กระสอบ ถ้าแล้งแล้วใบเหลืองแสดงว่าปุ๋ยไม่พอ แต่ถ้าใส่ 3 กระสอบ ถ้าแล้งนานใบไม่เหลือง ผมว่า 3 กระสอบพอดี  แต่ผมจะใส่ 4 ใส่ให้ล้นไว้หน่อย ใส่ครั้งละ 2 กระสอบ ต้นฝนกับปลายฝนแต่ต้องเลือกอย่าให้มีโซดาไฟ 
สภาพดินในสวนปาล์ม ที่ใส่แต่ขี้ไก่แกลบสะสมมานาน
แม้จะปลูกได้ไร่ละ 15 ต้น แต่ต้นทุนการดูแลต่ำ ค่าปุ๋ย ค่าแรงต่ำ ขณะที่ผลผลิตก็เท่ากับสวนที่มีการจัดการดีๆ ผลผลิตระดับ 6 ตัน ตรงตามแนวคิด ทำให้ง่าย ทำต้นทุนให้ต่ำ
เมื่อมีปาล์มไร่ละ 15 ต้น แต่ได้ผลผลิตสูง ต้นทุนปุ๋ยจึงอยู่แต่ 30 สตางค์/กก.

“เคยได้ผลผลิตสูงสุด 6 ตัน/ไร่/ปี ไร่หนึ่งมี 15 ต้น 1 ต้นให้ผลผลิต 400 กกใส่ขี้ไก่ 4 กระสอบ/ต้น/ปี กระสอบละ 30 บาท คิดเป็น 120 บาท จ้างใส่กระสอบละ 5 บาท เป็น 20 บาท รวมแล้วต้นทุนปุ๋ยและค่าใส่ 140 บาท/ต้น/ปี ทีนี้ผลผลิต 400 กก./ต้น/ปี ก็ลองคำนวณค่าปุ๋ยขี้ไก่ก็จะตกประมาณ 30 สตางค์/กก. ที่เหลือก็ค่าตัดหญ้า ค่าตัดทะลาย ตัดแต่งทางปีละครั้ง ค่าบรรทุก รวมแล้วก็น่าจะ 70 สตางค์ แต่ตีว่า บาท ต้นทุนรวม น่าจะอยู่สัก 1.4 บาท/กก.

เมื่อดูจากต้นปาล์มพันธุ์สุราษฎร์ธานี 2 อายุ 6 ปี อดทึ่งกับทะลายที่มีอยู่เต็มต้นอย่างน้อย 2 ชั้นไม่ได้ แต่ไม่เห็นร่องรอยของช่อดอกตัวผู้ให้เห็นมากนัก แสดงว่าต้นปาล์มไม่ได้มีช่วงพักคอนาน แต่ขัดกับสภาพใบปาล์มชั้นล่างที่ปรากฏร่องรอยบอบช้ำจากอาการ ขาดธาตุอาหาร มาอย่าโชกโชน

“ถ้าดูใบชั้นล่างมันเป็นจุดใบเหลือง มันขาดธาตุอาหารทุกตัวแหละครับ” เขาบอก

“แต่มันเกิดจากช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ภาคใต้เจอแล้งหนักหลายเดือน สวนผมไม่มีน้ำรากปาล์มก็ส่งแร่ธาตุขึ้นไปให้ต้นปาล์มไม่ได้ มันก็ได้รับผลกระทบ พอมันแล้งมันก็กินอาหารไม่ได้  เลยเห็นว่าใบมันขาดธาตุทุกตัว แต่ใบชุดกลางและชุดบนจะเห็นว่ามันยังเขียวมันสมบูรณ์ แสดงว่ามันไม่ได้ขาดธาตุอาหาร เพราะมันได้น้ำได้ความชื้น ส่วนใบชั้นล่างที่แสดงอาการเราทำอะไรมันไม่ได้แล้ว”

“ผมไม่ได้ซีเรียสกับใบที่แสดงอาการต่างๆ ผมสนใจแค่ผลผลิต เพราะผลผลิตผมไม่ได้ต่ำ จะไปซีเรียสทำไมมันเป็นเรื่องธรรมชาติของเขา ก็ใบมันแก่ มันผ่านแล้งมาไม่สมบูรณ์อยู่แล้ว 3 ปีที่ผ่านมา แต่เป็นเฉพาะแปลงเล็กนะ แต่แปลงใหญ่ไม่เป็นเลย ไม่ขาดเลย เพราะหญ้ามันเยอะ มันรักษาความชื้น  มันเป็นช่วงที่เขากำลังคืนธาตุอาหารกลับคืนด้วยซ้ำ กำลังดึงอาหารส่วนหนึ่งไปสร้างยอด เซลล์มันก็หมดอายุลงทุกวันก็เป็นวัฏจักรเหมือนต้นไม้ในป่า ผมก็เลียนแบบธรรมชาตินี่ล่ะ” 
ใบชั้นล่างมันเป็นจุดใบเหลือง มันขาดธาตุอาหารทุกตัว เพราะเจอแล้งติดต่อกันมา 3 ปี แต่ใบชั้นกลางและชั้นสบสมบูรณ์ดี
เขาบอกว่า จากการปลูกปาล์ม 2 รุ่น พบว่า ช่วงที่ปาล์มให้ผลผลิตสูง คือ อายุ 6-12 ปี ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 5-6 ตัน/ไร่/ปี ปีที่เคยได้สูงสุดคือ 6 ตัน/ไร่/ปี แต่เมื่อต้นปาล์มอายุ 12 ปีขึ้นไปแล้ว ผลผลิตจะลดลงมาอยู่ในระดับปกติ 2.5-3 ตัน/ไร่/ปี เพราะช่วงนี้จำเป็นต้องตัดทางใบพร้อมกับทะลาย ทำให้ทางใบลดน้อยลง แต่สวนปาล์มอายุ 13 ปี ของเขายังรักษาระดับอยู่ที่ 3 ตัน/ไร่/ปี เมื่อเทียบกับต้นทุนที่ต่ำอยู่แล้ว ทำให้ตอบโจทย์ปัญหาของตัวเองได้ชัดเจน

ทำสวนปาล์มผมว่าเราต้องทำให้มันง่าย อย่าทำต้นทุนสูง เพราะราคาเรากำหนดไม่ได้ แต่ต้นทุนเราคุมได้ ผมทำสวนผลไม้มาก่อน ทำทุเรียน ปลูกกล้วย เราก็ทำแบบนี้ ใช้แนวคิดใช้คนให้น้อย เพราะตัวแปรที่ควบคุมยากที่สุดก็คือคน เราก็เลยพยายามดูแลด้วยตัวเอง ทำเอง พึ่งคนให้น้อยที่สุด

คำถามคือ ทำไมเขาใส่ปุ๋ยขี้ไก่อย่างเดียว จึงได้ผลผลิตสูงเท่ากับสวนที่ใส่ปุ๋ยเคมี และมีการดูแลอย่างดี

เขาสรุปว่า ไม่ได้อยู่ที่ปุ๋ยอย่างเดียว แต่อยู่ที่ระยะปลูก อยู่ที่การไม่ตัดทางใบ ทำให้ต้นปาล์มได้รับแสงแดดเต็มที่ สามารถใช้แสงปรุงอาหารได้เต็มที่ แล้วดินที่ใส่ขี้แก่มานานตั้งแต่สมัยทำสวนทุเรียน ไม่ต่ำกว่า 20 ปี จึงเต็มไปด้วยธาตุอาหารที่สะสมมาอย่างยาวนาน จึงได้ผลผลิตสูง

ผมมีปาล์ม 6 ปี กับ 13 ปี ทำแบบนี้ทั้งหมด รุ่นก่อนเราก็ทำ แต่ว่าเราไม่ได้วัดผลเท่าไหร่ แต่ตอนนี้เรามาวัดจุดอ่อนจุดแข็ง ช่วงที่ต้นใหญ่มากๆ ผลผลิตก็ลดเหมือนกัน ก็มีช่วงที่ขาดคอเพราะใบมันมีน้อย แต่ต้นไหนเหลือทางมากก็มีลูกมาก ต้นไหนทางเหลือน้อยก็จะเป็นตัวผู้นาน มันเป็นเรื่องธรรมชาติ เราก็ต้องยอม เราเอาได้สุดความสามารถก็เท่านั้น
แต่เขาย้ำว่า เทคนิคและวิธีการทำสวนปาล์มของเขา ไม่ใช่แนวทางการเพิ่มผลผลิต และเป็นแค่แนวทางการลดต้นทุนการผลิตของเขา ซึ่งผลผลิตที่ได้ถือเป็นโบนัสก้อนโต

แนวทางของผมไม่ใช่การเพิ่มผลผลิต เราแค่ต้องการทำให้ต้นทุนต่ำที่สุด เพราะเราไม่รู้ว่าจะขายได้เท่าไหร่ เพราะผมเคยขายราคา 1.2 บาท/กก.  ผมจึงเรียนรู้ว่าการทำต้นทุนให้ต่ำที่สุดถึงจะอยู่ได้ เพราะเราไม่รู้ว่าเราจะไปขายได้ราคาเท่าไหร่ ถ้าราคาต่ำเราแย่แน่ๆ ทีนี้เราต้องทำต้นทุนให้ต่ำ เพื่อให้ขายยังไงก็กำไร ไม่ขาดทุนแค่นี้ จบ ถ้าชาวสวนทำแบบนี้สบายเลย เพราะยิ่งราคาแบบนี้ด้วยเรายิ่งต้องลดต้นทุนให้มาก
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
หลายคนบอกว่าการปลูกปาล์มของอติชาต ฉีกตำราปาล์มน้ำมัน ทุกสำนัก

แต่หลังจากพวกเราทีมงานยางปาล์มออนไลน์ได้พูดคุยเรื่องการปลูกและการจัดการสวนปาล์มของเขาอย่างละเอียด เรากลับคิดว่า เขาไม่ได้ใช้ตำราปาล์มน้ำมันตั้งแต่แรก หากแต่ เขาได้เขียนคัมภีร์ปาล์มน้ำมันในแบบฉบับของตัวเองขึ้นมาใช้ต่างหาก

ผลลัพธ์จากคัมภีร์ปาล์มน้ำมันของอติชาต ทำง่าย ต้นทุนต่ำ พร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ราคาปาล์ม
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ขอขอบคุณ
อติชาต วรชาติ 
65 หมู่ 2 ต.ป่าตะโก อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร โทรศัพท์ 088 761 0509

- Advertisement -

ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม