ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

เรียนลัด เทคนิคทำสวนปาล์ม กับ ประสงค์ หอมสนิท เกษตรกรเบอร์ 1 ของ ชุมพร

“ปลูกปาล์มไม่ใช่เรื่องยาก ปลูกที่ไหนมันก็ขึ้น ที่นาก็ขึ้น  บนเขาก็ขึ้น แต่จะทำให้มันมีทะลาย มีผลผลิต ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมันมีปัจจัยหลายตัว และใช้เวลานานกว่าจะเห็นผล”

ลุงประสงค์ หอมสนิท ตอบคำถาม ทีมงานยางปาล์มออนไลน์ เมื่อเราถามถึงแนวทางการปลูกปาล์มน้ำมัน ซึ่งคงเป็นประโยคที่ลุงประสงค์ถูกถามจนชิน จากเกษตรกรที่เข้ามาเยี่ยมชมในฐานะเกษตรกรตัวอย่างของ จ.ชุมพร และยังเป็นเจ้าของรางวัลเกษตรกรดีเด่น สาขาทำสวน ประจำจังหวัด 5 ปีซ้อน

แต่ที่เราเข้ามาสวนปาล์มลุงประสงค์ไม่ใช่เพราะ โลห์รางวัลที่ลุงได้รับ แต่เรามาตามเสียงลือเสียงเล่าของคนในวงการสวนปาล์ม จ.ชุมพร ว่า ที่นี่คือ “ขุมความรู้” เชิงปฏิบัติจริง ในการทำสวนปาล์มให้ “ต้นทุนต่ำ” แต่ได้ “ผลผลิตสูง”

HIGHTLIGHTS
━━━━━━━━━━━━━━━━
 ลุงประสงค์ เป็นอดีตชาวประมง เมืองเพชร เก็บหอมรอมริบ ซื้อที่ปลูกยางและปาล์ม ใน จ.ชุมพร ด้วยเป็นคนเอาจริงเอาจังในอาชีพที่ทำ จึงพัฒนาตัวเองมาเป็นเกษตรกรชาวสวนปาล์มเบอร์ 1 ของ จ.ชุมพร

 ปาล์มต้องการความสมบูรณ์สูง ถ้าอาหารไม่เพียงพอจะไม่ออกทะลาย การดูแลปาล์มให้สมบูรณ์นี่แหละคือ เรื่องยาก เพราะมีปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะปุ๋ย แต่ถ้าคิดว่าเราไม่ใส่ปุ๋ยเพราะไม่มีเงิน ปาล์มไม่มีอาหารมันก็ไม่ให้ผลผลผลิต ทีนี้แหละจะอดทั้งคนทั้งปาล์ม

  ประเคนปุ๋ยปาล์มเต็มที่ 12-15 กก./ต้น/ปี แต่ต้นทุนการผลิตรวม 2 บาท/กก.เท่านั้น เพราะลุงประสงค์ลดต้นทุนส่วนอื่นที่เหลือ แต่ที่สำคัญก็คือ ผลผลิตที่สูงถึง 6-7 ตัน/ไร่/ปี คือตัวหารที่ทำให้ต้นทุนรวมต่ำ

 วางเป้าหมายสร้างทะลายไม่น้อยกว่า 10 ทะลาย/ต้น/ปี 3 ทะลายคือต้นทุนผลิตรวม ที่เหลือคือกำไร
━━━━━━━━━━━━━━━━
- Advertisement -
ลงโฆษณา โทร 08-6335-2703
ลุงประสงค์นิยามชีวิตตัวเองเป็น “นักพเนจร” จากจังหวัดบ้านเกิด อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ทำงานเป็นลูกเรือประมง ในน่านน้ำไทย และอินโดนีเซีย ก่อนจะไต่เต้าเป็น ไต้ก๋งเรือ และพเนจรเป็นลูกเรือขนส่งไม้ไปอินโดนีเซีย

สุดท้ายมาซื้อเรือประมงเล็กๆ ปักหลักอยู่ จ.ชุมพร หาปลาคนเดียววันละไม่ต่ำกว่า 100 กก. โดยมีภรรยาเป็นแม่ค้าแบบเดลิเวอรี ขายตรงถึงหน้าบ้าน ได้เงินวันละหลายพันบาท เก็บหอมรอมริบอยู่ 8 ปี จนมีเครดิตพอที่จะกู้แบงค์ซื้อที่ดิน ใน อ.ปะทิว

ลุงซื้อที่นาร้าง ที่ไม่มีใครเอา เพราะราคาไม่แพงมาก ค่อยๆ ซื้อจนได้ 50 ไร่ แล้วปรับพื้นที่ปลูกยาง เพราะแถวนี้ส่วนใหญ่ปลูกยางกัน

แม้ว่าสวนยางจะทำเงินให้ลุงประสงค์มาก แต่เมื่อหักค่าจ้างคนกรีดยางกำไรถูกกลืนหายไปอย่างน้อย 40%  ไหนจะเจอปัญหาลูกจ้างลักขโมยยางเป็นประจำ เพราะไม่ได้เข้าดูแลควบคุมเข้มงวด

ได้เงินมาแสนหนึ่ง ต้องแบ่งให้คนกรีดแล้วสี่หมื่น เราเหลือหกหมื่น แล้วยางนี่ฝนตกก็กรีดไม่ได้ แล้วไม่รู้ที่ว่ากรีดไม่ได้นี่ ลูกจ้างมันแอบกรีดไปหรือเปล่า เพราะเราไม่รู้ไม่มีเวลาไปดูเอง

เมื่อยางมีปัญหาเรื่องการแบ่งผลประโยชน์ ลุงประสงค์จึงลองปลูกปาล์มในพื้นที่ที่เหลือ 50 ไร่ ก่อนจะค้นพบ “แสงสว่าง” ว่า ปลูกปาล์มไม่ปวดหัวเหมือนปลูกยาง

ปาล์ม ขายได้เงินแสนหนึ่ง จ่ายค่าตัดแค่หมื่นห้า ฝนตกยังตัดได้ และไม่ต้องไปรับผิดชอบคนงาน แล้วภาคใต้ฝนเยอะ ปลูกยางลำบากขึ้นไหนจะโรค ไหนจะกรีดไม่ได้อีก ปาล์มน่าจะเหมาะกว่า

เมื่อคนพบแนวทางใหม่ ประกอบกับอายุที่มากขึ้น ลุงประสงค์ จึงลาออกจากอาชีพประมงอย่างถาวรเมื่อ 8 ปีที่แล้ว มาลงหลักปักฐานกับสวนปาล์มแบบเต็มตัว แม้ในช่วงเริ่มต้นยังไม่มีความรู้มากนัก แต่ด้วยนิสัยเอาจริงเอาจังกับอาชีพจึงศึกษาเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว
ปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี 1
 ━━━━━━━━━━━━━━━
ปลูกปาล์ม สายพันธุ์ คือ “รากฐาน” สำคัญที่สุด
━━━━━━━━━━━━━━━
ลุงประสงค์บอกว่า ปลูกปาล์มไม่ใช่เรื่องยาก ปลูกที่ไหนก็ได้ ที่ลุ่มก็ได้ ที่เขาก็ได้ ที่แล้งก็ได้ แต่จะให้ทะลาย ให้ผลผลิตคุ้มค่าหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเป็นอย่างแรก อย่างสวนปาล์มของลุงประสงค์แม้จะเป็นที่นาร้าง แต่ถือว่ามีความเหมาะสมระดับหนึ่ง แม้จะไม่มีแหล่งน้ำ แต่ปริมาณฝนโดยรวมถือว่าไม่เลวร้ายนัก

ต่อมาคือ “พันธุ์ปาล์ม” ลุงประสงค์แชร์ประสบการณ์ว่า พันธุ์ปาล์มสำคัญที่สุด เพราะพันธุ์คือความแน่นอน และจะสร้างความมั่นใจระยะยาว พันธุ์ที่ลุงประสงค์เลือกปลูกคือ พันธุ์สุราษฎร์ธานี 1 ของศูนย์วิจัยปาล์มน้ำมันสุราษฎร์ธานี ซึ่งต้นพ่อแม่พันธุ์ปลูกในประเทศ ผสมและ “ทำคลอด” ในไทย จึงปรับตัวเข้ากับอากาศของไทยมากกว่า ประกอบกับมีลักษณะเด่น ทะลายใหญ่ ดก และให้ผลผลิตสูง

พอพันธุ์ดีเราก็มั่นใจที่จะลงทุนทุ่มเทดูแลได้เต็มที่ ทุ่มปุ๋ยทุ่มทุกอย่างให้ได้เต็มศักยภาพของมัน พันธุ์อื่นที่พัฒนาขึ้นใหม่ๆ มามันก็ดีนั่นแหละ แต่เราไม่กล้าเปลี่ยนไม่กล้าลอง เพราะเรามั่นใจพันธุ์นี้ และไม่ได้ทำให้ผิดหวัง

ปาล์มพันธุ์สุราษฎร์ธานี ระยะปลูก 10x10 
━━━━━━━━━━━━━━━
ปลูกปาล์มระยะ 10x10x10 เมตร ได้รับแสงเต็มที่
━━━━━━━━━━━━━━━
ปาล์มน้ำมันเป็นพืชต้องการแสงมาก ระยะปลูกมาตรฐานนิยมคือ 9x9x9 เมตร แต่ลุงประสงค์แนะนำจากประสบการณ์ว่าระยะที่เหมาะสมคือ 10x10x10 เมตร เพราะต้นปาล์มจะได้รับแสงแดดเต็มที่ ใบจะไม่ซ้อนหรือชนกันเมื่ออายุมากขึ้น ซึ่งจะสังเกตได้ว่าเมื่อปาล์มอายุมากขึ้นผลผลิตจะลดลง ส่วนหนึ่งก็มาจากได้รับแสงน้อยลงนั่นเอง

แต่ถ้าปลูกระยะห่างขึ้น ต้นปาล์มจะได้รับแสงเต็มที่ สามารถปรุงอาหารได้มาก ต้นจะสมบูรณ์ได้ผลผลิตต่อเนื่อง

เพียงแต่ต้องสัมพันธ์กับการตัดแต่งทางใบด้วย ลุงประสงค์ยึดหลักเกณฑ์เฉพาะตัวว่าทางใบต้องโปร่งไม่ปล่อยไว้บนต้นมากเกินไป เพื่อให้แสงส่องได้จนถึงโคนต้น และที่สำคัญช่วย “ปลดเปลื้อง” ภาระของต้นปาล์มไม่ต้องเลี้ยงใบที่ไร้ประโยชน์

สมัยก่อนคนปลูกปาล์มปีหนึ่งจะตัดแต่งทางครั้งหนึ่ง พอลุงเห็นแล้วไม่เอาอย่างนั้น จะแต่งทาง 4  เดือนต่อครั้ง หรือปีละ 2-3 ครั้ง โดยเฉพาะทางใบที่ตัดทะลายไปแล้วเปล่าประโยชน์ เก็บไว้มันก็กินปุ๋ยไปฟรีๆ บังแสงอีก ถ้าแสงแดดเข้าทั่วทั้งต้น จะทำให้ปาล์มดก

สวนปาล์มน้ำมันอายุมากกว่า 10 ปี ต้นปาล์มได้รับแสงเต็มที่ เพราะปลูกระยะ 10x10 เมตร
ต้นปาล์มได้รับแสงแดดเต็มที่ ใบจะไม่ซ้อนหรือชนกัน
วิธีการแต่งทางของลุงประสงค์จะทำไปพร้อมกับตัดทะลาย เมื่อตัดทะลายปาล์มจะเกี่ยวทางใบมาพร้อมกัน ช่วยลดต้นทุนการแต่งทางได้อีกทาง

เมื่อตัดทะลายออกมา จะให้คนแทงแต่งทางออกไปด้วยเลย ถ้าไม่แต่งทางมันจะเหลือมาก ต้องเสียค่าจ้างตัดทางเพิ่มอีก ปกติค่าจ่างแต่งทางต้นละ 10 บาท  ถ้า 400 ต้น ก็ 4,000 บาท แต่ถ้าทางเราเหลือน้อย ค่าจ้างจะเหลือแค่ 700 บาท  ปกติปีหนึ่งต้องจ้างแต่งทาง 9,000 บาท ก็เหลือ 1,400 บาทเอง

วิธีตัดแต่งทางของลุงประสงค์ อาจจะขัดกับตำราวิชาการ และกูรูหลายคน ที่แนะนำให้เกษตรกรเก็บทางใบไว้ 2 ทางต่อทะลาย เพียงแต่ผลผลิตดกๆ ที่อยู่บนต้น คือ “พยาน” การแต่งทางแบบฉบับของลุงประสงค์ได้อย่างดี
  ━━━━━━━━━━━━━━━
ปาล์มต้องการปุ๋ยมาก ใส่ปีละ 3 ครั้ง รวม 12-15 กก./ต้น/ปี
 ━━━━━━━━━━━━━━━
ลุงประสงค์บอกว่า ต้นปาล์มน้ำมันถ้าได้รับอาหารไม่เพียงพอจะออกดอกตัวผู้ แต่ถ้าอาหารสมบูรณ์จึงจะออกตัวเมีย และอาหารหลักของปาล์มก็คือ ปุ๋ย  จึงเป็น “กฎเหล็ก” ที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็น “นาย” คอยสั่งให้ใส่ปุ๋ยปาล์มอย่างสมบูรณ์ปีละ 3 ครั้ง โดยไม่มีข้อแม้ใดๆ ทั้งสิ้น

ถึงเวลาต้องใส่ปุ๋ยเราต้องใส่ให้มัน ลุงถึงขนาดใช้จ่ายอย่างประหยัด อดออมเงินเพื่อเก็บเงินไว้ซื้อปุ๋ย คิดว่าถ้าไม่มีเงินใช้ก็ไปรับจ้างหรือทำอย่างอื่นแทน เพราะเมื่อใส่ปุ๋ยปาล์มให้เพียงพอก็จะออกผลผลิตมาเลี้ยงเรา แต่ถ้าคิดว่าไม่ใส่เพราะไม่มีเงิน ปาล์มก็ไม่มีอาหารมันก็ไม่ให้ผลผลิต ทีนี้แหละจะอดทั้งคนทั้งปาล์ม

เรื่องการทำปาล์มให้สมบูรณ์ลุงประสงค์จึงไม่รอให้ “เทวดา” มา “เนรมิต” แต่ต้องสร้างเอง ด้วยการให้ปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอ
ลุงประสงค์ยึดหลักเกณฑ์เฉพาะตัวว่าทางใบต้องโปร่งไม่ปล่อยไว้บนต้นมากเกินไป เพื่อให้แสงส่องได้จนถึงโคนต้น และที่สำคัญช่วย “ปลดเปลื้อง” ภาระของต้นปาล์มไม่ต้องเลี้ยงใบที่ไร้ประโยชน์
เพียงแต่ความโหดหินของปาล์มน้ำมันก็คือ เมื่อใส่ปุ๋ยปีนี้กว่าจะแสดงผลใช้เวลา 1-2 ปีข้างหน้า จึงต้องพิสูจน์ความอดทนกันพอสมควร แต่ลุงประสงค์เข้าใจธรรมชาติของปาล์มดี จึงตั้งหน้าใส่ปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอ

การดูแลให้ได้รับอาหารสมบูรณ์นี่แหละยาก  ยากตรงที่มันไม่เห็นผลว่ามันสมบูรณ์หรือไม่ ใส่ปุ๋ยไป เป็นปีกว่าจะเห็นผล แล้วธาตุอาหารที่ใส่ให้ไปมันเพียงพอตามที่ปาล์มต้องการหรือเปล่า แต่ผมจะถือหลักง่ายๆ ใส่ปุ๋ยตามผลผลิต ออกมากก็ใส่มากชดเชยให้มัน

หลักในการใส่ปุ๋ยของลุงประสงค์คือ ใส่ปุ๋ยให้มาก ดีกว่าใส่ขาด เพราะปุ๋ยที่ใส่ลงไปบางตัวไม่ได้หายไปไหน แต่สะสมเป็น “บุญเก่า” อยู่ในสวนนั่นแหละ

วิชาการเขาจะมีคำนวณว่าใส่ธาตุอาหารเท่านี้พอ ไม่ต้องใส่เกินที่มันต้องการ ใส่มากไปก็เปล่าประโยชน์ และเพิ่มต้นทุน แต่เขาไม่ได้นึกหรอกว่าปุ๋ยที่ใส่ไปมันสูญเสียไปกับอากาศบ้าง ฝนบ้าง ที่ว่าใส่พอดีกลับขาดไป ต้นปาล์มก็ไม่สมบูรณ์ ลุงจึงใส่เผื่อไว้ แล้วปุ๋ยบางตัวที่มีมากจนเกินไป แต่มันก็ยังเก็บสะสมอยู่ในดิน เมื่อปาล์มต้องการก็นำมาใช้ได้ทันที ไม่ต้องรอ ไม่ต้องอด

วิธีใส่ปุ๋ยของลุงประสงค์จะใส่ ทุกๆ 4 เดือน หรือปีละ 3 ครั้ง ปริมาณปุ๋ยดูตามอายุปาล์มเป็นหลัก  เช่นปาล์มอายุ 5-7 ปีจะใส่ 4 กก./ต้น  หรือ 12 กก./ต้น/ปี ปาล์มอายุ 10 ปีขึ้นไป 5 กก./ต้น  หรือ 15 กก./ต้น/ปี
 ━━━━━━━━━━━━━━━
ผสมปุ๋ยใช้เอง คุณภาพดี ต้นทุนต่ำ ผลผลิตสูง
━━━━━━━━━━━━━━━
เป็นเวลากว่า 7 ปีแล้วที่ลุงประสงค์เปลี่ยนมาใช้แม่ปุ๋ยผสมเอง แทนปุ๋ยสูตรสำเร็จ โดยมีทั้งธาตุอาหารหลักที่ปาล์มต้องการ ธาตุอาหารรองและธาตุเสริมครบครัน น่าเสียดายที่ทีมงานยางปาล์มออนไลน์คาดคั้นเอาสูตรและสัดส่วนการผสมปุ๋ยมาไม่ได้ เพราะเป็นความลับของลุงประสงค์

แม่ปุ๋ยผสมตามสูตรของตัวเอง เป็น “เคล็ดลับ” หนึ่งที่ทำให้ต้นปาล์มในสวนของลุงประสงค์สมบูรณ์และให้ผลผลิตสูง รวมถึงยังลดต้นทุนปุ๋ยได้ถึง กระสอบละไม่ต่ำกว่า 300-400 บาท

พอเราซื้อแม่ปุ๋ยมาผสมเอง ราคามันถูกกว่าซื้อปุ๋ยสูตรสำเร็จ คำนวณต้นทุน + ค่าผสม เหลือกระสอบละ 570-600 บาท จากปุ๋ยสูตรกระสอบละ 900-1,000 บาท เราลดต้นทุนได้ 300-400 บาท/กระสอบ ทีนี้เวลาใส่ก็ใช้วิธีเอารถกระบะวิ่งเข้าไปในสวน แล้วใช้คนนั่งท้ายกระบะตักสาดทีละต้น ไม่ต้องเดิน ใช้คนน้อย 50 ไร่ใช้แค่สองคน เราลดต้นทุนส่วนนี้ไปได้อีก

ทางใบที่ตัดแต่งก็นำมากองเป็นแถวยาว แบบแถวเว้นแถว เป็นอินทรียวัตถุในสวน
เมื่อถามถึงผลผลิตที่ได้รับ ลุงประสงค์บอกให้รอเดี๋ยว เพียงไม่กี่อึดใจลุงมาพร้อมกับใบเสร็จรับเงินปึ๊งโต ซึ่งเป็นข้อมูลการเก็บตัวเลขผลผลิตและรายได้อย่างง่ายๆ แต่เที่ยงตรงที่สุด

จากตัวอย่างบิลรับเงินที่ลุงประสงค์นำมาใช้เราดู แต่ละเดือนได้ผลผลิต 60-70 ตัน/เดือน สำหรับปาล์ม 80 ไร่ หรือประมาณ 800-900 กก./ไร่/เดือน แต่เมื่อรวบรวมผลผลิตทั้งปีจะได้ผลผลิตประมาณ 6-7 ตัน/ไร่/ปี

ผลผลิตไม่ต้องห่วงหรอก มากมาย ทางเกษตรจังหวัดและทางศูนย์วิจัยฯ สุราษฎร์ฯ เขามาเก็บข้อมูลทุกปี ผลผลิตที่ได้สูงสุด 6-7 ตัน/ไร่/ปี
ลุงประสงค์บอกว่าต้นทุนการผลิตเท่ากับ 3 ทะลาย/ต้น/ปี ที่เหลือคือกำไร
━━━━━━━━━━━━━━━
ต้นทุนการผลิตเท่ากับ 3 ทะลาย/ต้น/ปี ที่เหลือคือกำไร
━━━━━━━━━━━━━━━
เมื่อนำตัวเลขต้นทุนรวมทั้งหมดมาหารกับปริมาณผลผลิตทั้งปี ลุงประสงค์จึงมีต้นทุนเพียง กก.ละ 2 บาท

ต้นทุนปุ๋ย กก.ละ 12 บาท ใส่ครั้งละ 5 กก./ต้น เท่ากับ 60 บาท/ครั้ง ปีหนึ่งใส่ 3 ครั้ง รวมเป็น 180 บาท/ต้น  เราแทงปาล์มมาทะลายหนึ่ง 30-40 กก. ได้ 2 ทะลายก็หลุดต้นทุนปุ๋ยแล้ว แต่เราก็ต้องคิดอีกหนึ่งทะลาย เป็นค่าจัดการต้นทุนส่วนอื่นๆ เช่น ค่าตัดหญ้า ค่าตัดทะลาย ต้นทุนต่อต้นเลยเท่ากับปาล์ม 3 ทะลาย/ปี ทีนี้ทะลายที่เหลือคือกำไร ขึ้นอยู่กับว่าจะได้กี่ทะลายต่อปี ถ้าอยากได้กำไรมากๆ เราก็ต้องทำให้มันออกทะลายมากๆ

การทำสวนปาล์มของลุงประสงค์ ตั้งเป้าหมายกับปาล์มต้นต่อต้น เมื่อต้นทุนการผลิตเท่ากับ 3 ทะลาย เป้าหมายจะต้องทำทะลายให้ได้อย่างน้อย 10 ทะลาย และพยายามทำให้ปาล์มแต่ละต้นออกสม่ำเสมอ
ข้อคิดจากการทำสวนปาล์มของลุงประสงค์ คือ ความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังกับอาชีพสวนปาล์ม ซึ่งเป็นไปตามนิสัยของลุง ในขณะที่ผืนดินที่ปลูกปาล์มเป็นนาร้างขาดความสมบูรณ์ ไม่มี “บุญเก่า” ให้ต้นปาล์มใช้สอย ลุงประสงค์จึงต้องเติมความสมบูรณ์ให้สม่ำเสมอทุกปี เพราะเข้าใจความต้องการของต้นปาล์มเป็นอย่างดี ว่า “ไม่มีปุ๋ย” เท่ากับ “ไม่มีทะลาย” ต่อให้ “เทวดา” ก็ “เนรมิตทะลาย” ให้ไม่ได้ ถ้าไม่สร้างหรือสะสมขึ้นมาเอง

ขณะเดียวกันลุงประสงค์ไม่ได้เอ่ยถึงปัญหาหรือข้อจำกัดในการทำสวนปาล์มของตัวเองเลย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่มี เพียงแต่เราจับได้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นลุงได้หาทางแก้ไข และเอาชนะ 

เพราะตราบใดถ้ายัง “สร้างข้อจำกัด” หรือไม่หาทางออก จะเดินในอาชีพสวนปาล์มต่อไปไม่ได้

ลุงพูดไม่มีใครเชื่อหรอก เพราะลุงไม่มีปริญญายืนยัน แต่คนที่เข้ามาที่สวนเขาเห็น เขาจึงจะเชื่อ
━━━━━━━━━━━━━━━
ขอขอบคุณ
ประสงค์ หอมสนิท
14/15 ต.ดอนยาง อ.ปะทิว จ.ชุมพร โทรศัพท์ 088 929 3422

- Advertisement -



ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม