ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

ปาล์มน้ำมัน ทุ่งรังสิต ผลผลิต 6-7 ตัน/ไร่/ปี

ทำปาล์ม 6-7 ตัน/ไร่/ปี เป็นเรื่อง “ขนม” ของเกษตรกร “ทุ่งรังสิต” เพราะมี “น้ำ” เหลือเฟือ เพราะในดินมี “บุญเก่า” อย่างปุ๋ยที่ตกค้างอยู่ในดินสมัยทำสวนส้ม

แต่ก็ใช่ว่าการทำสวนปาล์มจะเรียบรื่น แม้จะมีข้อดีหลายด้าน แต่ก็มีข้อด้อยพอๆ กัน

หนึ่ง สภาพพื้นที่ปลูกปาล์มเป็นร่องสวน ย่อมทำงานยุ่งยากกว่าพื้นที่ราบ ดินที่ปลูกส้มมานานแม้จะมีปุ๋ยเคมีสะสมอยู่มาก แต่ดินก็มีสภาพเป็นกรดสูง เป็นต้น รวมถึงในช่วงแรกๆ ราคารับซื้อจึงค่อนข้างต่ำเพราะอยู่ห่างไกลโรงงาน ซึ่งปัจจุบันเมื่อมีพื้นที่ปลูกและผลผลิตมากขึ้น เริ่มมีการแข่งขันสูง ราคาจึงใกล้เคียงกับราคาหน้าโรงงาน

หากแต่เมื่อเปรียบเทียบกับทำสวนส้ม ซึ่งเป็น “บาดแผลเก่า” ที่พวกเขาจดจำได้ดี สวนปาล์มยังมีภาษีมากกว่าหลายเท่า 

ยางปาล์มออนไลน์ จะพาไปชมตัวอย่างของ 2 เกษตรกรทุ่งรังสิต อ.หนองเสือ จ.ปทุมธานี
สวนปาล์มแปลงแรกของ อ.สถิต รุ่นแรกๆ ของทุ่งรังสิต
สถิต คำรักษ์ หรือ อ.สถิต ประธานสหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินหนองเสือ จำกัด
สถิต คำรักษ์ หรือ อ.สถิต อดีตข้าราชการครูที่ปลดเกษียณตัวเองออกมาเป็นเกษตรกรเต็มตัว หนึ่งในผู้ปลูกปาล์มน้ำมันแปลงแรกๆ ของ “ทุ่งรังสิต” บนพื้นที่สวนส้มร้าง 10 ไร่ (240 ต้น) ผ่านการสนับสนุนของกรมส่งเสริมการเกษตร เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว แม้ตอนนั้นจะยังไม่มีองค์ความรู้และความมั่นใจ ว่าปาล์มจะเติบโตมีผลผลิต แต่หลังจากผ่านความล้มเหลวจากส้มและพืชอีกหลายตัว ก็ต้องลองเพราะไม่มีอะไรจะเสีย

แต่ร่องสวนส้มที่ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับปลูกปาล์มน้ำมัน ทำให้ระยะปลูกไม่ได้สัดส่วน 9x9 เมตรตามหลักวิชาการนัก แต่ก็ถือว่าไม่เป็นอุปสรรคในการทำสวนปาล์มช่วงเริ่มต้นนัก

ปัญหาเริ่มเผยตัวขึ้นเมื่อปาล์มเริ่มใหญ่ขึ้น ร่องสวนที่กว้างแค่ 2 เมตรกว่าๆ ดูจะน้อยไปสำหรับรากยาง ทำให้มีพื้นที่ใส่ปุ๋ยน้อย และเกิดการสูญเสียปุ๋ยง่าย วิธีแก้ไขคือ กลบร่องน้ำแบบร่องเว้นร่องเพิ่มพื้นที่ขึ้นมาอีกอย่างน้อย 1.5-2 เมตร สามารถสร้างกองทางปาล์ม และเพิ่มพื้นที่ใส่ปุ๋ยได้มากขึ้น  
บัญญัติ ชื่นคำ เจ้าของสวนปาล์มทุ่งรังสิต 30 ไร่
เช่นเดียวกับ บัญญัติ ชื่นคำ ผู้บาดเจ็บจากสวนส้ม และพืชอีกหลายตัวถัดจากนั้น ไม่ว่าจะเป็น ข้าว และมะม่วง ก่อนจะเริ่มต้นปลูกปาล์มน้ำมัน เพราะไม่อยากพเนจรไปหาพื้นที่ทำสวนส้มแห่งใหม่เหมือนคนอื่นๆ จึงทดลองปลูกปาล์มตามคำแนะนำของส่งเสริมการเกษตร โดยเริ่มจาก 10 ไร่ ขยายเป็น 20 ไร่ และ 30 ไร่ ในที่สุด

หลังจากได้ผลผลิตเขาพึงพอใจในอาชีพนี้เป็นอย่างมาก เพราะรู้สึกเหมือนได้ชีวิตใหม่อีกครั้งจากการปลูกปาล์มน้ำมัน

ผมทำสวนทำไร่มาหลายอย่าง ตอนที่วิกฤติหนักก็ตอนที่มีโรคระบาดในสวนส้ม ตอนนั้นเราเข้าใจเลยว่า ไม่มี มันเป็นยังไง แล้วเราก็ตั้งใจว่าจะทำให้ดีที่สุดไม่กลับไปเป็นแบบนั้นอีก ตั้งแต่มาทำสวนปาล์มเรามีเวลามากขึ้นเพราะตัดปาล์มทุก 15 วัน ผมอาจจะไม่มีปัญหาแรงงานเหมือนคนอื่นๆ เพราะ 30 กว่าไร่ใช้แรงงานในครอบครัว 3 คน โดยมี ผม แฟน และญาติ ตัดสบายๆ 
- Advertisement -
ลงโฆษณา โทร 08-6335-2703
สวนปาล์มของบัญญัติ

ใส่ปุ๋ย 3 เดือนครั้ง เรามีเวลามากพอที่จะหารายได้เพิ่มเติมให้ครอบครัว แฟนผมมีเวลาไปทำพริกแกงขาย ผมเองก็กำลังศึกษาเรื่องการทำไม้ใบในสวนปาล์มเป็นอาชีพเสริม มีรายได้จากการตัดปาล์มอย่างต่อเนื่อง มีรายได้ทุกๆ 15 วัน มีเวลาเหลือไปสร้างอาชีพเสริม มีเวลาให้ครอบครัว มีเงินหมุนเวียนในครอบครัว

นี่คือข้อดีของการทำสวนปาล์ม บัญญัติอธิบายข้อดีของการทำสวนปาล์มในมิติที่เขาได้พบเจอกับตัวเอง

อ.สถิต เล่าว่า เท่าที่สังเกตปาล์มที่ทุ่งรังสิตจะให้ผลผลิตเร็วตั้งแต่ 2 ปีกว่า เพราะพื้นที่สมบูรณ์ทั้งดินและน้ำ เป็นสวนส้มเก่ามีร่องน้ำด้านข้าง ทั้งยังเป็นดินใหม่ไม่เคยปลูกปาล์มมาก่อน กอปรกับมีปุ๋ยสะสมในดินจากการทำสวนผลไม้มาหลายสิบปี ผลผลิตปาล์มในพื้นที่แห่งนี้มีผลผลิตเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 6 ตัน/ไร่/ปี

ส่วนหนึ่งผมให้เครดิตกับสายพันธุ์ปาล์มนะ เพราะตอนนี้ผมขยายพื้นที่ปลูกอีก 10 กว่าไร่ กล้าปาล์มคนละชุด ทั้งที่เป็นเทเนอร่าเหมือนกันแต่ต่างที่มา ผลผลิตก็ออกมาต่างกันทั้งๆ ที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน การดูแลเหมือนกันทุกอย่าง

อ.สถิตมองว่าสำหรับคนที่จะปลูกปาล์มรุ่นใหม่ๆ ควรจะศึกษาเรื่องสายพันธุ์ให้ดี เลือกพันธุ์ที่ได้มาตรฐาน เมื่อได้ปาล์มพันธุ์ดี ดินดี-น้ำดี การดูแลดี ผลผลิตก็จะดีไปด้วย อ.สถิตแสดงความคิดเห็นเรื่องมาตรฐานต้นพันธุ์ปาล์มน้ำมัน 
สวนปาล์มแปลงแรกของบัญญัติ ทะลายใหญ่ 
━━━━━━━━━━━━━━━
การจัดการสวนปาล์มของ อ.สถิต
━━━━━━━━━━━━━━━
หลังจากปลูกปาล์มไปได้ระยะหนึ่งจำเป็นต้องปรับพื้นที่ร่องน้ำในสวน เพราะไม่เหมาะกับปาล์ม เพราะมีร่องน้ำทั้งสองข้าง ทำให้มีพื้นที่ใส่ปุ๋ยน้อย จึงทำดินที่ขุดลอกร่องน้ำมากลบร่องน้ำแบบร่องเว้นร่อง จากนั้นค่อยๆ ใช้ทางใบปาล์มวางให้ย่อยสลายเป็นอินทรียวัตถุ

ปาล์มที่นี่ให้ปุ๋ย 3 เดือน/ครั้ง ครั้งละ 2-2.5 กก. ใส่ตรงกลางร่อง ภายในร่องถูกปูด้วยทางใบเพื่อรักษาความชุ่มชื่นและเพิ่มจุลินทรีย์ในดินไปในตัว

โดยใช้ปุ๋ยผสมเองเพราะคุ้มค่า ราคาถูกว่าสูตรสำเร็จ เช่น ปุ๋ยสูตรสำเร็จราคาประมาณ 900-1,000 บาท/ถุงๆ ละ 50 กก. แต่ถ้าผสมเองสามารถใช้ปุ๋ย 18-8-8 ราคา 600 บาท/ถุงๆ ละ 50 กก. กับสูตร 0-0-60 ราคา 750 บาท/ถุงๆ ละ 50 กก. มาผสมเองจะได้สูตรใกล้เคียงกับปุ๋ยสำเร็จ แต่ราคาเฉลี่ยไม่เกิน 600 บาท/กก.

ในฤดูฝนจะใช้ปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีสัดส่วน 3 :1 ผสมกันแล้วใส่แทนเคมีล้วนๆ เพราะปุ๋ยอินทรีย์ราคาย่อมเยากว่า ละลายช้าต้องใช้เวลาในการย่อยสลายมากกว่า ต้นปาล์มดูดซึมไปเรื่อยๆ ทั้งยังช่วยปรับสภาพดิน แต่ถ้าเป็นปุ๋ยเคมีจะละลายเร็วและไหลลงท้องร่องไปอย่างรวดเร็ว

ผมใช้ทั้งปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ ข้อดีคือเป็นการปรับปรุงดินด้วย แล้วปุ๋ยอินทรีย์นี่ราคาถูกนะ กระสอบละ 300-400 บาท ปุ๋ยมูลสัตว์เราก็ใส่บ้าง อย่างขี้ไก่แกลบ ขี้วัว เราจะใส่ปีละครั้ง โดยใส่ระหว่างต้นครั้งละ 1 กระสอบ
 อ.สถิตให้ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ 
สวนของบัญญัติ ใช้สายพานช่วยลำเลียงทะลายปาล์มจากเรือขึ้นรถไปส่งลานเท
━━━━━━━━━━━━━━━
พี่น้องชาวสวนปาล์มทุ่งรังสิตผลผลิตปาล์มดีแต่ขาดแคลนแรงงาน
━━━━━━━━━━━━━━━
แม้ว่าค่าเฉลี่ยผลผลิตปาล์มน้ำมันจะอยู่ที่ 6-7 ตัน/ไร่/ปี จะทำให้พี่น้องชาวสวนปาล์มทุ่งรังสิตอยู่ได้อย่างสบาย เพราะราคารับซื้อเริ่มมีการแข่งขันมากขึ้น จากช่วงแรกๆ ผลผลิตน้อย เนื่องจากอยู่ไกลโรงงาน มีผู้รับซื้อเพียงแค่รายเดียว แต่เมื่อมีผลผลิตมากขึ้น จึงเริ่มมีการแข่งขัน กันถึง 3 บริษัท ราคาจึงใกล้เคียงกับราคาหน้าโรงงาน และบางช่วงราคาสูงกว่าภาคใต้ด้วยซ้ำไป

หากแต่ความยุ่งยากที่สุดของพวกเขา คือ ขาดแคลนแรงงานตัดปาล์ม แม้จะค่าจ้างสูงถึงตันละ 700 บาท เป็นข้อจำกัดที่น่ากังวลใจทั้งสำหรับปัจจุบันและในอนาคต

คนรุ่นใหม่ทำเกษตรน้อยลง ยิ่งเป็นแรงงานรับจ้างนี่คนในพื้นที่ไม่มีเลย เราจึงต้องใช้แรงงานต่างถิ่นบ้าง ถ้าเป็นสวนเล็กอย่างผม 30 ไร่ ไม่ได้จ้างประจำ แรงงานจะไปทำทุกสวนหมุนเวียนกันไปจากสวนนั้นมาสวนนี้เพื่อให้มีงานทำทุกวัน ถ้าสวนใหญ่ๆ ก็จะจ้างแรงงานต่างชาติไว้ประจำสวน เพราะรอคิวแรงงานหมุนเวียนไม่ไหว แรงงานขาดแคลนจริงๆ
อ.สถิตสะท้อนปัญหาแรงงานที่ขาดแคลนในปัจจุบัน
ลานรวบรวมผลผลิตของ สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินหนองเสือ 
━━━━━━━━━━━━━━━
ตัดปาล์มสุกเพื่อพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรไทย
━━━━━━━━━━━━━━━
เกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่จะนำปาล์มน้ำมันมาขายที่ลานเทของสหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินหนองเสือ จำกัด จ.ปทุมธานี ในฐานะประธานสหกรณ์ อ.สถิต ก็พยายามทำความเข้าใจกับสมาชิกว่าปาล์มดิบปริมาณเปอร์เซ็นต์น้ำมันน้อยไม่เป็นที่ต้องการ เขาเปิดใจกับทีมงานว่าโรงงานก็เข้าใจเกษตรกรและพยายามให้ช่วยเหลือเกษตรกรอยู่เสมอ มีการเข้ามาคัดให้ดูที่ลานเทของสหกรณ์เพื่อให้ตัดปาล์มได้อย่างถูกต้องและได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย ทุกวันนี้พี่น้องชาวสวนปาล์มน้ำมันจึงหันมาให้ความสำคัญของการตัดปาล์มสุกมากขึ้น แม้ว่าในอดีตจะมีความเข้าใจผิดเรื่องการตัดปาล์มอยู่มากโดยเฉพาะคนที่เป็นมือใหม่ก็มีความผิดพลาดบ้าง

ไม่ใช่ทำความเข้าใจกับคนตัดอย่างเดียว เจ้าของสวนต้องเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน ทางนี้ก็รณรงค์ มีการชี้แจงว่าต้องตัดสุกอธิบายว่าปาล์มลูกดำๆ นี่มันยังไม่มีน้ำมันนะ พอเขาไปซื้อแล้วมันไม่มีน้ำมัน แล้วเราจะไปเรียกราคามันก็ไม่ได้ โรงงานเขาช่วยเราก็จริง ถ้าดิบมากๆ เขาก็ตักเตือนกลับมาเหมือนกัน แต่เราเองก็ต้องปรับตัวนะ ทำปาล์มให้ได้คุณภาพ ชาวสวนอยู่ได้ ลานเทอยู่ได้ โรงงานก็อยู่ได้

อ.สถิตแสดงความคิดเห็นเรื่องความสำคัญของการตัดปาล์มสุกในตอนท้าย
━━━━━━━━━━━━━━
ขอขอบคุณ
คุณสถิต คำรักษ์ โทรศัพท์ 08 9887 1893
คุณบัญญัติ ชื่นคำ โทรศัพท์ 08 6069 3575
- Advertisement - 

ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม