ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

สวนปาล์มเศรษฐกิจพอเพียง ตามแบบฉบับ ลุงบำรุง หนูด้วง

เชื่อว่าคนสวนใหญ่มักคุ้นเคยกับสวนปาล์มที่เป็นพืชเชิงเดียว ไม่มีการปลูกพืชเสริมอื่นๆ เนื่องจากปาล์มเป็นพืชที่ต้องการแสงมาก จึงไม่นิยมปลูกพืชอื่นๆ ที่มาบดบังแสง แถมเมื่อต้นโตจนทางใบกางเต็มที่แสงส่องลงมาที่พื้นดินในสวนแทบไม่มีเลยจึงยากที่จะหาพืชชนิดอื่นๆ มาปลูกเสริมในสวนปาล์ม ฉะนั้นการทำเกษตรผสมผสานหรือเกษตรพอเพียงในสวนยางนั้นมันจะทำได้จริงๆ หรือ...??

ลุงบำรุง หนูด้วง จ.สุราษฎร์ธานี เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติในสาขาอาชีพทำสวน ปี 2556 พาเว็บยางปาล์มไปชมสวนปาล์มแบบผสมผสานของลุงที่รวบรวมทั้ง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน บ่อปลา แปลงปุ๋ยหมัก กล้วย ผักหวานบ้าน ผักเหลียง ตะไคร้ กาแฟ โรงเลี้ยงแพะ ไก่ และเป็ด แถมยังมีแผนทำนาข้าวอีกด้วย

ก่อนที่ลุงจะพาเข้าไปในสวนปาล์มจริงๆ ต้องขอขยายความก่อนว่าคำว่า เศรษฐกิจพอเพียง หรือการทำเกษตรแบบผสมผสาน ของลุงบำรุงนั้น “ไม่สุดโต่ง” แต่ว่าพืชทุกชนิดที่ปลูก สัตว์ทุกอย่างที่เลี้ยง ได้ผ่านกระบวนการคิดและวางแผนว่าเหมาะสมที่จะปลูกหรือเลี้ยงอย่างไร

ทันทีที่ยางปาล์มจอดรถหน้าสวนลุงบำรุงสิ่งแรกที่เห็นคือป้ายยินดีต้อนรับ และป้ายสีเขียวจากกรมพัฒนาที่ดิน นั่นทำให้เรารู้ว่าสวนแห่งนี้เป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีพัฒนาที่ดิน ซึ่งมีพืชผสมผสาน โดยมีปาล์มน้ำมันเป็นพืชหลัก ซึ่งได้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 5 ตัน/ไร่/ปี
ถัดมาเป็นแปลงดอกไม้ต่างๆ ที่เห็นเด่นๆ ก็คือ ต้นพวงชมพูที่กำลังออกดอกและมีแมลงจำนวนมากมากินน้ำหวานจากเกสรดอกพวงชมพู นั่นเป็นตัวชี้วัดว่าสวนปาล์มแห่งนี้มีการใช้สารเคมีน้อย แม้จะปลูกพืชอื่นๆ ที่อาจจำเป็นต้องใช้สารเคมี แต่เมื่อเราปล่อยให้มีแมลงที่เขาเป็นศัตรูตามธรรมชาติของกันและกันเขาก็จะกำจัดกันเองโดยอัตโนมัติ อีกทั้งแมลงบางชนิดยังช่วยผสมเกสรต้นปาล์มทำให้ปาล์มติดผลดกๆ อีกด้วย

เดินมาถึงบ่อน้ำที่เลี้ยงปลาจาระเม็ดเอาไว้ ที่ขอบบ่อมีการปลูกต้นกล้วยล้อมรอบเพื่อตัดขาย เมื่อตัดเครือกล้วยแล้วต้นกล้วยที่เหลือก็จะฟันหยาบๆ ทิ้งลงในบ่อเพื่อเป็นอาหารปลาต่อไป ที่สำคัญน้ำในบ่อนี้ยังใช้รดนำปาล์มในช่วงแล้งโดยเป็นระบบน้ำที่ไม่ต้องใช้พลังงานหรือที่เรียกว่า “กาลักน้ำ” นั่นเอง 
น้ำที่ถูกสูบออกมาจากบ่อนี้จะไหลผ่านสวนปาล์มที่ถูกดัดแปลงให้เป็นแอ่งน้ำตื้นๆ ที่ลุงบำรุงปลูกผักกูดและเลี้ยงปลาเม็ง เป็นปลาราคาสูงของสุราษฎร์ธานีเอาไว้ เมื่อน้ำล้นแอ่งน้ำนั้นออกไปก็ไหลผ่านสวนปาล์มไปที่เล้าเป็ด เป็ดได้เล่นน้ำ และสุดท้ายน้ำนั้นจะไหลไปสู่พื้นที่ที่เตรียมไว้สำหรับทำนาข้าวนั่นเอง

นอกจากพื้นที่ที่เป็นสวนปาล์มจริงๆ แล้ว ลุงบำรุงยังแบ่งโซนที่ได้รับแสงแดดเต็มวันไว้ปลูกพืชอื่นๆ ด้วย...แน่นอนว่าไม่มีกฎเกณฑ์ใดบอกว่า การปลูกพืชผสมผสานหมายถึงการนำพืชพรรณไม้มาปลูกรวมกัน เช่นเดียวกับสวนเศรษฐกิจพอเพียงของลุงบำรุงที่ทุกอย่างถูกจัดเป็นสัดส่วน พืชที่ต้องการแสงแดด 100% อย่าง กล้วย ผักหวานบ้าน ตะไคร้ หญ้าเลี้ยงสัตว์ และโซนนาข้าวถูกปลูกในพื้นที่โล่งแจ้ง...นั่นไง ไม่มีใครออกกฎว่าสวนผสมต้องเอามาปลูกรวมกันทั้งหมด เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับไอเดียของเจ้าของสวนล้วนๆ

ส่วนพืชที่ต้องการแสงรำไร หรือปลูกในที่ร่มอย่าง ผักเหลียง กาแฟ และสัตว์เลี้ยงอย่าง แพะ เป็ด และไก่ ก็สามารถทำโรงเรือนไว้ในสวนปาล์มที่รำไรได้นั่นเอง 
ลุงบำรุงเล่าต่อไปว่าพืชเสริมที่อยู่ในสวนนี้สวนใหญ่ปลูกไว้เพื่อให้น้องๆ ที่ดูแลสวนปาล์มได้กินและนำไปขาย ที่ขายได้ประจำ คือ กล้วย ตะไคร้ และผักหวานบ้าน ตรงนี้ทำไว้ให้น้องๆ มีรายได้เสริมเพราะเขาอยู่แบบประจำ อย่างในสถานการณ์ที่ปาล์มราคาไม่ดีแบบนี้ทุกคนเดือดร้อน แต่น้องๆ ในสวนปาล์มลุงบำรุงได้ขายกล้วย ขายตะไคร้ ขายผักหวาน มีไข่เป็ดไว้รับประทาน และในอนาคตจะปลูกข้าวได้อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง

เล่ามาตั้งนานเราคงจะสงสัยว่าลุงบำรุงได้อะไรจากสวนผสมนี้
คำตอบก็คือ...ลุงลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีเมื่อมีการทำปุ๋ยหมักใช้เองภายในสวน มีการทำน้ำหมักชีวภาพจากเศษอาหารในครัวเรือนนำมาใช้ในสวนปาล์ม ช่วยปรับสภาพดินที่ต้องบอกเลยว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นดินทรายปนลูกรังที่ดูแล้วคิดว่าแม้แต่ปาล์มยังไม่น่าจะปลูกได้ แต่เมื่อมีการปรับปรุงดินอย่างถูกต้องด้วยวิธีธรรมชาติ ผืนดินแห่งนี้ก็ปลูกปาล์มได้ประสบความสำเร็จและยังปลูกพืชอื่นๆ ได้อีกด้วย เมื่อลุงบำรุงมีรายได้จากสวนปาล์มมากขึ้นพืชผักที่ปลูกเสริมขึ้นมาก็เป็นรายได้ให้กับน้องๆ ที่ช่วยดูแลสวน  
“ช่วงนี้ปาล์มราคาไม่ดี แต่อย่างน้อยน้องๆ ก็มีรายได้จากการขายกล้วยบ้าง ขายตะไคร้บ้าง พอมีตรงนี้เพิ่มเข้ามาความเดือดร้อนเรื่องค่าใช้จ่ายมันก็จะเบาบางลงกว่าที่ไม่มีอะไรเลย

“ส่วนลุงเองก็ลดต้นทุนการทำสวนลงไปได้ พอต้นทุนเราลดลงส่วนต่างที่เป็นกำไรของเรามันก็พอจะเหลือมากขึ้น ที่สำคัญน้องๆ ในสวนเราอยู่กับแบบครอบครัว เขาดูแลสวนปาล์มให้เรา ตัดปาล์มให้เรา เราก็ต้องให้เขาอยู่ได้ด้วย” ลุงบำรุงเล่าให้เว็บยางปาล์มฟัง

ขอขอบคุณ
นายบำรุง หนูด้วง
77/7 ม.5 ต.สินปุน อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานี 84210

 - Advertisement - 


ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม