ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

สปริงแบล็ค อายุ 5 ปี ที่สุราษฎร์ ผลผลิต 5.3 ตัน/ไร่/ปี

“สปริงแบล็ค” หรือ “ไนจีเรียแบล็ค” พี่น้องชาวสวนปาล์มต่างก็คุ้นหูกันพอสมควร เพราะนับว่าเป็นปาล์มยอดนิยมพันธุ์หนึ่งในเมืองไทย

ด้วยลักษณะประจำพันธุ์ของ สปริงแบล็ค ที่ ลำต้นโต คอใหญ่ แต่สูงช้า ทะลายดอก แต่ขนาดไม่ใหญ่เกินไป ทางใบสั้น/เล็ก ตัดแต่งง่าย จึงตอบโจทย์ใครหลายๆ คนได้ดีทีเดียว

เช่นเดียวกับ คุณจินตนา เกลี้ยงประดิษฐ อดีตพยาบาลวิชาชีพที่ลาออกจากงานมาดูแลคุณแม่และทำสวนปาล์มด้วยตัวเองไปพร้อมๆ กัน สวนปาล์มในบทความนี้อายุ 5 ปี ทำผลผลิตประมาณ 5.3 ตัน/ไร่/ปี ในพื้นที่รวม 9 ไร่ (200 ต้น) โดยที่สวนตัดทะลายปาล์มทุก 15 วัน เพื่อให้ได้ปาล์มคุณภาพจึงพยายามตัดให้ครบตามรอบอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งแปลงนี้เริ่มตัดตั้งแต่ปาล์มอายุ 3 ปี ถือว่าไม่นานเกินไปและตอบโจทย์คุณจินตนาได้ดีทีเดียว 
ตอนได้ที่ดินตรงนี้พี่มาดูพื้นที่ก็เห็นสวนข้างๆ เขากำลังขุดหลุมปลูกปาล์มกันอยู่ ก็มองว่าตรงนี้น่าจะปลูกปาล์มได้ ก็เลยคิดว่าจะทำสวนปาล์ม พอตัดสินใจแล้วก็ไปดูตามสวนใกล้เคียงว่าเขาใช้พันธุ์อะไรกัน 

จนได้เจอสปริงแบล็ค พี่ชอบใจตรงที่ต้นมันอ้วนดี แต่ไม่สูง ทรงสวย ทะลายดก แต่ทะลายไม่ใหญ่เกินไป ทางใบก็ไม่ใหญ่ยาว คิดว่าถ้าปาล์มโครงสร้างไม่ใหญ่แบบนี้เราน่าจะตัดทางใบเอง หรือทำอะไรเล็กๆ น้อยๆ ได้ด้วยตัวเอง แล้วเราก็ไปซื้อที่ หจก.สุราษฎร์พันธุปาล์ม เพราะเราก็มีความคุ้ยเคยกัน มั่นใจในมาตรฐานการผลิตกล้าปาล์ม เห็นกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน มีหลายพันธุ์ให้เลือก ตอนนี้ปาล์มที่ปลูกอยู่ก็มี 2 พันธุ์ คือ สปริงแบล็ค ก็คือแปลงนี้ อายุ 5 ปี กับ ดามี่ อายุ 18-19 ปี

พอปลูกสปริงแบล็คแล้วก็เป็นแบบนั้นจริงๆ ต้นอ้วนสวย แต่ไม่สูง ทางใบเล็ก ตัดแต่งง่าย ทุกวันนี้พี่แต่งทางใบเอง ใช้เสียมนี่ล่ะ ซื้อรถตัดหญ้ามาเข็นตัดหญ้าเอง ก็ไม่มีใครจะคิดว่าพี่จะทำเองได้ขนาดนี้ แต่พอได้มาทำแล้วมันมีความสุข อยู่ในสวนนี่อยู่ได้ทั้งวัน
เมื่อคิดจะทำสวนปาล์มแล้วคุณจินตนาก็คิดว่าต้องทำให้ดีที่สุด พื้นที่ตรงนี้เป็นที่ลุ่ม จึงต้องขุดดินขึ้นมาถมยกเป็นคู แล้วก็มีการเจาะน้ำบาดาลเดินท่อทำระบบน้ำให้ปาล์มได้น้ำทุกต้น นับว่าเป็นการลงทุนที่สูงอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

แต่อาจเป็นเพราะการทำสวนปาล์มนั้นหากมองในแง่ของการลงทุนระยะยาวแล้วยังเป็นพืชที่น่าสนใจอยู่ ลงทุนสูงในช่วงแรก แต่ถ้ามีการบำรุงดูแลอย่างต่อเนื่องก็จะได้จำนวนผลผลิตออกมาไม่น้อยเลยทีเดียว

ที่สำคัญอาชีพสวนปาล์มเป็นอาชีพคนวัยเกษียณสามารถดูแลได้ในลักษณะของการเข้ามาดูแลความเรียบร้อย ควบคุมการใส่ปุ๋ย ตัดแต่งทาง และตัดไปขายได้ เป็นงานสวนที่ไม่ต้องทำตลอดเวลาแต่ได้ผลตอบแทนกลับมาเป็นที่น่าพอใจในแง่ของผลผลิต 
ในส่วนของการใส่ปุ๋ยนั้นมีการจดบันทึกรายละเอียดต่างๆ ไว้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นวันที่ใส่ปุ๋ย ชนิดปุ๋ย จำนวนที่ใส่ ราคาผลผลิต ค่าแรง ทำให้สามารถคำนวณต้นทุนการทำสวนได้อย่างแม่นยำ ปริมาณปุ๋ยที่ใส่ก็สอดคล้องกับภาพสวยงามของต้นปาล์มภายในสวน และล้อไปกับผลิตอย่างไม่น่าแปลกใจ

ขอยกตัวอย่างปุ๋ยที่ใส่ ตั้งแต่ มกราคม 2561 มาจนถึง พฤษภาคม 2562 มีรายละเอียดดังนี้
  • 15 ม.ค. 61 ใส่ แมกนีเซียม 1 กก./ต้น
  • 28 ก.พ. 61 ใส่ 0-0-60 1 กก./ต้น
  • 19 เม.ย. 61 ใส่ 14-7-35 2 กก./ต้น
  • 23 พ.ค. 61 ใส่ 0-0-60 2 กก./ต้น
  • 13 ส.ค. 61 ใส่ 0-0-60 2 กก./ต้น แมกนีเซียม 1 กก./ต้น 18-46-0 1 กก./ต้น
  • 25 ธ.ค. 61 ใส่ 10-10-30 2 กก./ต้น
  • 14 มี.ค. 62 ใส่ โดโลไมท์ 5 กก./ต้น
  • 15 พ.ค. 62 ใส่ 21-0-0 1.5 กก./ต้น

จะเห็นได้ว่า ในปี 2561 นั้น มีการใส่ปุ๋ย 0-0-60 ปีละ 3 ครั้งๆ ละ 1-2 กก./ต้น เสริมด้วย 14-7-35, 18-46-0, 10-10-30 เป็นระยะ และเติมธาตุอาหารรองอย่าง แมกนีเซียม และ โดโลไมท์ ด้วย รวมปุ๋ยทั้งหมด ของปี 2561 เท่ากับ 11 กก./ต้น/ปี สำหรับปาล์มอายุ 5 ปี ถือว่าค่อนข้างมากเมื่อเปรียบเทียบกับสวนอื่นๆ แต่หากมองในส่วนของความสมบูรณ์ของต้นและผลผลิตถือว่าคุ้มค่าอยู่ไม่น้อย เพราะอยู่ที่ 5 ตันกว่า/ไร่/ปี เลยทีเดียว 
แม้ว่าราคาจะผันผวนแต่คาดว่าในอนาคตจะดีขึ้นเพราะมีการนำปาล์มมาใช้หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันไบโอดีเซลต่างๆ เช่น B10 B20 ปัจจุบันเราพัฒนาไปถึง B100 ไปเรียบร้อยแล้ว หากคนไทยหันมาใช้น้ำมันไบโอดีเซลมากขึ้น หนทางเพิ่มมูลค่าปาล์มก็จะมีมากขึ้นไปด้วย

ที่สำคัญการทำสวนปาล์ม ของคุณจินตนาไม่ใช่เพียงแค่อาชีพ แต่เป็นสิ่งที่ทำด้วยความรัก ทำด้วยความสุข ฉะนั้นหากใครเข้าไปที่สวนแล้วเห็นสภาพสตรีท่านหนึ่งกำลังเข็นรถตัดหน้าอยู่ในสวนปาล์ม ไม่ต้องสงสัยครับ นั่นคือเจ้าของสวนแห่งนี้แน่นอน

ขอขอบคุณ
คุณจินตนา เกลี้ยงประดิษฐ
32 หมู่ 2 ต.มะลวน อ.พุนพิน จ.สุราษฏร์ธานี 84130

ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม