“ปุ๋ยเป็นต้นทุนสูงที่สุดในการทำสวนปาล์มน้ำมัน แล้วก็เป็นปัจจัยที่จะชี้ว่าปาล์มจะให้ผลผลิตมากหรือน้อย” คุณอรรณพ ยังวนิชเศรษฐ หรือ อรรณพ สุราษฎร์ฯ โค้ชปาล์มน้ำมัน ตอบกับเว็บยางปาล์ม เมื่อได้รับคำถามถึงหลักในการเลือกใส่ปุ๋ยปาล์มน้ำมัน
เพราะฉะนั้นการบริหารจัดการเรื่องปุ๋ยจึงสำคัญที่สุด
หากต้องการเพิ่มผลผลิตให้กับสวนปาล์มน้ำมัน แต่ในเมื่อการใส่ปุ๋ยนั้นกลับเป็นต้นทุนสูงที่สุดในการทำสวนปาล์ม
ชาวสวนต้องรู้จักหลัก 4 ข้อ เสียก่อน
ถ้าหากเราใส่ปุ๋ยไปโดยที่ไม่มีความความความเข้าใจก็จะเป็นการสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์
ซึ่งคุณอรรณพ บอกว่านี่คือ หลักแห่ง 4 รู้
👉 รู้ที่
1 คือ รู้จักต้นปาล์ม รู้จักธรรมชาติของเขาว่าเป็นอย่างไร
การออกดอก การติดทะลาย เวลาการสร้างตาดอก จนถึงระยะเวลาเก็บเกี่ยวใช้เวลานานเท่าไหร่
ซึ่งทั้งหมดจะเกี่ยวโยงสัมพันธ์กับการใช้ปุ๋ยในด้านปริมาณ และสัดส่วนของปุ๋ยที่เราจะใช้
👉 รู้ที่
2 คือ รู้จักปุ๋ย ปุ๋ยที่ใช้ในส่วนปาล์มน้ำมันแบ่งเป็น
2 ประเภท ได้แก่ “ปุ๋ยเคมี”
และ “ปุ๋ยอินทรีย์” โดย อรรณพ สุราษฎร์ฯ นิยามปุ๋ยอินทรีย์ว่าใช้เพื่อเพิ่มอินทรียวัตถุให้กับดิน
มีหน้าที่ปรับโครงสร้างดิน เน้นบำรุงดินให้มีความสมบูรณ์
ส่วนปุ๋ยเคมีทำหน้าที่เป็นอาหารของพืช
เสริมสร้างการเติบโต เสริมสร้างความสมบูรณ์ให้ส่วนต่างๆ ของพืช
เพราะในปุ๋ยเคมีจะมีธาตุอาหารหลักที่พืชต้องการ อย่าง ไนโตรเจน (N), ฟอสฟอรัส (P), โพแทสเซียม (K), แมกนีเซีย (Mg)และ
โบรอน (B) ที่มีปริมาณสูง
นั่นหมายความว่าปาล์มจะให้ผลผลิตดี
มีผลผลิตสูง ต้องได้รับทั้งปุ๋ยเคมีและอินทรีย์ควบคู่กันอย่างเหมาะสม
👉 รู้ที่
3 รู้จักดิน ดินในสวนเราเป็นดินประเภทใด เช่น
ลักษณะเป็นดินเหนียว ดินร่วน ดินทราย หรือมีค่า pH เป็นกรด, เป็นกลาง หรือเป็นด่าง
รวมทั้งมีปริมาณอินทรียวัตถุมากหรือน้อยเพียงใด
เพราะปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลเจริญเติบโตกับต้นปาล์มด้วย
👉 รู้ที่
4 รู้จักสภาพพื้นที ว่าสวนเรามีสภาพพื้นที่เป็นอย่างไร
อยู่ในพื้นที่ลาดชัน, อยู่ในที่ลุ่มต่ำ
หรือ เป็นที่นา มีน้ำท่วมบ่อยๆ หรือไม่
ซึ่งการที่เรารู้จักสภาพพื้นที่นี้สำคัญที่สุด
เพราะจะต้องมีการจัดเตรียมพื้นที่ก่อนปลูก
ยกตัวอย่าง หากเป็นที่นามีน้ำท่วมขังปีละ
3-4 เดือน
เจ้าของสวนจำเป็นต้องปรับพื้นที่ให้ด้วยการขุดยกร่องก่อนปลูกเพื่อจัดการกับปัญหาเรื่องน้ำขังนี้
เพราะพื้นที่น้ำขังจะไม่สามารถใส่ปุ๋ยได้ อีกทั้งการลำเลียงผลผลิตก็จะทำได้อย่างยากลำบาก
จะเห็นได้ว่า ทั้ง 4 รู้ ล้วนเชื่อมโยงไปถึงการใส่ปุ๋ย เพราะสุดท้ายแล้ววิธีการที่จะทำให้ต้นปาล์มน้ำมันได้ผลผลิตสูงก็คือการใส่ปุ๋ยนั่นเอง
🚩หลักการใส่ปุ๋ยปาล์มน้ำมันของ อรรณพ สุราษฎร์ฯ
✔ วางแผนการใส่ปาล์มน้ำมันแบบรายปี
ในแผนประกอบด้วยข้อมูลว่าต้องใส่ปุ๋ยชนิดบ้าง
ใส่ทั้งหมดกี่ครั้ง
เมื่อมีแผนที่ชัดเจนแล้วก็สามารถปฏิบัติตามได้อย่างอย่างง่ายดาย
✔ ประเภทของปุ๋ยที่ใส่
เพราะปุ๋ยแต่ละชนิดมีความสามารถในการสลายตัวต่างกัน
บางชนิดต้องใส่ช่วงต้นฝน บางชนิดสามารถใส่รอฝนได้ เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส
โพแทสเซียม แมกนีเซียม โบรอน
✔ ใส่ตรงไหน หรือบริเวณที่เราต้องใส่ปุ๋ย
เพราะที่จริงแล้วปุ๋ยแต่ละชนิดเราสามารถใส่ในจุดที่ต่างกันได้ แต่โดยรวมแล้วปุ๋ยทุกชนิดใส่บนกองทางได้ เนื่องจากบริเวณกองทางมีอินทรียวัตถุอยู่จำนวนมาก เมื่อเราใส่ปุ๋ยบริเวณที่มีอินทรียวัตถุๆ นั้นจะช่วยดูดซับปุ๋ยเอาไว้แล้วค่อยๆ ปลดปล่อยธาตุอาหารให้ต้นปาล์มมีเวลาได้นำไปใช้ได้นานขึ้น ซึ่งโดยปกติแล้วบริเวณที่มีอินทรียวัตถุจะมี pH ใกล้เคียง 6.5 ซึ่งที่เหมาะสมที่ต้นปาล์มจะนำไปใช้ได้มากกว่าดินที่ pH ที่เป็นกรด จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เราต้องใส่ปุ๋ยบนกองทาง
✔ ปริมาณที่ใส่
การใส่ปุ๋ยต้องคำนึงถึงความต้องการของต้นปาล์มน้ำมันเป็นหลัก
เริ่มต้นจะยึดมาตรฐานกรมวิชาการเกษตรเป็นหลัก โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่
👉 ต้นปาล์มก่อนให้ผลผลิต ก็คือ เริ่มนับจากหลังปลูกไปจนถึงอายุ
3 ปี ปริมาณการใส่แนะนำให้ใส่ให้มากกว่าค่ามาตรฐาน
หรือใส่ให้เกินความต้องการของต้นปาล์มเล็กน้อย
เพราะปาล์มอายุน้อยต้องต้องการธาตุอาหารเข้าไปสร้างลำต้น ส่วนของช่อดอก
ส่วนของทางใบ หากใส่น้อยเกินไปจะทำให้ต้นปาล์มเกิดการชะงักหรือขาดธาตุอาหาร
เราอาจจะเคยเห็นต้นปาล์มอายุน้อยที่บางสวนออกดอกตัวเมียมาแล้วลีบฝ่อแสดงว่าได้รับปุ๋ยไม่เพียงพอ
👉 ช่วงต้นปาล์มให้ผลผลิตแล้ว อายุ 3-4 ปีขึ้นไป จะใช้หลักเกณฑ์ 2 ประการในการใส่ปุ๋ย คือ ใส่ปุ๋ยตามแผนที่วางไว้ และ ใส่ตามอาการขาดสารอาหารของพืชที่แสดงออกมา เช่น หากใบเหลืองแสดงว่าขาดไนโตรเจน, ถ้าต้นเป็นทรงปีรามิดเป็นอาการขาดฟอสฟอรัส, ทางใบมีจุดสีสนิมอาจขาดโพแทสเซียม หรือว่าปลายใบหงิกงอ ปลายใบงอเป็นรูปตะขอนั้นค่อนข้างชัดเจนว่าขาดโบรอน
เมื่อเราใส่ตามแผนที่วางไว้แล้วเราจะรู้ว่าปุ๋ยที่เราใส่ไปนั้นเหมาะสมหรือไม่ก็ต่อเมื่อมีผลผลิตออกมา คือ ปริมาณผลผลิต/ไร่/ปี และสังเกตจากการอาการขาด จากลักษณะต้น ใบ ว่ามีอาการผิดปกติหรือไม่อย่างไร ซึ่งปริมาณของผลผลิตนี้ไม่สามารถที่จะเอาผลผลิตแต่ละช่วงเดือนมาพิจารณาได้
วิธีการของการคำนวณปริมาณผลผลิตคือ
ใช้ค่าผลรวมของผลผลิตทั้งปีมาหารจำนวนพื้นที่ ก็จะได้เป็นข้อมูลผลผลิต/ไร่/ปี เมื่อเรามีข้อมูลก็สามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการสินใจว่าจะเพิ่มหรือลดปุ๋ยในปีต่อไป
🚩ปัจจัยที่มีผลกับประสิทธิภาพของปุ๋ย
ปัจจัยที่เป็นตัวแปรหลักนอกจากปริมาณปุ๋ยที่ใส่ให้กับต้นปาล์มก็คือ
เรื่องความชื้น ปริมาณน้ำฝนเป็นหลัก
ยกตัวอย่าง ปีที่ฝนตกตลอดต่อเนื่องทั้งปีมักพบว่าในปีถัดไปต้นปาล์มน้ำมันจะมีทะลายมากกว่าปีที่ผ่านแล้ง
และปีที่ผ่านแล้งจะเห็นว่าในปีต่อมาต้นปาล์มจะออกดอกตัวผู้มากกว่า
เมื่อสาเหตุเกิดจากธรรมชาติที่ควบคุมไม่ได้ คุณอรรณพจึงหันมาให้ให้ความสำคัญกับช่วงเวลาใส่ปุ๋ยต้องมีความชื้น และเน้นให้ใส่ในปริมาณน้อย แต่บ่อยขึ้น สาเหตุที่ต้องใส่ในปริมาณน้อย ก็เพื่อลดความเสี่ยงจากเหตุที่ไม่คาดฝัน เช่น ฝนตกอย่างหนัก น้ำท่วม ปุ๋ยจะเกิดการชะล้าง หรือภาวะแล้งยาวนานจะทำให้ปุ๋ยเกิดการระเหิด ดังนั้นการใส่ปุ๋ยครั้งละน้อยในช่วงที่พอจะมีความชื้นจะช่วยลดการสูญเสียนี้ได้
🚩ปุ๋ยไม่มีสูตรสำเร็จ ใส่เลียนแบบตามกันไม่ได้
หลายครั้งเกษตรกรที่มีความตั้งในการใส่ปุ๋ยมักถามว่า
“ใส่ปุ๋ยอะไรดี ใส่เท่าไหร่ดี” ซึ่งตรงนี้อาจจะต้องย้อนกลับไปดูว่าในปีนี้ได้ใส่ปุ๋ยอะไรไปบ้างแล้ว
เพื่อนำมาเป็นข้อมูลเบื้องต้นว่าควรใส่ปุ๋ยอะไรเพิ่มเข้าไป อาจจะเริ่มที่นำมาเปรียบเทียบกับตารางใส่ปุ๋ยของกรมวิชาการเกษตรก่อน
เมื่อใส่ครบตามที่แนะนำแล้วค่อยมาสังเกตเพิ่มเติมว่าต้นปาล์มของเราให้ผลผลิตเป็นที่น่าพึงพอใจหรือไม่
พร้อมกับสังเกตต้นปาล์มว่ามีการแสดงอาการขาดธาตุอาหารใดๆ
หรือไม่ หากต้นแสดงอาการขาดธาตุอาหารชนิดไหนก็ใส่เพิ่มเข้าไปได้อีก
นี่เป็นสาเหตุที่หลายๆ
ท่านแนะนำให้ใส่แม่ปุ๋ยเพื่อจะได้เพิ่มลดปริมาณปุ๋ยได้ตรงตามความต้องการของต้นปาล์มน้ำมันนั่นเอง
สำหรับเกษตรกรที่สะดวกใช้ปุ๋ยสูตรก็ไม่ผิดกติกา หากใส่ปุ๋ยสูตรแล้วต้นปาล์มยังแสดงอาการขาดธาตุอาหารอยู่ก็สามารถใช้แม่ปุ๋ยเติมได้ไม่ผิดกติกาใดๆ นี่จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมการใส่ปุ๋ยจึงไม่มีสูตรสำเร็จและลอกเลียนแบบกันไม่ได้
🚩ผลลัพธ์จากการใส่ปุ๋ยตามหลักของอรรณพ
สุราษฎร์ฯ
✅ ต้นทุนปุ๋ยลดลง เพราะใช้แม่ปุ๋ย
และใส่ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ อรรณพ สุราษฎร์ฯ บอกกับเว็บยางปาล์ม ว่า “เพราะจากเมื่อก่อนเราใส่ปุ๋ยสูตรซึ่งมันก็มีราคาค่อนข้างสูง
พอมาใช้แม่ปุ๋ย เราไปซื้อแม่ปุ๋ยแยกแล้วใส่ทีละตัว ต้นทุนค่าปุ๋ยลดลง 15-20%”
✅ ผลผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเมื่อก่อนได้ 3-4 ตัน/ไร่/ปี
ตอนนี้ขยับขึ้นมาเป็น 4-6 ตัน/ไร่/ปี แต่ไม่ได้หมายความว่าจะขยับทันทีทันใด
แต่ใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี ต้องมาจากการบำรุงอย่างต่อเนื่อง
และดูจากจดบันทึกดูสถิติของผลผลิต
✅ วางแผนการใส่ปุ๋ยในรอบต่อไปได้อย่างแม่นยำ เมื่อเราเห็นผลผลัพธ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการวางแผนการใส่ปุ๋ยของเราแล้ว
และมีการจดบันทึกเป็นข้อมูลทั้งหมดก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของผลประกอบการของสวน
เราก็สามารถวางแผนการใส่ปุ๋ยของเราในปีถัดไปได้ง่ายขึ้น
ขอขอบคุณ
คุณอรรณพ ยังวนิชเศรษฐ
อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี โทรศัพท์ :
08-1895-1511
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น