ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

ความเป็น “กรด” เป็น “ด่าง” ของดิน มีผลต่อธาตุอาหารในดินอย่างไร..?

ความเป็นกรดด่างของดิน มีความสำคัญอย่างมากต่อการเจริญเติบโตของพืช ดินที่มีปฏิกิริยาเป็นกรดมากๆ พืชจะไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร เนื่องจากธาตุอาหารในดินที่เป็นประโยชน์ต่อพืชบางชนิดจะเปลี่ยนไปอยู่ในรูปที่พืชไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ หรืออาจมีธาตุโลหะบางชนิดที่ละลายออกมามากจนถึงระดับที่เป็นพิษต่อพืช

 

ความเป็นกรดเป็นด่าง นิยมบอกเป็นค่าพีเอช (pH) ซึ่งมีค่าอยู่ระหว่าง 1-14 ค่าที่เป็นกลาง คือ 7 ถ้าค่าพีเอชต่ำกว่า 7 ถือว่าดินมีสภาพเป็นกรด และถ้าพีเอชต่ำกว่า 4 ถือว่าดินมีสภาพเป็นกรดรุนแรงมาก ส่วนค่าพีเอชสูงกว่า 7 จัดว่าเป็นดินด่าง

 

ความกว้างของแถบที่ระดับพีเอช แสดงปริมาณเชิงเปรียบเทียบถึงความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารต่างๆ ในดิน ดินที่มีพีเอช 6-7 ความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารในดินมีอยู่ในปริมาณที่เหมาะต่อการเจริญเติบโตและการสร้างผลผลิตของพืช

 

ในสภาพดินเป็นกรด ปริมาณธาตุบางชนิด อาทิ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม กำมะถัน แคลเซียม และแมกนีเซียม จะมีปริมาณต่ำ ตัวอย่างเช่น เมื่อพีเอชต่ำกว่า 6 ไนโตรเจนและกำมะถันที่เป็นประโยชน์ต่อพืชเริ่มลดลง เมื่อพีเอชต่ำกว่า 4 ปริมาณไนโตรเจนและกำมะถันจะมีปริมาณน้อยมาก

 

ทั้งนี้ ระดับความเป็นกรดไม่ได้มีผลโดยตรงต่อปริมาณไนโตรเจนและกำมะถันในดิน แต่เกี่ยวพันในทางอ้อมกับกิจกรรมจุลินทรีย์ในดินที่เป็นตัวกำหนดความเป็นประโยชน์ของธาตุเหล่านี้ในดิน

 

เมื่อดินเป็นกรดจัด กิจกรรมของจุลินทรีย์จะเกิดขึ้นได้ช้ามากทำให้การย่อยสลายอินทรียวัตถุและการปลดปล่อยธาตุอาหารลงสู่ดินเกิดขึ้นได้น้อย ปริมาณไนโตรเจนและกำมะถันที่เป็นประโยชน์ต่อพืชจึงต่ำ

สำหรับฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ในดินกรดรุนแรงหรือดินเปรี้ยวจัด จะเกิดการตรึงในรูปเหล็กฟอสเฟตหรืออะลูมินัมฟอสเฟต ทำให้พืชดูดใช้ฟอสฟอรัสได้ยากมาก ส่วนระดับแคลเซียม แมกนีเซียม และโพแทสเซียมในดินกรดรุนแรงหรือดินเปรี้ยวจัดจะมีปริมาณต่ำ เพราะธาตุอาหารพวกนี้ถูกชะละลายออกจากดินได้ง่ายมาก

 

ในขณะที่จุลธาตุบางชนิด เช่น เหล็ก เป็นต้น จะมีอยู่ในปริมาณมากในดินที่เป็นกรดจัด โดยเฉพาะเมื่อพีเอชต่ำกว่า 5 การเจริญเติบโตของพืชอาจจะได้รับผลกระทบจากปริมาณธาตุอาหารที่มากเกินไป จนอาจเป็นอันตรายต่อการเจริญเติบโตของพืชได้

 

ในสภาพดินเป็นด่าง ระดับของธาตุไนโตรเจน แคลเซียม แมกนีเซียม เหล็ก มีในปริมาณต่ำ เช่น ปริมาณไนโตรเจนจะลดลงเมื่อดินมีพีเอชสูงกว่า 8 ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับกิจกรรมของจุลินทรีย์ในการย่อยสลายและปลดปล่อยไนโตรเจนลงสู่ดิน

 

ในขณะเดียวกัน ปริมาณแคลเซียมจะลดลงมาก เมื่อดินที่มีพีเอชสูงกว่า 8.5 เนื่องจากดินจะมีประจุบวกที่แลกเปลี่ยนได้ส่วนใหญ่เป็นโซเดียม ทำให้ปริมาณแคลเซียมมีน้อยลง ในขณะที่ธาตุฟอสฟอรัส โพแทสเซียม กำมะถัน โบรอน โมลิบดีนัม มีอยู่ในปริมาณที่สูง

 

จากความสัมพันธ์ระหว่างพีเอชและปริมาณธาตุอาหารที่เป็นประโยชน์ในดินดังกล่าว การใช้วัสดุปรับปรุงดิน เช่น วัสดุปูน จะช่วยยกระดับพีเอชของดินให้สูงขึ้น ลดความรุนแรงของกรด จะช่วยเพิ่มความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารและทำให้เกิดความสมดุลของธาตุอาหารต่างๆ ในดิน โดยเฉพาะไนโตรเจน ฟอสฟอรัส แคลเซียม​ แมกนีเซียม เป็นต้น นอกจากนั้นยังช่วยลดธาตุโลหะบางชนิด เช่น เหล็ก อะลูมินัม เป็นต้น ในดิน ซึ่งมีอยู่ในปริมาณมากเกินไปในสภาพที่ดินเป็นกรด

 ที่มา : กรมพัฒนาที่ดิน

 

ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม