ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

สรุปสถานการณ์อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันปี 2566 และแนวโน้มปี 2567

 

สถานการณ์อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของโลกปี 2566

📌 สถานการณ์ของโลก 

👉การผลิต

ปี 2561/62 - 2565/66 ผลผลิตน้ำมันปาล์มของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.88 ต่อปี โดยปี 2565/66 มีผลผลิตน้ำมันปาล์ม 77.56 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 72.96 ล้านตัน ในปี 2564/2565 ร้อยละ 6.30 เนื่องจากแหล่งผลิตปาล์มน้ำมันที่สำคัญของโลก ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเชีย และไทย มีปริมาณผลผลิตน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น โดยอินโดนีเซียผลิตน้ำมันปาล์มได้ 46.00 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 42.00 ล้านตัน ในปี 2564/65 ร้อยละ 9.52 มาเลเซียผลิตน้ำมันปาล์มได้ 18.39 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 18.15 ล้านตัน ในปี 2564/65 ร้อยละ 1.32 ทั้งสองประเทศมีสัดส่วนการผลิตร้อยละ 83.02 ของผลผลิตน้ำมันปาล์มโลก

 

สำหรับไทยผลิตได้เป็นอันดับที่ 3 ของโลก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 4.41 ของผลผลิตน้ำมันปาล์มโลก และในปี 2565/66 มีผลผลิตน้ำมันปาล์ม 3.42 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 3.38 ล้านตัน ในปี 2564/65 ร้อยละ 1.18

👉การตลาด

ความต้องการใช้ ปี 2561/62 - 2565/66 ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.95 ต่อปี โดยปี 2565/66 มีความต้องการใช้น้ำมันปาล์ม 74.64 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 69.52 ล้านตัน ในปี 2564/65 ร้อยละ 7.36 เนื่องจากอินโดนีเซียประเทศผู้ใช้น้ำมันปาล์มมากที่สุด มีปริมาณการใช้ 19.09 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 17.43 ล้านตัน ในปี 2564/65 ร้อยละ 9.52 จากมาตรการเพิ่มสัดส่วนน้ำมันปาล์มในน้ำมันดีเซลจากเดิม ร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 35 และความต้องการใช้น้ำมันปาล์มในอุตสาหกรรมและครัวเรือนที่มากขึ้น

 

ในขณะที่ประเทศที่ใช้น้ำมันปาล์มในลำดับรองลงมา คือ อินเดีย และจีน มีปริมาณการใช้ในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 9.20 และร้อยละ 9.80 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการในประเทศเริ่มฟื้นตัวตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด 19 เริ่มคลี่คลาย และราคาน้ำมันปาล์มที่ปรับตัวลดลง กระตุ้นความต้องการใช้ในประเทศมากขึ้น


👉การส่งออก

ปี 2561/62 - 2565/66 ปริมาณการส่งออกน้ำมันปาล์มของโลกมีแนวโน้มลดลงร้อยละ 1.76 ต่อปี โดยปี 2565/66 มีปริมาณการส่งออก 49.42 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 43.97 ล้านตัน ในปี 2564/65 ร้อยละ 12.39 เนื่องจากอินโดนีเซีย ผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก ส่งออกน้ำมันปาล์มได้มากขึ้น โดยเฉพาะส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าที่สำคัญ คือ จีน และอินเดีย โดยมีปริมาณการส่งออก 28.08 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 22.32 ล้านตัน ในปี 2564/65 ร้อยละ 25.81 ขณะที่มาเลเซียมีปริมาณการส่งออก 15.36 ล้านตัน ลดลงจาก 15.53 ล้านตันในปี 2564/65 ร้อยละ 1.09 เนื่องจากมีความต้องการใช้ภายในประเทศมากขึ้น ทำให้มีการส่งออกลดลง

 

👉การนำเข้า

ปี 2561/62 - 2565/66 ปริมาณการนำเข้าน้ำมันปาล์มของโลกมีแนวโน้มลดลงร้อยละ 2.19ต่อปี โดยปี 2565/66 มีปริมาณการนำเข้า 47.43 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 41.70 ล้านตัน ในปี 2564/65 ร้อยละ 13.74 ซึ่งการนำเข้าของอินเดียและจีนเพิ่มขึ้นจากปี 2564/65 ร้อยละ 24.38 และร้อยละ 41.00 ตามลำดับ เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของจีนหลังยกเลิกมาตรการ Zero-COVID และในช่วงเทศกาลสำคัญของอินเดีย เช่น เทศกาลดิวาลี ส่งผลให้มีความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคเพิ่มขึ้น รวมถึงราคาน้ำมันปาล์มปรับตัวลดลงทำให้มีการนำเข้าเพิ่มขึ้น

👉ราคา

1) ราคาน้ำมันปาล์มดิบตลาดมาเลเซีย ปี 2562 - 2566 ในสกุลริงกิตและเมื่อแปลงให้อยู่ในรูปเงินบาทแล้วพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.92 ต่อปี และร้อยละ 20.18 ต่อปี ตามลำดับโดยปี 2566 ราคาน้ำมันปาล์มดิบเฉลี่ยตันละ 3,843.03 ริงกิต (29.76 บาทต่อกิโลกรัม) ลดลงจาก 5,122.84 ริงกิต (41.28 บาทต่อกิโลกรัม) ในปี 2565 ร้อยละ 24.98 และลดลงในรูปเงินบาทร้อยละ 27.91


2) ราคาน้ำมันปาล์มดิบตลาดรอตเตอร์ดัม ปี 2562 - 2566 ในสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ และเมื่อแปลงให้อยู่ในรูปเงินบาทแล้วพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.31 ต่อปี และร้อยละ 22.36 ต่อปี ตามลำดับโดยปี 2566 ราคาน้ำมันปาล์มดิบเฉลี่ยตันละ 958.00 ดอลลาร์สหรัฐฯ (33.43 บาทต่อกิโลกรัม) ลดลงจาก 1,349.95 ดอลลาร์สหรัฐฯ (47.20 บาทต่อกิโลกรัม) ในปี 2565 ร้อยละ 29.03 และลดลงในรูปเงินบาทร้อยละ 29.17

 

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลงจากปริมาณผลผลิตน้ำมันปาล์มโลกเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันพืชโลกมีแนวโน้มลดลง ภายหลังจากที่ประเทศยูเครน สามารถส่งออกน้ำมันเมล็ดดอกทานตะวันได้มากขึ้น 

📌 สถานการณ์ของไทย 

👉การผลิต

ปี 2562 - 2566 เนื้อที่ให้ผล ผลผลิต และผลผลิตต่อไร่ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.41 ต่อปี ร้อยละ 3.48 ต่อปี และร้อยละ 1.04 ต่อปี ตามลำดับ โดยปี 2566 มีเนื้อที่ให้ผล 6.25 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจาก 6.13 ล้านไร่ ในปี 2565 ร้อยละ 1.96

 

สำหรับผลผลิตอยู่ที่ 18.20 ล้านตัน และผลผลิตต่อไร่ 2,912 กิโลกรัม ลดลงจากผลผลิต 18.59 ล้านตัน และผลผลิตต่อไร่ 3,030 กิโลกรัม ในปี 2565 ร้อยละ 2.10 และร้อยละ 3.89ตามลำดับ เนื่องจากต้นปาล์มน้ำมันที่ปลูกใหม่แทนการปลูกยางพาราและพื้นที่รกร้างในปี 2563 เริ่มให้ผลผลิตแล้ว แต่จากสภาพอากาศร้อนแล้งช่วงต้นปีจนถึงเดือนเมษายน 2566 ทำให้ต้นปาล์มน้ำมันไม่สมบูรณ์ ทางใบพับ และช่อดอกตัวเมียฝ่อ ส่งผลให้ผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ลดลงจากปีก่อน

 

👉การตลาด

(1) ความต้องการใช้ ปี 2562 - 2566 ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบในภาคการบริโภคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.69 ต่อปี ขณะที่ภาคพลังงานมีแนวโน้มลดลงร้อยละ 11.68 ต่อปี โดยปี 2566 มีความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพื่อการบริโภค 1.41 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 1.25 ล้านตัน ในปี 2565 ร้อยละ 12.95 และมีความต้องการใช้น้ำมันปาล์มดิบเพื่อพลังงานทดแทน 1.05 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 0.92 ล้านตัน ในปี 2565 ร้อยละ 13.93 เนื่องจากมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลดีต่อภาคธุรกิจด้านการบริการทั้งร้านอาหารและโรงแรม และธุรกิจด้านคมนาคม ทำให้มีความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อบริโภคและเพื่อพลังงานทดแทนมากขึ้น


(2) การส่งออกปี 2562 - 2566 ปริมาณและมูลค่าการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบและผลิตภัณฑ์ของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.91 ต่อปี และร้อยละ 69.44 ต่อปี ตามลำดับ โดยในปี 2566 คาดว่ามีปริมาณการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบและผลิตภัณฑ์ 1,025,000 ตัน มูลค่า 33,400 ล้านบาท ลดลงจาก 1,100,479 ตัน มูลค่า 51,358 ล้านบาท ในปี 2565 ร้อยละ 6.86 และร้อยละ 34.97 เนื่องจากราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกปรับตัวลดลง ในขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มในประเทศสูงกว่าราคาตลาดโลก ประกอบกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ทำให้ความสามารถในการแข่งขันในการส่งออกของไทยลดลง


(3) การนำเข้าปี 2562 - 2566 ปริมาณการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบและผลิตภัณฑ์ของไทยมีแนวโน้มลดลงร้อยละ 9.43 ต่อปี แต่มูลค่าการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบและผลิตภัณฑ์ของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.47 ต่อปีโดยในปี 2566 คาดว่ามีปริมาณการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบและผลิตภัณฑ์ 54,500 ตัน มูลค่า 3,350 ล้านบาทลดลงจาก 60,765 ตัน มูลค่า 4,360 ล้านบาท ในปี 2565 ร้อยละ 10.31 และร้อยละ 23.16 ตามลำดับ

👉ราคา 

ราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มของไทยขึ้นอยู่กับปริมาณผลผลิต ปริมาณการใช้และสต็อกภายในประเทศ รวมทั้งสถานการณ์ราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลก โดยราคามีความเคลื่อนไหว ดังนี้

  • 1) ราคาผลปาล์มสดที่เกษตรกรขายได้ ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา (ปี 2562 - 2566) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.70 ต่อปี โดยปี 2566 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 5.32 บาท ลดลงจาก 7.89 บาท ในปี 2565 ร้อยละ 32.57
  • 2) ราคาน้ำมันปาล์มดิบขายส่ง กทม. ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา (ปี 2562- 2566) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.37 ต่อปี โดยปี 2566 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 31.27 บาท ลดลงจาก 43.48 บาท ในปี 2565ร้อยละ 28.08
  • 3) ราคาน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ขายส่ง กทม. ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา (ปี 2562 - 2566) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.86 ต่อปี โดยปี 2566 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 33.90 บาท ลดลงจาก 46.32 บาท ในปี 2565ร้อยละ 26.81

 

📌 แนวโน้มอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันปี 2567 

แนวโน้มของโลก

👉การผลิต

กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) คาดการณ์ว่าผลผลิตน้ำมันปาล์มของโลก ปี 2566/67มีปริมาณ 79.46 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 77.56 ล้านต้น ในปี 2565/66 ร้อยละ 2.45 เนื่องจากแหล่งผลิตปาล์มน้ำมันที่สำคัญของโลก เช่น อินโดนีเซียและมาเลเซีย ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้


👉การตลาด

ความต้องการใช้ปี 2566/67 คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันปาล์มของโลก 78.28 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 74.64 ล้านตัน ในปี 2565/66 ร้อยละ 4.88 เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนจะทำให้ภาคการผลิตและบริโภคของจีนสูงขึ้น

 

ในขณะที่อินโดนีเซียมีการขยายโครงการ Domestic Market Obligation (DMO) ที่กำหนดสัดส่วนให้ผู้ส่งออกต้องจัดหาน้ำมันปาล์มให้ภายในประเทศก่อนจึงจะส่งออกได้ ต่อไปในปี 2567 และมาตรการเพิ่มสัดส่วนน้ำมันปาล์มในน้ำมันดีเซลจากเดิม ร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 35 ทำให้การบริโภคภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ในอนาคตยังมีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนน้ำมันปาล์มในน้ำมันดีเซลเป็นร้อยละ 40

เพื่อให้ใช้ทรัพยากรในประเทศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและลดการพึ่งพาน้ำมันดิบ อีกทั้งแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียอยู่ในระดับดี คาดว่าจะกระตุ้นความต้องการใช้ในตลาดโลกให้สูงขึ้น ซึ่ง USDA คาดการณ์ว่าอินโดนีเซีย อินเดีย และจีน จะมีความต้องการน้ำมันปาล์ม 20.35 ล้านตัน 9.75 ล้านตัน และ 6.30 ล้านตัน ตามลำดับ


👉การส่งออก

ปี 2566/67 คาดว่ามีปริมาณการส่งออกน้ำมันปาล์มของโลก 50.71 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 49.42 ล้านตัน ในปี 2565/66 ร้อยละ 2.61 โดย USDA คาดการณ์มาเลเชียจะมีการส่งออกเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 16.50 ล้านตัน เนื่องจากมาเลเซียและจีนได้ทำข้อตกลงในการซื้อขายน้ำมันปาล์มระหว่างกันส่งผลให้มาเลเซียสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้น ในขณะที่การส่งออกของอินโดนีเซียลดลงอยู่ที่ 28.30 ล้านตัน เนื่องจากมาตรการการใช้น้ำมันปาล์มในด้านพลังงาน โดยการเพิ่มสัดส่วนการผสมน้ำมันไบโอดีเซล ทำให้มีการใช้น้ำมันปาล์มในประเทศมากขึ้น ส่งผลให้มีการส่งออกลดลง


👉การนำเข้า

ปี 2566/67 คาดว่ามีปริมาณการนำเข้าน้ำมันปาล์มของโลก 48.56 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 47.43 ล้านตัน ในปี 2565/66 ร้อยละ 2.38 เนื่องจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน ทำให้ความต้องการน้ำมันปาล์มในประเทศเพิ่มขึ้น โดย USDA คาดว่าจีนจะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 6.40 ล้านตัน และอินเดียจะมีการนำเข้าลดลงเป็น 9.30 ล้านตัน เนื่องจากอินเดียมีการนำเข้าน้ำมันปาล์มในปี 2566 เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้สต็อกน้ำมันปาล์มในประเทศเพิ่มขึ้น จึงคาดว่าจะมีการนำเข้าลดลง


👉ราคา

ปี 2567 คาดว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น ตามความต้องการน้ำมันปาล์มของโลกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้สต็อกน้ำมันปาล์มมีแนวโน้มลดลง จึงคาดว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดโลก (อ้างอิงตลาดมาเลเซีย) จะมีการเคลื่อนไหวเฉลี่ยตันละ 3,958 ริงกิต (29.68 บาทต่อกิโลกรัม) หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2566 ร้อยละ 2.99

 

📌 แนวโน้มอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของไทยปี 2567 

👉การผลิต

ปี 2567 คาดว่ามีเนื้อที่ให้ผล 6.38 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจาก 6.25 ล้านไร่ ในปี 2566 ร้อยละ 2.08 สำหรับผลผลิตอยู่ที่ 18.10 ล้านตัน และผลผลิตต่อไร่ 2,836 กิโลกรัม ลดลงจากผลผลิต 18.20 ล้านตัน และผลผลิตต่อไร่ 2,9 12 กิโลกรัม ในปี 2566 ร้อยละ 0.55 และร้อยละ 2.61 ตามลำดับ เนื่องจากสภาพอากาศร้อนแล้งในช่วงเดือนมกราคมจนถึงเมษายน 2566 และกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 จนถึงต้นปี 2567 สภาวะเอลนีโญ อาจมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น อาจส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอต่อความต้องการของต้นปาล์มน้ำมัน ต้นจึงไม่สมบูรณ์ จำนวนทะลายและน้ำหนักทะลายของปาล์มน้ำมันที่คาดว่าจะเก็บเกี่ยวได้ในปี 2567 จึงมีแนวโน้มลดลง


👉การตลาด

(1) ความต้องการใช้ปี 2567 คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภค 1.38 ล้านตัน ลดลงจาก 1.41 ล้านตัน ในปี 2566 ร้อยละ 2.48 ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อพลังงานทดแทน 1.01 ล้านตัน ลดลงจาก 1.05 ล้านตัน ในปี 2566 ร้อยละ 3.34 เนื่องจากในปี 2567 คาดว่าภาวะเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว ทำให้ผู้บริโภคใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง ส่งผลกระทบทั้งภาคธุรกิจด้านการบริการร้านอาหาร โรงแรม และธุรกิจด้านคมนาคม ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อบริโภคและเพื่อพลังงานทดแทนลดลง


👉การส่งออก

ปี 2567 คาดว่าปริมาณและมูลค่าการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบและผลิตภัณฑ์ของไทย 1,000,000 ตัน มูลค่า 27,380 ล้านบาท ลดลงจากปริมาณ 1,025,000 ตัน มูลค่า 33,400 ล้านบาท ในปี 2566 ร้อยละ 2.44 และร้อยละ 18.02 ตามลำดับ เนื่องจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และการเสียเปรียบด้านต้นทุนการผลิต ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันการส่งออกน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์ของไทยลดลง


👉การนำเข้า

ปี 2567 คาดว่าปริมาณการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบและผลิตภัณฑ์ของไทย 57,000 ตันเพิ่มขึ้นจาก 54,500 ตัน ในปี 2566 ร้อยละ 4.59 มูลค่าการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบและผลิตภัณฑ์ของไทย 2,571 ล้านบาท ลดลงจาก 3,350 ล้านบาท ในปี 2566 ร้อยละ 23.25


👉ราคา

ราคาน้ำมันปาล์มดิบภายในประเทศเคลื่อนไหวตามราคาตลาดโลก ในปี 2567 คาดว่าราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกมีนาโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นตามปริมาณความต้องการใช้น้ำมันปาล์มของโลกที่เพิ่มขึ้นประกอบกับการคาดการณ์ว่าผลผลิตในประเทศจะมีปริมาณลดลงจากสภาวะเอลนีโญ ส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์มในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าราคาน้ำมันปาล์มอยู่ที่กิโลกรัมละ 31.70 บาท และราคาผลปาล์มสดอยู่ที่กิโลกรัมละ 5.70 บาท

 

📌 ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อปริมาณการผลิต การส่งออก และราคา 

✅ปัจจัยด้านบวก

  • (1) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการส่งเสริมการท่องเที่ยว คาดช่วยเพิ่มปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มในภาคธุรกิจบริการ และภาคคมนาคม
  • (2) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน คาดทำให้ภาคการผลิตและบริโภคของจีนสูงขึ้น และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของอินเดีย ทำให้การบริโภคขยายตัว ซึ่งอาจส่งผลให้มีความต้องการน้ำมันปาล์มมากขึ้น
  • (3) คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 เห็นชอบการขยายระยะเวลาการจ่ายเงินชดเชยให้แก่น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพออกไปอีก 2 ปี จนถึงวันที่ 24 กันยายน 2567 จากเดิมที่การจ่ายเงินชดเชยฯ ดังกล่าว จะสิ้นสุดลงในวันที่ 24 กันยายน 2565 ตามที่พระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงพ.ศ. 2562 กำหนดไว้ ซึ่งการขยายระยะเวลาการจ่ายเงินชดเชยฯ จะทำให้ยังมีกลไกในการรักษาระดับค่าการตลาดของน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยการสร้างส่วนต่างราคาขายปลีก เพื่อจูงใจให้มีการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพอย่างต่อเนื่อง ส่งผลบวกทำให้มีการใช้น้ำมันปาล์ม เพื่อผลิตไบโอดีเซลอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน

❎ปัจจัยด้านลบ

  • (1) จากสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น รัสเชียและยูเครน อาจส่งผลต่อราคาปุ๋ยและราคาน้ำมันดิบ กระทบต่อต้นทุนการผลิตและการขนส่ง
  • (2) องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก แจ้งเตือนปรากฏการณ์เอลนีโญ โดยเอลนีโญทำให้ปริมาณฝนลดลงกระทบต่อการเจริญเติบโตของต้นปาล์มน้ำมัน และส่งผลให้ปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันลดลง
  • (3) ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน ทั้งจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อปรับลดอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัว
  • (4) EU Deforestation Free Regulation โดยกฎระเบียบนี้กำหนดให้ระบุแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่ต้องไม่ได้มาจากการทำลายป่า รวมถึงมีระบบการติดตาม และตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งข้อบังคับนี้ส่งผลให้การส่งออกสินค้าไปประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปมีต้นทุนในการบริหารจัดการมากขึ้น และกระทบต่อปริมาณการส่งออกและความสามารถในการส่งออกของไทย ทั้งนี้กฎระเบียบนี้อาจจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2567
  • (5) สหภาพยุโรปมีนโยบาย Green Deal ที่มีข้อเสนอในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิอย่างน้อยร้อยละ 55 ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยมีแผนที่จะยุติการใช้น้ำมันปาล์มเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ เนื่องจากทางสหภาพยุโรปมีความเชื่อว่าปาล์มน้ำมันมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายป่า ซึ่งทำให้ความต้องการใช้น้ำมันปาล์มในยุโรปแนวโน้มลดลงในระยะยาว
  • (6) นโยบายภาครัฐในการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) ตามนโยบาย 30@30 ซึ่งมีเป้าหมายการผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573 ซึ่งจะส่งผลทำให้การใช้ไบโอดีเซลและน้ำมันปาล์มดิบเพื่อผลิตไบโอดีเซลลดลงในอนาคต
  • (7) การส่งเสริมการใช้น้ำมันตามมาตรฐานการปล่อยไอเสียยูโร 5 (EURO 5) ตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป เพื่อลดมลภาวะทางอากาศ โดยเฉพาะ PM2.5 ทั้งนี้ หากน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 ยังไม่ได้มาตรฐานEURO 5 คาดส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มในภาคพลังงานลดลง
ตาราง

ที่มา: สถานการณ์สินค้าเกษตรที่สำคัญและแนวโน้ม ปี 2567 สำนักเศรษฐกิจการเกษตร

ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม