ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

สรุปสถานการณ์อุตสาหกรรมยางพาราปี 2566 และแนวโน้มปี 2567

สถานการณ์อุตสาหกรรมยางพาราปี 2566 

📌 สถานการณ์อุตสาหกรรมยางพาราของโลก 

👉 การผลิต

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตยางพาราโลกโดยภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.31 ต่อปี โดยเพิ่มขึ้นจาก 13.802 ล้านตัน ในปี 2562 เป็น 14.927 ล้านตัน ในปี 2566 เนื่องจากการขยายเนื้อที่ปลูกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและปริมาณผลผลิตต่อไร่ที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศผู้ปลูกยาง และเนื้อที่กรีดบางส่วนอยู่ในช่วงอายุยางที่เริ่มให้ผลผลิตสูง

 

ประเทศผู้ผลิตยางพารารายใหญ่ของโลก 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม และมาเลเชีย ในปี 2566 มีผลผลิตยางพารารวม 14.927 ล้านตัน โดยไทยและอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีผลผลิตมากเป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลก ผลผลิตลดลงจาก 4.848 และ 3.301 ล้านตัน ในปี 2562 เหลือ 4.707 และ 3.191 ล้านตัน ในปี 2566 หรือลดลงร้อยละ 0.74 และ 0.36 ต่อปี ตามลำดับ และประเทศมาเลเซียมีผลผลิตเป็นอันดับ 4 มีผลผลิตลดลงร้อยละ 13.32 ต่อปี ขณะที่เวียดนามที่มีผลผลิตเป็นอันดับ 3 ของโลกมีผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 1.183 ล้านตัน ในปี 2562 เป็น 1.395 ล้านตัน ในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.27 ต่อปี ทำให้ภาพรวมผลผลิตยางพาราโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.31 ต่อปี

 

👉 การตลาด

ปริมาณการใช้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปริมาณการใช้ยางพาราของโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.87 ต่อปี โดยเพิ่มขึ้นจาก 14.007 ล้านตัน ในปี 2562 เป็น 15.575 ล้านตัน ในปี 2566 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เริ่มคลี่คลาย และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีการใช้ยางพารากลับมาเพิ่มกำลังการผลิต โดยความต้องการใช้ยางพาราของประเทศต่าง ๆ มีดังนี้

 

  • จีน มีการใช้ยางเพิ่มขึ้นจาก 5.818 ล้านตัน ในปี 2562 เป็น 6.710 ล้านตัน ในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.88 ต่อปี เนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยางล้อ อุปกรณ์และอะไหล่รถยนต์ เป็นต้น นอกจากนี้ประเทศจีนยังมีมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ยางพารา เช่น ยานยนต์ การบิน เป็นต้น ทำให้จีนมีความต้องการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้น
  • สหภาพยุโรป มีการใช้ยางพารา 1.188 ล้านตัน ในปี 2562 ลดลงเหลือ 1.025 ล้านตันในปี 2563 และปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1.150 ล้านตัน ในปี 2566 ทำให้ภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.49 ต่อปี เนื่องจากมีความต้องการยางพาราในภาคการผลิตที่ใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมต่าง ๆ
  • สหรัฐอเมริกา มีการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้นจาก 1.003 ล้านตัน ในปี 2562 เป็น 1.006 ล้านตันในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.30 ต่อปี เนื่องจากมีความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ของสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น 
  • ญี่ปุ่น มีความต้องการใช้ยางพารา 0.714 ล้านตัน ในปี 2562 ลดลงเหลือ 0.581 ล้านตันในปี 2563 และเพิ่มขึ้นเป็น 0.688 ล้านตัน ในปี 2566 โดยภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.86 ต่อปี เนื่องจากมีความต้องการใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นลดลงในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 และหลังจากสถานการณ์คลี่คลายทำให้มีการใช้ยางเพิ่มขึ้น

 

👉 การส่งออก

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมการส่งออกยางพาราโลกเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.69 โดยเพิ่มจาก 9.988 ล้านตัน ในปี 2562 เป็น 10.482 ล้านตันในปี 2566 โดยประเทศผู้ส่งออกที่สำคัญนอกจากไทย มีดังนี้

 

  • อินโดนีเซีย ส่งออกยางพาราเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากไทย โดยการส่งออกลดลงจาก 2.583 ล้านตัน ในปี 2562 เหลือ 2.150 ล้านตัน ในปี 2566 หรือลดลงร้อยละ 5.17 ต่อปี
  •  เวียดนาม ส่งออกยางพาราเป็นอันดับ 3 ของโลก ส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 1.637 ล้านตัน ในปี 2562 เป็น 2.077 ล้านต้น ในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.94 ต่อปี
  • มาเลเซีย ส่งออกยางพาราเป็นอันดับ 4 ของโลก มีปริมาณการส่งออกลดลงจาก 1.058 ล้านตัน ในปี 2562 เหลือ 1.035 ล้านตัน ในปี 2566 หรือลดลงร้อยละ 1.17 ต่อปี 


👉 ราคา

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมราคายางพาราในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยราคายางพาราในตลาดโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2562 แม้ว่าในปี 2563 - 2564 จะได้รับผลกระทบจากโรคโควิด 19 และสถานการณ์ความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครน สำหรับ ในปี 2566 ทิศทางราคาปรับตัวลดลงจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้ใช้หลัก โดยราคายางพาราในตลาดต่าง ๆ มีดังนี้

 

 ราคาซื้อขายล่วงหน้าในตลาดสิงคโปร์ 

ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 เพิ่มจากกิโลกรัมละ 165.1 1 เซนต์สหรัฐฯ ในปี 2562 และเพิ่มขึ้น ต่อเนื่องเป็นกิโลกรัมละ 208.36 เซนต์สหรัฐฯ ในปี 2564 และลดลงเหลือกิโลกรัมละ 140.59 เซนต์สหรัฐฯ ในปี 2566 โดยภาพรวมราคายางปรับตัวลดลงร้อยละ 2.76 ต่อปี และเมื่อพิจารณาในรูปของเงินบาทเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 50.65 บาท ในปี 2562 เป็นกิโลกรัมละ 65.13 บาท ในปี 2564 และลดลงเหลือกิโลกรัมละ 45.86 บาท ในปี 2566 โดยภาพรวมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาปรับลดลงร้อยละ 0.61 ต่อปี 

ราคายางแท่ง เพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 140.67 เซนต์สหรัฐฯ ในปี 2562 เป็นกิโลกรัมละ 151.47 เซนต์สหรัฐฯ ในปี 2566 โดยภาพรวมราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.12 ต่อปี และเมื่อพิจารณาในรูปของเงินบาทเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 43.15 บาท ในปี 2562 เป็นกิโลกรัมละ 49.28 บาท ในปี 2566โดยภาพรวมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.33

 

 ราคาซื้อขายในตลาดล่วงหน้าญี่ปุ่น 

ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 เมื่อพิจารณาในรูปของเงินเยนเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 186.39 เยน ในปี 2562 เป็นกิโลกรัมละ 21 1.58 เยน ในปี 2566 โดยภาพรวมราคายางปรับตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.23 ต่อปี และเมื่ออยู่ในรูปของเงินบาทเพิ่มขึ้นจากกิโลกรัมละ 52.22 บาท ในปี 2562 เป็นกิโลกรัมละ 65.31 บาท ในปี 2564 และลดลงเป็นกิโลกรัมละ 50.04 บาท ในปี 2566 ซึ่งโดยภาพรวมราคายังเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.61 

 สถานการณ์อุตสาหกรรมยางพาราของไทย ปี 2566 

👉 การผลิต

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีเนื้อที่กรีดเพิ่มขึ้นจาก 20.46 ล้านไร่ ในปี 2562 เป็น 22.08 ล้านไร่ ในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.56 ต่อปี สำหรับผลผลิตลดลงจาก 4.84 ล้านตันยางดิบ ในปี 2562 เหลือ 4.71 ล้านต้นยางดิบ ในปี 2566 หรือลดลงร้อยละ 0.69 ต่อปี และผลผลิตต่อไร่ลดลงจาก 237 กิโลกรัมต่อไร่ (ยางดิบ) ในปี 2562 เหลือ 213 กิโลกรัมต่อไร่ (ยางดิบ) ในปี 2566 หรือลดลงร้อยละ 2.29 ต่อปี โดยเนื้อที่กรีดได้เพิ่มขึ้นจากการขยายพื้นที่ปลูกใหม่เริ่มให้ผลผลิต ส่วนผลผลิตต่อไร่ภาพรวมลดลงเนื่องจากการระบาดของโรคใบร่วงในพื้นที่แหล่งผลิตภาคใต้ และปรากฏการณ์เอลนีโญ ส่งผลให้ฝนทิ้งช่วง เกิดภาวะแล้ง และมีสภาพอากาศร้อนจัดทำให้เกษตรกรเปิดกรีดช้า ผลผลิตลดลง ซึ่งส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง

 

👉 การตลาด

ความต้องการใช้ยางพาราแยกตามชนิดของยาง

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ความต้องการใช้ยางพาราของไทยเพิ่มขึ้นจาก 663.084 ตัน ในปี 2562 เป็น 1,247,454 ตัน ในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.26 ต่อปี โดยเฉพาะยางผสม เนื่องจากมีความต้องการใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมยางล้อ ถุงมือยาง และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องที่มีการใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบโดยความต้องการใช้ยางพาราแยกตามชนิดได้ ดังนี้

  • ยางแผ่นรมควัน มีการใช้ในประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 47,686 ตัน ในปี 2562เป็น 150,900 ตัน ในปี 2566 โดยภาพรวมการใช้ยางแผ่นรมควันเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.61 ต่อปี เนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมยางล้อและอุตสาหกรรมต่อเนื่องในการผลิตรถยนต์

  • ยางแท่ง มีการใช้ในประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 223,602 ตันในปี 2562 เป็น 467,032 ตันในปี 2566 โดยภาพรวมการใช้ยางแท่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.12 ต่อปี จากการขยายตัวของการใช้ในอุตสาหกรรมยางล้อ และกลุ่มอะไหล่รถยนต์
  • น้ำยางข้น มีการใช้ในประเทศลดลงจาก 357,181 ตัน ในปี 2562 เหลือ 221,919 ตันในปี 2565 เนื่องจากน้ำยางข้นของไทยเน้นการส่งออกเป็นหลัก และในช่วงปี 2563 - 2565 ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ทั่วโลกมีความต้องการใช้น้ำยางข้นเพื่อใช้ผลิตถุงมือยางไทยที่เป็นผู้ส่งออกหลักจึงมีการส่งออกน้ำยางข้นมากขึ้น ทำให้มีการใช้ในประเทศน้อยลง แต่ในปี 2566 คาดการณ์ว่าจะมีการใช้น้ำยางข้นในประเทศมากขึ้น 266.303 ตัน

  • ยางผสม มีการใช้ในประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 4, 166 ตัน ในปี 2562 เป็น 253,374 ตันในปี 2566 โดยภาพรวมการใช้ยางผสมเพิ่มขึ้นร้อยละ 194.42 ต่อปี ตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ นอกจากนี้ยางผสมยังมีการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเป็นเครื่องอุปโภคในชีวิตประจำวัน จึงทำให้ความต้องการใช้ยางผสมมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้น


 
ความต้องการใช้ยางพาราแยกตามประเภทอุตสาหกรรม

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ความต้องการใช้ยางพาราของไทยแยกตามประเภทอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจาก 663,084 ในปี 2562 เป็น 1,247,454 ในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.26 ต่อปี ดังนี้

  • อุตสาหกรรมยางล้อ เป็นอุตสาหกรรมที่มีความต้องการใช้ยางพารามากที่สุด โดยมีการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้นจาก 413,019 ตัน ในปี 2562 เป็น 758,180 ตัน ในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.49 ต่อปี ตามการขยายตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์
  • อุตสาหกรรมถุงมือยาง มีการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้นจาก 64,378 ตัน ในปี 2562 เป็น 127,640 ตัน ในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.69 ต่อปี เนื่องจากความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อป้องกันโรคระบาดที่ยังคงมีการระบาดอยู่ตามฤดูกาล การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และงานด้านการอนามัยต่างๆ
  • อุตสาหกรรมยางยืด มีการใช้ยางพาราลดลงจาก 111,471 ตัน ในปี 2562 เหลือ 96,764 ตัน ในปี 2565 และเพิ่มขึ้นเป็น 1 16, 1 17 ตัน ในปี 2566 หรือภาพรวมลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.87 ต่อปี เนื่องจากในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 มีความต้องการใช้น้อยลงและสถานการณ์เริ่มคลี่คลายทำให้ความต้องการใช้มีทิศทางเพิ่มขึ้น
  • อุตสาหกรรมยางรัดของ มีการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้นจาก 8,605 ตัน ในปี 2562 เป็น 17,770 ตัน ในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.58 ต่อปี เนื่องจากยางรัดของเป็นสินค้าสิ้นเปลืองและมีการใช้ในชีวิตประจำวันเป็นจำนวนมาก ความต้องการใช้ยางรัดของเพิ่มมากขึ้นมาจากการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น กิจการร้านอาหาร เครื่องดื่ม กิจกรรมในออฟฟิศ เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมอื่นๆ มีการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้นจาก 65,611 ตันในปี 2562 เป็น 227,747 ตันในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.15 ต่อปี

 👉 การส่งออก

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ภาพรวมการส่งออกยางพาราของไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.75 ต่อปี เนื่องจากอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับยางพารามีความต้องการใช้ยางพาราที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในช่วงระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้ความต้องการใช้ยางหยุดชะงัก และจากข้อมูลการส่งออกสินค้ายางพาราของกรมศุลกากรพบว่า ยางแท่งและยางผสม ภาพรวมการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.43 และร้อยละ 10.08 ต่อปี ตามลำดับ ในขณะที่ยางแผ่นรมควันและน้ำยางข้น มีภาพรวมการส่งออกลดลง โดยไทยส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่

  • จีน มีการนำเข้ายางพาราจากไทยเป็นอันดับ 1 ในปี 2562 จีนมีการนำเข้า 2.31 ล้านตันเพิ่มเป็น 2.87 ล้านตัน ในปี 2566 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.66 ต่อปี เนื่องจากการเติบโตของอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • มาเลเซีย มีการนำเข้ายางพาราจากไทยเป็นอันดับ 2 ลดลงจาก 0.40 ล้านตัน ในปี 2562เหลือ 0.23 ล้านตัน ในปี 2566 หรือลดลงร้อยละ 12.14 ต่อปี เนื่องจากสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด 19 เริ่มคลี่คลาย ความต้องการผลิตภัณฑ์ยางสำหรับใช้ในการผลิตถุงมือยางและอุปกรณ์ทางการแพทย์ประเภทอื่นๆ ก็ลดลง ส่งผลให้การนำเข้าลดลง
  • สหรัฐอเมริกา มีการนำเข้ายางพาราจากไทยเป็นดันดับ 3 เพิ่มขึ้นจาก 0.23 ล้านตัน ในปี 2562 เป็น 0.27 ล้านตัน ในปี 2565 และลดลงเหลือ 0.21 ล้านตัน ในปี 2566 โดยภาพรวมมีอัตราเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.85 ต่อปี เนื่องจากมีความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมที่มีความต้องการใช้ยางที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 และการออกกฎหมายห้ามใช้ถุงมือยางในธุรกิจบริการร้านอาหาร อุตสาหกรรมทางการแพทย์ ในบางรัฐของสหรัฐอเมริกา
  • ญี่ปุ่น มีการนำเข้ายางพาราจากไทยเป็นอันดับ 4 ลดลงจาก 0.20 ล้านตัน ในปี 2562 เหลือ 0.15 ล้านตัน ในปี 2563 และเพิ่มขึ้นเป็น 0.19 ล้านต้น ในปี 2566 หรือภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.30 ต่อปีเนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมยางรถยนต์ของประเทศญี่ปุ่นยังคงขยายตัว

👉 ราคา

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ราคายางพาราในประเทศมีความผันผวนแต่อยู่ในทิศทางที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก และภาวะเศรษฐกิจของผู้ใช้ยาง โดยมีปัจจัยบวกที่เกิดจากอุตสาหกรรมยางพาราและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีความต้องการยางพาราเพื่อส่งมอบของผู้ประกอบการ

ราคาที่เกษตรกรขายได้

ราคายางแผ่นดิบคุณภาพ 3 ยางก้อนคละ และน้ำยางสดที่เกษตรกรขายได้ในช่วงปี 2562 - ตุลาคม 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.93 ร้อยละ 3.79 และร้อยละ 3.87 ต่อปี ตามลำดับ

ราคาประมูล ณ ตลาดกลางยางพารา

ราคาประมูลยางแผ่นดิบคุณภาพ 3 และยางแผ่นรมควันชั้น 3 ณ ตลาดกลางยางพาราสงขลา ในช่วงปี 2562 - ตุลาคม 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.95 และร้อยละ 2.81 ต่อปี ตามลำดับ

ราคาส่งออก F.O.B. กรุงเทพฯ

ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ยางแท่ง 20 และน้ำยางข้น ในช่วงปี 2562 - ตุลาคม 2566 เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.49 ร้อยละ 4.49 และร้อยละ 3.26 ต่อปี ตามลำดับ

 

📌 แนวโน้มอุตสาหกรรมยางพารา ปี 2567 

แนวโน้มอุตสาหกรรมยางพาราของโลก

👉 การผลิต

ปี 2567 คาดว่าผลผลิตยางพาราโลกจะมีปริมาณลดลงจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และปัญหาโรคใบร่วงส่งผลประเทศผู้ผลิตยางในแถบภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตยางหลักของโลก ได้แก่ ไทย และประเทศผู้ผลิตยางพาราใหม่ เช่น กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม ส่งผลให้ผลผลิตยางพาราโลกมีแนวโน้มลดลง

 

👉 การตลาด

ความต้องการใช้ ปี 2567 คาดว่าความต้องการใช้ยางพาราของโลกจะปรับตัวสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับยางพารา และการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่มีมาตรการสนับสนุนการใช้อย่างแพร่หลาย

 

👉 การส่งออก

ปี 2567 คาดว่าปริมาณการส่งออกยางพาราในตลาดโลกจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีผ่านมาโดยสัมพันธ์กับความต้องการใช้ยางพาราของโลก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าหลักโดยเฉพาะประเทศจีน ส่งผลต่อความต้องการใช้ยางพาราในภาคอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับยางพารา อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ต้องระวัง ภาวะเงินเฟ้อที่มีอัตราสูงขึ้น ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ

 

👉 ราคา

ปี 2567 คาดว่าราคายางพาราโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตโลกมีแนวโน้มลดลง โดยได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ และ ปัญหาโรคใบร่วงในแหล่งผลิตหลัก ได้แก่ ไทยและอินโดนีเซีย ประกอบกับทิศทางการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมถึงนโยบายการปรับลดกำลังการผลิตของซาอุดิอาระเบีย และสถานการณ์สงคราม ซึ่งอาจทำให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกสูงขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการใช้ยางธรรมชาติทดแทนยางสังเคราะห์ที่มีราคาสูง

 

📌 แนวโน้มอุตสาหกรรมยางพาราของไทย 

👉 การผลิต

ปี 2567 คาดว่าจะมีเนื้อที่กรีด 22.19 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 105,482 ไร่ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.48 เนื่องจากต้นยางพาราที่เกษตรกรขยายเนื้อที่ปลูกเมื่อปี 2561 เริ่มให้ผลผลิต สำหรับผลผลิตคาดว่ามีประมาณ 4,681,543 ตัน ลดลงจากปีที่แล้ว 25,722 ตัน หรือลดลงร้อยละ 0.55 และผลผลิตต่อเนื้อที่กรีดได้ คาดว่ามีประมาณ 211 กิโลกรัมต่อไร่ ลดลงจากปีที่แล้ว 2 กิโลกรัมต่อไร่ หรือลดลงร้อยละ 0.94 สาเหตุที่ผลผลิตลดลงเนื่องจากแหล่งผลิตหลักยังคงประสบปัญหาโรคใบร่วง และปรากฏการณ์เอลนีโญ อาจมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ทำให้มีปริมาณน้ำฝนน้อย และสภาพอากาศร้อน ส่งผลให้น้ำยางออกน้อยกว่าปกติ ประกอบกับปัจจัยด้านการผลิต อาทิ ปุ้ย ที่ยังคงมีราคาสูง เกษตรกรจึงลดปริมาณการใส่ปุ๋ย

 

👉 การตลาด

ความต้องการใช้ปี 2567 คาดว่าความต้องการใช้ยางพาราจะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีความต้องการใช้จากอุตสาหกรรมขั้นปลายเกี่ยวกับยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และถุงมือยางที่ผลิตภายในประเทศ รวมทั้งนโยบายของรัฐบาลที่ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้ยางพาราภายในประเทศให้มากขึ้น และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับยางพาราภายในประเทศกลับมาดำเนินธุรกิจได้ปกติ

 

👉 การส่งออก

ปี 2567 คาดว่าภาพรวมการส่งออกยางพาราของไทยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาเนื่องจากมีความต้องการใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนและอะไหล่รถยนต์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงปัจจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การระบาดของโรคใบร่วงยางพาราที่ส่งผลต่อปริมาณผลผลิตของประเทศคู่แข่ง ที่ทำให้มีความต้องการนำเข้ายางพาราจากประเทศไทยเพิ่มขึ้น

 

👉 ราคา

ปี 2567 คาดว่าราคายางพาราในประเทศมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการคาดการณ์ความต้องการยางพาราในตลาดโลกจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลต่อราคาตลาดล่วงหน้า และราคาตลาดภายในประเทศ

📌 ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อปริมาณการผลิต และการส่งออก 

✅ ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อปริมาณการผลิต 

เนื้อที่กรีดได้ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุยางที่ให้ผลผลิตสูงสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโตของยางพารา จากปรากฏการณ์เอลนีโญส่งผลให้ฝนตกทิ้งช่วง และมีภาวะแล้ง การดูแลรักษาของเกษตรกร โรคระบาดของต้นยาง

 

 ✅ ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการส่งออก 

  • (1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกส่งผลต่อความต้องการวัตถุดิบของอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับยางพารา โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมยางล้อ เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์
  • (2) ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกผันผวน ส่งผลกระทบต่อราคายางสังเคราะห์ซึ่งเป็นสินค้าทดแทนยางพารา ซึ่งจะส่งผลต่อแนวโน้มความต้องการใช้ยางธรรมชาติในอุตสาหกรรมยางพารา
  • (3) สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การระบาดของโรคใบร่วงยางพาราที่ส่งผลต่ออุปทานจากประเทศคู่แข่งที่มีแนวโน้มลดลง ทำให้มีความต้องการยางพาราจากประเทศไทยสูงขึ้น
  • (4) มาตรการการนำเข้าสินค้ายางพาราธรรมชาติของบางประเทศประเทศ เช่น การห้ามใช้ถุงมือยางธรรมชาติในธุรกิจบริการ ร้านอาหาร
ที่มา: สถานการณ์สินค้าเกษตรที่สำคัญและแนวโน้ม ปี 2567 สำนักเศรษฐกิจการเกษตร

ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม