ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

โอกาสทอง ของ ยางเครป เมื่อโรงงานยางแท่งหันใช้แทน ยางก้อนถ้วย

ข่าวสองโรงงานยางแท่งรายใหญ่ ใน จ.อุดรธานี ที่ตั้งอยู่ติดกันเพียงแค่รั้วกั้น ถูกร้องเรียนเรื่องกลิ่นเหม็น สร้างผลกระทบกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบ เป็นตัวบ่งชี้ว่า การผลิตยางแท่งที่ใช้ “ยางก้อนถ้วย” เป็นวัตถุดิบ กำลังจะเป็น “ปัญหายักษ์” ของโรงงานยางแท่ง เพราะต้องมาเพิ่มงบลงทุนระบบบำบัดน้ำเสีย และกำจัดกลิ่นอย่างเข้มงวด

แต่แนวทางหนึ่งที่หลายๆ โรงงานเริ่มทำแล้ว นั่นคือ เปิดรับซื้อ “ยางเครป” มากขึ้น เนื่องจากเป็นยางที่รีดน้ำและทำความสะอาดมาแล้ว ซึ่งจะช่วยลดน้ำเสียและกลิ่นเหม็นในโรงงานไปได้มาก ขณะเดียวกันยังอาจจะลดขั้นตอนการผลิตลงได้อีกด้วย เพียงแต่ที่ผ่านมาปริมาณยางเครปยังมีไม่มาก แต่ยางก้อนถ้วยมีมากและราคาต่ำกว่า

วงศ์บัณฑิต อาจใช้ยางเครป แทน ยางก้อนถ้วย 100%

ขณะที่โรงงานวงศ์บัณฑิต สาขา พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นผู้ซื้อผลิตยางแท่งรายใหญ่ มีวัตถุดิบป้อนโรงงานวันละ 1,000 ต้น โดยแบ่งเป็นยางเครป 400 ตัน และยางก้อนถ้วย 600 ตัน เคยเปิดเผยข้อมูลเรื่องนโยบายการซื้อยางเครปว่า 
สิ่งที่โรงงานต้องการ คือ ยางเครปสะอาด “เราซื้อยางเครปมาสามารถจะลดกระบวนการผลิตได้ เพราะปกติเครปก็คือขี้ยาง เพราะหากเราซื้อเศษยางจากชาวสวนมาเราต้องผ่านกระบวนการผลิตของไลน์เศษยาง ต้องทำความสะอาด คือมีการย่อย บดสับ เพื่อคัดแยกสิ่งที่เจือปนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเศษหิน ทราย เหล็กก็ยังมี ดั้งเดิมหากไม่ใช้เครปก็จะเป็นเศษยาง ไลน์กระบวนการผลิตอันนั้นทั้งไลน์หายไปเลย ถ้าเราใช้เครปแทนเศษยาง ไลน์นั้นจึงไม่ต้องใช้” ผู้จัดการโรงงานเปิดเผย พร้อมกับให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า

ปัจจุบันคุณภาพของเครปค่อนข้างดี จึงช่วยลดกลิ่นและเรื่องของสิ่งแวดล้อม เพราะผ่านการรีดจากชาวสวนมาแล้ว อาจจะมีกลิ่นบ้าง แต่แห้งไม่มีน้ำ จึงลดในส่วนของน้ำเสีย ก็ยังเป็นผลดีต่อชุมชน

โดยนโยบายของ บริษัทวงศ์บัณฑิต มีทิศทางจะใช้ยางเครปมากขึ้น และอาจจะเยอะจนเต็มร้อย เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และที่แน่ๆ เครื่องจักรเราลดลง 
“ยางเครปของชาวสวนเขาจะซื้อเศษยางมา แล้วก็รีด 6 รอบแล้วมาส่งโรงงาน พอเขารีดเสร็จก็ทับไว้ 6 รอบ พอวันรุ่งขึ้นเขาก็จะเอามาขายโรงงาน ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์อยู่ที่ 67 - 70 เราจะต้องดูว่าเขารีดมาเนื้อยางแตกไหม อันนี้เราต้องเน้น เพราะรีดเป็นเครปราคามันแตกต่างกับยางก้อนถ้วยอยู่ 2 บาท ต้องทำเหมือนเครปจริงๆ แต่โดยประมาณ ยางที่รีดพัก 1 วันเราจะตีประมาณ 66-67% ถ้า 3-4 วัน จะตีไป 70% กว่า ส่วนเศษยางเราตีอยู่ 50% กว่า”

“ระบบการตรวจวัดคุณภาพยาง จะใช้การวัดด้วยสายตาเป็นหลัก ถ้าตกลงกันไม่ได้เราจะมีเครื่องวัดที่สามารถคำนวณได้ว่าเปอร์เซ็นต์จริงเท่าไร ด้วยวิธีเราเก็บตัวอย่างประมาณ 15 กก. มาชั่งน้ำหนัก แล้วเอาไปรีด จำนวนรอบจะเพิ่มขึ้นต้องรีดให้บาง ชั่งก่อนรีด หลังรีด เวลาที่ดำเนินการตรงนี้ประมาณ 4 ชม.
เมื่อวิเคราะห์จากโรงงานรับซื้อยางเครปรายใหญ่ ทำให้เห็นแนวโน้มการขยายตัวของธุรกิจยางเครป  สอดคล้องกับ ข้อมูลของ นายไพโรจน์ พิกุลทอง เจ้าของ บริษัท ไพโรจน์พารารุ่งเรือง (สุราษฎร์ธานี) จำกัด ผู้รับซื้อยางรายใหญ่ ในสุราษฎร์ธานี และยังเป็น นายก อบต.บางงอน ใน อ.พุนพิน ที่บอกว่านับจากนี้ไปธุรกิจยางเครปจะโตอย่างต่อเนื่อง

“ถ้าเราสามารถสร้างความมั่นใจให้กับโรงงานได้ ผมว่าโรงงานก็พร้อมที่จะซื้อยางเครป เพราะการที่ได้ยางเครปไป จะเป็นการลดขั้นตอนการผลิตยางแท่งได้มากทีเดียว รวมทั้งปัญหาเรื่องปริมาณ เพราะปัจจุบันการทำยางเครปยังไม่มากนัก การวางแผนการผลิตจึงทำได้ยาก เพราะคนที่ผลิตยางเครปเองก็ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างขายไม่รวมให้เกิดปริมาณ ถ้าทำได้ผมว่าตลาดยางเครปน่าจะโตในอนาคต”  

เห็นได้จากการเติบโตอย่างมากใน จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งมี บริษัท วงศ์บัณฑิต เป็นผู้ซื้อรายใหญ่
           
คุณไพโรจน์สะท้อนภาพการทำยางของชาวสุราษฎร์ฯ ว่า ปกติชาวสวนยางจะทำขี้ยางกันในช่วงต้นฤดูเปิดกรีด เนื่องจากปริมาณน้ำยางยังออกไม่มากนัก เก็บมาทำยางแผ่นยังไม่คุ้ม จึงปล่อยให้แข็งในถ้วยและเก็บขายเป็นขี้ยาง
แต่นับตั้งแต่ราคายางตกต่ำชาวสวนเปลี่ยนจากทำยางแผ่นทำยางก้อนถ้วยมากขึ้น เพราะไม่ต้องลงทุนทำแผ่น และขายได้เร็วกว่ายางแผ่น

ส่วนตัวเขาเอง ได้เริ่มจากการเปิดร้านรับซื้อยางแผ่นดิบเล็กๆ ใน อ.พุนพิน ควบคู่กับเศษยาง ส่วนใหญ่เป็นขี้ยางที่เหลือจากการทำยางแผ่นดิบ และยางเปิดกรีดต้นฤดู ก่อนจะส่งขายบริษัท วงษ์บัณฑิต จำกัด ใน จ.สุราษฎร์ธานี ก่อนจะรับซื้อยางก้อนถ้วยเป็นตัวหลัก และยางแผ่นดิบเป็นตัวรองในปัจจุบัน

ลักษณะยางก้อนถ้วยที่ชาวสวนยางแถบนี้ผลิตคือ เป็นยางก้อนถ้วยกรีด 7-8 มีด และเก็บมาขายร้านรับซื้อเลย ต่างจากการซื้อขายยางของภาคอีสาน ที่จะมีการพักค้างคืนก่อนขาย เพราะทางใต้ไม่มีตลาดกลาง หรือตลาดประมูลยางเหมือนภาคอีสาน

ส่วนพ่อค้าหรือผู้รับซื้อจะนำยางมาตากในลานให้แห้งก่อนขาย ไม่นำส่งขายโรงงานทันที ซึ่งการนำยางมาตากจะทำให้เปอร์เซ็นต์เนื้อยางสูงขึ้น และขายได้ราคาสูงกว่า แต่ในทางตรงกันข้ามเมื่อซื้อยางสดที่มีน้ำปนอยู่มาก เมื่อนำมาตากน้ำหนักก็จะลดลง

“ถ้าซื้อยางมา 200 กก.เอามาตากจนแห้งน้ำหนักอาจจะเหลือแค่ 100 กก. น้ำหนักหายไป 50% นี่คือความเสี่ยงสำคัญของธุรกิจซื้อขายยางก้อนถ้วย ผู้ซื้อยางจึงต้องคำนวณราคาซื้อเผื่อความสูญเสียด้านนี้ด้วย
           
แปรรูปเป็น “ยางเครป” เพิ่มมูลค่า 2-3 บาท/กก.

วิธีแก้ปัญหาเรื่องน้ำหนักยางที่สูญหายคือ การคัดเลือกยางก้อนถ้วยคุณภาพดี มาทำยางเครป เพื่อเพิ่มมูลค่า

เมื่อไรที่นำยางสวยกับยางไม่สวยขายคละกัน โรงงานก็จะติได้ว่ายางไม่สวย จึงตีราคาต่ำ แต่ถ้าเมื่อไรที่นำยางมาทำยางเครป บีบน้ำออกถึง 30% จะได้ยางคุณภาพเท่ากันหมด

แต่กระบวนการทำยางเครป หัวใจสำคัญคือ เรื่องความสะอาด ถ้ามีกระบวนการทำสะอาดคุณภาพยางเครปก็เหมือนกันหมดเป็นการลดจุดอ่อนของคุณภาพยาง โอกาสที่จะเสียเปรียบโรงงานก็น้อยลง

ทั้งนี้ยางสวยในความหมายของเขาคือ ยางก้อนถ้วยที่มีปริมาณน้ำอยู่น้อย ซึ่งต้องเป็นยางที่กรีด 7-8 มีด เมื่อนำไปรีดแล้วน้ำหนักหายไม่มากนัก ขณะที่ยางที่มีปริมาณน้ำปนอยู่น้อยน้ำหนักหายไม่มาก เมื่อนำมาทำเครป จะได้ส่วนต่างกำไรสูงขึ้น 
เพราะยางเครปเป็นยางที่ผ่านการแปรรูปทำความสะอาดแล้ว ไม่มีน้ำปะปน โรงงานจึงไม่สามารถหักเปอร์เซ็นต์ความชื้นได้เหมือนการขายยางก้อนถ้วย เป็นหนึ่งในวิธีการขายยางเพื่อลดความเสียเปรียบและเพิ่มกำไร

ปริมาณการทำยางเครปวันละ 4-5 ตันมีกำไรจากการทำยางเครปโดยเลือกยางสวยมาผลิต ไพโรจน์บอกว่าน่าจะกำไร 2-3 บาท/กก. แต่ถ้านำยางที่มีน้ำอยู่เยอะหรือยางสด มารีดเครป จะมีความชื้นหรือน้ำ 30-40% เมื่อรีดเสร็จน้ำหนักจะหายเยอะ เสี่ยงต่อการขาดทุนสูง

คุณไพโรจน์บอกว่า การจะทำยางเครป นอกจากดูลักษณะยางแล้ว ยังต้องดูว่าโรงงานที่จะขายต้องการยางเครปลักษณะอย่างไร เพราะบางโรงงานต้องการเครปสดเครปแห้งไม่เท่ากัน เป็นเรื่องที่ผู้ผลิตยางเครปต้องศึกษา 
หากแต่เชื่อว่าถ้าชาวสวนยางหรือกลุ่มชาวสวนยางเดินหน้าผลิตยางเครป ทางหนึ่งเพื่อเพิ่มมูลค่า อีกทางหนึ่งเพื่อลดความเสียเปรียบการขายยางก้อนถ้วย จนมีทั้งปริมาณและคุณภาพ เชื่อว่าโรงงานยางแท่งจะเปิดรับซื้อยางเครปมากขึ้น ซึ่งนั่นจะเท่ากับเป็นการเพิ่มคุณภาพการทำยางของการผลิตยางของเกษตรกรและรวมถึงพ่อค้าคนกลางด้วย

เชื่อว่านับจากนี้เป็นต้นไป กระแสการต่อต้านโรงงานยางแท่งที่ใช้ยางก้อนถ้วยเป็นวัตถุดิบจะถูกต่อต้านมากยิ่งขึ้น หรือไม่ก็ต้องใช้ต้นทุนการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมสูงขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสที่จะทำให้ธุรกิจยางเครปขยายตัวเต็มที่ เพราะอีกไม่นานโรงงานยางแท่งจะต้องหันมาซื้อยางเครป เพื่อลดปัญหาเรื่องน้ำเสีย กลิ่นเหม็น และยังลดขั้นตอนลง โดยเฉพาะส่วนของการทำความสะอาด เป็นต้น 
ขณะเดียวกันปัญหาการกดราคาที่เกิดขึ้นกับยางก้อนถ้วยอาจจะลดลง เพราะยางเครปมีความชื้นต่ำ โรงงานไม่สามารถกดราคาได้ง่ายนัก และเชื่อว่าเมื่อถึงยุคที่โรงงานซื้อยางเครป จะเกิดการตรวจวัดที่มีมาตรฐานเช่นเดียวกับยางแผ่น

ขอขอบคุณ
นายไพโรจน์ พิกุลทอง
อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี โทรศัพท์ 08-9874-6833, 08-1476-5472

1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

แล้วยางที่ได้จากรถบรรทุก18ล้อ เรียกว่ายางดักแด้จะรับชื้อไหมครับ ราคาเท่าไหร่ครับ

บทความที่ได้รับความนิยม