ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

สวนปาล์มพนากิจ ยุคใหม่ โดยคนรุ่นใหม่ หัวใจคุณภาพ

ยางปาล์มออนไลน์ พยายามเสาะหา “คนทำปาล์มคุณภาพ” เพื่อเก็บเกี่ยว “แนวคิด” และ “วิธีการ” ของพวกเขา มาถ่ายทอดเพื่อเป็นแนวทาง เป็นตัวอย่าง เป็นแรงบันดาลใจ สำหรับคนที่คิดจะเริ่มต้นทำปาล์มคุณภาพ  

เช่นเดียวกับเรื่องที่เรานำเสนอในบทความนี้  เป็นรูปแบบการทำสวนปาล์มเก่าแก่ของ จ.กระบี่ อายุกว่า 40 ปี ในมือการบริหารของผู้บริหารรุ่นใหม่เจเนอเรชันที่ 2 ในนาม “สวนพนากิจ” พื้นที่กว่า 5,000 ไร่ อาวุธที่ผู้บริหารรุ่นลูกใช้ก็คือ การทำปาล์มคุณภาพ เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง 22% ซึ่งเป็นสวนปาล์มขนาดใหญ่แปลงแรกๆ ที่ทำปาล์มคุณภาพได้

“สวนพนากิจเกิดขึ้นตั้งแต่รุ่นคุณปู่คุณพ่อ เมื่อปี 2520 ตั้งแต่เราสองคนยังไม่เกิด สมัยนั้นปาล์มเป็นพืชดังต่อจากยางพารา พื้นที่ภูมิอากาศในพื้นที่ภาคใต้ก็เหมาะสม ปัจจุบันมีอายุกว่า 40 ปี จนมาถึงรุ่นผมกับน้องสาว เริ่มเข้ามาดูได้ประมาณ 2 ปี ถือว่าเป็นรุ่นที่ 2 ของสวนพนากิจ” ดร.ชนะสิทธิ์ ธนทวี (ปาล์ม) ดีกรี ปริญญาเอกด้านการจัดการ จาก ABAC  พร้อม เกษสิรี ธนทวี (เปิ้ล) มหาบัณฑิตด้านเศรษฐศาสตร์ จากอังกฤษ ผู้บริหารสวนปาล์มพนากิจ รุ่น 2 บอกเล่าให้ฟัง

สวนปาล์มพนากิจมี 2 แปลง คือ “แปลงทรายขาว” ใน จ.กระบี่ และ “แปลงควนกุน” จ.ตรัง มีปาล์มน้ำมันหลายอายุตั้งแต่ปาล์มรุ่นบุกเบิก จนถึงปาล์มปลูกใหม่
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
พัฒนาสวนปาล์มด้วยองค์ความรู้ใหม่
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━━

สองผู้บริหารสวนปาล์มมือใหม่บอกว่า โชคดีที่รุ่นคุณพ่อได้วางรากฐานการจัดการสวนปาล์มไว้ค่อนข้างดี โดยเฉพาะพนักงานที่มีอยู่ 40-50 คน ทั้งหมดเป็นพนักงานที่อยู่กันมานานจนเสมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน

งานบริหารพื้นฐานคือ อำนวยความสะดวกให้กับระบบการจัดการที่มีอยู่ ควบคู่กับพัฒนาแต่ละขั้นตอนให้มีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น

“ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันไทยสู้กับมาเลเซียไม่ได้ ทำอย่างไรเราจะสู้เขาได้ อันที่หนึ่งเราต้องเพิ่มผลผลิตต่อไร่ อันที่สองเพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำมัน ถ้าเราทำให้ปาล์มมีน้ำมันเพิ่มขึ้น เราจะได้น้ำมันเพิ่มขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น ที่ดินเท่าเดิม ต้นปาล์มเท่าเดิม การจัดการ แรงงานเท่าเดิม”

แนวทางของสองผู้บริหารรุ่นใหม่ก็คือ ทำสวนปาล์มให้มีคุณภาพ ทั้งคุณภาพในเชิงผลผลิต และปริมาณน้ำมัน

“อย่างแรกที่เราทำ คือ การสร้างองค์ความรู้กับทีมงานทุกระดับตั้งแต่ผู้จัดการและคนงาน โดยเข้าไปอบรมหลักสูตรการจัดการสวนปาล์มน้ำมันอย่างมืออาชีพ ที่ ศูนย์การเรียนรู้ปาล์มน้ำมันซีพีไอ ของ บริษัท ซีพีไอ อะโกรเทค ที่ จ.ชุมพร ศึกษาเรียนรู้ทั้งหลักวิชาการ หลักทฤษฎี และปฏิบัติจริงตั้งแต่การปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยว เพื่อนำมาปรับปรุงสวนให้มีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น พอนำของใหม่ๆ มาใช้ก็ต้องมีการปรับทำความเข้าใจกับพนักงาน โชคดีที่ทุกคนมีพื้นฐานมีประสบการณ์อยู่กับเรามานาน เราก็คุยกับเขาแบบคนในครอบครัวได้ความร่วมมือดี มีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น” ดร.ชนะสิทธิ์ เล่า 

เกษสิรี เสริมว่า “สมัยก่อนทะลายเปล่าที่เคยเป็นของเสียของโรงงานสกัดน้ำมัน แทนที่จะเป็นขยะเราก็เอามาใช้แทนปุ๋ยอินทรีย์ ย่อยสลายมีแร่ธาตุมาก ได้ประโยชน์กับต้นปาล์ม ของเสียที่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการกำจัดกลายเป็นว่าเราเอามาใช้ได้และลดการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ได้ และด้วยความที่เราเป็นสวนใหญ่เวลาลดต้นทุนได้จะลดได้มหาศาล”
━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ร่วมโมเดลปาล์มคุณภาพของกระบี่
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
การเปลี่ยนแปลงอีกด้านที่สำคัญของสวนพนากิจ คือ การเก็บเกี่ยว ในอดีตสวนพนากิจก็ตัดปาล์มไม่ต่างจากสวนปาล์มทั่วไป คือ ตัดปาล์มสุกบ้างดิบบ้าง เปอร์เซ็นต์ทั่วๆ ไปไม่เกิน 17% เพียงแต่จะได้เปรียบเรื่องปริมาณปาล์มสามารถต่อรองกับโรงงานได้บ้าง

จนเมื่อกระบี่เกิดการเปลี่ยนแปลงการทำปาล์ม เกิด “โมเดลปาล์มคุณภาพ” มีโรงงานที่ประกาศตัวทำปาล์มคุณภาพซื้อปาล์มตามเปอร์เซ็นต์น้ำมันขึ้นใน จ.กระบี่ สวนพนากิจเป็นสวนปาล์มขนาดใหญ่ที่ตัดสินใจเข้าร่วมโมเดลนี้

“ตอนที่เราตัดสินใจว่าจะทำปาล์มคุณภาพ เรามองว่าเป็นสิ่งที่เราต้องทำในอนาคต ตาม พ.ร.บ. ปาล์มน้ำมัน แต่ตอนนั้นยังไม่มีใครเริ่ม โดยเฉพาะสวนใหญ่ๆ เพราะมีปัญหาที่ต้องทำหลายด้าน แม้ราคาจะสูงขึ้น 30 สตางค์/น้ำมัน 1% ที่เพิ่มขึ้น แต่งานเพิ่มขึ้น ละเอียดขึ้น ต้นทุนแรงงานก็เพิ่มขึ้น”
━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
เชื่อมั่นปาล์มคุณภาพ คือ โลกใหม่ที่ดีกว่า
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ในแง่ของการบริหารจัดการด้านการเงิน สิ่งแรกที่สวนพนากิจต้องมองในมุมของธุรกิจ คือ  อะไรที่ลงทุนแล้วผลตอบแทนไม่คุ้มค่าต้องไม่ทำ

“แต่เมื่อเราคิดเรื่องปาล์มคุณภาพขึ้นมาแล้วต้องปรึกษากันว่า ในทางธุรกิจเป็นไปได้มั้ย เพราะการบริหารจัดการยากขึ้น ต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้น ผลตอบแทนจะคุ้มค่าหรือไม่ แต่เมื่อเรามีความเชื่อมั่นในปาล์มคุณภาพ ขณะที่ในมุมนักการเงิน การทำคุณภาพไม่ใช่ได้เงินเพิ่มอย่างเดียว ความสูญเสียก็มี เช่น รายจ่ายที่ต้องเพิ่มให้กับคนงาน ของที่จะถูกลักขโมยไป และต้นทุนในการเก็บลูกร่วง เมื่อนำมาคำนวณแล้วว่ามีความคุ้มค่า จึงลงมือทำ” เกษสิณี บอกเล่าในฐานะผู้บริหารด้านการเงินของสวนพนากิจ

แต่สิ่งที่ต้องอยู่เหนือกว่าระบบการเงินคือ ความมุ่งมั่นตั้งใจ และยึดมั่นในความเชื่อที่ว่า ปาล์มคุณภาพ คือ อนาคต เพราะการทำปาล์มคุณภาพ ต้อง “ต่อสู้” กับปัญหาหลายมิติ แต่จะเริ่มต้นได้ ผู้บริหารต้องมีความเชื่อก่อนว่าต้องทำได้จริง และมีอนาคตที่ดี ไม่ใช่แค่สวนเท่านั้น แต่ต้องดีต่อคนงานด้วย จึงจะเปลี่ยนแปลง และลงมือทำ

ปัญหาแรกที่สวนพนากิจเจอ คือ การเปลี่ยนให้พนักงานที่ตัดปาล์มแบบเก่าจนเคยชินมาตัดปาล์มคุณภาพ จำเป็นต้องให้ความรู้ มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาสอนให้ความรู้ ว่าปาล์มลักษณะไหนที่เหมาะสมได้น้ำมันสูง ลูกร่วงมีจำนวนมากเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม

“แรกๆ คนงานทั้งสวน 40- 50 คน เครียดหมดเพราะมองว่ามันเป็นไปไม่ได้ และงานเขาเยอะขึ้น ใช้เวลานานขึ้น ช่วงแรกเราต้องจ้างคนงานเก็บลูกร่วงเข้ามา ซึ่งเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น กระทั่งคนงานประจำเริ่มมีความชำนาญขึ้น เก่งขึ้น แล้วคนงานทำกันเอง โดยได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น เราต้องแก้ปัญหาการเงินด้วยการเงิน ซึ่งคนตัดเขาก็แฮปปี้ และพร้อมที่จะทำ เพราะได้เงินเพิ่ม 100 บาท/ตัน และจะได้มากขึ้น 100 บาท/ตัน ในทุกๆ 1 เปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้นอีก เพื่อเป็นการจูงใจให้คนงานรักษาและพัฒนามาตรฐานการตัดให้สูงขึ้น” 
ปัญหาท้าทายที่สอง ของสวนพนากิจ คือ ต้องยึดมั่นใจการขายให้กับโรงงานที่ซื้อปาล์มคุณภาพ โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาปาล์มสวิง บางช่วงอาจจะมีลานหรือโรงงานในพื้นที่แข่งขันราคา ให้ราคาสูงกว่าเล็กน้อยเพราะสวนพนากิจเป็นสวนใหญ่มีผลผลิตมาก ระยะทางขนส่งใกล้กว่าให้ราคาสูงกว่า นี่คือเรื่องที่ต้องทำสงครามกับจิตใจ เอาตำราการเงินมาใช้ไม่ได้ เพราะโรงงานเหล่านี้ให้ราคาสูงแค่ระยะสั้นๆ เท่านั้น สองผู้บริหารจึงต้องเชื่อมั่นระยะยาวมากกว่า

“ระยะแรกที่เริ่มทำคุณภาพเราไม่ได้กำไรมาก กำไรในช่วงแรกเราคืนสู่คนงานเป็นส่วนใหญ่ แต่เรามีความเชื่อมั่นว่าในระยะยาว พอคนงานเริ่มชำนาญ มีการพัฒนาทำเปอร์เซ็นต์ได้สูงขึ้น อย่างแรกคนงานเขาเปลี่ยนทัศนะคติ จากเคยต่อต้าน มาให้ความร่วมมือ รู้สึกว่ามีความมั่นคงในอาชีพขึ้น รายได้เราอาจจะน้อยลง แต่แค่ช่วงสั้นๆ  ในระยะยาวเราเชื่อว่าจะต้องดี และมากกว่านั้น เราต้องการสร้างโมเดลปาล์มคุณภาพ” เกษสิณีเล่า
━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ตั้งเป้าทำปาล์มคุณภาพ 25%
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
นี่คือเป้าหมายของสวนพนากิจ เมื่อมีเป้าหมายชัดเจนปัญหาทุกอย่างจึงมีทางแก้

“เราจะไม่กลับไปที่เดิมที่ไปขายปาล์มไม่มีเกรดอีกแล้ว เราจะทำแต่ปาล์มคุณภาพ และจะทำให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญเราต้องสนับสนุนโรงงานที่ทำปาล์มคุณภาพด้วย ถ้าเราไม่สนับสนุนปาล์มคุณภาพจะไปต่อไม่ได้ เพราะ ปาล์มคุณภาพ ต้องประกอบด้วย 3 ส่วน คือ สายพันธุ์ ผู้ปลูกปาล์ม และโรงงาน”

ดร.ชนะสิทธิ์ เชื่อว่าในอนาคต ด้วยการส่งเสริมปาล์มคุณภาพตามโมเดลของกระบี่ เกษตรกรจะหันมาสนใจตัดปาล์มสุกมากขึ้น เพราะได้ผลตอบแทนสูงกว่า น้ำมันที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1% จะได้ราคาจะเพิ่มขึ้นประมาณ 30 สตางค์/กก. พนากิจได้เทสเปอร์เซ็นต์น้ำมันกับโรงงานเพื่อกระบี่ ทำได้สูงถึง 22% และนิ่งอย่างนี้มา 1 ปี แล้ว แต่เป้าหมายของสวนพนากิจตั้งเป้าจะทำให้ได้ 24-25% ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้สูง

ความสำเร็จของสวนพนากิจ “คน” จึงถือเป็นหัวใจ ถ้าพนักงานต่อต้าน ไม่เข้าใจหรือไม่ให้ความร่วมมือ การตัดปาล์มสุกจะไม่เกิด ซึ่งต้องสอดคล้องกับผลตอบแทนที่คุ้มค่าและเป็นธรรม พร้อมๆ กับสร้างแรงจูงใจพนักงานให้ทำคุณภาพให้สูงขึ้นเรื่อยๆ 
━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
พันธุ์ปาล์มรุ่นใหม่ ทำคุณภาพดีกว่ารุ่นเก่า
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
อย่างไรก็ตาม ดร.ชนะสิทธิ์ บอกว่า องค์ประกอบของการทำปาล์มคุณภาพไม่ได้อยู่ที่ตัดปาล์มสุก การเก็บเกี่ยวเป็นส่วนปลายของขั้นตอนเท่านั้น แต่ควรทำตั้งแต่เริ่มต้นปลูกปาล์ม ซึ่งสวนพนากิจได้ทำการปลูกปาล์มรุ่นใหม่ทดแทนปาล์มรุ่นเก่าที่ให้ผลผลิตลดลง เพราะเชื่อว่าปาล์มรุ่นใหม่จะทำคุณภาพได้ดีกว่าปาล์มรุ่นเก่า

“ผลผลิตพันธุ์เก่าๆ ที่เราใช้เป็นพันธุ์มาเลเซียเนื่องจากเราทำมานานมากแล้ว พันธุ์มาเลเซียข้อดีก็คือว่าเมื่อสภาพแวดล้อม ฝน น้ำ ทุกอย่างเป็นไปตามที่เราวางผลผลิตจะออกมาดี ระหว่าง 2-3 ตัน แต่ปีไหนที่เกิดภาวะแล้ง มีแมลงศัตรูพืชผลผลิตจะหายไปเยอะ ผลผลิตแต่ละปีจะแกว่งมาก เนื่องจากพันธุ์มาเลเซียออกแบบมาให้เข้ากับอากาศของเขา ฝนเขาเยอะตลอดทั้งปี แต่ของเราจะมีช่วงแล้งนานกว่า”

สวนพนากิจจึงศึกษาสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ให้ผลผลิตสูง เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง และเหมาะสมกับภูมิอากาศของประเทศไทย คือ ทนต่ออากาศแล้งยาวๆ ได้ดี โดยศึกษาสายพันธุ์ที่ตอบโจทย์ได้มากที่สุด ก่อนจะเลือกปาล์มปาล์มรุ่นใหม่ 2 พันธุ์ คือ ซีพีไอไฮบริด และ โกลด์เด้นเทเนอรา ทั้งสองพันธุ์พัฒนาสายพันธุ์ขึ้นมาในประเทศไทย คุณสมบัติตรงตามต้องการ โดยวางแผนปาล์มปลูกใหม่ปีนี้ประมาณ 100 ไร่ 
━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ทุกส่วนทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ทั้งอุตสาหกรรมจะดีขึ้น
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ดร.ชนะสิทธิ์ มองว่า การจะพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันให้ดีขึ้น ภาครัฐมีบทบาทสำคัญมากที่สุด เพราะมีอำนาจในการกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรม

“รัฐผิดพลาดเรื่องบริหารสต็อกน้ำมัน ปัจจุบันสต็อกน้ำมันสูง ถามว่าเกิดจากอะไร ก็เกิดจากนโยบายการใช้น้ำมันไบโอดีเซล รัฐปรับจาก B7 ลงมาเหลือ B3 B5 ปัญหาใหญ่อยู่ที่การบริหารจัดการดีมานด์กับซัพพลายด์ผิดพลาด เพราะว่าดึงปาล์มไปใช้น้อยไป สต็อกน้ำมันจึงสูง กลายเป็นว่าของมากราคาก็ตกต่ำ เกษตรกรเขาเดือดร้อนเขาก็มาประท้วงเรียกร้องราคา”

“แต่ถ้ารัฐบริหารจัดการสต็อกน้ำมันให้สอดคล้องกับการผลิต เข้มงวดกฎหมายไม่ให้ใครมาบิดเบือน เกษตรกรทำปาล์มคุณภาพ ตัดปาล์มสุกเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง โรงงานพัฒนาการหีบสกัดให้เกิดความสูญเสียน้อยลง ได้น้ำมันมากขึ้น ทุกส่วนต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ทั้งอุตสาหกรรมจะดี และมีความยั่งยืน”
━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
สองผู้บริหารรุ่นใหม่สวนพนากิจบอกว่า การทำปาล์มคุณภาพอาจจะยากในช่วงเริ่มต้น เพราะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการตัดปาล์มและการทำงาน แต่ถ้ามุ่งมั่น ตั้งใจทำจนกลายเป็นความเคยชิน ก็จะพบว่าไม่ใช่เรื่องยาก เมื่อทำจนเป็นเรื่องง่าย จึงไม่มีเหตุผลที่จะกลับไปทำแบบเดิม เพราะด้วยคุณภาพและผลตอบแทนที่ได้รับคุ้มค่ากับทุกภาคส่วน

“สวนพนากิจดีใจที่เป็นส่วนเล็กๆ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน  เรามีรายได้เพิ่ม คนงานมีรายได้เพิ่ม มีความสุขขึ้น โรงงานได้ปาล์มคุณภาพไม่ใช้ ที่สำคัญอุตสาหกรรมปาล์มไทยจะพัฒนาขึ้น”

ขอขอบคุณ
สวนปาล์มพนากิจ
ดร.ชนะสิทธิ์ ธนทวี
เกษสิรี ธนทวี


Advertising
ลงโฆษณา โทร 08-6335-2703

ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม