ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

สวนปาล์มคุณภาพ สไตล์ วิโรช เพ็ชรร่วง จัดการง่าย เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง

วิโรช เพ็ชรร่วง เป็นตัวอย่างของสวนปาล์มที่ตัดสุกมาอย่างต่อเนื่อง ทีมงานคุ้นเคยกับภาพปาล์มทะลายใหญ่สีแดงสุกบรรทุกเต็มกระบะตอนเดียวสีขาว จนกลายเป็นสัญลักษณ์” ของเขาในกลุ่มเฟซบุ๊ก “กลุ่มคนปลูกปาล์มน้ำมัน” ไปแล้ว แล้วเราก็จดจำ และรู้จักเขาจากภาพนี้เช่นกัน

เรายังเชื่อว่า ภาพปาล์มทะลายสีแดงสุกที่เขาหมั่นโพสต์ จะเป็นแรงบันดาลใจให้ชาวสวนปาล์มหันมาตัดปาล์มสุกตามมากขึ้น

โอกาสที่พวกเราเดินทางไปกระบี่ เราจึงเดินทางไปหาเขา เพื่อพูดคุยเรื่องการตัดปาล์มสุก และการทำอาชีพสวนปาล์มในมุมของคนอายุ 30 กว่าๆ ซึ่งถือเป็นยุคของคนทำปาล์มรุ่นใหม่

“ผมตัดปาล์มสุกมานานแล้วครับ” วิโรช บอกเราทันที เมื่อเราถามถึง

“แต่ไม่ได้เน้นตัดสุกทุกทะลาย จะมีปาล์มกึ่งสุก ปาล์มดิบคละปนไปด้วย แต่ลานเท โรงงานเขาก็ไม่ได้คัดกลับ ไม่ได้บอกว่าขายไม่ได้”

การตัดปาล์มของวิโรช อาจจะไม่ได้แตกต่างกับชาวสวนปาล์มทั่วไป หรืออาจจะเรียกว่าเป็นการตัดปาล์มปกติ เพียงแต่ความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้เขาเลือกที่จะ “เคร่งครัด” กับ “ปาล์มสุก” ก็เมื่อ “โรงงานหีบปาล์มเพื่อกระบี่” ตั้งขึ้นใน อ.คลองท่อม จ.กระบี่ ซึ่งเป็นโรงงานที่เปลี่ยนรูปแบบการซื้อขายปาล์มตามคุณภาพ และเปอร์เซ็นต์น้ำมัน วิโรชจึงเข้าไปศึกษาและเข้าร่วมตัดปาล์มสุกขายโรงงานเพื่อกระบี่ นับจากวันนั้น จนถึงวันนี้ 1 ปี เต็มๆ

“ทุกวันนี้ผมขนปาล์มเข้าโรงงาน พนักงานของโรงงานแทบไม่ต้องคัดปาล์มผมเลย เพราะผมทำมาอย่างต่อเนื่องมาตรฐานการตัดนิ่ง ทะลายไหนติดกึ่งสุกกึ่งดิบมา ผมสั่งให้โยนกลับขึ้นรถเองเลย ผมมาขายที่นี่จนเขาคิดว่ารถผมเป็นรถโรงงานไปแล้ว” 
จากข้อมูลที่เราได้มา วิโรช เป็นคนหนึ่งที่ “แน่วแน่” กับการตัดปาล์มสุกคุณภาพมาตลอด 1 ปี เต็มๆ แม้บางช่วงลานเท และโรงงานใกล้เคียงจะให้ราคาสูงกว่า แต่เขาไปเคยวอกแวก ทำปาล์มคุณภาพอย่างตั้งใจ ส่วนหนึ่งก็เพื่อร่วมผลักดัน “โมเดลปาล์มคุณภาพ” ของ จ.กระบี่ ให้สำเร็จ

วิโรชเรียนมาทางด้านวิศวกรรมอาหาร ถ้าไม่มีอะไรบิดเบี้ยวเขาน่าจะทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารในเขตเมืองหลวง หรือนิคมอุตสาหกรรมที่ไหนสักแห่ง ซึ่งเขาก็ทำอยู่เพียงไม่กี่เดือน เพราะจำเป็นต้องกลับมาอยู่บ้าน ใน จ.กระบี่ เพื่อดูแลสวนปาล์มน้ำมันของครอบครัว เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ในพื้นที่สวนปาล์มที่เขาไม่อยากจะเปิดเผย แต่รู้ว่ามีหลายอายุ ตั้งแต่ปาล์ม 5 ปี จนถึงปาล์มแก่อายุกว่า 20 ปี

“ช่วงแรกๆ ที่เข้ามาดูสวน ก็ทำตามใจพ่อแม่เขาเคยใส่ปุ๋ยอะไร ก็ตามใจเขา ทำแบบชาวบ้านตามความเคยชิน ไม่รู้หรอกว่าปุ๋ยพอมั้ย โบรอน แมกนีเซียมไม่เคยใส่เลย ผลผลิตก็ไม่เยอะเท่าที่ควร แต่พอผมมาทำก็พยายามศึกษาหาความรู้ แล้วค่อยๆ ปรับเปลี่ยน”

 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ปุ๋ยสั่งตัด สูตรมาเลย์ ช่วยลดต้นทุน
━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
หลังจากมีความรู้เรื่องการจัดการสวนปาล์มวิธีแรกๆ ที่ทำ ก็ใส่ปุ๋ยให้เยอะขึ้นเพื่อบำรุงต้นมากขึ้น และเปลี่ยนจาก “ปุ๋ยสูตรสำเร็จ” ทั่วไปมาใช้ “ปุ๋ยสั่งตัด” ที่มีต้นทุนต่ำกว่า โดยซื้อแม่ปุ๋ยจากร้าน แล้วให้ทางร้านผสมให้ คำนวณสูตรตามที่ต้องการ พร้อมกับผสมแมกนีเซียม และโบรอน เข้าไปด้วยให้ตรงตามความต้องการของปาล์มแต่ละอายุ

“ปีนี้ผมใช้ปุ๋ยผสมเองทั้งหมด ต้นทุนลดลงชัดเจน จากแบรนด์ดังๆ กระสอบละ 800-900 บาท พอซื้อแม่ปุ๋ยผสมเองเหลือแค่ 600 บาท/กระสอบ สูตรที่ผสมก็เอามาจากของมาเลย์ 12-6-27 + 4.5 (แมกนีเซียม) +0.4 (โบรอน) + 3.5 (ซัลเฟอร์) ปาล์มอายุ 5 ปีขึ้นไปใส่ 9-10.5 กก./ต้น/ปี แล้วแต่ผลผลิต  ถ้าผลผลิตเกิน 5 ตัน/ไร่/ปี ก็เพิ่มปริมาณปุ๋ยขึ้น พอเปลี่ยนมาใช้แบบนี้ ช่วยลดต้นทุนให้ครอบครัวเยอะพอสมควร แต่ถ้าจะลดต้นทุนเพิ่มสามารถแยกใส่แม่ปุ๋ยทีละตัวได้”

วิโรชแนะนำเกษตรกรว่า ควรหันมาใช้แม่ปุ๋ย หรือปุ๋ยผสมเอง เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพปุ๋ยให้ตรงกับความต้องการของปาล์มน้ำมัน 
เขายอมรับว่า น้ำ สำคัญต่อผลผลิตปาล์มน้ำมัน ซึ่งกระบี่ถือว่าได้เปรียบเพราะมีปริมาณฝนเหมาะสมแก่ปาล์มน้ำมัน แต่ก็มีบางปีที่เจอภาวะแล้งติดต่อยาวนานหลายเดือน ทำให้ต้นปาล์มได้รับผลกระทบ จนผลผลิตลดลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำใจพอสมควร เพราะสภาพสวนปาล์มของกระบี่ส่วนใหญ่เป็นเนินเขาสลับร่องห้วย วางระบบน้ำได้ยาก จึงต้องพึ่งพาอาศัยน้ำตามธรรมชาติ ขึ้นอยู่กับฝนเป็นตัวกำหนดความสมบูรณ์และผลผลิต

วิธีที่พอจะช่วยบรรเทาได้คือ ปล่อยให้หญ้ารกเพื่อเก็บกักความชื้นหน้าดินในช่วงหน้าแล้ง จากที่เคยฉีดยาฆ่าหญ้าไม่ให้สวนรก ก็เปลี่ยนมาใช้วิธีตัดเฉพาะรอบโคนต้นให้ทำงานและเก็บลูกร่วงสะดวก และจะตัดหญ้ารอบใหญ่ 2 ปี/ครั้ง

“ผมเน้นจัดการง่ายๆ ไม่เปลืองงบประมาณ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 4-5 ตัน/ไร่/ปี ปาล์มเล็กผลผลิต 5-6 ตันก็มี แต่พอเฉลี่ยกับแปลงใหญ่ที่ผลผลิตกำลังลดลง จะได้ประมาณนี้ แต่เราก็มองว่ายังสามารถทำให้ผลผลิตสูงได้มากกว่านี้ เพราะปุ๋ยยังใส่ได้ไม่เต็มที่ มีอุปสรรคหลายด้านเช่น ฝนเยอะ คนงานขาด อากาศแล้ง บางแปลงเรากะจะใส่ 9-10 กก. ก็ทำไม่ได้ ผลผลิตจึงไม่เต็มที่นัก ซึ่งจะต้องวางแผนในแต่ละฤดูกาลไม่เหมือนกัน เราตั้งเป้าจะใส่ปุ๋ยให้สมบูรณ์กว่านี้ ผลผลิตจะสูงขึ้น” 
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ตัดปาล์มสุกมีลูกร่วง ไม่ยากถ้าทำให้เป็นเรื่องปกติ
━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
อีกด้านที่เขามุ่งเน้นและให้ความสำคัญมากที่สุดคือ “การตัดปาล์มคุณภาพ” เวลาเก็บเกี่ยวเขาจะเน้นกับ “คนตัดปาล์ม” ให้ตัดเฉพาะทะลายสุกและมีลูกร่วงเท่านั้น

“แรกๆ อาจจะมีติดมาบ้าง แต่ทำความเข้าใจใหม่กับเขา ปกติคนตัดเขารู้ว่าตัดขายลานเท กับโรงงานจะต่างกัน คนงานจะตัดสุกเน้นที่มีลูกร่วง และต้องเก็บลูกร่วงมาด้วย พอเขาทำไปบ่อยๆ ก็จะกลายเป็นเรื่องปกติ โดยจะตัดทุกๆ 15 วัน แต่ถ้าปาล์มน้อยๆ ก็ 20 วัน”

“ชาวบ้านฟังว่าต้องตัดร่วงทุกทะลายใครจะทำได้ เลยไม่อยากทำ เพราะตัดปาล์มสุกมันจะมีลูกร่วงเยอะ เสียเวลาเก็บลูกร่วง และทะลายที่มีสีแดงสุกแต่ไม่มีลูกร่วง แต่อีก 2-3 วัน ลูกจะร่วง ถ้าทิ้งไว้ไม่ตัดอีก 15 วัน ทะลายจะสุกเกินลูกร่วงเยอะ ในทางทฤษฎีเราจะเน้นตัดทะลายที่มีลูกร่วงก็จริง แต่พอปฏิบัติเราก็ปรับมาตัดทะลายที่สีแดงจัดได้ แม้ไม่ร่วงก็ตาม แต่สัดส่วนต้องไม่มากอยู่ในเปอร์เซ็นต์ที่ยอมรับได้ เราเน้นทะลายที่มีลูกร่วงเป็นเปอร์เซ็นต์หลัก”
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ตัดปาล์มสุกเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง รายได้เพิ่ม
━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ตัดปาล์มสุกแล้วได้อะไร...? วิโรช เล่าจากประสบการณ์ว่า เมื่อตัดปาล์มสุกเปอร์เซ็นต์น้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 20-21% ถ้าขายโรงงานทั่วไปอาจจะได้ราคาบวกเพิ่มให้ แต่ก็ไม่แน่นอน แต่โรงงานเพื่อกระบี่ จะซื้อปาล์มตามเปอร์เซ็นต์น้ำมัน จึงขายปาล์มได้ราคาสูงกว่าระบบปกติ เฉลี่ย 50-60 สตางค์/กก. โดยเฉพาะช่วงราคาปาล์มดีๆ ราคาจะสูงกว่าปกติ 1 บาท/กก. และมากกว่า จึงมีรายได้เพิ่มขึ้น

แต่การตัดปาล์มคุณภาพย่อมมีต้นทุนเพิ่มขึ้น รายได้ส่วนนี้เขาก็จะเพิ่มให้คนตัดปาล์มเพื่อให้มีกำลังใจทำงาน และบางช่วงยังต้องจ้างคนงานเก็บลูกร่วงเพิ่ม กก.ละ 2 บาท

“แต่ถือว่าคุ้มค่า บวกให้คนตัดปาล์มตันละ 50-100 บาท กับรายได้ที่เพิ่มขึ้นมา 60 สตางค์ /กก. ยังได้กำไรคุ้มค่า ถ้ามีรายได้จากตัดปาล์มสุกเพิ่มมา 1,800 บาท /ตัน จ่ายคนงาน 450 บาท ยังเหลือกำไร แต่ช่วงราคาดีๆ ส่วนต่างมากกว่า 1 บาท ก็ยังคุ้มค่าที่เราลงทุน”

วิโรช บอกว่า การทำปาล์มคุณภาพต้องทำให้เป็นนิสัยให้ได้ ถ้าทำได้ก็ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ต้องยอมรับว่า ในภาพรวมเกษตรกรยังตัดปาล์มคุณภาพน้อย เพราะคิดว่าทำยาก หรือไม่ก็มีปัญหาเรื่องคนตัด ต้องจ่ายเงินเพิ่ม จะสั่งงานเรื่องมากไม่ได้กลัวไม่ตัดให้ก็เลยไม่อยากทำ บางช่วงปาล์มขาดตลาด โรงงานสู้ราคาให้ราคาสูง ชาวบ้านก็คิดว่าไม่คุ้มที่จะทำ ขายลานเท ได้ราคาสูง ขณะที่โรงงานรับซื้อปาล์มตามคุณภาพก็ยังมีไม่มาก

“การตัดปาล์มคุณภาพจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์มาบังคับ ส่วนหนึ่งโรงงานมีส่วนสำคัญ ถ้าโรงงานกำหนดหลักเกณฑ์ขึ้นมา ซื้อตามความสุก โดยไม่ได้บังคับ แต่เปิดโอกาสให้คนที่ตัดปาล์มสุกได้ราคามากกว่า เพื่อเป็นแรงจูงใจ ลานเทก็อยากทำปาล์มคุณภาพ จริงๆ โรงงานสามารถกำหนดได้ แต่หลายๆ พื้นที่ไม่มีโรงงานรับซื้อตามความสุก ก็ไม่มีใครอยากทำ ตัดสุกก็ได้เท่าตัดดิบ ถ้าไม่มีโรงงานเพื่อกระบี่ ผมก็ไม่รู้จะทำไปทำไมเหมือนกัน ผมว่าชาวบ้านเขาพร้อมที่จะทำตามกฎเกณฑ์ ถ้ามีการรับซื้อที่เป็นธรรม ซื้อตามความสุกตามคุณภาพให้เป็นทางเลือก เพราะใครๆ ก็อยากได้ราคาสูง”
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
เกษตรกรต้องรวมพลังเรียกร้องในเรื่องที่ไม่เป็นธรรม
━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
วิโรช เป็นเกษตรกรรายหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการทำปาล์มคุณภาพ เท่าๆ กับการเรียกร้องความเป็นธรรมด้านราคา เขาบอกว่า หน้าที่ของชาวสวนไม่ใช่แค่ลดต้นทุน หรือทำให้ผลผลิตสูงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องรวมกลุ่มเพื่อสร้างความเข้มแข็ง พร้อมเรียกร้องในส่วนที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะด้านราคาปาล์ม

“ราคาสำคัญกับการทำสวนปาล์ม ถ้าเราทำดีมาตลอด แต่มาตกม้าตายกับราคา เราลดต้นทุนได้ปีละหมื่นสองหมื่น แต่ราคาเพิ่มขึ้น 1 บาท/กก.  เราลดต้นทุนยังไงเราก็ไม่เท่าราคาที่เพิ่มขึ้นได้ แต่จุดยืนของเราไม่ได้เรียกร้องให้ราคาเพิ่มขึ้น แต่เรียกร้องในจุดที่ไม่เป็นธรรม ให้ซื้อปาล์มตามคุณภาพ โรงงาน โรงกลั่น เขารวมกลุ่มกันกำหนดทิศทาง กำหนดราคา แต่มาดูเกษตรกรกลับไม่มีการรวมกลุ่มที่เข้มแข็ง การรวมพลังสำคัญกับเกษตรกรในอนาคต ถ้าเรามีพลังเราจะสามารถต่อสู้กับความไม่เป็นธรรมได้”

ขอขอบคุณ
วิโรช เพ็ชรร่วง โทรศัพท์ 061 365 5456





ลงโฆษณา โทร 08-6335-2703

ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม