ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

สร้าง “กองทางใบ” ในสวนปาล์ม ของดีที่ไม่มีต้นทุน

ความมหัศจรรย์ เกิดขึ้นได้ บน ความธรรมดา...!!! เหมือนกับ “ทางใบ” ของต้นปาล์มธรรมดาๆ เมื่อนำมาสร้างกองทางในสวนปาล์มมันมีประโยชน์หลายด้านจนน่าอัศจรรย์  

ทางใบปาล์ม เป็น โรงงานปุ๋ยอินทรีย์ ทางใบปาล์มเป็น โรงอาหาร ทางใบปาล์มเป็น ตู้เซฟเก็บความชื้น และเป็น ยาฆ่าหญ้าธรรมชาติ

เรื่องน่าอัศจรรย์ยิ่งกว่านั้น คือ ประโยชน์เหล่านี้ เป็น “ของฟรี” ไม่เสียเงินซื้อซักสตางค์แดงเดียว

ลองมาดูตัวอย่างเกษตรกรชาวสวนปาล์ม 5 ราย ใน จ.สุราษฎร์ธานี ชุมพร และ ตรัง  ว่าผลของการสร้างกองทางในสวนปาล์มของพวกเขา น่ามหัศจรรย์แค่ไหน

อ.พรพันธุ์ศักดิ์ พาหะมาก  จ.สุราษฎร์ธานี 
ทางใบปาล์ม ปุ๋ยอินทรีย์ฟรีๆ มีธาตุอาหารสูง
 ━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ปกติสวนปาล์มของ อ.พรพันธุ์ศักดิ์ พาหะมาก จะตัดแต่งทางใบปีละ 2-3 ครั้ง หรือตามโอกาสเมื่อมีทางใบมากเกินไป แต่หลักๆ จะเริ่มตัดทางใบเมื่อปาล์มอายุ 5 ปีขึ้นไป โดยเหลือทางใบไว้ใต้ทะลาย  2 ทาง คือ ทางรองทะลายและทางรับน้ำ แต่ปาล์มใหญ่อายุ 10 ปีขึ้นไป โดยเลือกทางใบที่ไม่ได้รับแสง เนื่องจากทางที่รับแสงจะช่วยปรุงอาหาร แต่ทางที่ไม่ได้รับแสง มันจะกินอาหารแทนที่จะช่วยปรุงอาหารกลับกลายเป็นภาระของต้น พวกนี้ต้องเอาออก 
ทางใบที่ตัดจะนำมาปูในพื้นสวน ตัดส่วนหนามตรงโคนทางกองไว้ข้างๆ อ.พรพันธุ์ศักดิ์เล่าว่า เริ่มใช้ทางใบปูมา 5 ปีแล้ว  เมื่อก่อนกองซ้อนกันกลางแถวปาล์มหรือตามริมคูน้ำ มารู้ทีหลังว่าซ้อนเป็นกองไม่ได้ประโยชน์ แต่พอปูมันจะย่อยเร็ว อินทรียวัตถุจะกระจายทั่วพื้นที่ เวลาหน้าแล้ง ยังมีความชื้นตลอด เวลาใส่ปุ๋ยฝนตกมาก็ไม่ไหลไปตามน้ำ จะอยู่ในบริเวณนั้นๆ
อ.พรพันธุ์ศักดิ์ บอกว่า ในตัวทางใบ 1 ไร่จะให้น้ำหนักประมาณ 1 ตันครึ่ง ซึ่งเป็นอินทรีย์กลับคืนสู่ดิน และทางใบยังมีธาตุอาหารที่เป็น N P K ตกค้างอยู่ประมาณ 1 กระสอบ ตรงนี้เราได้กลับมาฟรีๆ  


ตอนนี้ผมไม่ต้องใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์เลย ปรับปรุงดินไปในตัวด้วย ในสวนปาล์มแปลงหนึ่งเป็นดินเปรี้ยว ไม่มีอินทรียวัตถุ ผมให้คนงานสับทางใบใส่ที่พื้น 2-3 ปี  ย่อยกลายเป็นอินทรียวัตถุทำให้ดินดีขึ้น เป็นอินทรียวัตถุที่หาง่าย ราคาถูก แต่นี่ของฟรีๆ

ฉัตรชัย รัตวิวัฒนาพงศ์ จ.ตรัง 
ลดต้นทุนปุ๋ยอินทรีย์ 50 บาท/ต้น ด้วยทางใบปาล์ม
  ━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
สวนปาล์มน้ำมันของ ฉัตรชัย รัตวิวัฒนาพงศ์ ใน อ.ห้วยยอด จ.ตรัง สภาพพื้นที่โดยทั่วไปเป็นเชิงเขาไม่มีแหล่งน้ำ อาศัย “น้ำฝน” จาก “เทวดา” เป็นหลัก ปีที่ฝนขาดช่วงยาวๆ เจอ “ภัยแล้งรุมสกรัม” ติดต่อกันตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป โดยเฉพาะเมื่อสองปีก่อนแล้งนานถึง 6 เดือน ต้นปาล์มได้รับผลกระทบรุนแรง จนส่งผลต่อผลผลิต 
เมื่อไม่มีน้ำทางเดียวที่พอจะทำได้คือ หาวิธีช่วยรักษาความชื้นในสวนให้ได้มาก ไว้รับมือเมื่อแล้งมาเยือน เช่น ปล่อยหญ้าขึ้นรกบ้างแต่พอประมาณ บทเรียนจากหลายปีที่ผ่านมาเขาจะสั่งคนงานตัดหญ้าให้โล่งเตียนเหมือนสนามกอล์ฟไม่มีหญ้าสักต้น แต่ผลคือ เมื่อถึงหน้าแล้งต้นปาล์มได้รับผลกระทบ  

เขาจึงวางแผนปล่อยให้หญ้าขึ้นรกมากกว่าเดิม และใช้ทางใบปาล์มที่เคยตัดกองไว้ระหว่างแถว เปลี่ยนมาปูตามพื้นสวนแทน เว้นระยะห่างจากต้นปาล์มประมาณ 1 เมตร ทางใบจะช่วยคลุมดิน เหมือน “ตู้เซฟเก็บความชื้น” และค่อยๆ ย่อยสลายสร้างอินทรียวัตถุในดิน

สังเกตได้เลยว่าใต้ทางใบปาล์มที่กำลังผุจะมีรากอ่อนสีขาวอยู่เต็มไปหมด รากเหล่านี้ทำหน้าที่หาอาหาร เป็นเหมือน “ปากต้นปาล์ม” มันจะวิ่งไปหาความชื้นและกินอาหาร เวลาใส่ปุ๋ยก็ใส่ไปบริเวณทางใบปาล์ม
ประโยชน์ของทางปาล์มยังไม่หมด เพราะนับตั้งแต่เปลี่ยนมาปูทางใบแทนวิธีกองสูง ในสวนไม่ต้องใส่ปุ๋ยอินทรีย์อีกเลย

ปูทางใบมา 2 ปี แล้ว ประโยชน์จากทางใบทั้งรักษาความชื้น และเป็นอินทรีย์  เมื่อก่อนผมต้องใส่ขี้ไก่แกลบ ปรับสภาพดินจากการใช้ปุ๋ยเคมีมาทั้งปี ต้นทุนขี้ไก่รวมขนส่งกระสอบละ 50 บาท ใส่ช่วงมีนาน เมษา ต้นละกระสอบ แต่พอมีทางใบ ผมก็ไม่ต้องใส่ขี้ไก่แล้ว ลดไปเลยต้นละ 50 บาท

ในแง่ของประโยชน์และต้นทุน ทางใบปาล์มในสวนจึงเป็นปุ๋ยอินทรีย์ถูกและดีที่สุด ฉัตรชัยบอกอย่างนั้น

ณัฐดนัย สุขรัตน์ จ.ชุมพร
สร้างอินทรียวัตถุในสวนจากทางใบ วางกระจายเป็นรูปตัว T
  ━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
สวนปาล์มน้ำมันของณัฐดนัย สุขรัตน์ จะเน้นสร้างอินทรียวัตถุจากในสวน ง่ายๆ เพียงแค่นำทางใบที่ตัดแต่งปีละ 2 ครั้ง วางกระจายเป็นรูปตัว T ห่างจากโคนต้นปาล์มประมาณเมตรกว่าๆ  ทำแบบนี้มีข้อดี 3 อย่าง คือ เพิ่มและกระจายอินทรียวัตถุในสวนเยอะขึ้น ช่วยให้ดินสมบูรณ์ ทางใบยังช่วยชะลอการไหลของน้ำบริเวณพื้นที่ลาดเอียง และช่วยรักษาความชื้นภายในสวนได้อย่างดี 


เมื่อก่อนเกษตรกรเขาจะกองทางใบไว้กลางแถวปาล์มแบบสูงๆ เวลาใส่ปุ๋ยจะใส่บนดินไม่กล้าใส่บนกองทางกลัวว่าปุ๋ยจะค้างบนใบปาล์มทำให้ปาล์มไม่ได้กินปุ๋ย แต่ในความเป็นจริงการใส่ปุ๋ยบนกองทางจะมีประสิทธิภาพมากกว่าเพราะบริเวณกองทางมีความชื้นสูงโครงสร้างดินดีกว่ารากฝอยก็เยอะกว่าเพราะฉะนั้นการใส่ปุ๋ยบริเวณกองทางจึงให้ประสิทธิภาพกว่า  ดังนั้นจะเลือกวางกองทางกระจายเป็นตัว T รากปาล์มจะกระจาย ปริมาณรากกินอาหารจะมีมาก และกระจายไปทั่ว เราจะใส่ปุ๋ยได้กว้างขึ้น รากจึงกินปุ๋ยได้สะดวกมากขึ้น ช่วยให้การให้ปุ๋ยมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

นอกจากให้ปุ๋ยบริเวณกองทางแล้ว น้ำก็เน้นให้บริเวณกองทางด้วยเช่นกัน โดยติดตั้งสปริงเกอร์ไว้ใกล้กองทาง น้ำที่ตกลงมาเมื่อลงบนกองทางจะเก็บความชื้นไว้ได้นาน ดังนั้นจึงทำให้บริเวณดังกล่าวมีความชื้น ธาตุอาหาร อินทรียวัตถุ จะรวมกันอยู่บริเวณนี้ กลายเป็น “โรงอาหาร” ขนาดใหญ่ของต้นปาล์ม 

อรรณพ ยังวนิชเศรษฐ จ.สุราษฎร์ธานี
สร้างกองทางปาล์ม ได้ปุ๋ยอินทรีย์ ของฟรี ไม่มีต้นทุน
  ━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
สวนปาล์มของอรรณพ ยังวนิชเศรษฐ  ให้ปุ๋ยอินทรีย์ตลอดทั้งปี แต่เป็นอินทรีย์ที่ได้มาแบบฟรีๆ ไม่ต้องเสียเงินซื้อ นั่นก็คือ “ทางใบปาล์ม”

ปกติสวนปาล์มจะตัดแต่งทะลายปีละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะทางใบที่ไม่ได้รับแสงแดด พวกนี้ไม่มีประโยชน์ เพราะปรุงอาหารไม่ได้ แถบยังกินปุ๋ยเหมือนเดิม ทางใบที่ตัดจะนำมาสร้างเป็นกองทางวางกระจายระหว่างต้นปาล์ม มันจะย่อยสลายเป็นอินทรีย์ตามธรรมชาติ จึงหาง่าย ไม่ต้องเสียเงินซื้อ  

สังเกตตรงที่วางกองทางใบจะผุเปื่อย มีจุลินทรีย์ มีการทำงานของไส้เดือน รากอ่อนจะมาอยู่ใต้ทางใบที่เราปู เป็นรากที่ใช้กินอาหาร เวลาใส่ปุ๋ยจะใส่ตามกองทางเหล่านี้ ต้นปาล์มจะได้กินปุ๋ยเต็มที่ และมีงานวิจัยว่าสวนที่สร้างกองทางใบให้ผลผลิตสูงกว่า สวนปาล์มที่โล่งเตียน

นอกจากนั้นทางใบที่ปูระหว่างต้น ยังช่วงคลุมหญ้าได้อีกทางหนึ่งด้วย สังเกตได้จากสวนปาล์มของอรรณพจะสร้างกองทางทุกแปลงและปล่อยให้หญ้าขึ้นรก ใช้วิธีตัดหญ้าเท่านั้น ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้าเด็ดขาด การใช้ยาฆ่าหญ้าจะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทุกส่วนของต้นปาล์ม โดยเฉพาะผลผลิตจะลดลง หากใช้ติดต่อเป็นเวลานาน 

ผมชอบสวนรก มันมีความชื้น ต้นปาล์มใบเขียว ใบมันวาว สมบูรณ์ และผลผลิตจะสูง แต่สวนที่ฉีดยาฆ่าหญ้าประจำสวนเตียนก็จริง แต่ความชื้นในสวนน้อย ต้นปาล์มไม่สมบูรณ์ผลผลิตน้อย ถ้าสวนรกแล้วผลผลิตสูงผมทำสวนให้รกดีกว่า

โสฬส เดชมณี จ.สุราษฎร์ธานี
ทางใบปาล์มเป็นปุ๋ยอินทรีย์ธรรมชาติ ต้นทุนต่ำ ธาตุอาหารสูง
  ━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━━
ในสวนปาล์มน้ำมันของ โสฬส เดชมณี จะมีทางใบปาล์มปูเต็มพื้นสวนไปหมด ต่างจากที่เคยเห็นแค่นำไปกองไว้ตรงกลางระหว่างแถวต้นปาล์ม จึงทำให้สวนปาล์มของเขาไม่มีหญ้า แลดูสะอาดตา 

ทางกลุ่มที่ผมเป็นสมาชิกมีกิจกรรมให้ทุกสวนทำปุ๋ยหมักจากทะลายปาล์ม เขาจะมีทะลายปาล์มจากโรงงานสนับสนุนให้ แต่ผมไม่มีเวลาทำ จึงไปหารือกับ .ธีระพงศ์นอกรอบว่าถ้าผมจะใช้ทางปาล์มปูให้เต็มสวนจะสร้างอินทรียวัตถุได้เพียงพอไหม อาจารย์บอกว่าถ้าทำได้มันเหลือเฟือมาก แต่ไม่มีใครทำกัน ผมจึงเริ่มทำเลย สังเกตว่าเราปูตามพื้นมันย่อยสลายเร็วกว่ากองไว้เป็นแถว แล้วหญ้าไม่ค่อยขึ้นด้วย ตรวจวัดแล้วอินทรียวัตถุในดิน 5.7 มันสูงมาก ทั้งที่ไม่เคยใส่มูลสัตว์สักนิดเลย มาจากทางปาล์มในสวนล้วนๆ 

โดยสรุปประโยชน์ของการปูทางใบจึงเป็นเหมือน “ตู้เซฟ” เก็บความชื้นหน้าดินในสวน เป็น ยาฆ่าหญ้าธรรมชาติ ช่วยลดการเกิดหญ้าในสวนได้อย่างดี และที่สำคัญ เป็น โรงงานปุ๋ยอินทรีย์” คุณภาพเยี่ยมให้สวนปาล์ม 

ทางใบปาล์มนั้นมีประโยชน์มากมายหลายทางกับสวนปาล์ม นอกจากได้มาฟรีๆ แล้ว ยังช่วยลดต้นทุนได้อีกด้วย นี่คือความมหัศจรรย์ของทางใบปาล์ม


ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม