ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

ทำสวนปาล์มแบบ คิดนอกกรอบ สไตล์ ติ๋ม ระนอง ผลผลิตใช้ “หัวใจ” เป็น “ตราชั่ง”

คิดนอกกรอบ ใครๆ ก็อยากจะคิดนอกกรอบ แต่ทว่าคุณรู้จักทุกซอกทุกมุมของกรอบนั้นหรือยัง เมื่อใดที่คิดอยากออกจากกรอบนั้น จงทบทวนกับตัวเองก่อนว่าเราได้เรียนรู้ทุกอย่างในกรอบอย่างเต็มที่แล้ว

เช่นเดียวกับ พี่ติ๋ม ช่วยเจริญ สาวสวนปาล์มคนเก่งที่ครั้งหนึ่งเธอเคยเป็นคนที่ไม่รู้เรื่องปาล์มเลย ออกจะ “เกลียด” ด้วยซ้ำ ตามประสาผู้หญิง เพราะปาล์มนี่หนาหนามเยอะเหลือเกิน และเป็นงานค่อนข้างหนัก

แต่พี่ติ๋มต่างจากคนทั่วไปตรงที่ เธอได้แปลงความเกลียด เป็นความพยายามในการค้นหาความรู้และทดลองด้วยตัวเอง 

ทำให้วันนี้เธอได้ “ติดป้ายผลงาน” ให้เห็นใน กลุ่มเฟซบุ๊กที่ชื่อ “ปาล์มน้ำมัน” ด้วยการโพสต์ภาพต้นปาล์มที่มีทะลายเต็มต้นให้เพื่อสมาชิกได้ชมแบบต่อเนื่อง ทั้งปาล์มเล็กปาล์มใหญ่ 

แต่ไม่ได้หมายความว่าสายพันธุ์ที่พี่ติ๋มปลูกให้ผลผลิตดีเพียงอย่างเดียว แต่แสดงถึงความเอาใจใส่ที่เธอมีให้กับสวนปาล์มด้วย ที่สำคัญการจัดการสวนปาล์มของเธอออกจะหลุดจากกรอบที่นักวิชาการเขียนไว้พอสมควร

สวนปาล์มเป็นพื้นที่เนินเขาและลาดชัน
พี่ติ๋ม ช่วยเจริญ เจ้าของสวนปาล์มน้ำมัน อ.กระบุรี จ.ระนอง
เว็บไซต์ยางปาล์ม มีโอกาสได้ไปเยี่ยมสวนปาล์มของ พี่ติ๋ม ช่วยเจริญ หรือที่รู้จักในวงการปาล์มน้ำมันในชื่อ “ติ๋ม ระนอง” สาวอารมณ์ดีที่ชื่นชอบการทดลอง เรียนรู้การทำสวนปาล์มด้วยตัวเอง จนวันนี้ผลงานเป็นที่ประจักษ์ 

พี่ทำมาแล้วหลายอย่าง ตั้งแต่สวนยาง ทุเรียน สะตอ มังคุด แล้วก็ปลูกกาแฟในสวนทุเรียนมา 20 กว่าปี ตอนนี้เราเลิกไปเกือบหมดแล้ว หันมาทำสวนปาล์มเป็นหลัก

ถึงแม้ตอนนั้นจะไม่มีความรู้เรื่องปาล์มมาก่อน แต่พี่ตั้งใจหาความรู้ ชอบเรียนรู้ ชอบทดลอง เพราะแต่ละคนเขามีเทคนิคแตกต่างกัน สภาพพื้นที่ก็ไม่เหมือนกัน การบริหารจัดการดูแลก็ย่อมต่างกัน ฉะนั้นเราต้องเรียนรู้ ต้องทดลองด้วยตัวเอง ถึงจะได้สูตรที่เหมาะกับเราพี่ติ๋มเล่าเรื่องอาชีพชาวสวนในอดีตให้เราฟัง

ปาล์มน้ำมันอายุ 12 ปี พันธุ์เดลี คอมแพ็ค
สวนปาล์มเป็นพื้นที่เขา และลาดชัน ปุ๋ยจะถูกชะล้างได้ง่าย
ปัจจุบันปาล์มน้ำมันของพี่ติ๋มมี 2 รุ่น ปาล์มรุ่นแรกอายุ 12 ปี เดลี คอมแพ็ค ซึ่งเปรียบเสมือน “ครู” ทางอาชีพของเธอ  โดยทดลองตั้งแต่ใส่ปุ๋ย ตัดแต่งทางใบ และนำมาใช้กับแปลงที่ปลูกใหม่ปัจจุบันอายุประมาณ 3 ปี สายพันธุ์  “เดลิ ไนจีเรียแบล็ค” และ  คอมแพ็ค กาน่า 

เธอชอบปาล์มทั้ง 3 พันธุ์เป็นการส่วนตัว เนื่องจากให้ทะลายดก และเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ขนาดทะลายใหญ่พอเหมาะ ไม่เล็ก ไม่ใหญ่เกินไป เพราะไม่ได้จ้างคนตัดปาล์ม มีเพียงพี่ติ๋มกับแฟนช่วยกันตัดปาล์มและดูแลสวนปาล์มทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น ตัดหญ้า ใส่ปุ๋ย ก็ทำด้วยตัวเอง

พี่ติ๋มเล่าว่า ตอนแรกไม่มีความรู้ ไม่มีประสบการณ์ จะใส่ปุ๋ยอะไรก็ต้องไปถามสวนข้างๆ บ้างคนรู้จักบ้าง รู้อะไรมาก็เอามาทดลอง เนื่องจากเมื่อก่อนยังไม่มีอินเตอร์เน็ต ยังไม่มีเฟซบุ๊กความรู้ไม่เยอะเหมือนสมัยนี้ ข้อมูลทางวิชาการก็หายาก 

เธอยกตัวอย่างเรื่องการใส่โบรอนในสวนปาล์มว่า เมื่อก่อนชาวสวนปาล์มจะบอกเล่ากันมาว่าอย่าใส่โบรอนมากเพราะจะเป็นพิษ เธอก็ไม่กล้าใส่มาก แต่พอได้รู้จักเพื่อนในวงการปาล์มน้ำมันมากขึ้นก็ได้ความรู้ใหม่

ปาล์มน้ำมันพันธุ์ คอมแพ็ค กาน่า
ปาล์มน้ำมันอายุ 3 ปี พันธุ์ เดลี ไนจีเรียแบล็ค
การจัดการสวนปาล์มของพี่ติ๋ม วินัย เป็นเรื่องสำคัญ ทั้งการตัดหญ้าและใส่ปุ๋ย ปีละ 14 กก./ต้น/ปี

อ้าว...มันใส่ได้นิ่ พี่ก็ลองเพิ่มจากที่ใส่ 100 กรัม/ปี มาเป็น 200 กรัม/ปี ตอนนี้ใส่ 300 กรัม/ปี โดยแบ่งใส่ 2 รอบ เพราะปาล์มเราออกลูกเยอะ หน้าดินก็ถูกชะล้างตลอด ก็ต้องใส่เพิ่มเข้าไป ตอนที่ใส่ 200 กรัม บางต้นมีอาการใบหงิก พี่ก็ใส่เพิ่มไปเป็น 300 กรัม แล้วมันดีขึ้น ปีนี้พี่ก็ใส่ไปเลยต้นละ 300 กรัม

สำหรับปาล์มน้ำมันแล้วเรื่องปุ๋ยถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ผลผลิตชุดที่กำลังออกอยู่นี้พี่ติ๋มใช้แม่ปุ๋ยและแยกใส่ทีละตัวตามที่วิชาการ และเพื่อนๆ ชาวสวนปาล์มให้คำแนะนำมา  คือ

  • 21-0-0 รอบละ 1.5 กก. (3 รอบ/ปี)
  • 18-46-0 รอบละ 1 กก. (2 รอบ/ปี)
  • 0-0-60 รอบละ 2 กก. (3 รอบ/ปี) เพิ่มตามความดกของต้น
  • แมกนีเซียม รอบละ 1 กก. (2 รอบ/ปี)
  • โบรอน รอบละ 150 กรัม (2 รอบ/ปี)
  • รวมประมาณ 14.80 กก./ต้น/ปี
แม้ว่าจะเป็นเทคนิคที่ช่วยลดรายจ่ายมากกว่าการใช้ปุ๋ยผสมและปาล์มได้สารอาหารอย่างที่ต้องการ แต่สำหรับพื้นที่ลาดเอียงและฝนตกชุกของ จ.ระนอง วิธีนี้จึงไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เพราะนอกจากจะเสียเวลาใส่ปุ๋ยบ่อยๆ แล้ว ต้นปาล์มยังไม่สามารถได้รับสารอาหารจากปุ๋ยแบบทันท่วงที ถูกน้ำชะล้างไปซะก่อน 

เธอจึงหันมาใช้ ปุ๋ยสูตร 15-15-15 และ แม่ปุ๋ย 0-0-60 เป็นหลัก แล้วเพิ่ม 21-0-0 และเสริมด้วย แมกนีเซียม และโบรอน ดังนี้

  • 0-0-60 รอบละ 1.5 กก. (3 รอบ/ปี)
  • 15-15-15 รอบละ 2 กก. (3 รอบ/ปี)
  • 21-0-0 รอบละ 1 กก. (2 รอบ/ปี)
  • แมกนีเซียม รอบละ 1 กก. (2 รอบ/ปี)
  • โบรอน รอบละ 200 กรัม (2 รอบ/ปี)
  • รวมประมาณ 14.70 กก./ต้น/ปี

 เมื่อหันมาใช้ปุ๋ยสูตรช่วยกระชับเวลาการทำงานให้สั้นขึ้น และต้นปาล์มดูดซึมสารอาหารที่อยู่ในปุ๋ยก่อนฝนตก

พี่ติ๋มตัดแต่งทางใบปาล์มอายุกว่า 4 ปี เพราะต้องการให้ต้นปาล์มได้รับแสงเต็มที่ อาศัยการใส่ปุ๋ยชดเชยให้ต้นสมบูรณ์
เว็บยางปาล์ม อดถามไม่ได้ว่าทำไมพี่ติ๋มไม่วางทางใบตามทฤษฎีวิชาการสมัยใหม่เหมือนสวนอื่นๆ จะได้ช่วยกักเก็บปุ๋ยเหมือนที่คนอื่นๆ เขาบอกเล่ากันมา 

เธอยิ้มหวานให้ทีมงานก่อนจะตอบกลับมาทันใดราวกับเป็นคำถามที่เคยถูกถามมาแล้วซ้ำๆ หลายหนว่า “พื้นที่ตรงนี้เป็นเนินเขามีความลาดเอียงมาก ต่อให้วางทางปาล์มอย่างไรพอฝนตกก็ถูกพัดตามน้ำไปจนหมด” คือสิ่งที่พี่ติ๋มได้พบเจอและตัดสินใจหันมาใช้ปุ๋ยสูตรแทน

ไม่เพียงเท่านี้...เทคนิคการจัดการสวนบางอย่างของเธอยัง “แหกกฎ” ของการทำสวนปาล์ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตัดแต่งทางใบตั้งแต่อายุปาล์มยังไม่ถึง 3 ปี ขัดแย้งกับวิชาการที่แนะนำไม่ให้ตัดทางใบอายุต่ำกว่า 4 ปี เพราะจะทำให้โคนปาล์มเล็ก มีผลให้ออกทะลายน้อย

แต่พี่ติ๋มให้เหตุผล (อีก) เช่นเคย ว่าการที่เธอตัดแต่งทางใบตั้งแต่ปาล์มยังเล็ก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพื้นที่จังหวัดระนองฝนตกชุกทั้งปี แสงแดดน้อย บางช่วงแสงส่องไม่ถึงใต้โคนต้นด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่เป็นปาล์มเล็กอายุเพียง 3 ปี กลับมีปัญหาแสงไม่เพียงพอ ส่งผลให้ปาล์มบางทะลายเน่าเสียหาย 

เธอจึงทดลองแก้ปัญหาด้วยการตัดทางใบล่างออกเหลือเฉพาะทางใบรองทะลาย  ไม่ไว้ทางรองน้ำตามทฤษฎีวิชาการ 

ปาล์มพันธุ์เดลี ไนจีเรียแบล็ค อายุ 3 ปี 
ปาล์มพันธุ์คอมแพ็ค กาน่า
การจัดการสวนปาล์มของเราอาจไม่เหมือนสวนอื่นๆ หรือไม่ตรงตามวิชาการเป๊ะ เพราะปัญหาของเราไม่เหมือนคนอื่นๆ บางสวนขาดน้ำต้องทำระบบน้ำ แต่สวนเราน้ำเยอะเกิน บางสวนใส่แม่ปุ๋ยดีแต่เราใส่แล้วปาล์มยังไม่ทันกินก็โดนน้ำพัดไปแล้ว สวนอื่นไว้ทางใบมากๆ เพราะเชื่อว่าทำให้โคนต้นใหญ่ แต่เราทำแบบนั้นไม่ได้เพราะแสงส่องไม่ถึงโคนต้น และไม่ถึงทะลายพอมาเจออากาศร้อนๆ ชื้นๆ ก็เกิดโรคได้ง่าย” พี่ติ๋ม ระนอง บอกเล่าเรื่องราวพร้อมกับเหตุผลที่การจัดการสวนปาล์มของเธอไม่เหมือนใคร

เว็บยางปาล์ม ไม่ลืมที่จะสอบถามปริมาณผลปาล์มโดยเฉลี่ยทั้งปีจากพี่ติ๋ม เธอบอกว่าไม่ได้ทำตัวเลขไว้ เพียงแต่เมื่อเห็นผลผลิตแล้วเธอก็พึงพอใจแล้ว ซึ่งเราก็ไม่คาดคั้นเพื่อจะเอาตัวเลขให้ได้  อาจเป็นเพราะเรารู้ว่าพี่ติ๋มใช้ “หัวใจ” เป็น “ตราชั่ง” ตัวเลขจึงไม่สำคัญ 

พี่ติ๋มบอกว่าผลผลิตที่ได้พอใจ แม้จะไม่เคยเก็บตัวเลข เพียงแต่ใช้หัวใจเป็นตราชั่ง
เคล็ด (ไม่) ลับ การทำสวนปาล์มของพี่ติ๋มว่าเธอทำอย่างไรจึงได้ตัดปาล์มทั้งปีไม่ขาดคอ แม้ช่วงพักคอจะมีดอกตัวผู้บ้างก็ยังมีให้ตัดส่งโรงงานตลอด 

นั่นเป็นเพราะสาวเก่งคนนี้มีมุมมองว่า สวนปาล์ม คือ “อาชีพ” ไม่ใช่แฟชั่นหรือกระแสความนิยม เมื่อเลือกแล้วต้องทำให้ดีที่สุด ปาล์มจึงออกลูกตลอด เจ้าของสวนก็ต้องใส่ปุ๋ยตลอดเพื่อให้ปาล์มออกทะลายสมบูรณ์มากที่สุดในทุกๆ รอบของการออกทะลาย 

ถ้าดูแลดีที่สุดแล้วมีดอกตัวผู้ออกมาบ้างไม่ต้องตกใจหรือกังวลใจเพราะเป็นเรื่องปกติ ปาล์มน้ำมันต้องมีช่วงพักคอต้องมีดอกตัวผู้ออกมาเป็นธรรมชาติของเขา แต่ถ้าน้ำ ดิน และ ปุ๋ยสมบูรณ์สัดส่วนดอกตัวผู้ต่อดอกตัวเมียก็จะน้อยลง

ที่สำคัญการเลือกสายพันธุ์ก็มีความจำเป็นไม่แพ้กัน เพราะปาล์มน้ำมันแต่ละสายพันธุ์ก็จะเหมาะกับแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกันไป เช่น จ.ระนอง มีฝนตกชุกทั้งปี พี่ติ๋มจึงเลือกพันธุ์ คอมแพ็ค กาน่า, เดลี ไนจีเรียแบล็ค และ เดลี คอมแพ็ค เนื่องจากตอบสนองกับพื้นที่ที่มีน้ำมากได้เป็นอย่างดี แถมยังมีขนาดทะลายพอเหมาะ (น้ำหนักประมาณ 20 กก.) พี่ติ๋มสามารถตัดเองได้โดยไม่ลำบากเกินไป 


ปาล์มทะลายเน่า พี่ติ๋ม สันนิษฐานว่าเกิดจากแสงส่องไม่ถึงทะลายทำให้เกิดการเน่า เป็นเหตุผลว่าทำไมจึงต้องตัดแต่งทางใบก่อนปาล์มอายุ 4 ปี 
นอกจากนั้นต้องเลือกซื้อจากแปลงผลิตที่ได้มาตรฐานด้วย เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัวและที่เกิดขึ้นกับคนรอบตัวพบว่าแปลงขายกล้าปาล์มบางแห่งไม่ได้มาตรฐาน แม้กล้าราคาถูกกว่าก็จริง แต่มีต้นผิดปกติเกินมาตรฐาน พอเข้าไปขอเคลมก็มีปัญหา ไม่มีบริการวิชาการหลังการขายเลย 

กระทั่งพี่ติ๋มได้พูดคุยกับทีมงาน บริษัท อาร์ดี เกษตรพัฒนา จำกัด ก็ได้รับคำแนะนำในเรื่องสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ รวมถึงความสำคัญของการคัดเลือกต้นกล้าจากแปลงเพาะมาตรฐาน

เพราะแปลงเพราะต้นกล้าปาล์มของอาร์ดี กระบวนการผลิตมีมาตรฐานสูง มีการคัดต้นกล้าผิดปกติทั้งใน ระยะอนุบาลแรก, ระยะอนุบาลหลัก และมีการคัดกล้าก่อนจำหน่าย ที่สำคัญมีการทำลายต้นผิดปกติทิ้ง 100% จากที่พบในแปลง มีการเคลมเมื่อมีต้นผิดปกติหลุดรอดออกไป และมีนักวิชาการคอยให้ความรู้ให้คำปรึกษาเมื่อเกิดปัญหา สร้างความมั่นใจได้ดีสำหรับเกษตรกรมือใหม่ 

 ━━━━━━━━━━━━━━━━
ขอขอบคุณ
คุณติ๋ม ช่วยเจริญ
หมู่ 5 ต.จ.ป.ร. อ.กระบุรี จ.ระนอง 85110

- Advertisement -

ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม