ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

ชนะ ศรีสมทรัพย์ ทำสวนปาล์มน้ำมัน ด้วยความสุข

ทำสวนปาล์ม หากต้องการประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องใส่ ความรัก” ลงไปด้วย และจำเป็นต้องรักเขาทุกๆ วันไม่เว้นว่าราคาจะถูกหรือแพง...!!!

...เพราะนี่คือ “อาชีพ” ที่เราเลือก...

ชนะ ศรีสมทรัพย์ ชาวสวนปาล์มน้ำมัน อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี เขาเลือกทำอาชีพชาวสวนปาล์ม หลังจากโค่นสวนยางพาราวัยชรา พร้อมกับร่วมโครงการเปลี่ยนสวนยางเป็นสวนปาล์ม ของ กยท. โดยมีเงินก้อนให้ไร่ละ 26,000 บาท เมื่อ 3 ปี ที่แล้ว

เขาเห็นแก่เงิน...!!!

ชนะบอกว่า หลายคนมองเขาอย่างนั้น เพราะโดยสภาพพื้นที่ที่เป็นเนินเขา ซึ่งเหมาะสำหรับทำสวนยางมากกว่าสวนปาล์ม และการทำสวนปาล์มในดงสวนยาง นั้นยาก พอๆ กับ ทำนาบนเขา

เพียงแต่คนที่รู้จักชนะ จะรู้ว่าเขาไม่ได้เลือกปลูกปาล์มเพราะได้เงินชดเชยสูง แต่เลือกเพราะปลูกปาล์มเป็นพืชเศรษฐกิจที่เหมาะกับเขา มากกว่ายางพารา

และวันนี้ได้ตอบกับเขาแล้วว่า เขาตัดสินใจไม่ผิด...
 
พี่เลือกทำปาล์มเพราะพี่ไม่มีลูก การจัดการในอนาคตมันง่าย ตัวเราเองก็ไม่สบายเป็นอยู่หลายโรคเหมือนกัน ในอนาคตเราแก่ตัวไปไม่มีใครมาดูแลต่อเรายังสามารถจ้างเขาตัดหญ้า ใส่ปุ๋ย ถึงวันที่เราตัดปาล์มเองไม่ไหวก็ให้ลานเทเขามาตัด นี่คือความสะดวกของการทำสวนปาล์ม 

เขามองถึงอนาคตสวนปาล์มของตัวเอง

ชนะพบว่าปาล์มน้ำมันสามารถสร้างรายได้ต่อเนื่องและยาวนานพอๆ กับยาง เพียงแต่การทำงานต่างกัน เช่น ถ้าเปรียบเทียบกับยางพารา แรงงานกรีดยางหายาก ต้องทำงานตอนกลางคืน ฝนตกกรีดไม่ได้ แต่ปาล์มน้ำมันสามารถทำเองได้เกือบทุกขั้นตอน

การตัดปาล์มของชนะก็อินดี้สุดๆ คือ ตัดแบบไม่มีรอบกำหนด ปาล์มสุกก็ตัด ค่อยๆ ตัด ตัดทุกวันก็มีรายทุกวัน ได้น้อยได้มากไม่ใช่ปัญหาเพราะทำเอง

ราคาพี่ไม่กังวล เพราะพืชเกษตรมีขึ้นมีลงตลอด พี่เคยปลูกกาแฟได้ กก. ละ 200 บาท แล้วก็ไม่เคยได้อีกเลย ปลูกยางพาราน้ำยาง กก. ละ 183 บาท แล้วก็ไม่เคยได้อีกเลย แม้แต่ปาล์มน้ำมันพี่ก็เคยขาย กก. ละ 7.2 บาท ตอนนั้นพี่ก็ยังมองว่ามันมีโอกาสจะขึ้นอีก แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้อีกเลย แต่เราก็ไม่ได้ไปซีเรียสตรงนั้นเพราะอย่างน้อยมันก็เป็นแรงผลักดันให้เราดูแลสวนปาล์มให้ดีที่สุดมาจนถึงทุกวันนี้

จะมีมาคิดบ้างก็คือ แต่ก่อนขายปาล์ม 1 ตันได้ 7,200 บาท เดี๋ยวนี้ 1 ตัน ได้ 2,900 บาท มันคือรายได้ที่หายไป แต่ไม่ได้นำราคามาเป็นเงื่อนไขในการดูแลสวนปาล์ม เพียงเราดูแลให้สมบูรณ์ตามกำลังและแรงที่เรามี เผื่อว่าวันหนึ่งราคาปาล์มดีขึ้นมา

━━━━━━━━━━━━━━ 
การจัดการสวนปาล์มของ ชนะ ศรีสมทรัพย์
━━━━━━━━━━━━━━ 
ชนะมีสวนปาล์ม 3 แห่ง สภาพพื้นที่แตกต่างกัน ส่วนที่เป็นพื้นที่ราบเรียบจะปลูกระยะ 9x9x9 เมตร แต่ถ้าเป็นที่เนินจะปลูกระยะ 11x11x11 และ 12x12x12 เมตร เพื่อให้ได้รับแสงแดดทั่วถึงมากที่สุด เขาให้ข้อมูลว่าระยะปลูก 12 เมตรถือว่าสิ้นเปลืองพื้นที่พอสมควร แต่ถ้าหากสภาพเป็นเนินเขามากๆ ก็จำเป็นต้องใช้ระยะนี้

การดูแลใส่ปุ๋ยเขาเลือกใช้ “แม่ปุ๋ย” เพราะประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่า 20% ยกตัวอย่าง ปกติถ้าใช้ปุ๋ยสูตรในราคา 10,000 บาท แต่ถ้าใช้แม่ปุ๋ยราคาจะอยู่ที่ 7,000 กว่าบาท ทำให้เหลือส่วนต่างจากวิธีเลือกใช้ปุ๋ย

ช่วงแรกของการปลูกใช้ปุ๋ย 46-0-0 เมื่อเข้าสู่ปีที่ 2 จะเปลี่ยนมาใช้ปุ๋ยสูตร 11-7-18 จนเมื่อปาล์มอายุ 2 ปีครึ่งขึ้นไป เป็นช่วงที่ต้นปาล์มพร้อมให้ผลผลิตจะใช้แม่ปุ๋ยเป็นหลัก วิธีการ คือใส่ 18-46-0 และ 21-0-0 พร้อมกัน หลังจากนั้น 2 อาทิตย์ ใส่ 0-0-60 อาจจะเสียเวลานิดหนึ่ง แต่ทำให้ต้นปาล์มได้ปุ๋ยเต็มที่ แต่ถ้าไม่มีเวลาเขาจะใช้ปุ๋ยสูตร 14-10-30 แทน เป็นการยืดหยุ่นให้กับการทำงานของตัวเอง

เขาเปรียบเทียบว่าปาล์มน้ำมันก็เหมือนคนในช่วงอายุต่างๆ เด็ก วัยรุ่น วัยทำงาน คนแก่ แต่ละวัยต้องการสารอาหารต่างกัน ส่วนตัวของชนะมองว่าถ้าผลผลิตออกมาก จำเป็นต้องให้ปุ๋ยมาก เหมือนคนทำงานหนักแต่ให้กินอาหารเท่าเด็ก เท่าวัยรุ่น อาหารก็ไม่เพียงพอสำหรับร่างกายนั่นเอง ถ้าเป็นปาล์มต้นก็จะไม่สมบูรณ์ ผลผลิตต่ำ

  ━━━━━━━━━━━━━━ 
การเลือกสายพันธุ์ปาล์มน้ำมัน CPI Hybrid
 ━━━━━━━━━━━━━━ 
เจ้าของสวนปาล์มในดงยาง บอกว่าเขาเลือกใช้พันธุ์ ซีพีไอไฮบริด (CPI Hybrid) เพราะมีความเชื่อมั่นในปาล์มที่ถูกพัฒนาขึ้นมาในเมืองไทย เหมาะกับสภาพภูมิอากาศเมืองไทย โดยเฉพาะสวนปาล์มที่อยู่บนเขา ไม่มีแหล่งน้ำให้ช่วงหน้าแล้ง สายพันธุ์ทนแล้งจึงมีความสำคัญ พอๆ กับผลผลิตที่ต้องสูง

นอกจากนั้นการเลือกแปลงผู้ผลิตก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน จำเป็นต้องใช้ต้นพันธุ์จากแปลงที่มีมาตรฐาน มีการคัดต้นกล้าผิดปกติทิ้ง และมีบริการหลังการขายที่ดี ช่วยเหลือเมื่อเกิดปัญหา โดยเฉพาะการให้ข้อมูลด้านการจัดการ ซึ่งถือว่าสำคัญมากสำหรับการทำสวนปาล์ม

สวนปาล์มของชนะถูกทดสอบด้วยความแล้งจัด ในปี 2557  เขาตัดสินใจตัดดอกตัวเมียทิ้งทั้งหมด เพื่อปล่อยให้ต้นปาล์มสะสมอาหารสำหรับการออกทะลายรอบต่อไป ทำให้สวนปาล์มผ่านแล้งมาได้ และเริ่มให้ผลผลิตในปี 2559 เกือบๆ 2 ตัน/ไร่/ปี

หลังจากนั้นเขาจำเป็นต้องทิ้งสวนปาล์มไประยะหนึ่ง เพราะถูกมัจจุราชท้าทาย หลังพบว่าตัวเองเจอหลายโรครุมเร้า ทั้งไตอักเสบ เบาหวาน ไขมัน แล้วก็ระบบเส้นเลือดหัวใจ และเนื้องอกที่ตับอ่อน เขาใช้เวลารักษาแรมปี จนผ่านช่วงวิกฤติมาได้ และกลับมาฟื้นฟูสวนปาล์มอีกครั้ง 

ปี 2560 แม้จะไม่มีเวลาดูแลสวนปาล์มมากนัก แต่ก็ยังได้ผลผลิต 2.5 ตัน/ไร่/ปี และปีนี้เมื่อเขากลับมาดูแลสวนปาล์มได้อย่างเต็มที่ ใส่ปุ๋ยอย่างต่อเนื่อง โดยไม่สนใจราคา เขาคาดว่าจะได้ผลผลิตรวมเพิ่มขึ้นตามศักยภาพของพันธุ์ปาล์ม
ตัดปาล์มทะลายสุกเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง และเก็บลูกร่วงเสมอ
 ━━━━━━━━━━━━━━ 
คิดอย่างไรกับการใส่ปุ๋ยในช่วงปาล์มราคาถูก
 ━━━━━━━━━━━━━━ 
ชนะมองว่าไม่แปลกที่เกษตรกรจะไม่อยากดูแลใส่ปุ๋ย เพราะตอนนี้ (มิถุนายน 2561) ราคาแค่ 2 บาทกว่าๆ แต่มองในอีกแง่มุมหนึ่ง คือ ทำปาล์มน้ำมัน ต้องเสียก่อนถึงจะได้ ไม่ว่าจะเป็นค่าปุ๋ย ค่าการดูแลต่างๆ แต่ส่วนใหญ่ชาวสวนปาล์มใช้จ่ายไปกับต้นทุนอื่นๆ มากกว่าการใส่ปุ๋ยเสียอีก เช่น ตัดหญ้า ตัดทางใบ ตัดทะลายไปขาย ค่าจ้างรถ ฯลฯ แต่ถ้าเป็นเกษตรกรที่ทำเองจริงๆ ต้นทุนตรงนี้จะหายไปพอสมควร ยิ่งถ้าพยายามดูแลปาล์มให้ได้ผลผลิตมากขึ้นก็จะบรรเทาปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายไปได้

เอาแบบนี้ได้ไหมล่ะพอขายปาล์มได้เราก็แบ่งไว้สำหรับซื้อปุ๋ย สมมุติว่าตัดปาล์มทั้งหมด 4 รอบ ก็เอาไว้เป็นค่าปุ๋ยซะรอบหนึ่ง 3 รอบแรกก็เอาไปใช้จ่ายทั่วไป  แต่ส่วนมากพอไปเจอตู้ถูกใจก็ไปซื้อตู้ก่อนค่อยมาใส่ปุ๋ยปาล์ม พอถึงรอบโรงเรียนเปิดพอดี พอถึงรอบก็อยากได้นั่นอยากได้นี่ เราเอาออกอย่างเดียวไม่เอาเข้า...นี่แหล่ะปัญหาส่วนใหญ่ที่เจอ

แล้วเราก็ไม่ต้องใส่ปุ๋ยพร้อมกันทั้งแปลงก็ได้ ถ้าเรามีรายได้ไม่เยอะก็ค่อยๆ แบ่งใส่ทีละ 3 แถว 4 แถว เราก็ใส่ได้ ไม่จำเป็นต้องทั้งแปลง ถ้ารอใส่ทั้งแปลงสำหรับบางคนก็อาจจะหนักเกินไป เรื่องพวกนี้อยู่ที่การบริหารจัดการจริงๆ เกษตรกรยุคใหม่ต้องเปิดใจเรียนรู้
จดบันทึกรายรับ รายจ่าย 
ชนะ ศรีสมทรัพย์ กับความสุขในการทำสวนปาล์มน้ำมัน
━━━━━━━━━━━━━━━
แกะดำในฝูงแกะขาว ปลูกปาล์มในดงยาง
━━━━━━━━━━━━━━━
ยางปาล์มออนไลน์ได้เริ่มทำความรู้จักกับ ชนะ ศรีสมทรัพย์ เพราะเรามองเห็นแนวคิดการทำสวนปาล์มที่เขาแสดงให้เราเห็นผ่านการโฑสต์ใน Facebook group : ปาล์มน้ำมัน ดูเหมือนว่าเขาจะมีอุปสรรคมากมายกว่าจะประสบความสำเร็จในการทำสวนปาล์ม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องสุขภาพ และสภาพพื้นที่ที่ย่านนี้ปลูกยางพาราแทบทั้งหมด ทำให้สวนปาล์มน้ำมันของจึงไม่ต่างจาก “แกะดำ” ในฝูง “แกะขาว”

ความเป็นแกะดำของชนะมันทำให้คนรอบข้างมองว่าเขาไม่มีทางประสบความสำเร็จ เพราะคนที่เคยปลูกมาก่อนหน้านี้ก็ล้มไม่เป็นท่า อาจจะด้วยความหวังดีเลยไม่มีใครสนับสนุนให้ปลูกปาล์ม เพราะกลัวจะผิดหวังเหมือนสวนปาล์มรุ่นพี่ในละแวกนี้

แต่เมื่อกล้าคิดต่าง ชนะก็ทุ่มสุดตัว โดยเริ่มเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่นแล้วน้ำมาปรับใช้กับตนเอง “เราไม่ต้องทดลองเองทุกอย่างเพื่อให้ได้ผลผลิต แต่เราเอาผลที่คนอื่นทำได้มาเรียนรู้” นี่คือแนวคิดการเริ่มทำสวนของเขา

ชนะจึงเน้นการนำองค์ความรู้ต่างๆ ทั้งจากพี่น้องชาวสวนปาล์มน้ำมัน และจากหลักสูตรการทำสวนปาล์มแบบมืออาชีพ จาก ศูนย์เรียนรู้ปาล์มน้ำมัน CPI โดยนำมาปรับใช้กับสวนของตัวเอง จากนั้นก็ต้องมีการจดบันทึกเรื่องการใส่ปุ๋ย เรื่องปริมาณผลผลิต เป็นสิ่งสำคัญเพราะจะทำให้เรากลับไปย้อยดูได้ว่าปีที่แล้วผลผลิตเราเป็นอย่างไร เราใส่ปุ๋ยอะไรไป แล้วราคาช่วงนั้นเป็นอย่างไร ตัวเลขเหล่านั้นมันบ่งบอกถึงการทำงานของเราได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วการจดบันทึกการทำงานจะนำมาใช้ในการวัดผลศักยภาพในการทำสวนปาล์มของตัวคุณนั่นเอง

ขอขอบคุณ
ชนะ ศรีสมทรัพย์
131 หมู่ 9 ต.ไม้เรียบ อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี 84150 โทรศัพท์ 096 718 7945

ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม