ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

ถอดบทเรียน สวนปาล์มน้ำมันทุ่งรังสิต ทำผลผลิต 6-7 ตัว/ไร่/ปี : สวนปาล์มอัครพัชร์

สำหรับพื้นที่สวนปาล์มทุ่งรังสิต (ลุ่มน้ำฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา : ปทุมธานี สระบุรี นครนายก) ผลผลิต 6-7 ตัน ดูจะเป็นตัวเลขปกติในมุมมองของคนนอกพื้นที่ ด้วยภาพความสมบูรณ์ของดินและน้ำที่ถูกเคลือบฉาบ ทำให้ถูกมองว่านี่คือ โชค ที่ได้มาอย่างง่าย

 

แต่สำหรับชาวสวนปาล์มทุ่งรังสิตที่ต้องทำงานในพื้นที่ที่เป็นร่องน้ำและใช้เรือเป็นตัวหลัก กับผลผลิตที่มีน้ำหนักอย่างทะลายปาล์มน้ำมัน ไม่มีอะไรได้มาง่ายๆ ทุกอย่างมีข้อแลกเปลี่ยนเสมอ

 

เว็บยางปาล์ม จะพาไปถอดบทเรียนการทำสวนปาล์มของชาวสวนทุ่งรังสิต ผ่านประสบการณ์ของ สวนปาล์มอัครพัชร ของ คุณอัครพัชร์ สิริแสงจันทร์ เจ้าของสวนปาล์มพื้นที่ 65 ไร่ (อายุ 14 ปี)

 

👉จุดเริ่มต้นการทำสวนปาล์มอัครพัชร์

 

คุณอัครพัชร์ บอกเล่าที่มาว่า สวนแหล่งนี้ก็เคยเป็นสวนส้มมาก่อน แต่การทำสวนส้มก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องต่อสู้กับโรค/แมลง ทำให้ต้องใช้สารเคมีจำนวนมาก ทั้งยังประสบปัญหาเรื่องขาดแคลนแรงงานอีกด้วย 

 

ทางบ้านจึงเปลี่ยนจากพื้นที่ร่องสวนส้มมาเป็นนาข้าว แต่ก็ค้นพบว่าการทำนาข้าวมีรายละเอียดมาก ซ้ำยังต้องปลูกใหม่ทุก 3 เดือน คนเคยทำสวนไม้ผลที่เป็นพืชอายุยืนย่อมรู้สึกว่าไม่คุ้นชิน แถมราคาผลผลิตยังไม่ดึงดูดอีกด้วย

 

ในที่สุดจึงหันมามองปาล์มน้ำมัน พร้อมกับศึกษาเรียนรู้เรื่องการทำสวนปาล์มน้ำมันจากภาคใต้และภาคตะวันออก โดยไปดูงานในพื้นที่จริงก่อนจะนำมาปรับใช้กับพื้นที่ทุ่งรังสิตแห่งนี้

 

จากนั้นก็เลือกพันธุ์ปาล์มน้ำมันจากบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายที่มีมาตรฐาน ปัจจุบันในสวนมีพันธุ์ ยังกัมบิ ML 161 สายพันธุ์ปาล์มจากประเทศมาเลเซีย ในพื้นที่ 65 ไร่ 

👉เทคนิคการจัดการสวนปาล์มน้ำมัน สไตล์สวนปาล์มอัครพัชร์

 

ด้วยจุดแข็งของพื้นที่ทุ่งรังสิต ก็คือมีน้ำอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี ดินดี มีธาตุอาหารในดินสูง เพราะเป็นพื้นที่ลุ่ม การทำสวนปาล์มน้ำมันของที่นี่จึงมีการยกร่องและทำคูน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้รดต้นปาล์ม และยังช่วยระบายน้ำในช่วงที่น้ำหลากให้ไหลออกจากพื้นที่อย่างรวดเร็วอีกด้วย 

 

บนร่องสวนจะปลูกปาล์มน้ำมัน 2 แถว โดยที่ระยะปลูกยังคงอยู่ในรูปแบบ 9x9x9 เมตร แล้วเว้นเป็นคูน้ำเพื่อใช้เป็นซอยขนาดเล็กสำหรับขนย้ายทะลายปาล์มน้ำมันเมื่อตัดผลผลิต และยังใช้คูน้ำนี้สำหรับรดปาล์มน้ำมันในฤดูแล้ง ทำให้สามารถใส่ปุ๋ยได้ตลอดตามที่ต้องการโดยไม่ต้องรอฟ้ารอฝน

 

ด้านการจัดการวัชพืช จะมีการฉีดยากำจัดกำจัดปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากในสวนมีร่มเงามากทำให้มีวัชพืชค่อนข้างน้อยนั่นเอง

 

มาถึงเรื่องผลผลิตปาล์มน้ำมันทุ่งรังสิตเรียกว่าคุยได้แบบไม่อายใคร เพราะตอนนี้สวนปาล์มสวนอัครพัชร์มีอายุมากถึง 14 ปี แต่ยังมีผลผลิตมากกว่า 6 ตัน/ไร่/ปี

เจ้าของสวนบอกว่า การที่ได้ปาล์มผลผลิตสูงระดับนี้ ไม่ใช่มาจากโชคช่วย เพราะอยู่ในพื้นที่อุดมสมบูรณ์เพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่การจัดการธาตุอาหาร โดยเฉพาะปุ๋ย มีการใส่ปุ๋ยต่อเนื่อง ทุก 2 เดือน ในอัตรา 1-1.5 กก./ครั้ง/ต้น  โดยใช้สูตร 12-6-17 กับ 12-6-22 สลับกัน เช่น เดือนนี้ใส่ สูตร 12-6-17 แล้วเว้นไป 2 เดือนก็ใส่สูตร 12-6-22 นั่นเอง

 

คุณอัครพัชร์เล่าว่าเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา สวนปาล์มแห่งนี้ให้ผลผลิตมากที่สุดคือตัดได้ 40-50 ตัน/รอบ ในช่วงเดือนมีนาคม - เมษายน ส่วนรอบที่ได้น้อยที่สุดคือช่วงเดือนมกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่ปาล์มราคาสูงที่สุด กลับได้ผลผลิตประมาณ 10 ตัน/รอบ

 

เมื่อรักษาอัตราการใส่ปุ๋ยอย่างต่อเนื่องทำให้ช่วงเดือนมกราคมของปีที่แล้วได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 20-30 ตัน/รอบ ผลผลิตทรงตัวแบบนี้ตลอดทั้งปีมีความสม่ำเสมอมากขึ้น ทำให้มีรายได้จากการขายปาล์มมากขึ้น 


แต่มีเทคนิคนะครับ ทุกครั้งที่เราตัดผลผลิตได้เพิ่มขึ้น 10 ตัน ในรอบต่อไปเราจะใส่ปุ๋ยเพิ่มจากเดิมให้เขาอีก 20% ต่อรอบ เป็นการใส่ชดเชยธาตุอาหารที่ออกไปกับทะลาย การที่เราใส่ปุ๋ยชดเชยไป 20-30% รอบหน้าเราก็จะได้น้ำหนักมากขึ้น พอรอบหน้าเราได้น้ำหนักมากขึ้นเราก็จะใส่ปุ๋ยเพิ่มเข้าไปอีก ถ้าเราใส่ปุ๋ยคงเดิม พอถึงจุดๆ  หนึ่ง ผลผลิตมันก็จะลดลง เรียกว่าการได้รับปุ๋ยไม่ต่อเนื่อง พอให้ปุ๋ยน้อย ผลผลิตก็จะเริ่มน้อยลงเรื่อยๆ เราจึงต้องมีการเพิ่มปุ๋ยให้เขาด้วย

 

👉ปัญหาที่พบเจอในการทำสวนปาล์มน้ำมันในเขตทุ่งรังสิต

 

ในช่วงแรกๆ สวนปาล์มทุ่งรังสิต ประสบปัญหาเรื่อง ทะลายปาล์มลีบฝ่อ ซึ่งน่าจะมาจากการผสมเกสรไม่สมบูรณ์ เนื่องจากเป็นพื้นที่ปลูกปาล์มใหม่ เกสรตัวผู้ยังไม่เพียงพอ จึงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการไปเอาเกสรตัวผู้มาผสมเพื่อให้ติดผลผลิตมากขึ้น ต่อมาก็มีหน่วยงานราชการเข้ามาแนะนำให้ใช้ฟีโรโมนล่อแมลงให้เข้ามาผสม และเริ่มใช้ปุ๋ยเคมีกับธาตุอาหารรองเพื่อให้ดอกสมบูรณ์ขึ้้น จนในที่สุดก็ไม่ต้องคอยผสมเกสรอีกต่อไป

 

นอกจากนั้นจะมีปัญหาเรื่องโรค-แมลงมีนิดหน่อย ช่วงหน้าแล้งก็จะมีปัญหาคือหนอนกัดกินทางใบปาล์ม แก้ไขด้วยการนำแตนเบียนที่ได้จากกลุ่มผลิตแตนเบียนที่อยู่ในกลุ่มปาล์มแปลงใหญ่ของทุ่งรังสิตเข้ามาปล่อยในสวนปาล์มเพื่อกำจัดหนอนกินใบต่างๆ ภายในสวนปาล์ม

 

อีกปัญหาหนึ่งที่พบในการทำสวนปาล์มแถบทุ่งรังสิต คือ ปาล์มยุคแรกๆ ที่ปลูกระยะ 9x9x9 เมตร ตอนนี้ถือว่าชิดเกินไป เพราะปาล์มที่นี่มีความสมบูรณ์มาก ต้นใหญ่โต ทางใบยาว การปลูกระยะ 9x9x9 เมตร จึงไม่ค่อยเหมาะสมเท่าไหร่

 

“สำหรับคนที่จะปลูกใหม่ ผลแนะนำให้ปลูกระยะ 10x10x10 เมตร” คุณอัครพัชร์ไม่ลืมที่จะบอกเคล็ด (ไม่) ลับ สำหรับคนที่จะเข้ามาปลูกปาล์มน้ำมันที่ทุ่งรังสิต

 

ส่วนปัญหาเรื่องการเก็บเกี่ยวผลผลิต ด้วยเป็นพื้นที่ร่องน้ำ ย่อมจะทำได้ยากกว่าพื้นที่ราบ ระยะเวลาการตัดหรือเก็บเกี่ยวใช้มากกว่า ไม่สามารถใช้รถบรรทุกเข้าไปในสวนได้ การลำเลียงผลผลิตในสวนต้องใช้เรือทั้งหมด

 

งานหนักที่สุดของการขนทะลายปาล์มคือ​ ขั้นตอนสุดท้ายที่จะต้องนำทะลายจากเรือขึ้นฝั่งและรถบรรทุกปาล์มไปยังลานรับซื้อ​ ถ้าใช้แรงคนหนักและยากจนแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย​ จึงมีการคิดค้นเครื่องทุ่นแรงในการยกทะลายปาล์มขึ้นมา ซึ่งสวนนี้จะใช้วิธี ทำกระเช้าเหล็กเพื่อใส่ทะลายปาล์มวางไว้ในเรือ​ แล้วใช้รอกไฟฟ้ายกกระเช้าขึ้นมาเทในรถบรรทุกปาล์ม ช่วยทำให้การลำเลียงทะลายปาล์มสะดวกและง่ายขึ้น


👉ดูคลิปวิดีโอ : พาชมวิธีเก็บเกี่ยวทะลายปาล์มน้ำมัน​ ของชาวทุ่งรังสิต​ จ.ปทุมธานี​

 

👉ราคาขายปาล์มน้ำมันของทุ่งรังสิตเป็นอย่างไร..??

 

คุณอัครพัชร์ให้ข้อมูลว่าตอนนี้ปาล์มน้ำมันราคาค่อนข้างดี ซึ่งโดยปกติแล้วราคาจะขึ้น-ลง ช้ากว่าทางภาคใต้ กล่าวคือ ถ้าทางใต้ราคาขึ้น ทางทุ่งรังสิตก็จะยังไม่ขึ้น ส่วนถ้าทางใต้ราคาลง ทางนี้ก็จะยังไม่ลง แต่ก็พอจะทราบได้ว่าอีกไม่กี่วันราคาก็จะปรับตามทางใต้ เว้นแต่ว่าเป็นลานรับซื้อที่มาจากภาคใต้โดยตรงก็จะอิงราคาตามภาคใต้

 

สำหรับลานรับซื้อในเขตหนองเสือจะมีอยู่ 3 แห่ง คือ ลานสหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดินหนองเสือ (ส่งโรงงานสุขสมบูรณ์), ลานโรงงานเสถียรปาล์ม และ ลานปาล์มปราโมทย์การเกษตร เมื่อมีจุดรับซื้อหลายแห่งก็ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ทุ่งรังสิตสามารถเลือกขายปาล์มให้กับลานเทที่ให้ราคาสูงสุดได้

 

👉การจัดการแรงงานในยุคขาดแคลน

 

สวนปาล์มอัครพัชร์ไม่มีแรงงานประจำ แต่อาศัยใช้การจ้างเหมา เช่น เหมาตัดทะลายประมาณ กก. ละ 60-80 สตางค์/กก. ขึ้นอยู่กับความสูงของต้นปาล์ม เมื่อมีการตัดทะลายปาล์มออกไปแล้วก็จะตัดแต่งทางปาล์มออกไปด้วย ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการตัดแต่งทางปาล์มออกไปด้วย เมื่อถึงช่วงเวลาใส่ปุ๋ยก็จะจ้างกลุ่มรับเหมาเดิมที่ตัดปาล์มมาใส่ปุ๋ย 

 

เรียกว่าสูตรการทำสวนปาล์มของสวนอัครพัชร์ปาล์มน้ำมันนั้นเน้นที่การจัดการอย่างเป็นระบบ เน้นจ้างงานแบบรับเหมา ทำให้ไม่ต้องมีการดูแลคนงานเพิ่มเติมเข้ามา มีเวลาทำอย่างมากขึ้น คุณอัครพัชร์เองก็มีธุรกิจขายปุ๋ย-อุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในสวนปาล์มน้ำมันด้วย

 

สำหรับอาชีพสวนปาล์มน้ำมันในมุมมองของคุณอัครพัชร์ เห็นว่ามีข้อเปรียบเทียบกว่าตอนทำสวนส้มและทำนาหลายด้าน อย่างการทำสวนปาล์มไม่ต้องดูแลละเอียดมากนัก แต่มีรายได้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังมีเวลาสำหรับทำธุรกิจอื่นๆ เพิ่มเติ่มได้อย่างสบาย

 .

👉ผลผลิตสวนปาล์มอัครพัชร์ 

  • ปี 2561 7,299 กก./ไร่/ปี
  • ปี 2562 6,449 กก./ไร่/ปี
  • ปี 2563 6,201 กก./ไร่/ปี

ขอขอบคุณ

สวนอัครพัชร์การเกษตร

คุณอัครพัชร์ สิริแสงจันทร์  โทรศัพท์ : 089-201-6646

ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม