ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

เกษตรกรโพนพิสัย​ จ.หนองคาย เปลี่ยนพืชหมุนเวียนเป็นสวนปาล์ม มีรายได้ต่อเนื่องทั้งปี

ความมุ่งมั่นและอดทน คือพื้นฐาน ของความสำเร็จเสมอ ไม่ใช่เฉพาะในธุรกิจเท่านั้น แม้กระทั่งการทำสวนก็เช่นเดียวกัน ดังตัวอย่างของสวนปาล์มน้ำมัน บ้านปากสวย อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ของครอบครัว คุณวรรณวลี ​ ดาวแก้ว​ หรือ​ คุณติ๋ม

 

คุณติ๋ม บอกเล่าว่า ก่อนจะเป็นสวนปาล์มน้ำมันพื้นที่แห่งนี้เดิมทีเป็นของพ่อสามี​ ซึ่งเคยปลูกพืชหมุนเวียนมาแล้วหลากหลาย​ แต่เริ่มรู้สึกเบื่อหน่ายกับการทำเกษตรที่ต้องไถ-พรวน เพื่อปลูกใหม่​ทุกปี​ ซึ่งจริงๆ​ แล้วการทำเกษตรแบบนี้มีต้นทุนการปลูกสูงอยู่ไม่น้อย สวนทางกับราคาผลผลิตที่ลดลงทุกปี​ เพราะผลผลิตล้นตลาด​ อีกทั้งในบางครั้งก็คุณภาพก็สู้แหล่งอื่นๆ​ ไม่ได้

 

ฟางเส้นสุดท้ายเกิดขึ้นหลังจากลงทุนปลูกข้าวโพด​ ลงทุนซื้อเมล็ดพันธุ์​ ลงทุนปรับพื้นที่​ ไถ-พรวนดิน​ ปลูก​ ดูแล​ กระทั่งให้ผลผลิต​ แต่ท้ายที่สุดกลับไม่มีคนรับซื้อ​จนต้องตัดให้วัวกิน นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่พ่อสามีคุณติ๋มตัดสินใจปลูกพืชอย่างอื่นทันที​

คุณวรรณวลี ​ดาวแก้ว​ หรือ​ คุณติ๋ม

ตัวเลือกแรกและตัวเลือกเดียว ในเวลานั้น ก็คือ ปาล์มน้ำมัน​ เพราะมองว่าเป็นพืชอายุยืน​ ปลูกเพียงครั้งเดียวเก็บผลผลิตได้นาน​ ทั้งยังสร้างรายได้ต่อเนื่องทุก 14​ วัน​ แม้ว่าราคาปาล์มจะมีขึ้น-ลงบ้าง​ แต่เชื่อว่าจะมีตลาดรองรับมั่นคงแน่นอน เพราะปาล์มน้ำมันสามารถนำไปแปรรูปเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมทั้งอุปโภคและบริโภค

 

3-4​ ปีแรกที่ปลูก มีช่วงที่ปาล์มน้ำมันราคาลงมาถึง​ 1.8-1.9 บาท​ หลายๆ​ คนเขาก็ท้อก็โค่นทิ้ง​ แต่พ่อไม่โค่นทิ้ง​ เพราะว่าลงทุนปลูกด้วยความตั้งใจ​ คิดว่ายังไงปาล์มน้ำมันนี้ตลาดมันต้องมา​ เพราะน้ำมันนี่เป็นของที่ต้องใช้อยู่ทุกวัน​จึงตัดสินใจดูแลต่อไป

คุณติ๋มบอกเล่า

 

👉อ.โพนพิสัย กับความเหมาะสมในการปลูกปาล์มน้ำมัน​ และเทคนิคการจัดการสวน

 

ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ต้องการน้ำ​ ปุ๋ย​ และ​ แสงแดด​ อย่างเต็มที่จึงจะให้ผลผลิตดี​ แต่ปัญหาหลักมักอยู่ที่เรื่องน้ำ​ ดียิ่งกว่าได้โชค เพราะพื้นที่บ้านปากสวยมีน้ำอุดมสมบูรณ์ เพราะอยู่ใกล้ห้วยขนาดใหญ่และแม่น้ำโขง​ จึงมีน้ำไม่ขาดตลอดทั้งปี

สวนปาล์มของคุณติ๋มปัจจุบันอายุ 10 ปี พื้นที่ 7 ไร่ มีการให้น้ำต้นปาล์ม​ 2​ แบบ​ คือ​ สปริงเกลอร์ และปล่อยไปตามร่องสวน ซึ่งภายในสวนจึงมีการยกร่องเตี้ยๆ​ เพื่อให้มีร่องน้ำตื้นๆ​ ภายในสวนไว้สำหรับขังน้ำเอาไว้ให้ต้นปาล์มได้ดูดซับไปใช้​ในทุก​ 7​ วัน ส่วนระบบสปริงเกลอร์นั้นเป็นตัวเสริม จะให้เฉพาะช่วงฤดูแล้ง เมื่อโคนต้นแห้ง​ จึงจะให้น้ำต้นปาล์มทางสปริงเกลอร์เพิ่มอีกทาง

 

ในส่วนของการใส่ปุ๋ยจะใช้แม่ปุ๋ย​ 21-0-0 เป็นหลัก​ กับ​ 0-0-60 รวมแล้ว​ 10.5​ กก./ต้น/ปี​ โบรอนประมาณ​ 1​ กำมือ/ต้น,​ กีเซอร์ไรท์ 3​ กำมือ/ต้น​ นอกจากนั้นยังใส่มูลสัตว์ร่วมร่วมด้วย เพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ให้ดิน​

 

ด้วยสภาพพื้นที่เหมาะสม และมีการจัดการธาตุอาหารที่ดีอย่างต่อเนื่อง สวนปาล์มจึงค่อนข้างสมบูรณ์ มีทะลายออกต่อเนื่อง และมีขนาดใหญ่ (พื้นที่ 7 ไร่ ตัดผลผลิตได้รอบละ 3 ตันขึ้นไป) 

 

👉ปาล์มน้ำมันดีกว่าพืชอื่นๆ​ อย่างไร​ ในมุมมองของคุณติ๋ม

  • ปาล์มน้ำมันดูแลง่า​ย  ใช้เวลาบริหารจัดการน้อย​ ปัจจุบันครอบครัวของคุณติ๋มมีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง​ แต่สามารถแบ่งเวลาเพียง​ 2-3​ วัน/เดือน​ มาตัดปาล์มน้ำมันได้โดยไม่กระทบงานหลัก​ แต่มีรายได้เพิ่มไม่ต่างจากอาชีพหลัก
  • ปาล์มน้ำมันปลูกครั้งเดียวเก็บผลผลิตได้นาน คนที่ทำเกษตรแบบปลูกพืชหมุนเวียนจะเข้าใจเรื่องนี้ดีที่สุด​ เพราะการปลูกพืชล้มลุกที่ต้องลงทุนใหม่ทุกปีนั้นมีรายจ่ายค่อนข้างสูง​ แม้ว่าจะเก็บผลผลิตได้เร็ว แต่เมื่อหักลบต้นทุนเรื่องการเตรียมแปลง, ​ค่าเมล็ดพันธุ์, ค่าบริหารจัดการ​ ปุ๋ย-ยา​ บวกกับความเสี่ยงเรื่องราคาผลผลิตแล้วเรียกว่าต้องคอยลุ้นกันทุกครั้ง
  • มีรายได้เดือนละ​ 2​ ครั้ง สวนแห่งนี้ตัดปาล์มทุกๆ 14​ วัน​ หรือเดือนละ​ 2​ ครั้ง​ จึงมีรายได้ต่อเนื่อง​ จะมากหรือน้อยก็ได้ทุก 14​ วัน​ หลักหลายพันบาท/ครั้ง

 

จะเห็นว่าปาล์มน้ำมันเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรภาคอีสานที่อยู่แถบลุ่มแม่น้ำโขง​ และด้วยความที่ชาวบ้านมีอาชีพหลากหลาย​ที่ทำไปพร้อมกันทำให้มีรายได้หลายช่องทาง​ แต่สำหรับผู้ที่ได้ปลูกปาล์มน้ำมันนั้นการันตีกับเว็บยางปาล์ม​ ว่า​การทำสวนปาล์มน้ำมันนั้นทำให้มีรายได้มากขึ้น​ แถมยังมีเวลาไปทำงานอื่นๆ​ ด้วยเพราะงานในสวนปาล์มไม่จุกจิก​ รายได้ในครัวเรือนจึงมากขึ้น​ตามไปด้วย

 

ขอขอบคุณ

คุณวรรณวลี​ ดาวแก้ว​ บ้านปากสวย​ ต.วัดหลวง​ อ.โพนพิสัย​ จ.หนองคาย โทร.​ 09-8991-7209

ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม