ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

เทคนิคปลูกปาล์มใหม่ โดยไม่ล้มปาล์มเก่า ประหยัดต้นทุน มีรายได้ต่อเนื่อง และผลผลิตดี พร้อมวิธีดูแลทุกขั้นตอน

เว็บยางปาล์ม พาชมแนวทางการปลูกปาล์มใหม่ทดแทนปาล์มเก่าที่หมดอายุ (Replanting) ด้วยวิธี การฆ่าปาล์มเก่าแบบยืนต้น 2 แถว เว้น 2 แถว ของ บริษัท หงส์ศิลาเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม จำกัด โดยมี คุณกิตติชัย ก่ออ้อ รองผู้จัดการฝ่ายสวน เป็นผู้ให้ข้อมูล ซึ่งวิธีนี้นอกจากจะทำให้มีรายได้อย่างต่อเนื่องแล้ว ต้นปาล์มที่ปลูกใหม่ยังเติบโตได้อย่างดี ถ้ามีวิธีจัดการอย่างถูกวิธี


เทคนิคการฆ่าปาล์มเก่าแบบ 2 แถว เว้น 2 แถว มีข้อดีหลายประการอย่างที่เราทราบกันว่าจะยังมีรายได้จากปาล์มเก่าแบบพี่เลี้ยงน้อง โดยมีการจัดการดังนี้

👉 หยุดใส่ปุ๋ยปาล์มใหญ่ก่อนปลูกปาล์มใหม่ประมาณ 3 ปี และหลังจากปลูกปาล์มใหม่ก็ไม่ต้องใส่ปุ๋ยปาล์มใหญ่ ใส่เฉพาะปาล์มเล็ก จนปาล์มเล็กอายุ 2 ปี เก็บผลผลิตปาล์มเล็กไปตามปกติ รวมแล้วปาล์มใหญ่จะงดปุ๋ยไปทั้งหมด 5 ปี

 

👉 ฉีดสารเคมีกำจัดวัชพืช (ไกลโฟเซส) เข้าต้นปาล์มใหญ่ 2 แถว เว้น 2 แถว โดยยึดแนวเหนือ-ใต้ เพื่อให้ต้นปาล์มใหม่ได้รับแสงที่มาจากแนวตะวันออก-ตะวันตก เต็มที่

 

👉 เก็บผลผลิตปาล์มใหญ่เพียงอย่างเดียว เพราะปาล์มใหญ่จะยังมีผลผลิตจากอาหารที่สะสมในต้นและปุ๋ยจากปาล์มใหม่บางส่วน จากตัวเลขผลผลิตของหงส์ศิลาปาล์ม ปาล์มใหญ่ยังให้ผลผลิตไร่ละ 2-3 ตัน/ไร่/ปี ถึงแม้ว่าจำนวนต้น/ไร่จะลดลง แต่เนื่องจากมีการใส่ปุ๋ยอย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้ และได้รับแสงเพิ่มขึ้น จึงทำให้ผลผลิตยังค่อนข้างดี เพื่อเปรียบเทียบกับการลดทุนที่น้อยลง

 

👉 ตัดทางใบปาล์มใหญ่ให้โล่งและโปร่งมากกว่าปกติ โดยตัดปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้แสงส่องลงมาที่ปาล์มเล็กมากขึ้น

 

👉 เมื่อปาล์มที่ปลูกใหม่ให้ผลผลิตก็ฉีดยาฆ่าต้นปาล์มใหญ่ 2 แถวที่เหลือ ซึ่งจะประหยัดต้นทุนมากกว่าการใช้รถแบ็คโฮล้มสับ

วิธีฆ่าปาล์มเก่าแบบ 2 เว้น 2 ยึดแนวเหนือ-ใต้ เพื่อให้แสงแดดแนวตะวันออก-ตกส่องได้ทั่วสวน
ต้นปาล์มที่ฆ่าแบบยืนต้นปล่อยให้ย่อยสลายตามธรรมชาติ

หลายท่านอาจจะเป็นกังวลว่าการฉีดยากำจัดวัชพืชเข้าลำต้นปาล์มให้ยืนต้นตาย เมื่อต้นปาล์มตายแล้วจะล้มลงมาทับต้นปาล์มใหม่ หรือผู้ปฏิบัติงานในสวนหรือไม่ คุณกิตติชัยได้อธิบายว่า


ตามธรรมชาติแล้วต้นปาล์มเขาจะค่อยๆ ย่อยสลายลงมาจากยอดจะหักลงมาทีละ 1-2 เมตร ไม่ล้มลงมาทั้งต้น เพราะเขาไม่ได้ย่อยสลายจากโคนต้นจึงไม่ล้มลงมาทั้งต้น

 

สำหรับปาล์มปลูกใหม่ก็ต้องมีการบริหารจัดการเพื่อให้เขาเกิดความเครียดน้อยที่สุด เพราะมีปัจจัยที่สามารถสร้างความเครียดให้ปาล์มเล็กได้หลายอย่าง เช่น รากปาล์มต้นเก่าที่อยู่ใต้ดิน แสงแดดน้อยลงจากการบังเงาของปาล์มเก่า ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้ปาล์มเล็กเครียด ทำให้ชะงักการเจริญเติบโต แม้ว่าจะได้รับปุ๋ยอย่างเต็มที่ก็ตาม ซึ่งเทคนิคของหงส์ศิลาปาล์ม


วิธีเตรียมหลุมปลูกปาล์ม

โดยวิธีเตรียมหลุมปลูกปาล์มใหม่ให้กว้าง 2x2x1 เมตร  (กว้าง 2 ยาง 2 เมตร ลึก 1 เมตร) เป็นการขุดหลุมขนาดใหญ่จะช่วยตัดรากปาล์มเก่าออกไป ถือว่าเป็นการพรวนดินไปในตัว และมีผลพลอยได้เป็นแหล่งกักน้ำและความชื้นไว้ให้ปาล์มเล็กได้กินไปให้นานที่สุด 

การป้องกัน/กำจัดแมลงศัตรูพืช

เรื่องแมลงศัตรูพืชเองก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน สำหรับการปลูกปาล์มใหม่ในพื้นที่เดิมแบบนี้มักจะเจอปัญหา ด้วงแรด และหนู รวมถึงด้วงกุหลาบ แต่ในส่วนของหงส์ศิลากลับไม่พบปัญหาแมลงเหล่านี้เลย เพราะมีการป้องกันอย่างต่อเนื่อง โดยหยอด ฟูราดาน 1 ช้อนชา (สารกำจัดแมลง ชื่อสามัญคาร์โบฟูแรน) ที่กาบใบหลังปลูก 1 เดือน หลังจากนั้นก็หยอดไปเรื่อยๆ ทุก 30-45 วัน ไปจนกว่าปาล์มจะอายุครบ 1 ปี เป็นการป้องกันไม่ให้ด้วงหรือหนูเข้าทำลายต้นปาล์มเล็กจนเกิดความเครียดและชะงักการเจริญเติบโตนั่นเอง


กำจัดวัชพืชอย่างเหมาะสม

เมื่อในสวนปาล์มมีหญ้ารกเกินไป มีต้นไม้ใหญ่มาบดบังจะทำให้ต้นปาล์มเครียดและออกผลผลิตไม่เต็มที่ จึงไม่ควรให้สวนปาล์มรกเกินไป แต่ก็ต้องไม่ฉีดยาหญ้ามากเกินไปเช่นกันเพื่อรักษาความชื้น ที่เหมาะสม คือ ควรกำจัดวงโคนให้โล่งเตียน บริเวณอื่นให้มีต้นหญ้าขนาดเล็กบ้าง

ต้นปาล์มปลูกใหม่สมบูรณ์ โตไว เพราะได้รับแสงดี ไม่มีรากปาล์มใหญ่แย่งปุ๋ย
สภาพสวนปาล์มอายุ 4 ปี หลังจากล้มต้นปาล์มเก่าหมดแล้ว

การใส่ปุ๋ยปาล์มปลูกใหม่ ตั้งแต่แรกปลูก แรกปลูก -36 เดือน

👉 เดือนที่ 1      ปุ๋ย 15-15-15 ปริมาณ 100 กรัม

👉 เดือนที่ 3      ปุ๋ย 15-15-15 ปริมาณ 200 กรัม

👉 เดือนที่ 5      ปุ๋ย 21-0-0 ปริมาณ 400 กรัม

     ปุ๋ย 0-3-0 ปริมาณ 300 กรัม

👉 เดือนที่ 7      ปุ๋ย 15-15-15 ปริมาณ 600 กรัม

👉 เดือนที่ 8      ปุ๋ย คีเซอร์ไรด์ ปริมาณ 200 กรัม

👉 เดือนที่ 9      ปุ๋ย 0-0-60 ปริมาณ 600 กรัม

👉 เดือนที่ 11    ปุ๋ย 15-15-15 ปริมาณ 1,200 กรัม

                      ปุ๋ย 0-3-0 ปริมาณ 600 กรัม

👉 เดือนที่ 12    ปุ๋ยโบรอน ปริมาณ 30 กรัม

👉 เดือนที่ 13    ปุ๋ย 21-0-0 ปริมาณ 600 กรัม

👉 เดือนที่ 15    ปุ๋ย 0-0-60 ปริมาณ 600 กรัม

👉เดือนที่ 17     ปุ๋ย 15-15-15 ปริมาณ 1,500 กรัม

👉 เดือนที่ 20    ปุ๋ย 21-0-0 ปริมาณ 800 กรัม

👉 เดือนที่ 22    ปุ๋ยคีเซอร์ไรด์ ปริมาณ 400 กรัม

👉 เดือนที่ 23    ปุ๋ย 0-0-60 ปริมาณ 1,000 กรัม

👉 เดือนที่ 24    ปุ๋ยโบรอน ปริมาณ 100 กรัม

👉 เดือนที่ 26    ปุ๋ย 15-15-15 ปริมาณ 1,500 กรัม

👉 เดือนที่ 29    ปุ๋ย 21-0-0 ปริมาณ 1,000 กรัม

     ปุ๋ย 0-0-60 ปริมาณ 1,000 กรัม

👉 เดือนที่ 32    ปุ๋ย 15-15-15 ปริมาณ 1,500 กรัม

👉 เดือนที่ 33    ปุ๋ยคีเซอร์ไรด์ ปริมาณ 800 กรัม

👉 เดือนที่ 34    ปุ๋ยโบรอน ปริมาณ 100 กรัม

👉 เดือนที่ 35    ปุ๋ย 21-0-0 ปริมาณ 1,000 กรัม

                      ปุ๋ย 0-0-60 ปริมาณ 1,000 กรัม

ผลผลิตปาล์มอายุประมาณ 4 ปี ต้นสมบูรณ์ ออกทะลายดี ผลผลิตสูง

อ่านมาถึงตรงนี้ก็ต้องบอกว่าเทคนิคดีๆ จากคุณกิตติชัย บอกหมดไม่มีกั๊กจริงๆ สำหรับปาล์มที่ให้ผลผลิตแล้วเว็บยาง&ปาล์มจะนำมาเผยแพร่ในบทความถัดไปครับ


ดูคลิปวิดีโอ



- Advertisement -


ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม