ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

วิธีใส่ปุ๋ยปาล์มน้ำมัน ตามแบบ 4 ถูก จาก ณัฐดนัย สุขรัตน์

การใส่ปุ๋ยปาล์มน้ำมันเป็นเรื่องที่ชาวสวนปาล์มทุกคนต้องทำเพื่อให้ต้นปาล์มเจริญเติบโตและให้ผลผลิต แต่เชื่อหรือไม่ว่าเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันหลายๆ ท่านยังไม่รู้ว่าต้องใส่ปุ๋ยอย่างไร มีหลักการอย่างไรบ้าง เว็บยางปาล์ม จึงขอนำเสนอ “หลัก 4 ถูก” ของ คุณณัฐดนัย สุขรัตน์ มาบอกเล่าให้กับทุกท่านไว้เป็นแนวทางในบทความนี้

 

👉 ใช้ปุ๋ย “ถูกสูตร” 

ขั้นแรกเกษตรกรต้องศึกษาหาความรู้ในเรื่องธาตุอาหารที่ปาล์มน้ำมันต้องการ ปกติจะมีข้อมูลของกรมวิชาการเกษตรอยู่แล้วว่าต้นปาล์มต้องการธาตุอาหารแต่ละชนิดในปริมาณเท่าไหร่ ในส่วนของคุณณัฐดนัยเองจะกำหนดปริมาณธาตุอาหารรวมสำหรับต้นปาล์มว่าจะต้องใช้เท่าไหร่ โดยพิจารณาจากข้อมูลที่จดบันทึกผลผลิต บันทึกการใส่ปุ๋ยในปีที่ผ่านมา และดูปริมาณผลผลิตประกอบด้วย

ตารางปุ๋ยปาล์มน้ำมันตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร

จากนั้นก็นำมาแปลงกลับเป็นปุ๋ยที่เลือกใส่ และกำหนดว่าต้องใส่ปุ๋ยเท่าไหร่จึงจะได้ธาตุอาหารครบ สมมุติกำหนดว่าจะใส่ไนโตรเจน (N) 1,000 กรัม/ต้น/ปี หากเลือกใส่แม่ปุ๋ย 21-0-0 ก็จะต้องใช้ที่ประมาณ 5 กก. ธาตุไนโตรเจนอาจเกินมานิดหน่อย ไม่เป็นผลเสีย เกินไว้ก่อนก็ได้เพราะบางทีมันจะมีเรื่องของการสูญเสียบ้าง แต่ถ้าใส่ไม่ครบจะมีปัญหามากกว่า ถ้าจะให้เต็ม 100% จะเป็นเรื่องยาก แต่ขอให้ผิดพลาดน้อยที่สุด 

👉 ใช้ปุ๋ย “ถูกปริมาณ”

ต่อมาจากข้อที่ 1 เมื่อรู้สูตรแล้ว ขั้นต่อไปคือรู้ปริมาณ เช่น เมื่อรู้แล้วว่าต้องใส่แม่ปุ๋ย 21-0-0 ปริมาณ 5 กก. จากนั้นก็นำมาแบ่งใส่เป็น 3 รอบ คือ ต้นฝน กลางฝน และปลายฝน โดยปริมาณที่ใส่อาจจะเท่ากันทุกรอบ หรือรอบสุดท้ายใส่มากกว่าครั้งอื่นๆ ก็ได้ เช่น 1.5,หรือ 2.0 กก./ต้น

 

อย่างของผมเองจะใส่เท่ากันทั้ง 3 รอบ แต่จะมีการปรับเปลี่ยนในรอบสุดท้ายนิดหน่อยโดยเพิ่มโพแทสเซียมโดยพิจารณาจากปุ๋ยที่เราเลือกมาว่าต้องมีการปรับเรโชอย่างไรบ้าง ถ้าเรโชระหว่างธาตุยังไม่ได้สัดส่วนก็ต้องมีการปรับโดยการเติมแม่ปุ๋ยบางตัวลงไปให้สมดุลเหมาะสม

 

👉ใช้ปุ๋ย “ถูกเวลา”

ถูกเวลานี้คุณณัฐดนัยให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะใส่ปุ๋ยต้องใส่เวลาที่ดินมีความชื้น ส่วนใหญ่จึงมักใส่หลังจากฝนตก โดยมีการดูพยากรณ์อากาศ ดูประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา ดูสภาพแวดล้อมว่าเป็นอย่างไร  อาศัยการสังเกตธรรมชาติง่ายๆ แต่ถ้าท่านใดยังดูไม่เป็น แนะนำว่าควรใส่ปุ๋ยหลังฝนตก ไม่ควรใส่รอฝน

 

เพราะการใส่ปุ๋ยรอฝนนั้นมีความเสี่ยงสูง เช่น ถ้าฝนไม่ตกปุ๋ยก็จะระเหิดเกิดการสูญเสีย แต่ถ้าเกิดฝนตกหนักปุ๋ยก็ละลายไปกับน้ำ ยิ่งถ้าสวนเป็นพื้นที่ลาดเอียงจะเกิดการสูญเสียจากการชะล้างอีก ฉะนั้นใส่หลังฝนจะปลอดภัยกว่า save กว่า

 

อีกเทคนิคหนึ่งของคุณณัฐดนัย คือ ในรอบของปลายฝนที่เป็นรอบสุดท้ายจะมีการปรับสัดส่วนระหว่าง ไนโตรเจน (N) กับ โพแทสเซียม (K) เป็น 1 : 3 เรื่องรองรับฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง เนื่องจากมีงานวิจัยออกมาแล้วว่าการใส่ปุ๋ยสัดส่วนนี้ในรอบสุดท้ายช่วยให้ปาล์มน้ำมันทนแล้งมากขึ้น ซึ่งหลังจากได้ทดลองแล้วก็ได้ผลดีตามที่งานวิจัยบอก

 

เช่น ปกติรอบสุดท้ายจะใส่ธาตุไนโตรเจน 300 กรัม และใส่โพแทสเซียมปริมาณ 900 กรัม และในช่วงแล้งจะใส่ 0-3-0 ที่เป็นร็อกฟอสเฟส และ ปูนปรับสภาพดินอย่างโดโลไมท์ เพราะกลุ่มนี้สามารถใส่ช่วงแล้งรอฝนได้ เนื่องจากกลุ่มนี้ต้องใช้เวลาในการย่อยสลายตัวค่อนข้างนาน และช่วงแล้งเองเราก็ไม่ได้ใส่ปุ๋ยอื่นๆ อยู่แล้ว  

ใส่ปุ๋ยบริเวณกองทาง และบริเวณที่มีอินทรียวัตถุ 

👉ใส่ปุ๋ย “ถูกที่” 

บริเวณใส่ปุ๋ย จะยึดหลักว่าใส่ปุ๋ยตรงที่มีรากเยอะๆ จุดที่มีการสูญเสียจากการชะล้างน้อย ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นพื้นที่ที่มีอินทรียวัตถุ อาจจะเป็นกองทาง เป็นพื้นที่ใต้โคนที่มีกาบใบหล่นลงมา ส่วนจุดอื่นๆ ก็ใส่ได้ แต่จะเน้นบริเวณนี้ เพราะบริเวณนี้สูญเสียจากการชะล้างน้อย แล้วก็เป็นจุดที่ีี pH ค่อนข้างดี ไม่เป็นกรดมากเกินไป ค่อนข้างไปทางกลาง อาจจะเป็น 5.5 ไปถึง 6.5 การปลดปล่อยของปุ๋ยก็ค่อนข้างจะดี


การใส่ปุ๋ยให้ถูกที่ก็คือบริเวณกองทางนั่นเอง นั่นเป็นสาเหตุที่คุณณัฐดนัยพยายามสร้างบริเวณกองทางให้มากที่สุด จึงสังเกตได้ว่ากองทางภายในสวนจะถูกวางเป็นรูปตัวที (T) หรือ ตัวซี (C) นั่นเอง

 

👉ผลลัพธ์ที่ได้จาก “4 ถูก”

✅ มีภูมิคุ้มกันที่ดี 

หมายความว่า เมื่อมีความรู้ในเรื่องของปุ๋ย เข้าใจในการเลือกใช้ เกษตรกรก็ปรับใช้ได้ตลอดโดยไม่ต้องยึดว่าต้องใส่ปุ๋ยสูตรนั้น สูตรนี้เท่านั้น แต่หมายความว่าจะไปเลือกใช้ปุ๋ยสูตรไหนก็ได้ เพราะเมื่อใส่ปุ๋ยจากการกำหนดปริมาณปุ๋ยของธาตุอาหารแล้วก็สามารถเลือกใช้ปุ๋ยได้ตามที่ต้องการตามความเหมาะสม


✅ ใช้ปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพ ประหยัดต้นทุน 

เพราะทำให้ไม่ใส่ปุ๋ยมาก หรือ น้อยเกินไป จึงเป็นการประหยัดต้นทุนการใส่ปุ๋ยได้ นอกจากนั้นยังทำให้สามารถเลือกปุ๋ยเองได้เพราะมีความรู้เรื่องธาตุอาหาร ไม่จำเป็นต้องซื้อปุ๋ยตามที่ร้านแนะนำที่อาจมีราแพงกว่า

สร้างกองทางเป็นรูปตัว T หรือ C รอบต้นปาล์ม

✅ ผลผลิตสูงขึ้น 

ในแง่ของผลผลิตก็สูงขึ้นอยู่ที่ประมาณ 5.2-5.7 ตัน/ไร่/ปี ถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยเรื่องสภาพแวดล้อมบางอย่างมาทำให้ผลผลิตลดลงแต่ก็ลดลงไม่มาก ถ้าปีไหนน้ำดีผลผลิตไม่ต่ำกว่า 5 ปีแน่นอน


สรุปว่าเมื่อเราใช้ปุ๋ย ถูกสูตร ถูกปริมาณ ถูกเวลา ถูกที่ ช่วยให้เรา มีภูมิคุ้มกันเรื่องปุ๋ยที่ดี สามารถ ใช้ปุ๋ยได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ลดต้นทุน แต่ได้ ผลผลิตสูงขึ้น เรียกว่าครบสูตรแบบนี้ลองไปทำตามดู


👉ดูคลิปวิดีโอ

ขอขอบคุณ : คุณณัฐดนัย สุขรัตน์ 

โทรศัพท์ : 062-351-5356

ไม่มีความคิดเห็น:

บทความที่ได้รับความนิยม