ปาล์มน้ำมัน

[ปาล์มน้ำมัน][bsummary]

ยางพารา

[ยางพารา][bsummary]

เทคนิคจากสวน

[เทคนิคจากสวน][twocolumns]

NEWS

[News][bleft]

เคล็ดลับปรับค่า pH ดิน เพิ่มประสิทธิภาพปุ๋ย สวนปาล์มผลผลิตสูง จาก อ.พรพันธุ์ศักดิ์ พาหะมาก

ทำสวนปาล์มใส่ปุ๋ยมาก จะได้ผลผลิตมาก ไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป หากยังไม่รู้เรื่องคุณภาพดิน ซึ่งเป็นความรู้พื้นฐานที่ชาวสวนปาล์มยุคใหม่ให้ความสำคัญ เพราะคุณภาพดินมีผลอย่างยิ่งต่อประสิทธิภาพการใช้ปุ๋ย และผลผลิต

 

คุณภาพดินเป็นเรื่องที่ อ.พรพันธุ์ศักดิ์ พาหะมาก ให้ความสำคัญ อันดับต้นๆ ในการทำสวนปาล์ม ซึ่งเป็นหนึ่งในผลลัพธ์ที่ทำให้สวนปาล์มแปลงทอร์นาโด ได้ผลผลิตสูงมากกว่า 8 ตัน/ไร่/ปี 4 ปีติดต่อกัน

 

เรื่องน่าเรียนรู้ก็คือ สวนปาล์มของ อ.พรพันธ์ศักดิ์ ในอดีตเคยเป็นกรดจัด ค่า pH ต่ำกว่า 4 เท่านั้น แต่หลังจากมีการปรับสภาพดินอย่างต่อเนื่องทุกปี ทำให้คุณภาพดินค่อยดีขึ้นรักษาระดับอยู่ที่ 6.5 


👉เรียนรู้ความสำคัญของ pH ดิน

ถ้าดูตาราง ผลของ pH ดิน ต่อประสิทธิภาพของปุ๋ย จะเห็นได้ว่าในสภาวะค่าความเป็นกรดของดิน pH อยู่ที่ 4 รากปาล์มจะดูดธาตุอาหารนำไปใช้ได้เพียง 29-30% เท่านั้น สูญเสียไปมากถึง 70% แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ pH อยู่ที่ 6 - 6.5 ปาล์มจะกินปุ๋ยที่ใส่ไปได้ประมาณ 80-100%

 

นั่นหมายความว่า ถ้าดินเป็นกรดจัด ถึงจะใส่ปุ๋ยมากเท่าไหร่ แต่ต้นปาล์มนำไปใช้ได้ไม่เต็มที่ ส่วนใหญ่จะสูญเสีย และได้ผลผลิตต่ำ แม้จะใส่ปุ๋ยมากก็ตาม

 

เมื่อก่อนพื้นที่สวนปาล์มตรงนี้มีความเป็นกรดจัด pH อยู่ที่ 4 หรือต่ำกว่า 4 นิดๆ น้ำในร่องมีรสเปรี้ยว ผิวน้ำมีสนิมเหล็กสีน้ำตาล-สีส้มลอยอยู่ ไม่ค่อยพบสัตว์น้ำมาอยู่อาศัย เพราะว่าน้ำมันเปรี้ยว จนตอนนี้ pH อยู่ที่ 6 กว่าๆ ซึ่งใช้เวลาปรับต่อเนื่อง 4-5 ปี

 

👉 ปรับสภาพดินด้วย โดโลไมท์

วิธีปรับสภาพดินที่ใช้ได้ดีก็คือ การใส่โดโลไมท์ทุกปี โดยใช้วิธีหว่านให้ทั่วแปลง เฉลี่ยแล้วต้นละ 3 กก./ต้น/ปี นอกจากประโยชน์เรื่องปรับสภาพดินแล้ว โดโลไมท์ ยังมีธาตุ แมกนีเซียม ซึ่งเป็นธาตุที่ปาล์มน้ำมันต้องการอีกด้วย

 

👉 สร้างกองทางใบ เพิ่มอินทรียวัตถุในสวนปาล์ม

อีกวิธีหนึ่งที่ใช้ได้ผลดี คือ สร้างกองทางใบในสวนปาล์ม โดยจะวางกระจายแบบเต็มพื้นที่ ทำให้ย่อยสลายได้ไว ทางใบเมื่อย่อยสลายจะกลายเป็นอินทรียวัตถุ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการลดกรดและปรับปรุงคุณภาพดิน

ประโยชน์ของกองทางใบ ที่ได้มากกว่าปรับปรุงคุณภาพดิน จากประสบการณ์ของ อ.พรพันธุ์ศักดิ์ คือ บริเวณกองทางใบจะช่วงรักษาความชื้น และเก็บกักปุ๋ยได้เป็นอย่างดี ทำให้รากที่ทำหน้าที่หากินของปาล์ม กินธาตุอาหารจากปุ๋ยได้ดีขึ้น สังเกตได้จาก บริเวณใต้กองทางใบจะมีรากอ่อนจำนวนมาก

 

จริงๆ ในตัวทางใบมันก็มีธาตุอาหารตกค้างอยู่ตรงนี้เราได้กลับมาฟรีๆ  พอย่อยสลายก็กลายเป็นอินทรียวัตถุ ตอนนี้ผมไม่ต้องใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยอินทรีย์เลย ปรับปรุงดินไปในตัวด้วย ได้มาแบบฟรีๆ เลย

 

👉 วิธีใส่ปุ๋ยปาล์มให้ได้ผลผลิตสูง

ปัจจุบันการจัดการเรื่องปุ๋ยในสวนปาล์มน้ำมันของอาจารย์พรพันธุ์ศักดิ์มีการปรับเปลี่ยนปริมาณปุ๋ยให้สอดคล้องกับความต้องการของต้นปาล์มน้ำมัน เนื่องจากต้นปาล์มมีอายุมากขึ้น ปริมาณผลผลิต ขนาดทะลายก็ใหญ่ขึ้นจึงจำเป็นต้องเพิ่มปริมาณปุ๋ยให้เพียงพอกับที่ต้นปาล์มน้ำมันต้องการ โดยมี  ธาตุหลักคือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โปแตสเซียม แมกนีเซียม และโบรอน

 

เมื่อปาล์มน้ำมันมีอายุมากขึ้นมันต้องการปุ๋ยหรืออาหารสำหรับเลี้ยงลำต้นมากขึ้นกว่าเดิม ในขณะเดียวกันทะลายปาล์มก็จะใหญ่ขึ้นด้วย นั่นหมายความว่าเขาต้องการอาหารมากขึ้น ผมจะเพิ่มปริมาณปุ๋ยให้มากขึ้นเพื่อให้ได้ธาตุอาหาร คือเพิ่มขึ้นประมาณ 25% ตามคำแนะนำของกรมวิการการเกษตร

นอกจากธาตุหลักแล้ว ยังมีการเพิ่มจุลธาตุอย่าง ทองแดง (Copper) และ สังกะสี (Zinc) ประมาณ 25 กรัม/ต้น/ปี เพราะเป็นจุลธาตุที่พืชต้องการ แม้ว่าจะต้องการในปริมาณน้อยและมีอยู่ในดินตามธรรมชาติแล้ว แต่จำเป็นต้องเติมให้อีกเพราะปาล์มอายุมากขึ้นและใช้ธาตุเหล่านี้ไปมากแล้ว

 

ตัวไหนที่เราหามาใส่ได้ ต้องหามาใส่ให้เขา เพื่อให้กระบวนการภายในต้นปาล์มดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมันส่งผลต่อผลผลิตของเรา เนื่องจากว่าผลผลิตเป็นเส้นทางของรายได้ ไม่ว่าจะขายได้ราคาไหนก็ตาม ราคาเรากำหนดไม่ได้ แต่ผลผลิตเราน่าจะกำหนดได้ ผมเชื่อว่ากำหนดได้ ปาล์มถ้าเราให้อาหารเขาสมบูรณ์ ตรงตามกำหนด ตรงตามเวลา ตรงตามความต้องการของต้นปาล์ม ผลผลิตมันคุ้มค่าแน่นอน..ผมคิดแบบนั้น

 

 👉 แนวคิดทำสวนปาล์ม อ.พรพันธุ์ศักดิ์

ต้นปาล์มก็เหมือนกับผู้ใหญ่กับเด็ก ก็จะกินอาหารมาก-น้อยต่างกันตามพลังงานที่ร่างกายต้องใช้ ต้นปาล์มที่โตแล้วให้ผลผลิตแล้วก็ต้องให้อาหารมากขึ้นเพราะต้องใช้พลังงานเพิ่มขึ้นในการสร้างทะลาย

 

การให้ปุ๋ยมากขึ้นก็จะมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นเป็นเรื่องปกติ ทว่าต้นปาล์มก็ให้ทะลายและน้ำหนักมากขึ้นตามไปด้วย เมื่อผลผลิตมากขึ้นก็จะทำให้ต้นทุนต่ำลงมาโดยอัตโนมัติ

 

คำนวณว่าปาล์มน้ำมันอายุเท่านี้ ใน 1 ปีจะมีทางใบประมาณ 24 ทาง และ 1 ทางใบก็คือ 1 ตาดอก ฉะนั้นใน 1 ปีต้นปาล์มจะมี 24 ดอก แล้วแต่ว่าตาดอกนั้นจะพัฒนาขึ้นมาเป็นดอกตัวผู้หรือหรือดอกตัวเมียที่จะกลายเป็นทะลายปาล์ม ใน 1 ปีต้นปาล์มในสวนผมจะให้ทะลายดอกตัวเมียประมาณ 15 ดอก หรือ 15 ทะลาย ซึ่งตรงนี้ถือว่ากำไรแล้ว เพราะต้นทุนต่อต้นต่อปีจะอยู่ที่ 3-4 ทะลาย ที่เหลือประมาณ 12 ทะลายจึงเป็นกำไรแล้ว

ดังนั้นแนวคิดของการทำสวนปาล์มน้ำมัน คือ ทำอย่างไรให้ต้นปาล์มน้ำมันติดทะลายเยอะที่สุด ทะลายมีน้ำหนักมากที่สุด และวิธีของ อ.พรพันธุ์ศักดิ์ก็คือ การใส่ปุ๋ยตามความต้องการของปาล์ม และที่สำคัญปุ๋ยที่ใส่ลงไปต้องมีประสิทธิภาพ ด้วยการใส่ใจเรื่อง pH ของดิน

 

ขอขอบคุณ

อ.พรพันธุ์ศักดิ์ พาหะมาก ต.ท่าฉาง อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี โทรศัพท์ 086-832-6397

👉ดูคลิปVDO

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...
ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก

บทความที่ได้รับความนิยม